พระราชวังบ้านปืน ต้นเหตุระหองระแหงของรัชกาลที่ 5-สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

พระราชวังบ้านปืน
พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี

พระราชวังบ้านปืน หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระรามราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านปืน ริมแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระราชวังที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยมีนายคาร์ล ดอห์ริง (Carl Dohring) สถาปนิกชาวเยอรมันเป็นผู้ควบคุมงานออกแบบ และทำงานคู่กับนายช่างใหญ่ของไทย

พระยาราชบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) มหาดเล็กต้นห้องของรัชกาลที่ 5 (รับหน้าที่ระหว่าง พ.ศ. 2434-53) เคยได้ยินรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริเกี่ยวกับพระราชวังบ้านปืนว่า (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

“ในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษา 58 พรรษาทรงพระราชปรารภว่า เมื่อพระชนมายุ 60 พรรษาแล้วจะทรงสละราชสมบัติพระราชทานแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ รับราชภาระสืบสนองพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนพระองค์ท่านจะเสด็จออกจากราชสมบัติเป็นพระเจ้าหลวง จึงทรงพระราชดำริจะสร้างพระราชวังเป็นที่ประทับ

ได้ทรงเลือกเมืองเพชรบุรีเป็นที่ตั้งพระราชนิเวศน์ เพราะเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไม่ใกล้ไม่ไกลพระนคร และมีที่พักตากอากาศชายทะเลอยู่ใกล้ๆ คือ ที่ตำบลบางทะลุ ภูมิประเทศถิ่นฐานเป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัย ทรงกำหนดตำบลบ้านปืน ตอนริมแม่น้ำเป็นที่สร้างพระตำหนัก ได้เริ่มงานสร้างสวนและสร้างที่ประทับชั่วคราวไว้ก่อนแล้ว และได้เสด็จไปมาอยู่เสมอ ครั้นวันที่ 18 สิงหาคม 2453 โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีก่อนพระฤกษ์พระตำหนักบ้านปืน ที่จะสร้างเป็นถาวรต่อไป” (บุรุษรัตน, 2501)

เหตุผลในการสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่เมืองเพชรบุรี ด้วยในระยะหลังทรงโปรดเสวยน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี นอกจากนี้ เพชรบุรียังเป็นบ้านเกิดของเจ้าจอมก๊ก “อ” (เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมเอื้อน) ซึ่งเป็นที่โปรดปรานตลอดมา

หากการสร้าง พระราชวังบ้านปืน ก็เหตุเกิดระหองระแหงระหว่างรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โปรดประทับที่กรุงเทพฯ มากกว่า และทรงบึ้งตึงกับเจ้าจอมก๊ก “อ” ดังที่ รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

ในปี พ.ศ. 2452 นั้นทูลกระหม่อมได้เสด็จไปประทับอยู่ที่เพ็ชรบุรีโดยมาก และได้เริ่มสร้างพระที่นั่ง (ซึ่งภายหลังต่อมาฉันได้ตั้งนามว่า “ศรเพ็ชร์ปราสาทฯ”) ตามข่าวคราวที่ได้ทราบมา ท่านตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า เมื่อพระที่นั่งนี้แล้วเสร็จและเสด็จออกไปประทับอยู่ที่เพ็ชรบุรีเอาเปนพระราชสำนักประจำทีเดียว และจะเสด็จเข้ามากรุงแต่เปนครั้งคราวเท่านั้น ส่วนราชการแผ่นดินทรงพระราชดำริห์ไว้ว่าจะมอบพระราชทานให้ฉันเปนผู้ประศาสน์สนองพระเดชพระคุณ

อนึ่งเมื่อได้กล่าวถึงการที่ทูลกระหม่อมมีพระราชปรารภจะเสด็จไปประทับอยู่ ณ เพชรบุรีนั้น ฉันก็จำจะต้องกล่าวถึงความทรงประพฤติแห่งเสด็จแม่ของฉันในเรื่องนี้ด้วย ฉันมีความเสียใจที่ต้องกล่าวว่า ความทรงประพฤติของเสด็จแม่ก็เปนหตุทำให้ฉันเสียใจเปนอันมาก

ที่จริงทูลกระหม่อมท่านทรงพระเมตตาและทรงเกรงพระหฤทัยเสด็จแม่อยู่มากตลอดกาล ฉนั้นเมื่อทรงพระราชปรารภที่จะเสด็จไปประทับอยู่ที่เพ็ชรบุรี จึ่งได้ทรงคำนึงถึงเสด็จแม่และมีพระราชดำรัสชวนให้เสด็จออกไปเพ็ชรบุรีด้วย เสด็จแม่ได้ยอมตามเสด็จออกไปแต่ครั้งแรกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ในครั้งหลังมิได้ตามเสด็จไปด้วยอีกเลย โดยตรัสทูลอ้างเหตุแก่ทูลกระหม่อมว่า พระองค์ท่าน (เสด็จแม่) ไม่ใคร่จะทรงสบายพระหฤทัยเมื่อเสด็จไปเพ็ชรบุรี เพราะพี่หญิงพาหุรัดได้ไปประชวรที่เพ็ชรบุรีแล้วกลับมาสิ้นพระชนม์ แต่เมื่อคำนึงดูว่า การที่พี่หญิงได้ไปประชวรและสิ้นพระชนม์นั้น ได้ล่วงเลยมาแล้วตั้ง 20 ปี เหตุที่ทรงยกขึ้นอ้างจึ่งไม่สู้จะเปนผลทำให้ทูลกระหม่อมทรงเชื่อเท่าใดนัก เสด็จแม่ได้รับสั่งกับฉันเองว่าแท้จริงเหตุที่ไม่อยากเสด็จเพ็ชรบุรีนั้น เพราะทรงขวาง ‘ก๊ก อ’ ซึ่งฉันเองก็เห็นพระหฤทัยอยู่บ้าง

แต่ฉันได้ทูลตรงๆ ว่าการที่ไม่เสด็จอาจเป็นเครื่องทำให้ทูลกระหม่อมไม่พอพระราชหฤทัย และอาจเปนช่องให้ผู้เป็นอมิตร์ฉวยโอกาสกราบบังคมทูลอะไรต่อมิอะไรได้ เสด็จแม่ตรัสตอบว่าอย่างไรๆ เขาก็หาเรื่องทูลอยู่เสมอแล้ว จะเสด็จไปหรือมิเสด็จก็คงเท่ากัน ครั้นฉันยังทูลยืนยันอยู่ว่าเสด็จดีกว่า ท่านกลับกริ้วเอาว่าฉันเปนผู้ชาย นึกอย่างผู้ชายที่ไม่รู้จักน้ำใจผู้หญิง จึ่งเข้ากับพระบิดา จะให้แม่ไปประจบเมียน้อยของพระบิตุรงค์นั้น เหลือกำลังละ ฉันก็จำใจต้องนิ่ง

ต่อมาทูลกระหม่อมรับสั่งว่าจะปลูกพระตำหนักพระราชทานเสด็จแม่หลัง 1 ที่เพ็ชรบุรี แต่ในระหว่างเวลาที่พระตำหนักยังไม่แล้ว ทรงชวนให้ขึ้นไปประทับอยู่ด้วยกันบนพระที่นั่งก่อน เสด็จแม่ทูลตอบว่า เมื่อพระตำหนักแล้วจึ่งจะเสด็จออกไป ส่วนการที่จะให้เสด็จขึ้นไปประทับพระที่นั่งนั้นทรงพระวิตกอยู่ว่าจะเป็นที่รบกวนพระราชหทัย เพราะพระองค์เองก็มีพระโรคาพาธเบียดเบียฬอยู่ จำเป็นจะต้องมีหมอขึ้นเฝ้าอยู่เนืองๆ  

ได้ทราบว่าทูลกระหม่อมออกจะไม่พอพระราชหฤทัยมากในการที่ได้ทรงรับตอบเช่นนี้ และทรงบ่นว่า เสด็จแม่ไม่อยากเสด็จขึ้นไปอยู่บนพระที่นั่งเพราะเกรงจะไม่สดวกในเรื่องฉีดยา (ซึ่งในเวลานั้นออกจะเริ่มเป็นความจริงขึ้นแล้ว) ต่อมาภายหลังฉันได้ข่าวว่าทูลกระหม่อมทรงบ่นมาก และมีพระราชดำรัสครั้ง 1 ว่า แม่เล็กเขาเบื่อผัวเสียแล้ว อยากอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อชมบุญลูกของเขามากกว่า

นี่เที่ยวเป็นข้อที่ฉันได้นึกวิตกอยู่ก่อนแล้ว ฉนั้นพอได้ข่าวฉันก็ได้รีบเข้าไปกราบทูลเสด็จแม่ให้ทรงทราบ ในขั้นต้นออกจะทรงดาลโทษะและตรัสว่า ‘เมื่อตรัสว่าฉันเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องเป็นความจริง เพราะพระราชาต้องมีพระวาจาสิทธิ์

แต่ฉันทูลแก้ไขอยู่นานจนในที่สุดทรงยอมเห็นตามฉัน และทรงรับว่า ถ้าทูลกระหม่อมมีพระราชดำรัสชวนอีกก็จะตามเสด็จไป แต่จะให้ฉันกระเสือกกระสนไปทูลขอตามเสด็จนั้น ฉันทำไม่ได้ ครั้นเมื่อกลางปี พ.ศ. 2453 นั้น เสด็จแม่จึ่งเป็นอันว่าได้ตามเสด็จไปเพ็ชรบุรีอีกเที่ยว 1 ตั้งแต่เสด็จกลับจากเพ็ชรบุรี …”

อย่างไรก็ตาม พระราชวังบ้านปืน ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 5 ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2453

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ไกรฤกษ์ นานา. “พระราชประสงค์ พระราชดำริ พระราชปรารภ ในสมเด็จพระปิยมหาราช เมื่อก่อนสวรรคต” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2553

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์ มติชน พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2564