วิถี “ลี กวน ยู” สู้สุดแรงมุ่งนำสิงคโปร์พัฒนาก้าวกระโดด ไม่อุ้มคนทุจริตแม้เป็นเพื่อนกัน

ลีกวนยู โบกมือทักทายสมาชิกพรรค People's Action Party (PAP) ในงานวันครบรอบ 50 ปีของพรรค เมื่อ 21 พ.ย. 2004 (ภาพจาก AFP / STRAITS TIMES)

หากพูดถึงผู้นำของสิงคโปร์ที่อยู่ในการรับรู้ของคนทั่วไป หลายคนย่อมนึกถึงชื่อ “ลี กวน ยู” ซึ่งเป็นเสมือนผู้ทำให้สิงคโปร์ก้าวกระโดดกลายเป็น 4 เสือแห่งเอเชีย ถูกจัดอันดับด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่กว่าจะมาเป็นสิงคโปร์ได้อย่างทุกวันนี้ ลี กวน ยู ผู้อยู่เบื้องหลังเส้นทางนี้ต้องผ่านความยุ่งยากมากมายจนถึงกับหลั่งน้ำตามาแล้ว

ในช่วงยุคสมัยแห่งอาณานิคม เกาะเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรมากมายอย่างสิงคโปร์ แต่มหาอำนาจตะวันตกกลับแย่งชิงกันเพื่อเข้ามาครอบครอง โดยเฉพาะอังกฤษที่แข่งขันกับฮอลันดาซึ่งเข้าครอบครองหมู่เกาะแถบนี้ก่อนใคร เป็นที่แน่ชัดว่าอังกฤษได้ครอบครองเกาะสิงคโปร์ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีใครสนใจเกาะเล็กๆ เกาะนี้

ทั้งนี้ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของสิงคโปร์ที่เอื้อต่อการค้าทางทะเลทำให้พื้นที่มีความสำคัญขึ้นมา ด้วยการพัฒนาของอังกฤษจนกลายเมืองท่าศูนย์กลางทางการค้าของอังกฤษ ในขณะนั้นอังกฤษก็ได้เข้าครอบครองพื้นที่ประเทศมาเลเซียในปัจจุบันจากฮอลันดาได้แล้วเช่นกัน สิงคโปร์จึงกลายมาอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษเหมือนมาเลเซีย

ใต้การปกครองโดยอังกฤษ สิงคโปร์มีการค้าที่รุ่งเรืองทำให้มีผู้อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งมาค้าขายอย่างพวกชาวจีน เข้ามาเป็นแรงงานอย่างคนอินเดีย ทำให้เกาะสิงคโปร์มีความหลากหลายทางเชื้อชาติทั้งจีน อินเดีย และมุสลิมมาเลเซีย

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าทหารอังกฤษจะอยู่บนเกาะสิงคโปร์จนทำให้เกาะแห่งนี้มีความแข็งแกร่งมาก แต่ทว่ากองทัพญี่ปุ่นก็สามารถเอาชนะและบุกยึดเกาะแห่งนี้ได้ในที่สุด การยึดครองโดยญี่ปุ่นทำให้สิงคโปร์เกิดกระแสชาตินิยมอย่างแรงกล้า

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ฝ่ายญี่ปุ่นแพ้สงครามจึงต้องออกจากเกาะสิงคโปร์ อังกฤษจึงกลับเข้าอีกครั้งและได้ยกฐานะให้สิงคโปร์เป็นอาณานิคมเอกเทศ (Separate Crown Colony) จนกระทั่งปี 2511 อังกฤษถอนทหารออกจากสิงคโปร์ทั้งหมด เป็นผลให้อัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้นมาก อีกทั้งยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ และคุณภาพชีวิตของคนในสังคม อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว สิงคโปร์ยังสามารถก้าวพ้นปัญหาเหล่านั้นมาได้อย่างก้าวกระโดดในยุคที่มีผู้นำอย่าง “ลี กวน ยู”

“ลี กวน ยู” หรือ “ลี กวน ยิว” เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2466 กำเนิดในครอบครัวชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างร่ำรวย ลี เรียนเก่งมาตั้งแต่เด็กทำให้เขาได้รับทุนเข้าศึกษาที่ Raffles College ประเทศสิงคโปร์ จากนั้น ลี ไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จบการศึกษาโดยได้รับเกียรตินิยมด้วย

ปี 2493 ลี กวน ยู กลับมายังสิงคโปร์ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เขาเริ่มทำงานเป็นนักกฎหมาย ต่อมาจึงเข้าสู่สนามการเมืองโดยตั้งพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party หรือ PAP) ในปี 2502 ลี ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 35 ปีเท่านั้น

การนำพาประเทศให้ประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เส้นทางของลี กวน ยู ล้วนเจออุปสรรคและวิกฤตต่างๆ นานา

เมื่อครั้งมาเลเซียประกาศเอกราชจากอังกฤษ ลี เห็นควรว่าสิงคโปร์ต้องได้รับเอกราชเช่นกัน เขาจึงเจรจากับอับดุล รามาน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้รวมมาเลเซียกับสิงคโปร์เข้าเป็นประเทศเดียวกัน ในขณะนั้นอับดุน รามาน ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ปี 2505 สิงคโปร์จึงถูกรวมเข้ากับมาเลเซีย

ด้วยสิงคโปร์มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เป็นเหตุให้เวลาต่อมาชาวมาเลเซียซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมมองว่า ชาวสิงคโปร์มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากมาเลเซีย อีกทั้งกลัวว่าชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนจะเข้ามาเป็นชนชั้นนำและกุมเศรษฐกิจในมาเลเซีย และเป็นช่วงที่กระแสชาตินิยมในมาเลเซียมาแรง ชาวมาเลเซียจึงต่อต้านชาวสิงคโปร์จนเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ รัฐสภามาเลเซียมีมติขับสิงคโปร์ออก ทั้งสองประเทศจึงเป็นอันต้องขาดจากกัน ภายหลัง ลี กวน ยู ประกาศเอกราชให้สิงคโปร์ในวันที่ 9 สิงหาคม 2508

ลี กวน ยู คงรู้ดีว่ากำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะเกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรมากนัก แม้กระทั่งน้ำเปล่าเพื่อกินเพื่อใช้ยังแทบจะไม่มี และด้วยมรดกตกทอดจากการปกครองของอังกฤษในระบบราชการที่เต็มไปด้วยการทุจริตอย่างหนัก เมื่อ ลี กล่าวปราศรัยยอมรับการแยกตัวออกจากมาเลเซียต่อประชาชน เขาถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา เพราะไม่รู้เลยว่าสิงคโปร์จะอยู่อย่างไร จะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร

เมื่อเผชิญสถานการณ์เลวร้าย ลี กวน ยู ต้องสู้ทุกหนทางอย่างสุดกำลัง เขาเริ่มระดมความคิดจากทุกฝ่ายเพื่อสร้างสิงคโปร์ขึ้นมาใหม่ เริ่มต้นด้วยการวางรากฐานการศึกษาให้มั่นคง ให้ประชาชนได้เรียนรู้ 2 ภาษาเพื่อการสื่อสารติดต่อกับต่างประเทศ ส่งผลให้สิงคโปร์เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ คัดเลือกเยาวชนที่เรียนเก่งไปศึกษาต่อยังสถาบันชั้นนำของโลก เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศและนำมาสอนคนในประเทศเพราะ ลี มุ่งหวังว่า ชาวสิงคโปร์ต้องมีการศึกษาที่เทียบเท่ากับต่างประเทศ

ลี มีนโยบายอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าจะทำให้สิงคโปร์มีความสมบูรณ์ที่สุด เพื่อดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคนี้ เขาสร้างให้สิงคโปร์เป็นแหล่งลงทุนที่ดีที่สุดโดยการทำให้รัฐบาลและระบบราชการมีความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่นและการเรียกร้องผลประโยชน์

หลายต่อหลายครั้ง ลี แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส เขาไม่อุ้มชูคนทุจริตคอร์รัปชั่น แม้คนคนนั้นจะเป็นคนในพรรคเขา หรือเป็นเพื่อนเขาที่ร่วมคณะรัฐมนตรีด้วยกันก็ตาม ดังกรณีนายเต้เจียงหวัน (Teh Cheang Wan) ที่ป.ป.ช. สิงคโปร์จับได้ว่ารับสินบนมานาน เขาเป็นเพื่อนกับลี และขอเข้าพบลี แต่ลีปฏิเสธที่จะพบ จนกว่าป.ป.ช. จะดำเนินการจนถึงที่สุด

นายเต้เจียงหวัง เขียนจดหมายสารภาพความผิดและฆ่าตัวตาย แม้วันที่ลี ไปเคารพศพ มีกระแสว่า ภรรยานายเต้เจียงหวังได้ขอให้ลี ปิดข่าวเรื่องสาเหตุการตายที่มาจากการฆ่าตัวตาย และให้ถือว่าการตายนี้เป็นการตายอย่างปกติ แต่ลี ปฏิเสธ เรื่องนี้จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ ทำให้ฝ่ายค้านในสภาให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการตายครั้งนี้

นี่คงเป็นเพราะลี อยากให้เป็นบทเรียนแก่นักการเมือง ดังนั้น ลี ได้สร้างหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐที่เที่ยงธรรมจนเกิดความมั่นใจต่อนักลงทุนและกล้าเข้ามาลงทุน ทำให้สิงคโปร์มีการลงทุนจากต่างชาติที่เติบโตอย่างมาก

นอกจากนั้น ลี ยังจัดระเบียบสังคมทุกอย่าง กำจัดสิ่งที่มอมเมาเยาวชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีจิตสำนึกเรื่องระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย รักษาความสะอาดบ้านเมือง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งรัฐบาลสิงคโปร์ยังสามารถจัดการทรัพยากรบุคคลได้เป็นอย่างดี ทั้งการแต่งตั้งผู้นำพลเรือน ผู้นำทหาร ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับทั้งด้านความรู้ความสามารถ และซื่อสัตย์สุจริต

การทำงานและทุ่มเทอย่างหนักของลี กวน ยู และคณะ ทำให้สิงคโปร์ก้าวกระโดดอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะในช่วงแรกที่แยกตัวออกจากมาเลเซียไม่มีใครเชื่อเลยว่าสิงคโปร์จะอยู่รอดได้ หากผู้ที่มีความเชื่อนั้นก็คงมีเพียงลี กวน ยู เท่านั้น

แต่หลังจากนั้นผลที่ออกมาก็เป็นที่ประจักษ์ สิงคโปร์ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างมาก มีระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานที่ดีระดับโลก ระบบราชการได้รับการยอมรับในวงกว้างว่ามีความโปร่งใสในระดับโลก คุณภาพชีวิตประชาชนอยู่ในระดับดีมาก หลายประเทศใช้สิงคโปร์เป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้วีรบุรุษผู้ฉุดสิงคโปร์ขึ้นมาจากก้นเหวด้วยความยากลำบากอย่างลี กวน ยู ก็ไม่วายที่จะมีจุดด่างพร้อยเช่นกัน เพราะ ลี ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเสรีภาพของประชาชนที่ถูกวิจารณ์ว่ามีจำกัด ถูกกล่าวหาว่ามักจัดการกับคนที่เห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์เขา บีบบังคับนักการเมืองฝ่ายค้านบางคนจนถึงกับต้องล้มละลาย หรือลี้ภัยไปต่างประเทศ

บางครั้ง ลี ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ จนครั้งหนึ่ง ลี ถึงกับประกาศโดยการยกคำกล่าวของ นิโคโล มาเคียแวลลี นักปรัชญาการเมือง ซึ่งในด้านหนึ่งมาเคียแวลลี เคยถูกเรียกว่า “เจ้าของศาสตร์ทรราช” ว่า “หากไม่มีใครเลยที่กลัวผม ผมก็ไร้ความหมาย”

ลี กวน ยู ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เมื่อปี 2533 ส่งไม้ต่อให้กับ โก๊ะ จ๊ก ตง ผู้ช่วยของเขา ซึ่งปี 2547 เขาก็ได้ส่งต่อให้กับ ลี เซียน หลุง บุตรชายคนโตของ ลี กวน ยู และเป็นนายกคนปัจจุบันของสิงคโปร์

ในส่วนของ ลี กวน ยู เมื่อออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ลี ยังคงอยู่ในสถานะที่ถือว่ามีอิทธิพลอำนาจต่อมาอีก 20 ปี ในฐานะรัฐมนตรีอาวุโสของรัฐบาล เมื่อสุขภาพไม่สู้จะแข็งแรงนัก ลี ได้เกษียณตนเองในปี 2553 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่ภรรยา ลี เสียชีวิตลงทำให้สุขภาพ ลี ทรุดหนักลง

แม้ ลี จะเกษียณตนเองออกมาแล้ว แต่เขาก็ยังเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนมากมาย จนกระทั่งวันที่ 23 มีนาคม 2558 ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์และเป็นวีรบุรุษผู้สร้างชาติสิงคโปร์ได้เสียชีวิตลงในขณะอายุได้ 91 ปี

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ภาพเก่าเล่าตำนาน : แม้ประเทศไม่ใหญ่โต… แต่สิงคโปร์’ นำหน้าเสมอ. Matichon online. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/article/news_1012675. เข้าถึงเมื่อ 9 มีนาคม 2563.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. ไม่มีช่องให้ลอดในสิงคโปร์. Matichon online. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_406592. เข้าถึงเมื่อ 9 มีนาคม 2563.

คนของโลก “ลี กวน ยิว” บิดาผู้ก่อตั้งสิงคโปร์. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม – 2 เมษายน 2558. สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_15056. เข้าถึงเมื่อ 9 มีนาคม 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2563