ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ลอดช่องสิงคโปร์” ของอร่อยในตำนานแห่งแยกหมอมี เจริญกรุง
ใครไปย่านเยาวราช แหล่งรวมอาหารจานเด็ดนานาชนิด อาจคุ้นชื่อของอร่อยอย่าง “ลอดช่องสิงคโปร์” ร้านสิงคโปร์โภชนา ที่เสิร์ฟความอร่อยอยู่ที่ แยกหมอมี ถนนเจริญกรุง มาหลายสิบปี ซึ่งเมื่อกลางปี 2566 ร้านได้ขยับจากที่ตั้งเดิมมาเปิดยังที่ตั้งใหม่ ห่างจากที่เดิมราว 70 เมตร
ลอดช่องสิงคโปร์ ไม่ได้มีที่มาจากประเทศสิงคโปร์อย่างชื่อ แต่เกี่ยวพันกับยุครุ่งเรืองของโรงภาพยนตร์ย่านเยาวราช เช่นที่ในบทความ “คนสมัยก่อนเที่ยวเล่น-พักผ่อนแบบไหน? ย้อนดูแหล่งบันเทิง-สถานเริงรมย์ย่าน ‘ถนนทรงวาด’” ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม อันเป็นบทความหนึ่งในซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า
ในช่วงปลายทศวรรษ 2500 กิจการโรงภาพยนตร์ย่านเยาวราชปรับตัวขึ้นสู่จุดสูงสุด เมื่อการแสดงงิ้วที่เคยเฟื่องฟูเสื่อมความนิยมลง โรงงิ้วจึงปรับตัวเป็นโรงภาพยนตร์ โดยโรงภาพยนตร์ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ โรงภาพยนตร์เทียนกัวเทียน โรงภาพยนตร์เฉลิมราษฏร์ โรงภาพยนตร์เท็กซัส โรงภาพยนตร์นิวแหลมทอง โรงภาพยนตร์ศรีราชวงศ์ โรงภาพยนตร์ศรีเยาวราช โรงภาพยนตร์คาเธ่ย์ โรงภาพยนตร์แคปปิตอล
ในบทความยังอ้างอิงงานของ จันทร์จุฑา สุขขี ซึ่งเขียนเล่าไว้ในบทความ “สำเพ็ง : แหล่งรวมเศรษฐกิจ แหล่งรวมความบันเทิง” ในหนังสือ สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯตอนหนึ่งว่า
“โรงภาพยนตร์ในสำเพ็ง เริ่มจากการฉายภาพยนตร์งิ้วจากฮ่องกงที่เข้ามาฉายในประเทศไทย และได้รับความนิยมจากชาวจีนในไทยอย่างมาก เนื่องจากผู้ชมสามารถจบเรื่องในระยะเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง ไม่ต้องติดตามรอดูโรงงิ้วทุกคืนเป็นเวลาหลายคืนกว่าจะจบ”
ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังเป็น “ยุคทอง” ของหนังจีนค่ายชอว์บราเธอร์สจากฮ่องกง ซึ่ง นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อธิบายไว้ในบทความเรื่อง “หนังจีน ของชอว์บราเธอร์ส และสังคมไทย” ความนำว่า การดูหนังในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อประมาณ พ.ศ. 2502 ถึงประมาณ พ.ศ. 2516 เป็นเรื่องพิเศษของครอบครัว และเป็นประสบการณ์ร่วมของนักดูหนังจำนวนมาก
เป็นวันเวลาที่ประเทศไทยมีโรงหนังอยู่ในกรุงเทพมหานครประมาณ 100-150 โรง ตั้งอยู่ในต่างจังหวัดประมาณ 700 โรง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมหนังกลางแปลง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการดูหนังที่รองรับผู้คนมหาศาลและมีส่วนร่วมในอีกรูปแบบหนึ่ง
จอหนังเหล่านี้รองรับภาพยนตร์ปีละประมาณ 500-600 เรื่อง เป็นหนังฮอลลีวู้ด 200-300 เรื่อง เป็นหนังชาติอื่นๆ 100-200 เรื่อง เป็นหนังไทย 60-80 เรื่อง ส่วนใหญ่หนังชาติอื่นๆ คือหนังจีน ส่วนใหญ่ของหนังจีนคือหนังของชอว์บราเธอร์ส ซึ่งออกฉายอย่างถี่ยิบ ปีละหลายสิบเรื่อง ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา
กาลเวลาผ่านไป “สิงคโปร์” โรงภาพยนตร์ยุคบุกเบิกเมื่อร้อยปีก่อน เปลี่ยนชื่อเป็น “ศาลาเฉลิมบุรี” ก่อนปิดกิจการ กลายสภาพการใช้งานเป็นที่จอดรถ ซึ่งเป็นชะตากรรมของโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในย่านเยาวราช
แต่สิ่งที่ยืนยันประวัติศาสตร์พื้นที่คือ “ร้านสิงคโปร์โภชนา” แยกหมอมี ถนนเจริญกรุง ต้นตำรับที่ยังขาย “ลอดช่องสิงคโปร์” ซึ่งคนหนุ่ม คนสาว และคนที่แวะดูหนังที่โรงหนังสิงคโปร์ ก็มักจะรองท้องด้วยลอดช่องที่ร้านนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- “หลวงโกชาอิศหาก” มัสยิดหนึ่งเดียวในชุมชนจีนย่านสำเพ็งมาจากไหน?
- “เผยอิง” โรงเรียนที่ผลิต “เจ้าสัว” มากที่สุดในเมืองไทย
- “เยาวราช” พิพิธภัณฑ์ (มี) ชีวิตจีนโพ้นทะเล
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2566