“เยาวราช” พิพิธภัณฑ์ (มี) ชีวิตจีนโพ้นทะเล

เยาวราช ถนนเยาวราช
ภาพถ่าย เยาวราช ช่วง ค.ศ. 1948 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

บทนำ

“เยาวราช” เป็นชื่อถนนสายหนึ่ง ในเขตสัมพันธวงศ์ หากฐานะที่แท้จริง เยาวราชคือชุมชนจีนโพ้นทะเลเก่าแก่ขนาดใหญ่ในเมืองไทย เยาวราชที่จะกล่าวถึงต่อไปในบทความนี้จึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ถนนเยาวราช หากรวมเอาชุมชนสำเพ็ง ทรงวาด เจริญกรุง ผดุงด้าว พาดสาน และตลาดน้อย เข้าไปรวมไว้ด้วย

ลูกหลานจีนโพ้นทะเลที่อยู่รอบๆ ตัว หลายท่านผูกพันกับเยาวราชเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งขอยกบางส่วนมาเป็นตัวอย่าง เริ่มจากรุ่นอาวุโส อาป๊าที่บ้าน กับแม่ของอาจารย์ (ของผู้เขียน) อายุเกือบ 80 ปี สองท่านนี้ไปเยาวราชแทบทุกเดือนทั้งที่มาเอง มากับลูกๆ เวลาลูกหลานชวนไปเที่ยวที่ไหน หลายแห่งท่านปฏิเสธอย่างไม่ไยดี แต่ไม่เคยปฏิเสธเยาวราช

Advertisement

ลิ้มเฮียเคยพูดให้ฟังว่า “ก่อนที่พวกเราจะรวมกลุ่มกัน ว่างๆ ก็เดินไปมาอยู่ในเยาวราชคนเดียว” ตอนนี้มีกลุ่มก็เดินไป-มาอยู่กับกลุ่ม แต่สถานที่ยังเป็นเยาวราชเหมือนเดิม ถ้ารวมระยะทางที่ลิ้มเฮียเดินในเยาวราชกว่าสิบปีคงประมาณกรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก

หรือคนรุ่นใหม่อย่างตี้ เขาชอบเดินเยาวราชตั้งแต่เป็นนักศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2545 แม้ต้องกลับไปทำงานที่บ้านในจังหวัดนครราชสีมา หากเกือบทุกสุดสัปดาห์ที่ต้องขับรถประมาณ 3 ชั่วโมง มาเยาวราช

เยาวราช ที่รวมทุกอารมณ์จีนโพ้นทะเล

ถ้าเยาวราชเป็นคน คงบรรยายให้เห็นหน้าตาได้ว่า เยาวราชเป็นย่านการค้าหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ผู้คนมากมาย เร่งรีบ และวุ่นวาย การจราจรคับคั่งไปด้วยรถยนต์ รถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์ รถเข็นส่งสินค้า และยังหาที่จอดรถยากสุดๆ

ฟังดูเยาวราชก็หน้าตาแสนธรรมดา แล้วเสน่ห์ของเยาวราชที่ดึงดูดผู้คนอยู่ตรงไหนเล่า?

ผู้เขียนโทรศัพท์ไปเรียนถามแม่ของอาจารย์เป็นลำดับแรก แต่ท่านไปเรียนภาษาจีนเป็นเพื่อนหลานที่ปักกิ่ง อีก 2-3 เดือนจึงจะกลับ ตั้งเฮียผู้ที่เกิดและโตในเยาวราชเสนอว่า “เรื่องเช่นนี้ต้องให้คนนอกพื้นที่เป็นคนมองมากกว่า อย่างไรก็ตามวันนี้อาคารเก่าๆ ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว ถ้าจะหาความเป็นจีนในเยาวราช มีแต่ตู้โทรศัพท์ที่เพิ่งมาตั้งนี่แหละที่หน้าตาเป็นจีน”

ส่วนลิ้มเฮียให้คำจำกัดความว่า เยาวราชเป็นที่รวมทุกอารมณ์ของคนที่มีเชื้อสายจีน” ก่อนจะขยายภาพความผูกพันของเยาวราชกับจีนโพ้นทะเลแต่ละรุ่นในแต่ละช่วงชีวิต ตั้งแต่เกิดพ่อแม่มีเงินนิดหน่อย ต้องไปซื้อทองที่เยาวราชมาทำขวัญลูก พอเด็กโตขึ้นมาหน่อยจะต้องเข้าโรงเรียน เสื้อผ้าต้องไปซื้อเป็นโหลที่สำเพ็งซึ่งราคาถูกกว่าการซื้อปลีก

พอถึงเทศกาลตรุษจีน เช็งเม้ง ขนมจ้าง สารทจีน ขนมบัวลอย ก็ต้องไปซื้อเครื่องกระดาษ ของไหว้เทพเจ้า ที่เยาวราชซึ่งมีครบทุกอย่าง เมื่อเรียนหนังสือจบรับปริญญาจะพาอากงอาม่ามาเลี้ยงฉลองก็ต้องไปกินอาหารจีนในเยาวราช ทำงานไปเจอเนื้อคู่จะเตรียมสินสอดทองหมั้น ซื้อทอง ซื้อขนมแต่งงาน ซื้อทองใช้ในพิธีแบบคนจีนต้องมาเยาวราช

เมื่อผู้ใหญ่ในบ้านอายุครบ 60 ปี จะจัดงานแซยิด ขนม และข้าวของที่จะใช้ในงานต้องมาซื้อที่เยาวราชมีครบทุกอย่าง อยู่ไปๆ ผู้อาวุโสในบ้านเสียชีวิตก็ต้องไปซื้อโลงศพที่สามแยก

ผู้เขียนถามป๊าว่าทำไมชอบไปเยาวราช ไปทำอะไร? ป๊าสวนกลับเสียงในฟิล์มแต้จิ๋วความว่า “เวลาไปเยาวราช เราก็ไปด้วยกันบ่อยๆ ไม่เห็นหรือว่าไปทำอะไร”

ใช่ หลายครั้งที่ไปเยาวราชกับป๊า เห็นกิจกรรมเดิมๆ คือ ไปกินข้าว ไปซื้ออาหาร ของแห้ง (เห็ดหูหนูดำ-ขาว ดอกไม้จีน สาหร่ายทะเล เต้าหู้ยี้ หล่อฮังก้วย ฯลฯ) และทองรูปพรรณ แต่ก็ไม่เข้าใจว่า “ที่ไหนๆ ก็มีขายทำไมต้องไปซื้อที่เยาวราช”

เมื่อเจอคำตอบเช่นนี้จึงไม่มีหนทางอื่นนอกจากไปเยาวราช ไปคนเดียว ไปกับที่บ้าน ไปกับเฮียๆ ค่อยๆ เดินจากถนนใหญ่ เข้าซอยเล็ก กินอาหารในภัตตาคารจนถึงร้านริมทางเดิน

แล้วความเป็นจีนในเยาวราชก็ค่อยๆ ออกมาทักทายให้เห็น

เริ่มจากอาหารง่ายๆ อย่างก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยวในเยาวราชส่วนใหญ่ไม่ใส่ถั่วงอก หรือถ้าใส่ก็น้อยมากจนนับต้นได้ หลายๆ ท่านที่เคยกินก๋วยเตี๋ยวที่แต้จิ๋ว ซัวเถา บอกว่าที่นั่นก็ไม่ใส่ถั่วงอกเหมือนกัน เพราะถั่วงอกเหม็นเขียวและทำลายรสน้ำแกง อาหารทั่วไป อย่างผัดผัก แกงจืด ฯลฯ รสของอาหารยังต่างกัน ส่วนหนึ่งเพราะอาหารจีนส่วนใหญ่ไม่นิยมใส่น้ำตาล หากอาหารไทยนิยมเติมน้ำตาลเล็กน้อย ส่วนที่เหลือคงเป็นรสนิยมแบบไทยแบบจีนซึ่งมีรายละเอียดความอร่อยที่แตกต่างกัน

บรรยากาศการกินก็ยังมีส่วน ครั้งหนึ่งที่ไปกินโต๊ะจีนในภัตตาคารมีชื่อแห่งหนึ่งย่านเยาวราช น้องชายผู้เขียนกระซิบให้ดูว่า โต๊ะรอบๆ ทำไมมีแต่คนจีน หรือคนที่มีเชื้อสายจีน และมากันเป็นครอบครัว เมื่อลงมือกินก็เห็นว่า บรรยากาศการกินโต๊ะจีน กินอาหารจีนที่เยาวราช มันต่างกับที่กินในห้องอาหารจีนตามโรงแรม

บริกรไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจานอาหารให้ลูกค้าเกือบทุกครั้งที่มีอาหารรายการใหม่ขึ้นโต๊ะ รสอาหารจานก่อนกับจานนี้รวมกันก็ไม่เลว ไม่ต้องคอยตักอาหารประเภทน้ำแกง หรือหม้อไฟใส่ถ้วยแบ่งให้ลูกค้า ผู้เยาว์ก็ต้องรู้ที่จะบริการผู้อาวุโส และต้องดูด้วยว่าใครอาวุโสที่สุดในโต๊ะ

ร้านที่ไปยังแสดงเอกลักษณ์ของคนแต้จิ๋วโดยบริการนํ้าชารสดีถ้วยน้อยให้ดื่มล้างปาก เพิ่มต่างหากจากเครื่องดื่มที่บริการก่อนยกของหวานขึ้นโต๊ะอีกด้วย เมื่อกินเสร็จลูกค้าส่วนใหญ่จะจ่ายค่าอาหาร และออกจากร้านอย่างรวดเร็ว มากกว่านั่งพูดคุยกันต่อไป นัยว่าคนจีนกินเสร็จต้องไปทำงานทำการค้าแล้ว

กินข้าวในเยาวราชสำหรับลูกจีนจึงต่างจากที่บ้านเพียงแค่ไม่ต้องล้างจานชามเอง

แม้เยาวราชจะเป็นแหล่งรวมอาหารอร่อยในวันนี้ แต่ก่อนหน้านั้น ที่นี้คือมหาวิทยาลัยการค้าแบบจีนแห่งประเทศไทย ถ้าเป็นคนจีนแล้วไม่ว่าจะส่วนไหนของประเทศไทยต้องมีสักครั้งที่ได้เข้ามาซื้อขายในเยาวราช

เพราะเยาวราชมีสินค้าเกือบทุกอย่างทั้งของกินของใช้ สำหรับทุกคน ทุกอาชีพ มีบริการสารพัดชนิดตั้งแต่ขนส่งสินค้า เชื่อม-เคาะ ตัดต่อเหล็ก รับทำขนมตามเทศกาล จนถึงบริการเสริมความงามริมถนน อย่างมั่งหมิ่ง (ถอนขนอ่อนๆ บนใบหน้าด้วยเส้นด้าย) ฯลฯ ลูกจีนโพ้นทะเลที่ทำการค้าหลายคนเคยเดินตามพ่อแม่มาสั่งซื้อสินค้าที่เยาวราช

ส่วนใครจะจบหลักสูตรออกไปเป็นคนงาน เถ้าแก่ หรือเจ้าสัว ก็แล้วแต่ชะตา

เมื่อทำมาหากินพอมีเหลือก็ต้องเก็บออมเงิน สะสมเงินได้มากพอก็ไปซื้อเป็น “ทอง” ลิ้มเฮียกับตั้งเฮียช่วยเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของทองกับคนจีนเป็นความผูกพันที่ยาวนาน คนจีนในยุคแรกที่มาเมืองไทย ไม่รู้ภาษาไทย และยังมีข้อห้ามตามกฎหมายสำหรับต่างด้าว คนจีนจึงนิยมเก็บทองเป็นทุน เพราะมั่นคง และสะดวกในการเคลื่อนย้าย เนื่องจากชุมชนจีนเดิมส่วนใหญ่ที่เป็นเรือนไม้ปลูกติดกันเป็นแถว หากเกิดเพลิงไหม้จะลามไปห้องข้างๆ อย่างรวดเร็ว เวลาจำกัด ทรัพย์สินอย่างอื่นขนย้ายลำบากแถมมีมูลค่าน้อย มีแต่ทองที่นำติดตัวไปได้อย่างสะดวก

บ้านที่พอจะมีฐานะมักจะซื้อเครื่องประดับที่เป็นทองให้ลูก เป็นสมบัติติดตัว ถ้าเป็นลูกสาวจะซื้อสร้อยข้อมือ แหวน สร้อยคอ และตุ้มหูให้ ส่วนลูกชายจะเป็นแหวนและสร้อยคอ เมื่อลูกแต่งงานก็ใช้ทองเป็นของรับไหว้ เป็นสินสอด เป็นขวัญถุง ทองจึงใช้เป็นเครื่องประดับและเป็นทุนสำรองเมื่อต้องการลงทุนการค้า หรือเวลาขัดสน

ร้านค้าทองคำที่มีมากมายในเยาวราชจึงเป็นภาพสะท้อน การอดออมของชาวจีน นั่นเอง

ตั้งเฮียเคยเล่าถึงบรรยากาศของเยาวราชเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อนว่า เถ้าแก่ร้านส่วนใหญ่เป็นคนจีน พูดเป็นแต่ภาษาจีน คนงานที่เป็นคนจีนก็สื่อสารกันได้ไม่มีปัญหา คนงานที่เป็นคนไทยต้องพยายามหัดภาษาจีนเพื่อจะให้ได้งานทำ แต่วันนี้เถ้าแก่ต้องพยายามพูดภาษาไทย หรือภาษาอีสานให้คนงานรู้เรื่อง เพราะแรงงานหายาก

ภาษาที่ใช้ในเยาวราชจึงเป็นภาษาจีนจากถิ่นต่างๆ เป็นภาษาไทยสำเนียงจีน และภาษาจีนปนไทย แต่ภาษาจีนถิ่นต่างๆ ใช้งานน้อยลงไปเรื่อยๆ โรงเรียนสอนภาษาจีนของจีนกลุ่มต่างๆ เช่น โรงเรียนเผยอิงของคนจีนแต้จิ๋วที่ถนนทรงวาด โรงเรียนจิ้นเตอะของจีนแคะที่ถนนพาดสาย ฯลฯ ที่พยายามยึดโยงกับวัฒนธรรมบ้านเกิด วันนี้โรงเรียนสอนภาษาจีนเป็นภาษาจีนกลางทั้งหมด ลูกหลานจีนโพ้นทะเลที่มีความรู้ส่วนหนึ่งพูดภาษาของตนเองได้น้อยลง ส่วนหนึ่งกำลังชื่นชมกับภาษาจีนกลางตามกระแสจีนภิวัตน์

วันนี้ภาษาจีนถิ่นจึงกำลังถูกท้าทายอีกระลอกด้วยภาษาจีนกลาง

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยหนึ่งถ้ามีเวลาว่างท่านชอบไปเดินตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยตอนเย็นๆ ค่ำๆ เพื่อดูวิถีผู้คน และฟังเรื่องเล่าที่เขาพูดคุยกันด้วยภาษาจีนถิ่น ท่านว่าฟังแล้วชื่นใจดี แต่วันนี้หาภาพเช่นนั้นได้ยากเต็มที

ความเจริญรุ่งเรืองทำให้เยาวราชคึกคักมีชีวิต แต่วันหนึ่งความเจริญก็เรียกคืนจากชุมชนบ้าง ความหนาแน่นของผู้คนที่อยู่อาศัยมากขึ้น เยาวราชที่เคยเป็นบ้าน เป็นร้านค้า เป็นที่ทำงานประกอบอาชีพ เริ่มเปลี่ยนไป ราคาที่ดินในเยาวราชสูงขึ้นจนหลายคนสู้ไม่ไหว หรือขายที่ทำกำไรแทน คนเยาวราชส่วนหนึ่งจึงขยับขยายออกไปพักอาศัยนอกพื้นที่อาศัยชุมชนทำการค้า จนมีคำพูดว่า “คนเยาวราชไม่นอนเยาวราช” หากคนเยาวราชจำนวนไม่น้อยที่ยังคงอยู่ในเยาวราช และมีคนจำนวนหนึ่งที่ย้ายออกไปแล้วต้องกลับมา ด้วยเหตุผลว่า “ทนคิดถึงไม่ไหว”

คิดถึงวิถีชีวิตของตนเองที่คุ้นเคยมานานมาพบ

พิพิธภัณฑ์ (มี) ชีวิต

พจนานุกรม ฉบับมติชน อธิบายพิพิธภัณฑ์ว่าคือ “สถานที่จัดแสดงสิ่งต่างๆ เพื่อการศึกษาหาความรู้”

วันนี้เรื่องราวของคนจีนโพ้นทะเลจัดแสดงเป็นประเด็นหลักในพิพิธภัณฑ์อย่างน้อย 2 แห่ง คือ ศูนย์ประวัติชุมชนเยาวราชที่วัดไตรมิตร กรุงเทพฯ และพิพิธภัณฑ์ลูกหลานมังกร จังหวัดสุพรรณบุรี

เช่นนี้ เยาวราชจึงเป็นที่รวบรวมและแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนจีนโพ้นทะเลที่สืบทอดมาจากหลายถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นแต้จิ๋ว กวางตุ้ง เหมยเสี้ยน ไหหลำ ฯลฯ ผ่านข้าวปลาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ที่ซื้อขาย ต่อรองด้วยรูปแบบของคนจีน

เยาวราชไม่ได้เป็นแค่ขื่อถนน ชื่อย่านการค้า หากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตชีวา เพราะสิ่งที่จัดแสดงเป็นไปโดยธรรมชาติของผู้คน เยาวราชจึงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างจากชีวิต วิญญาณของคนจีนโพ้นทะเลที่จำลองมาจากบ้านเดิม พิพิธภัณฑ์ที่ผู้หลักผู้ใหญ่มาเดินดูร้องรอยของบรรพชน ส่วนคนหนุ่มสาวใช้ค้นหาตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ตัวตน คน ‘แต้จิ๋ว'” เขียนโดย เสี่ยวจิว (สำนักพิมพ์มติชน, 2554)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2566