ผู้เขียน | เสี่ยวจิว |
---|---|
เผยแพร่ |
สำหรับ “ติ่ง” นิยาย/ซีรีส์กำลังภายใน ชื่อ 2 สำนักใหญ่แห่งยุทธภพอย่าง “วัดเส้าหลิน” และ “สำนักบู๊ตึ๊ง” ไม่มีใครไม่รู้จัก แล้ว 2 สำนักนี้จริงๆ มีไหม? ตั้งอยู่ที่ไหน? ใครสร้าง? และมีเคล็ดวิชาอะไรสำคัญ?
ผศ.ถาวร สิกขโกศล นักวิชาการด้านจีนวิทยา อธิบายเรื่องดังกล่าวไว้ใน “สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก” (สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, พิมพ์ครั้งที่ 4) ขอเริ่มจากวัดเส้าหลินที่กำเนิดก่อน สำนักบู๊ตึ๊ง 800 ปี
วัดเส้าหลิน บ้างเรียก “เสียวลิ้มยี่” แปลว่า “วัดป่าเชิงผาเสียวซิก” เพราะตั้งอยู่ในป่าที่เชิงผาเสียวซิก วัดเส้าหลินเป็นวัดในศาสนาพุทธ มีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือ
1. มณฑลเหอหนัน ได้รับการยกย่องเป็นวัดสำคัญของจีน (เพราะเป็นต้นกำเนิดนิกายเซนแบบจีน) และสำนักวิทยายุทธ์ที่โด่งดัง พระเจ้าวุ่ยเซี่ยวเหวินตี้ทรงสร้างวัดเส้าหลิน เมื่อ พ.ศ. 1038 เพื่อถวายเป็นที่พำนักของพระพุทธภัทรเถระ ท่านเจ้าชายในศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้า ที่มาเผยแพร่พุทธศาสนาในจีน ส่วนพระโพธิธรรมเถระ (ตั๊กม้อโจวซือ) เดินทางจากมาเผยแพร่นิกายเซนที่วัดเส้าหลินในภายหลัง
2. วัดเส้าหลินที่ภูเขาผานซาน ไม่ไกลจากกรุงปักกิ่ง สร้างในสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1789-1911) ไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องในนิยายกำลังภายใน
3. วัดเส้าหลินที่ภูเขาจิ่วเหลียนซาน มณฑลฮกเกี้ยน สร้างในสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911-2187) เรียกว่า “เส้าหลินใต้” วัดนี้ไม่มีชื่อเสียงทางศาสนา แต่โดดเด่นเรื่องวิทยายุทธ์ และการต่อต้านแมนจู สมัยราชวงศ์ชิง ถูกเผาเสียหายถึง 2 ครั้งติดกัน จนสิ้นสภาพวัด แต่วิชาวัดเส้าหลินยังคงแพร่หลายอยู่ (ปัจจุบันทางการจีนสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ที่เมืองฉวนโจว มณฑลฮกเกี้ยน เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว)
วิชากำลังภายใน (พลังลมปราณ และวิทยายุทธ์ของวัด) คาดว่าเกิดในสมัยของพระพุทธภัทรเถระ เนื่องจากวัดเส้าหลินตั้งอยู่ในป่ามีสัตว์ร้ายมาก ที่ผ่านมาการฝึกวิทยายุทธ์ของพระวัดเส้าหลินได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก ถึงขนาดมีกองทัพพระ ยุคที่รุ่งเรืองมีพระเณรกว่า 2,000 กว่ารูป กองทัพพระมีประมาณ 500 รูป
จอมยุทธ์ที่โด่งดังของวัดเส้าหลินคือ หลวงจีนกั๊กเอี๋ยง ซึ่งมี 2 รูปด้วยกัน รูปแรกเป็นคนสมัยราชวงศ์ถัง เป็นผู้นำพระในวัดไปช่วยพระเจ้าถังไท่จง, รูปที่สองเป็นคนสมัยปลายราชวงศ์ซ่งต้นราชวงศ์หยวน มีชื่อเสียงกว่าองค์แรก และเป็นผู้พัฒนาวิทยายุทธ์ของเส้าหลินให้ก้าวหน้าอย่างมาก เช่น พัฒนาฝ่ามืออรหันต์จาก 18 ท่า เป็น 72 ท่า และร่วมกับอาจารย์สำคัญท่านอื่นขยายเพลงมวยเส้าหลินเป็น 173 ท่า หลวงจีนกั๊กเอี๋ยงองค์นี้กิมย้งกล่าวไว้ในมังกรหยกภาค 2 และ 3 ว่าเป็นอาจารย์ของเตียซำฮง (จางซันเฟิง) แห่งสำนักบู๊ตึ้ง
ขณะที่เส้าหลินใต้ก็มีศิษย์มีชื่อเสียงโด่งดังปรากฏในภาพยนตร์กำลังภายในมากที่สุด ได้แก่ ปึงสี่เง็ก, อั้งฮีกัว, โอ้วฮุ่ยเคี้ยง อาจารย์ของพวกเขาก็คือ หลวงจีนจี๊เสียง และในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น สิบแปดยอดมนุษย์ทองคำ, หลวงจีนซันเต๋อ, วีรบุรษเส้าหลิน, พยัคฆ์ร้ายเส้าหลิน ฯลฯ
ปัจจุบันวัดเส้าหลินเหนือ (วัดเส้าหลินแห่งแรก) ได้ฟื้นฟูและยังคงสอนวิทยายุทธ์เช่นในอดีต โดยแยกเป็นประเภทต่างคือ เพลงมวย, เพลงกระบี่, เพลงดาบ, เพลงทวน, เพลงกระบอง, เพลงอาวุธชนิดอื่น, วิชาการต่อสู้แขนงอื่น (ใช้มือเปล่า ชิงอาวุธ คว้าจับ) วิชาจี้สกัดจุด, วิชาพลังลมปราณ ขณะที่สำนักเส้าหลินใต้ก็ยังคงเผยแพร่วิชาออกไปเช่นกันและเป็นที่รู้จักดีกว่าในต่างประเทศ โดยเฉพาะยิ่งวิชาเพลงมวยตระกูลอั้ง บรู๊ซลี ดาราภาพยนตร์กำลังภายในผู้โด่งดังก็นับเป็นศิษย์ของเส้นหลินใต้ด้วย
สำนักบู๊ตึ้ง
บู๊ตึ้งเป็นชื่อที่ภูเขาในมณฑลหูเป่ย ภูเขาบู๊ตึ้งมีธรรมชาติงดงามจนได้รับการยอย่องเป็นทัศนียภาพสำคัญแห่งหนึ่งของจีน นักพรตในลัทธิเต๋านิยมมาปฏิบัติธรรมที่เขาบู๊ตึ้งกันมาก นักพรตที่มีชื่อเสียงที่สุดของสำนักบู๊ตึ้งได้แก่ เตียซำฮง (จางซันเฟิง) บุคคลที่มีตัวตนจริง
เตียซำฮง เป็นชาวเมืองอี้โจว เกิดเมื่อ พ.ศ. 1790 สมัยราชวงศ์ซ่ง เมื่อตนเองอายุ 67 ปี ได้พบกับฮวยเหล็งจินหยินและเรียนวิชาเต๋าจนบรรลุมรรคผล อายุ 70 กว่าปีได้นำศิษย์ไปตั้งสำนักที่เขาบู๊ตึ้ง หลักการต่อสู้ของเขาจึงแตกต่างจากปกติที่ใช้ความแข็งแกร่งว่องไวเอาชนะคู่ต่อสู้ ด้วยเตียซำฮงนั้นสูงวัยจึงคิดค้นหาวิธีเอาชนะโดยใช้หลักของปรัชญาเต๋าพัฒนาเป็น “มวยไทเก็ก” ที่มีหลักสำคัญ 4 ข้อคือ สงบสยบความรุนแรง, ช้าสยบเร็ว, หยุ่นสยบแกร่ง และน้อยสยบมาก
ลูกศิษย์ทั้ง 7 ของเตียซำฮงที่มีชื่อเสียงและฝีมือดี ได้แก่ ซ้องเอียงเกี้ยว, หยูเหลียงจิว, หยูไต้งั้ง, เตียซ้ง โคย, เตียชุ่ยซัว, ฮึงหลีเต๊ง และม็อกก๊อกเซีย กิมย้งได้นําเรื่องราวของพวกเขามาแต่งขยายเป็นเรื่องมังกรหยกภาคสาม โดยวางบทให้เตียชุ่ยซัวและลูกชายชื่อเตียบ่อกี้เป็นตัวเอก แต่ความจริงในประวัติศาสตร์แล้วเตียซ้งโคย เป็นศิษย์คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด มีพลังฝีมือลึกล้ำที่สุด
นอกจากนี้ยังมีศิษย์รุ่นหลังๆ ที่มากฝีมือ อย่างเช่น หลี่เก้งลิ้ม, จิวฮั่นมิ้น และก๊วยจีหง ที่ได้รับยกย่องว่า “สามจอมยุทธ์แห่งบู๊ตึ้ง” จนใน พ.ศ. 2473 นักกระบี่ญี่ปุ่นเดินทางมาคารวะและขอประลองกับจิวฮั่นมิ้นทำให้เพลงกระบี่บู๊ตึ้งโด่งดังไปนอกประเทศ พ.ศ. 2479 รัฐบาลจีนคัดเลือกกระบี่สำนักบู๊ตึ้งเป็นตัวแทนเพลงกระบี่จีนไปแสดงที่กรุงเบอร์ลิน ลูกศิษย์ของสามจอมยุทธ์บู๊ตึ้งยังเขียนตำรา หลักสำคัญของกระบี่ (พ.ศ. 2481) และบันทึกเรื่อวกระบี่บู๊ตึ้ง (พ.ศ. 2487) ทำให้เพลงกระบี่บู๊ตึ้แพร่หลาย
ส่วนวิชา “มวยไท้เก๊ก” ที่ถือเป็นวิทยายุทธ์มีชื่อโด่งดังที่สุดของบู๊ตึ้ง ความจริงเป็นชุดท่าบริหารร่างกายที่มีมาก่อนเตียซำฮง มีการปรับปรุงพัฒนาเรื่อยมา เป็นมวยจีนแท้แต่โบราณที่สุดชุดหนึ่ง เตียซำฮงนำหลักของเต๋าตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น มาใช้พัฒนามวยชุดนี้จนเป็นมวยที่มีชื่อ ซ้องเอียงเกี้ยว (ศิษย์คนโตของเตียซำฮง) ได้บันทึกความเป็นมาของมวยไท้เก๊กไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์การค้นคว้ายุคปัจจุบัน นอกจากนี้ซ้องจือเม้ง ทายาทรุ่นที่ 14 ของเขา ยังเป็นเลขานุการคนสำคัญของยวนซีไคประธานาธิบดีคนแรกของจีน และเป็นครูมวยไท้เก๊กที่มีชื่อคนหนึ่ง
ปัจจุบันมวยไท้เก๊ก 6 สำนักใหญ่ คือ สำนักบู๊ตึ้ง, สำนักตระกูลตั้ง, สำนักตระกูลเอี้ย, สำนักตระกูลโง้ว, สำนักตระกูลบู และสำนักตระกูลซึ่ง ล้วนสืบทอดมาจากเตียซำฮง
แล้ววิทยายุทธ์ของสํานักบู๊ตึ้งกับสํานักเส้าหลินต่างกัน อาจารย์ถาวรสรุปไว้ว่า
“วิทยายุทธ์วัดเส้าหลินเป็นของพุทธศาสนา ได้รับอิทธิพลของวิชาโยคะและศิลปะการต่อสู้ของอินเดีย เน้นการใช้พลังภายนอก ทําให้แกร่งกร้าวดุดัน ฉับไว ปรากฏผลแพ้ชนะเร็ว แต่วิทยายุทธ์ของสํานักบู๊ตึ้งเป็นของลัทธิเต๋า เน้นพลังภายใน จึงสุขุมแช่มช้า อ่อนช้อยงดงาม ได้รับยกย่องว่าเป็นต้นแบบของมวยพลังภายในของจีน”
อ่านเพิ่มเติม :
- พระเณรวัดเส้าหลิน พระจีนที่ช่วยบ้านเมือง-ประชาชนยามเกิดจลาจล
- จี้กง หลวงจีนผู้สำเร็จเป็นอรหันต์ แต่ชาวบ้านทำไมเรียกท่าน “พระบ้า”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2563