คนสมัยก่อนเที่ยวเล่น-พักผ่อนแบบไหน? ย้อนดูแหล่งบันเทิง-สถานเริงรมย์ย่าน “ถนนทรงวาด”

คนสมัยก่อนเที่ยวเล่น-พักผ่อนกันแบบไหน? ย้อนดูแหล่งบันเทิง-สถานเริงรมย์ จุดทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมในศูนย์กลางการค้ายุคบุกเบิกของไทยละแวก “ถนนทรงวาด”

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งใน “เมืองสมัยใหม่” ซึ่งปรากฏเด่นชัดเสมอคือแหล่งความบันเทิงและพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจที่มักพบเห็นได้ในแทบทุกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนจากวัฒนธรรมใดก็ตาม

สำหรับแหล่งบันเทิงของ “เมืองสมัยใหม่ในอดีต” ในไทย หนีไม่พ้นสีสันที่เกิดขึ้นในแถบ “สำเพ็ง” อันเป็นชุมชนและย่านการค้ายุคแรกเริ่มในสมัยรัตนโกสินทร์จนกำเนิดถนนตัดใหม่หลายเส้นในภายหลัง หนึ่งในนั้นมี “ถนนทรงวาด” ซึ่งถือเป็นถนนสำคัญต่อการค้าของไทยในอดีตเช่นกัน

ชื่อเสียงของย่านสำเพ็งไม่ได้มีเพียงแค่แง่มุมการค้า “สำเพ็ง” ไปจนถึง “แถบเยาวราช” ยังเป็นที่จดจำในเรื่องกิจกรรมทางวัฒนธรรม แหล่งบันเทิง และสถานเริงรมย์ยุคที่เมืองกำลังเปลี่ยนแปลงหลายประการสอดรับกับกระแสจากโลกภายนอก

ร่วมสำรวจและดูข้อมูลเบื้องหลังแหล่งความบันเทิงในอดีตซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนจากซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” ตอนที่ 8 กับเรื่องราวของวัฒนธรรม ความบันเทิง และย่านที่ผู้คนในอดีตไปพักผ่อนหย่อนใจ

ติดตามซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” จากศิลปวัฒนธรรมและช่องทางต่างๆ ในเครือมติชน เผยแพร่เดือนละ 2 ตอน ในวันศุกร์ (ศุกร์เว้นศุกร์) เวลา 19.00 น. (ครั้งถัดไปเผยแพร่วันศุกร์ที่ 21 มกราคม)

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไม “ถนนทรงวาด” กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะกิจการ-นักธุรกิจในยุคบุกเบิก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิก มีทั้งวัด ศาลเจ้า มัสยิด มิชชันนารี ได้อย่างไร

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของมหานครในไทย ย่านธุรกิจแหล่งการค้าขายเกิดขึ้นหลายแห่ง ถึงจะมีพื้นที่อื่น แต่ย่านสำเพ็งอันเก่าแก่ในยุคปัจจุบันยังมีผู้คนแวะเวียนไปเลือกซื้อสินค้ากันอยู่

ในอดีต ย่านสำเพ็งถือเป็นย่านสำคัญและสามารถจัดเป็นแหล่งการค้าแห่งแรกๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ว่าได้ สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ. 2325 ครั้งนั้นพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นในบริเวณปัจจุบัน แต่ในสมัยนั้น พื้นที่เดิมยังเป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนจำนวนหนึ่ง

เมื่อชาวจีนกลุ่มดังกล่าวเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยออกมาแล้ว ที่ตั้งหลักแหล่งใหม่ของชาวจีนกลุ่มนี้คือด้านนอกกำแพงพระนครในบริเวณวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส เรื่อยไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง หรือคลองวัดปทุมคงคาฯ โดยพื้นที่ซึ่งชาวจีนย้ายมาอยู่ใหม่ในครั้งนั้น เรียกกันว่า “สำเพ็ง” นั่นเอง

ยุคตั้งต้นของสำเพ็งเริ่มจากเป็นลักษณะชุมชนกึ่งที่อยู่อาศัยกึ่งร้านค้า ชาวจีนมักตั้งที่พักอาศัยโดยใช้เป็นร้านค้าด้วย จึงพอกล่าวได้ว่าสภาพพื้นที่สำเพ็งยุคตั้งต้นจัดเป็นย่านการค้าแห่งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ และขยายตัวในเวลาต่อมาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยลักษณะของย่านการค้าอันคึกคัก บริเวณสำเพ็งมีธุรกิจและบริการหลากหลายประเภท ผสมไปกับบรรยากาศของวิถีชีวิตและพื้นที่การแสดงทางวัฒนธรรมตามลักษณะของกลุ่มชนซึ่งประกอบการค้า ไม่เพียงแค่ธุรกิจในกลุ่มจำหน่ายขายสินค้า ชื่อเสียงของสำเพ็งอีกด้านหนึ่งที่มาควบคู่กับแง่มุมทางเศรษฐกิจคือเรื่องแหล่งบันเทิงด้าน “โลกียสำราญ”

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านมาสู่ช่วงลักษณะ “เมืองสมัยใหม่” เริ่มปรากฏบ้างแล้ว บริเวณใกล้เคียงสำเพ็งอย่างเยาวราชก็ปรากฏกิจการการค้าและแหล่งความบันเทิงเริงรมย์ ซึ่งไม่ได้เพียงเป็นแค่เรื่องทางเศรษฐกิจหรือสังคมเท่านั้น ยังเป็นเรื่องที่ฉายภาพกิจกรรมทางวัฒนธรรม ค่านิยม และอิทธิพลทางความคิดของผู้คนในยุคนั้นด้วย

มาดูกันว่าผู้คน(ในย่านการค้า)สมัยก่อนชมการแสดงทางวัฒนธรรม แสวงหาความบันเทิง และใช้บริการสถานเริงรมย์แบบไหนบ้าง

การแสดงงิ้ว วัฒนธรรมพื้นเมืองที่พ่อค้าก็ดู

กลุ่มชาวจีนมีบทบาทในสังคมไทยหลายด้าน ไม่เพียงแค่แง่มุมทางเศรษฐกิจและการค้า สิ่งที่ชาวจีนส่งอิทธิพลสำคัญสืบเนื่องต่อมาคือด้านวัฒนธรรม ตั้งแต่วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันเรื่องอาหารการกิน ไปจนถึงศิลปะการแสดงในเชิงวัฒนธรรม ซึ่งศิลปะการแสดงที่เรียกว่า “งิ้ว” ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

หลักฐานเกี่ยวกับงิ้วในไทยปรากฏขึ้นในบันทึกของต่างชาติหลายรายที่เข้ามาในสยามตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อาทิ บันทึกของบาทหลวงซัวซีย์ (François–Timoléon de Choisy) ที่เข้ามาอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) เนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงการแสดงในงานฉลองที่ทำเนียบของพระยาวิชเยนทร์ (คอนแสตนติน ฟอลคอน) ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

“งานฉลองปิดท้ายรายการลงด้วยงิ้วหรือโศกนาฏกรรมจีน มีตัวแสดงจากมณฑลกวางตุ้งคณะหนึ่ง และจากเมืองจินเจาคณะหนึ่ง”

ขณะที่เอกสารในอดีตอีกฉบับที่เรียบเรียงขึ้นโดยพระสันทัดอักษรสาร ใช้ชื่อว่า “ประวัติงิ้วในเมืองไทย” เขียนลงวารสาร “ศัพท์ไทย” เล่ม 3 ตอน 9 ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2467 อธิบายว่า “ประวัติงิ้วในเมืองไทยที่เข้ามาเล่นเป็นครั้งแรกในไทยนั้นเรียกว่า ‘งิ้วลั่นถั่น’ หรือ ‘ไซฉิน’ ครั้งต่อมางิ้วลั่นถั่นกลายเป็นงั่วกัง…”

เชื่อกันว่าช่วงเวลาที่พระสันทัดอักษรสาร อธิบายไว้นั้นคือราวพ.ศ. พ.ศ. 2367 อันเป็นปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 2

สถานที่แสดงงิ้วในอดีตหากแบ่งโดยคร่าว ประเภทที่นิยมอย่างแรกคือแสดงเพื่อความบันเทิงหรือเป็นการแสดงทางวัฒนธรรมโดยไม่ได้เป็นการแสดงประกอบกิจกรรมหรือแสดงเป็นมหรสพในสถานที่ซึ่งจัดกิจกรรมรื่นเริงชนิดอื่น ประเภทนี้มีหลักฐานปรากฏชัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ลักษณะเป็นโรงงิ้วโดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ. 2402 ช่วงที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงมหรสพอย่างเป็นทางการ และมีจัดเก็บภาษีงิ้วที่อัตรา 4 บาทต่อการเล่น 1 วัน ซึ่งถือว่าถูกกว่าการแสดงชนิดอื่น ชาวจีนกลุ่มที่พอมีฐานะทางการเงินดีแล้วจึงสามารถสนับสนุนกิจการคณะงิ้วทำให้กิจการเสียภาษีให้รัฐได้ งิ้วจึงเฟื่องฟูไปตามลำดับ (จันทร์จุฑา สุขขี, 2559)

งิ้วในอดีตอีกกลุ่มที่นิยมกันย่อมเป็นงิ้วแสดงในโรงบ่อนเบี้ย อันเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและแหล่งความบันเทิงในอดีตที่ชาวต่างชาติซึ่งเดินทางเข้ามาไทยมักจดบันทึกไว้ว่าเป็นที่นิยมกันมากในไทย โดยทั่วไปแล้ว สถานที่เหล่านี้มีกิจกรรมบันเทิงมาให้บริการลูกค้าด้วย บรรดามหรสพนาฎกรรมที่นิยมแสดงในบ่อนเบี้ย “งิ้ว” จัดเป็นการแสดงที่นิยมมากในอันดับต้นๆ

บทความของพระสันทัดอักษรสาร อธิบายต่อมาว่า งิ้วได้รับความนิยมในไทยมากขึ้นเป็นลำดับ มีคนไทยเป็นเจ้าของโรงงิ้วกันหลายท่าน โดยเฉพาะกลุ่มเจ้านาย ซึ่งพระสันทัดอักษรสาร บันทึกว่า

“แม้ที่สุดกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ก็ทรงเป็นเจ้าของงิ้วโรงหนึ่งเหมือนกัน ยังเรียกกันอยู่ติดปากในขณะนั้นว่า ‘งิ้ววังหน้า’ ซึ่งทรงรวบรวมลูกจีน และมหาดเล็กเด็กชายในพระองค์ท่าน หัดขึ้นจนออกโรงเล่นได้เป็นอย่างดีในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังมีเจ้านายข้าราชการและพ่อค้าคหบดีอีกหลายท่านที่เป็นเจ้าของงิ้ว”

หากพิจารณาจากข้อมูลในบันทึกอาจพอกล่าวได้ว่า งิ้วมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และคงเฟื่องฟูมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงขั้นมีเจ้านายเป็นเจ้าของโรงงิ้วด้วย

ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา มีบันทึกไว้ว่า ชาวจีนแต้จิ๋วเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่มีจำนวนมากที่สุดในไทย หลังจากรัชสมัยรัชกาลที่ 5 งิ้วยังคงได้รับความนิยมอยู่ บางคนมองว่า กรุงเทพฯ ช่วงพ.ศ. 2463-2473 มีสภาพเสมือนศูนย์กลางงิ้วแต้จิ๋วของโลกก็ว่าได้ เนื่องจากบนถนนเยาวราชมีโรงงิ้วสำหรับคณะงิ้วแสดงประจำอยู่ 10 แห่ง เปิดแสดงทั้งกลางวันและกลางคืน

อย่างไรก็ตาม งิ้วที่นิยมกันยังมีอีกส่วนที่พบว่ามีลักษณะเป็นชาวจีนในไทยจ้างงิ้วจากจีนมาแสดงในงานประจำปี โดยมักจ้างเป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน เมื่อพูดถึงงิ้วจากจีนที่เข้ามาแสดงในไทย ส่วนหนึ่งไม่ใช่งิ้วแต้จิ๋ว แต่เป็นงิ้ว 4 ประเภทคือ งิ้วงั่วกัง งิ้วเจี่ยอิม งิ้วแป๊ะหยี่ งิ้วไซฉิ้ง

นอกเหนือจากเยาวราช ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงกันอย่างสำเพ็งมีบันทึกถึงบรรยากาศความนิยมงิ้วไว้ด้วย โดยพระสันทัดอักษรสารอธิบายว่า มีธรรมเนียมอย่างหนึ่งว่างิ้วไม่ว่าจะเป็นของชาติใด เมื่อเข้ามาไทย จะต้องมาเล่นที่ศาลเจ้าเก่า ตำบลสำเพ็ง “เพื่อถวายให้จ้าวดูเป็นพิเศษเสียวันกับคืนหนึ่งก่อน โดยไม่ต้องให้มีใครหาหรือเรียกร้องให้ไปเล่น จำเป็นที่ตั้วโผจักต้องนำไปเล่นถวายเอง…” (พระสันทัดอักษรสาร, 2467)

โดยศาลเจ้าเก่านี้มองว่า “นับเป็นสถานที่อำนวยโชคให้งิ้วได้ รับผลดีหรือไม่ดีก็ได้ กล่าวคือในปีหนึ่งๆ บรรดาพวกพ่อค้าจีน เมื่อจวนจะถึงเดือน 9 ข้างจีน คือตั้งแต่ 7 ค่ำ ถึง 12 ค่ำ ต้องผลัดเวรกันเป็นเถ้าหนัง (หัวหน้า) ออกเที่ยวเรี่ยไรเงินตามร้านในสำเพ็ง เพื่อแห่จ้าวเหี้ยนเที้ยนอย่างใหญ่โต และมีงิ้วถวายจ้าวเป็นการประจำปีทุกๆปีไป…” (พระสันทัดอักษรสาร, 2467)

“ศาลเจ้าเก่า” ที่ว่านี้หมายถึงพื้นที่บริเวณศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากงในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนถนนทรงวาด ซึ่งเป็นถนนตัดขึ้นใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เดิมทีแล้วพื้นที่ถนนเป็นส่วนหนึ่งของสำเพ็งดังที่กล่าวในเนื้อหาก่อนหน้านี้

บริเวณถนนทรงวาดในอดีตขึ้นชื่อเรื่องลักษณะพื้นที่แบบศูนย์กลางการค้า การนำเข้า-ส่งออกสินค้าสำคัญหลายชนิดล้วนผ่านบริเวณนี้เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยที่การคมนาคมขนส่งทางเรือยังเป็นองค์ประกอบสำคัญ และเชื่อมต่อกับบริเวณสำเพ็งที่เป็นทั้งชุมชนและย่านการค้าของเมือง บริษัทห้างร้านจึงมักมาตั้งที่ทำการในแถบนี้ ลักษณะดังกล่าวยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็นจนถึงปัจจุบัน

ร่องรอยที่น่าสนใจเกี่ยวกับงิ้วในฐานะกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สำคัญในย่านนี้ประการหนึ่งคือ ผู้ชมในกลุ่มที่เป็นพ่อค้า จากปากคำของสมชัย กวางทองพานิชย์ พ่อค้าท้องถิ่นซึ่งเกิดในย่านสำเพ็งและเป็นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับย่านจีนเล่าไว้ว่า เมื่อ “สถานีรถไฟกรุงเทพ” (คนทั่วไปเรียก “สถานีรถไฟหัวลำโพง”) เปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2459 มีพ่อค้าจากต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เดินทางด้วยรถไฟแทนนั่งเรือมา สมชัย เล่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้ากับการแสดงงิ้วไว้ว่า

“…มันอิงถึงงิ้ว ทำไมฉายเดือนหนึ่งเปลี่ยนทีหนึ่ง ลูกค้ามา 3 คืน ดูงิ้ว 3 โรง ถ้าคนที่ชอบมากๆ นะ แล้วค่อยกลับ ทำไมเช้ากิน(กาแฟ)ร้านเอี๊ยะแซ ตกเย็นไปนั่งกินยิ้มยิ้ม(ภัตตาคาร) จะเป็นวิถีชีวิต จะเห็นความสอดคล้องของมัน

เดือนหนึ่งลงมาทีหนึ่ง บัญชีเคลียร์กันเดือนต่อเดือน เดือนหรือเดือนกว่าๆ จะลงมากรุงเทพฯ ทีหนึ่ง มาเคลียร์บัญชี ซื้อจ่ายเก่าใหม่ แล้วไม่ได้มาเจ้าเดียว เขาไม่ได้มาหาคนเดียว เขามีคู่ค้าเป็นสิบๆ เจ้า ก็ต้องตระเวนไปร้านโน้นร้านนี้ เมื่อก่อนนี้สำเพ็ง จักรวรรดิ ท่าเตียน มันเป็นเรื่องเดียวกันหมด มีเรือ ขนทางเรือไป แต่ตัวมาทางรถไฟ”

การแสดงงิ้วในลักษณะเป็นความบันเทิงทั่วไปและเป็นมหรสพในโรงบ่อนเบี้ยได้รับความนิยมต่อเนื่องมาและมีชื่อเสียงลือลั่น กระทั่งเริ่มเสื่อมความนิยมลงในสมัยรัชกาลที่ 6 มีปัจจัยหลายประการมาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่เรื่องค่าจ้าง ไปจนถึงบรรยากาศและสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจในช่วงสงคราม และการเมืองในไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่นักวิชาการและผู้ศึกษาประวัติงิ้วในไทยบอกตรงกันคือ การเข้ามาของความบันเทิงชนิดอื่น เช่น ละคร เต้นรำ และภาพยนตร์จากตะวันตก

มีข้อมูลว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวหลังจากพ.ศ. 2488 ไปแล้ว งิ้วกลับมาได้นิยมอีกครั้ง ช่วงไล่เลี่ยกัน มีชาวจีนเคลื่อนย้ายเข้าประเทศไทยอีกระลอกภายหลังจีนมีสงครามในประเทศ ช่วงพ.ศ. 2495-2502 เกิดโรงงิ้วหลายแห่งบนถนนเยาวราชและเจริญกรุง

กระทั่งถึง พ.ศ. 2505 โรงงิ้วเสื่อมความนิยมลง ราวพ.ศ. 2509 โรงงิ้วหลายแห่งทยอยเลิกกิจการ บางแห่งปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจประเภทอื่น ภายหลังจากนั้น ความบันเทิงในบริเวณสำเพ็งกลายมาเป็นโรงภาพยนตร์ เกิดโรงภาพยนตร์หลายแห่ง เช่น เทียนกัวเทียน, เฉลิมราษฎร์, บรอดเวย์, เท็กซัส และนิวแหลมทอง เริ่มฉายภาพยนตร์งิ้วและได้รับความนิยม เมื่อเทคโนโลยีวิดีโอที่ทำให้ผู้คนชมนำความบันเทิงเหล่านี้กลับไปชมในบ้านได้ โรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์งิ้วจึงซบเซาและปิดกิจการลง

ภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ จีนควบฝรั่ง ชีวิตสมัยใหม่

“ทรงวาด” ก็เหมือนกับ “สีลม” คือ ไม่มีโรงภาพยนตร์ แต่ถ้ามองทั้งย่านเยาวราช ครั้งหนึ่ง คือ แหล่งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ขนาดใหญ่ที่สุดในพระนคร เป็นทั้งส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ และการหล่อหลอมโลกทัศน์

เมื่อร้อยปีก่อน “โรงภาพยนตร์” ได้กลายเป็นแหล่งบันเทิงของคนแถบเยาวราช-สำเพ็งแล้ว โดย “หนังฝรั่ง” ครองตลาดในยุคแรก ก่อน “หนังจีน” จะเข้ามาแชร์ตลาดภายหลัง

พ.ศ. 2465 หนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์ ฉบับวันที่ 14 เมษายน ได้ลงโปรแกรมภาพยนต์ที่เข้าฉายใน “โรงภาพยนตร์สิงคโปร์” คืนวันศุกร์ที่ 14 ถึง วันอาทิตย์ 16 เมษายน จำนวนรวม 5 เรื่องคือ 1.ขะโมยผู้ดี( 3 ม้วน) 2. ไม่ปรากฎชื่อ(5 ม้วน) 3.วางใจคน (5 ม้วน) 4.ตลกสะนับ (1 ม้วน) 5.เสือแย๊กตอน 15 จบ( 2 ม้วน) และโรงเรียนตำรวจ (1 ม้วน) เกือบทั้งหมดเป็นภาพยนต์ของบริษัทยูนิเวอร์แซล หรือ ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ แห่งสหรัฐฯ ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ 2455

โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ ตั้งอยู่บริเวณแยกหมอมี ถนนเจริญกรุง แม้จะตั้งอยู่ในย่านการค้าชุมชนชาวจีน แต่ภาพยนตร์ที่นำมามาฉาย ก็เป็น “หนังฝรั่ง” ไม่ต่างจากโรงภาพยนตร์ในย่านอื่นๆ

ส่วนสนนราคาค่าตั๋วหนังที่โรงภาพยนตร์สิงคโปร์คือ 15 สตางค์ แต่บางโรงก็ขยับเป็น 25 สตางค์ “เพราะโรงหนังนี้ต้องลงทุนค่าเช่าหนังแพงมาก หวังว่าท่านคงไม่มีความรังเกียจ” ข้อความตอนหนึ่งในหน้าประชาสัมพันธ์หนัง

6 ปีต่อมา วันที่ 5 พฤษภาคม 2471 ในขณะที่โรงภาพยนตร์ต่างๆ อาทิ โรงภาพยนตร์พัฒนากร โรงภาพยนตร์บางลำภู โรงภาพยนตร์สาธร โรงภาพยนตร์นางเลิ้ง ยังฉายหนังฝรั่งของค่ายยูนิเวอร์แซล และมีค่ายอื่นมาสมทบคือ วอร์เนอร์ บราเธอร์ และพาราเมาธ์ แต่โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ กลับนำเสนอ “ไซอิ๋ว” (Travel To The West ) ตอน ปราบเสือขาว

“ไซอิ๋ว” ตอน ปราบเสือขาว ที่ออกฉายที่โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ มีความเชื่อมโยงกับภาพยนตร์ที่ออกฉายก่อนหน้านั่นเพียงหนึ่งปี (พ.ศ.2470) คือเรื่อง “The Cave of the Silken Web” (ปีศาจแมงมุม) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ดัดแปลงจากไซอิ๋ว บทวรรณกรรมคลาสสิคของจีน และจะมีการสร้าง “ไซอิ๋ว” ตอนต่างๆ อีกกว่า 400 เรื่องหลังจากนั้น รวมทั้ง “ไซอิ๋ว” ตอน ปราบเสือขาว ส่วน “ปีศาจแมงมุม” ถูกรีเมคอีกครั้งในปี พ.ศ.2510 โดย ชอว์บราเธอร์ส

ความบันเทิงในรูปแบบ “ภาพยนตร์” เข้าสู่สยามครั้งแรกในปี พ.ศ.2448 หลังจากนั้นราวๆ สิบปี ก็เป็นที่แพร่หลาย ดังจะเห็นได้จากการสร้างโรงภาพยนตร์ที่ขยายตัวไปในย่านชุมชน และแหล่งการค้า อาทิ โรงภาพยนตร์วังเจ้าปรีดา(2450) โรงภาพยนตร์รัตนปีระกา (2452) โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ (2458) โรงภาพยนตร์ชวา (2458) โรงภาพยนตร์พัฒนาลัย (2458) โรงภาพยนตร์นาครศรีธรรมราช (2462) โรงภาพยนตร์นาครเชียงใหม่(2463 ) โรงภาพยนตร์นาครราชสีมา (2463) โรงภาพยนตร์นาครปฐม (2463)

ภาสวร สังข์ศร ได้เล่าถึง การขยายตัวของความบันเทิงในรูปแบบภาพยนต์ในวิทยานิพนธ์ “สวนสนุก : การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการพักผ่อนหย่อนใจในกรุงเทพ ปี พ.ศ.2470-2540” ความตอนหนึ่งว่า นักธุรกิจเชื้อสายจีนเริ่มเปิดโรงภาพยนตร์มากขึ้น ส่วนใหญ่นิยมฉายภาพยนตร์จากยุโรปและอเมริกา ทําให้คนเรียกภาพยนตร์เหล่านี้ว่า “หนังฝรั่ง” แม้ภาพยนตร์ที่จัดฉายในช่วงนั้นเป็นหนังเงียบและมีบทพูดเป็นภาษาต่างประเทศขึ้นหน้าจอ แต่เจ้าของโรงภาพยนตร์ก็ใช้แตรวงดึงดูดให้คนชมทั้งก่อนจัดฉายและระหว่างฉายภาพยนตร์

ความนิยมโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพแพร่หลายอย่างรวดเร็วทําให้เกิดโรงภาพยนตร์จํานวนมากในย่านชุมชนและย่านตลาดต่างๆ ทั่วกรุงเทพ สะท้อนให้เห็นว่าการเข้าชมภาพยนตร์เป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่คนเข้าถึงได้ง่ายกว่าแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแบบวัฒนธรรมยุโรปที่มีข้อจํากั เรื่องสถานะทางสังคมที่สงวนไว้สําหรับชนชั้นสูงหรือชาวตะวันตกและค่าใช้จ่ายสูง เช่น คลับสมาคม กีฬาต่างๆ สถานที่เต้นรํา

ในขณะที่การเข้าชมภาพยนตร์มีราคาถูกกว่าและเข้าถึงได้ง่ายกว่า โดยไม่ต้องคํานึงถึงข้อจํากัดด้านสถานะทางสังคมใดๆ และยังเปิดกว้างให้คนหลากหลายเข้าถึงได้ ทําให้คนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีการศึกษาและประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ สามารถสัมผัสและเข้าถึงวิถีชีวิตแบบใหม่และความทันสมัยได้ โดยที่จํานวนภาพยนตร์ตะวันตกหรือหนังฝรั่งส่วนใหญ่ในโรงภาพยนตร์เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดจากสหรัฐอเมริกา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง อิทธิพลของภาพยนตร์ฮอลลีวูด ยิ่งมีมากขึ้น “จนกลายเป็นภาพยนตร์กระแสหลักที่จัดฉายในโรงภาพยนตร์ เนื่องจากมีการพัฒนาเทคนิคภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีดารานักแสดงที่คนนิยมชื่นชอบมาดึงดูดผู้ชม เช่น เอลวิส เพรสลี่ย์, มาริลีน มอนโร เป็นต้น ปรากฏการณ์นี้ทําให้ดารานักแสดงกลายเป็นเสมือนสินค้าที่มีราคาและคุณค่าที่ผู้ชมให้ความนิยมทำให้โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่นิยมจัดฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูด เนื่องจากมีรายได้จากค่าเข้าชมสูงตามภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นคนแสดง

ภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่ฉายในเยาวราช ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ อาทิ อดีตข้าราชการระดับสูงท่านหนึ่งที่เกิดและเติบโตในย่านทรงวาด ได้เคยเล่าประสบการณ์ชมภาพยนต์แนวตะวันตก ด้วยความนิยมชมชอบ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อโลกทัศน์ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านั้นที่คุ้นเคยกับความบันเทิง เช่น การแสดงงิ้วที่สร้างจากวรรณกรรมเก่าแก่ของจีน เช่น สามก๊ก”

“ภาพยนตร์ฮอลลีวูดยังทําหน้าที่ถ่ายทอดเนื้อหาและวัฒนธรรมแบบอเมริกันที่สอดแทรกอยู่ภายในเนื้อหาของภาพยนตร์เนื้อหาและความคิดต่างๆ แบบอเมริกันจึงถูกถ่ายทอดมาสู่ผู้ชมภาพยนตร์ผ่านภาพยนตร์แนวต่างๆ เช่น ภาพยนตร์เพลง ภาพยนตร์แนว Epic (เน้นต้นทุนสูง) ภาพยนตร์คาวบอย ภาพยนตร์สะท้อนหรือเสียดสีสังคม ภาพยนตร์วัยรุ่น ภาพยนตร์สงคราม รวมถึง ภาพยนตร์การ์ตูน เป็นต้น” ภาสวร สังข์ศร กล่าวไว้ ในวิทยานิพนธ์

ในช่วงปลายทศวรรษ 2500 กิจการโรงภาพยนตร์ย่านเยาวราชปรับตัวขึ้นสู่จุดสูงสุด เมื่อการแสดงงิ้วที่เคยเฟื่องฟูเสื่อมความนิยมลง โรงงิ้วปรับตัวเป็น โรงภาพยนตร์โดยโรงภาพยนตร์ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ โรงภาพยนตร์เทียนกัวเทียน โรงภาพยนตร์เฉลิมราษฏร์ โรงภาพยนตร์เท็กซัส โรงภาพยนตร์นิวแหลมทอง โรงภาพยนตร์ศรีราชวงศ์ โรงภาพยนตร์ศรีเยาวราช โรงภาพยนตร์คาเธ่ย์ โรงภาพยนตร์แคปปิตอล

จันทร์จุฑา สุขขี เขียนเล่าไว้ในบทความ “สำเพ็ง : แหล่งรวมเศรษฐกิจ แหล่งรวมความบันเทิง” ในหนังสือ สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ ความตอนหนึ่งว่า “โรงภาพยนตร์ในสำเพ็ง เริ่มจากการฉายภาพยนตร์งิ้วจากฮ่องกงที่เข้ามาฉายในประเทศไทย และได้รับความนิยมจากชาวจีนในไทยอย่างมาก เนื่องจากผู้ชมสามารถจบเรื่องในระยะเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง ไม่ต้องติดตามรอดูโรงงิ้วทุกคืนเป็นเวลาหลายคืนกว่าจะจบ”

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังเป็นช่วง “ยุคทอง” ของหนังจีนจากค่ายชอว์บราเธอร์ส แห่งฮ่องกง ซึ่งนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อธิบายไว้ในบทความเรื่อง “หนังจีน ของชอว์บราเธอร์ส และสังคมไทย” ความนำว่า การดูหนังในยุคสมัยจอมพลสฤษฎิ์ จอมพลถนอม เมื่อประมาณ พ.ศ. 2502 ถึงประมาณ พ.ศ. 2516 เป็นเรื่องพิเศษของครอบครัว และเป็นประสบการณ์ร่วมของนักดูหนังจำนวนมาก

เป็นวันเวลาที่ประเทศไทยมีโรงหนังอยู่ในกรุงเทพมหานครประมาณ 100-150 โรง ตั้งอยู่ในต่างจังหวัดประมาณ 700 โรง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมหนังกลางแปลงซึ่งเป็นวัฒนธรรมการดูหนังที่รองรับผู้คนมหาศาลและมีส่วนร่วมในอีกรูปแบบหนึ่ง

จอหนังเหล่านี้รองรับภาพยนตร์ปีละประมาณ 500-600 เรื่อง เป็นหนังฮอลลีวู้ด 200-300 เรื่อง เป็นหนังชาติอื่นๆ 100-200 เรื่อง เป็นหนังไทย 60-80 เรื่อง ส่วนใหญ่หนังชาติอื่นๆ คือหนังจีน ส่วนใหญ่ของหนังจีนคือหนังของชอว์บราเธอร์ส ซึ่งออกฉายอย่างถี่ยิบ ปีละหลายสิบเรื่อง ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา

เรื่องที่ชวนรำลึกถึงเสมอคือบรรยากาศของหนังที่ดูเหมือนจะแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของอากาศรอบๆ ตัว บรรยากาศของหนังที่สำคัญคือคัทเอาท์หรือป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ที่ติดอยู่แทบจะทุกมุมในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นสี่แยก วงเวียน หรือหน้าโรงหนัง

อัฒจันทร์ขนาดใหญ่ในโรงหนังทั้งชั้นหนึ่ง ชั้นสองทำให้เกิดวัฒนธรรมเชียร์พระเอกสำหรับหนังบางเรื่องโดยพร้อมเพรียงกัน เป็นปรากฏการณ์ที่มักเกิดกับหนังจีนและโรงหนังชั้นสอง มากกว่าที่จะเกิดกับหนังฝรั่งและโรงหนังชั้นหนึ่ง

กล่าวคือเมื่อเหตุการณ์ในหนังถึงจุดไคลแมกซ์ หากหวังหยู่ เดวิดเจียง หรือตี้หลุง ปรากฏกายหรือควบม้าลงจากเนินเขาในเวลาเช่นนั้น คนดูทั้งโรงจะปรบมือโห่ร้องโดยมิได้นัดหมายกัน สำหรับโรงหนังชั้นสองซึ่งมักฉายเป็นภาษาจีนกลางบางรอบ พากย์แต้จิ๋วบางรอบหรือพากย์ไทยเป็นบางรอบ ก็จะพบว่าการส่งเสียงเชียร์นี้มักเกิดในรอบพากย์ไทยมากกว่า แน่นอนว่าส่วนใหญ่ของคนที่โห่คือเด็กและวัยรุ่นในขณะนั้น

ภาพยนตร์ที่อยู่ในความทรงจำ อาทิ จอมใจจักรพรรดิ (The Kingdom and the Beauty) เสน่ห์แม่ยั่วเมือง (The Last Woman of Shang) อินทรีย์กายสิทธิ์ (Temple of the Red Lotus) ไซอิ๋ว ภาค 1 (Monkey Goes West) หงษ์ทองคะนองศึก (Come Drink With Me) เดชไอ้ด้วน สามยิ้มพิมพ์ใจ (The Three Smiles) สิบสามพยัคฆ์ร้ายค่ายพระกาฬ (The Heroic Ones) วีรบุรุษนิรนาม (The Anonymous Heroes) เดชไอ้เปีย (The Blood Brothers) ซูสีไทเฮา ภาค 1 (The Empress Dowager) และซูสีไทเฮา ภาค 2 (The Last Tempest) เป็นต้น

กาลเวลาผ่านไป “สิงคโปร์” โรงภาพยนตร์ยุคบุกเบิกเมื่อร้อยปีก่อน เปลี่ยนชื่อเป็น “ศาลาเฉลิมบุรี” ก่อนปิดกิจการ กลายสภาพการใช้งานเป็นที่จอดรถ ซึ่งเป็นชะตากรรมของโรงภาพยนต์ส่วนใหญ่ในย่านเยาวราช แต่สิ่งที่ยืนยันประวัติศาสตร์พื้นที่คือ ร้าน “สิงคโปร์โภชนา” ต้นตำรับที่ยังขาย “ลอดช่องสิงคโปร์” ซึ่งคนหนุ่ม คนสาว และคนที่แวะดูหนังที่โรงหนังสิงคโปร์ ก็มักจะรองท้องด้วยลอดช่องที่ร้านนี้จนถึงทุกวันนี้ หากได้แวะเวียนผ่านไป

ความบันเทิงในโรงภาพยนตร์ ถูกท้าทายอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี นับจากวิดีโอเทป แผ่นซีดี และล่าสุดคือ สตรีมมิ่ง แต่เทคโนโลยีเช่นกันที่เชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน อาทิ การชมคลิปภาพยนต์เก่าๆ ดังเช่นกรณีของ “The Cave of the Silken Web” (ปีศาจแมงมุม) ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ดัดแปลงจากบทวรรณกรรมคลาสสิคจีน ไซอิ๋ว ในปี พ.ศ.2470 ซึ่งเคยเชื่อกันว่า ฟิล์มภาพยนต์นี้ได้สูญหายไปแล้ว

จนกระทั่ง พ.ศ.2554 ได้มีการค้นพบฟิล์ม “ปีศาจแมงมุม” อีกครั้ง ในปี 2559 ได้มีการจัดฉายภาพยนต์เงียบเรื่องนี้ ที่เก๊ตตี้ เซ็นเตอร์ มิวเซียม คอร์ทยาร์ด ในลอสแองเจลิส พร้อมดนตรีเล่นประกอบโดย โย โย มา นักเดี่ยวเชลโลที่มีชื่อเสียง สัญชาติอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งจะหาชม “The Cave of the Silken Web 1927” ได้ในยูทูบ (YouTube) ซึ่งเพิ่งมีการอัพโหลดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี่เอง

แล้วจะได้ทราบว่า รสชาติความบันเทิงของผู้คนเมื่อร้อยปีก่อน เป็นอย่างไร

หมายเหตุ : ภาพถ่ายในภาพประกอบคือย่าน “คาเธ่ย์” ในเยาวราช ราวช่วงทศวรรษ 2540 พื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นโรงหนังคืออาคารบริเวณหัวมุมที่บนป้ายมีข้อความว่า Casio

อาคารสูง แหล่งความบันเทิงในเมืองสมัยใหม่

สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มปรากฏการตัดถนนพัฒนาเมืองแล้ว ขณะที่สนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยเดียวกันก็ทำให้สภาพการค้าต้องเปิดเสรีมากขึ้นยิ่งผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในไทยหลายอย่างสืบเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังเป็นช่วงที่ตัดถนนใหม่หลายเส้นเพื่อปรับให้เข้ากับการขยายตัวของเมือง สอดรับกับช่วงปรับเปลี่ยนตามบริบทของยุคสมัย

การตัดถนนในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังตามมาด้วยการสร้าง “ตึกแถว” ซึ่งในแง่หนึ่ง นักวิชาการที่ศึกษาการพัฒนาเมืองสมัยใหม่มองว่า ตึกแถวสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม กับธุรกิจในแง่มุมอสังหาริมทรัพย์ตามแบบสมัยใหม่ (พิศาลศรี กระต่ายทอง, 2557)

สำหรับการตัดถนนในที่รกร้างก็มักทำให้เกิดชุมชน เมื่อรัฐไปสร้างตึกแถวให้เช่าก็สามารถสร้างรายได้ให้ฝั่งรัฐเอง อีกด้านหนึ่ง ผู้เช่าก็สามารถประกอบการค้าหาเลี้ยงตนเองได้ วงจรนี้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการตัดถนนและสร้างตึกแถวในเวลาต่อมา

เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 การลงทุนในที่ดินอสังหาริมทรัพย์เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นนำ พื้นที่สำเพ็งก็เป็นอีกแหล่งที่มีการลงทุนด้วย นอกจากจะเป็นการขยายความเจริญจากใจกลางพระนครมายังย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองในสมัยนั้นแล้ว การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จะกลายเป็นสิ่งที่นำความเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิตมาสู่พลเมือง โดยภายหลังการตัดถนนแล้ว พื้นที่บริเวณนั้นมักเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปตามรูปแบบของยุคสมัย

ในย่านเยาวราชภายหลังเกิดการตัดถนนและก่อสร้างอาคารบริเวณถนนมากขึ้น เวลาต่อมาก็ปรากฏการสร้างอาคารสูงแบบตะวันตกที่มีขนาดสูงเกินกว่า 3 ชั้นเป็นครั้งแรกในสยาม (พิศาลศรี กระต่ายทอง, 2557) อาคารสูงในย่านนี้ถูกสร้างเพื่อวัตถุประสงค์ด้านพาณิชย์ เป็นแหล่งการค้า แหล่งความบันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจ

วิถีชีวิตในรูปแบบของเมืองสมัยใหม่เวลานั้นได้รับอิทธิพลจากตะวันตกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมความบันเทิงหรือกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจแบบร่วมสมัยในยุคนั้น เช่น โรงภาพยนตร์ ภัตตาคาร และ “คลับ”

เอกสารวชิรญาณวิเศษ 1 แผ่นที่ 1 ให้ความหมาย “คลับ” ว่า “ที่ประชุมคนมากๆ…เพื่อประสงค์ความครึกครื้นหรือประสงค์ประโยชน์…หรือประสงค์เพื่อจะรวมกันกินอยู่แห่งเดียวที่จะไม่ได้เปลืองค่าใช้สอยมาก” อันเป็นกิจกรรมทางสังคมแบบใหม่ชนิดหนึ่งในหมู่ชนชั้นนำสยามซึ่งส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการการสร้างอาคารสูงในเวลาต่อมาด้วย (พิศาลศรี กระต่ายทอง, 2557)

เวลาต่อมา คำว่า “คลับ” และ “บาร์” อาจหมายรวมถึงโรงโสเภณีชั้นดีได้เช่นกัน (วีระยุทธ ปีสาลี, 2557) โดย “คลับ” ลักษณะที่เป็นโรงโสเภณีจะเป็นสถานกินดื่มสาธารณะและมีผู้หญิงคอยบริการลูกค้า หากลูกค้าถูกใจก็ร่วมหลับนอนได้ หรือกิจกรรมอีกประเภทอย่าง “ระบำ” ของหญิงสาวนุ่งน้อยห่มน้อยก็มีปรากฏในสถานที่กลุ่ม “คลับ” เช่นกัน

เมื่อคลับได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากิจกรรมลักษณะนี้ไปปรากฏในคลับบนอาคารสูงด้วย ในช่วงนั้น “ความสูง” กับ “ความทันสมัย” มีนัยบางอย่างที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันจนทำให้คนมองว่าแหล่งบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจตามยุคสมัยที่อยู่บนอาคารสูงเป็นบรรยากาศแปลกใหม่น่าตื่นตาตื่นใจกลายเป็นว่า การเที่ยวคลับบนตึกสูงได้รับความนิยมในหมู่คนที่ทันยุคสมัยและนิยมความแปลกใหม่

ขณะเดียวกัน การสร้างอาคารสูงในอดีตก็ไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญในแง่การใช้สอยเพียงอย่างเดียว นัยแฝงประการหนึ่งคือเรื่องการแข่งขันประชันความโอ่อ่าให้เป็น “ที่สุด” เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มากกว่าคู่แข่งด้วย (พิศาลศรี กระต่ายทอง, 2557)

ในอดีตมีอาคารสูงหลายแห่งที่มีชื่อเสียง อาทิ “ตึก 6 ชั้น” ซึ่งว่ากันว่าเคยเป็นตึกแห่งแรกที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ การสร้างตึกสูงในสมัยนั้นไม่ได้มีจุดประสงค์แค่ในเชิงใช้สอยเท่านั้น สาเหตุเบื้องหลังประการหนึ่งคือแสดงถึงความทันสมัยในแง่เชิงเทคโนโลยีและความนิยมจากตะวันตกทำให้ผู้คนที่พบเห็นสนใจ ไปจนถึงรองรับกิจกรรมแบบใหม่ที่พบตามคลับหรือสโมสรของชนชั้นนำ

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ระบุประวัติของตึก 6 ชั้นนี้ว่า ทำเป็นโรงแรม 6 ชั้น และมีภัตตาคารชื่อ “ง้วนหลี” ขณะที่ชั้นบนสุดมีกิจกรรมเล่นไพ่นกกระจอก บริการอาหารและน้ำชาในบรรยากาศหรูหรา ชั้นล่างมีร้านข้าวต้มกุ๊ยชื่อ “ย่งหัวไถ่” และห้างสรรพสินค้าใหญ่เซาท์แปซิฟิก

กรณีที่น่าสนใจอีกประการคือ “ตึก 7 ชั้น” ซึ่งปัจจุบันยังหลงเหลือร่องรอยมาเป็นโรงแรมไชน่าทาวน์ งานวิจัยของพิศาลศรี กระต่ายทอง เมื่อปี 2557 อ้างอิงเอกสารสำเนาประวัติความเป็นมาของโรงแรมไชน่าทาวน์ ว่า เดิมทีอาคารมีชื่อว่าโรงแรมฮั่วเชียง (ตัวตึกที่ปรากฏในภาพประกอบ) ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2469 มีพระยาไพบูลย์เป็นเจ้าของ ภายหลังเกิดเหตุจนเปลี่ยนมือมาถึงคณะผู้บริหารชุดที่จดทะเบียนในนาม บริษัท ไชน่าทาวน์ จำกัด

สื่อในอดีตอย่าง “ไทยเขษมรวมข่าว” ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2472 กล่าวถึงตึก 7 ชั้นไว้ว่ามีวิทยาการสมัยใหม่อย่างลิฟต์ สามารถขึ้นไปตากอากาศ-ชมวิวบนดาดฟ้า มีอาหารตะวันตกและเครื่องปรับอากาศไว้บริการ มีวิทยุโทรทัศน์ มีห้องพัก มีสัตว์แปลกๆ ให้ชม มีห้องเล่นไพ่นกกระจอก และจำหน่ายสินค้าต่างๆ

ในบรรดากิจกรรมในตึกสูง สิ่งที่ดูจะเป็น “จุดขาย” ดึงดูดความสนใจลูกค้าได้มากที่สุดกลับเป็นการแสดงระบำเปลือยกาย (ผู้แสดงนุ่งน้อยห่มน้อยและมีแค่สิ่งของเล็กๆ ปิดส่วนสำคัญไว้) ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมในทศวรรษ 2470-2480 ระบำเปลือยกายที่มีชื่อเสียงคือคณะของนายหรั่ง เรืองนาม หรือเรียกกันว่าระบำนายหรั่งหัวแดง ระบำมหาเสน่ห์ ระบำโป๊

ระบำนี้แสดงตามงานวัดต่างๆ และถูกวิจารณ์จนถูกตำรวจจับ หลังจากนั้นก็ย้ายไปแสดงที่ชั้นบนของ ตลาดบำเพ็ญบุญ และบางครั้งก็มาแสดงที่สถานหย่อนใจรวมถึงตึก 7 ชั้น และตึก 9 ชั้น ซึ่งว่ากันว่า คำกล่าวติดปากว่า “สวรรค์ชั้น 7” มีที่มาจากการแสดงระบำวาบหวิว (พิศาลศรี กระต่ายทอง, 2557)

สำหรับตึก 9 ชั้นที่ลือเลื่องเกี่ยวกับการแสดงที่ชั้นบนสุดด้วย ส่วนหนึ่งยังมีคนจดจำได้จากภาพโฆษณาการแสดงระบำวาบหวิวที่ตึก 9 ชั้นปรากฏบนสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเช่น “สยามราษฎร์” ราวช่วงกลางทศวรรษ 2470

ไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่าตึก 9 ชั้นสร้างขึ้นเมื่อใด แต่พบว่ามีเจ้าของคือ พระยาไพบูลย์สมบัติ ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ระบุว่า ตึกแห่งนี้เคยเป็นตึกสูงที่สุดในไทยในยุคหนึ่ง เป็นที่ตั้งของโรงแรม สถานบันเทิง แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ภัตตาคาร ชั้นบนสุดมีเวทีลีลาศ และยุคหนึ่งเคยมีการแสดงระบำคณะนายหรั่ง เรืองนาม ที่โด่งดังเรียกว่า “ระบำเก้าชั้น”

มีข้อมูลว่า ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพเศรษฐกิจยุคนั้นตกต่ำ ระบำโป๊คณะของนายหรั่งย้ายจากตึก 9 ชั้น ไปแสดงที่ตลาดบําเพ็ญบุญ ตรงข้ามโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เปิดทำการแสดงบริเวณชั้นลอยตรงกลางตลาด และเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะละคอนสารพัดศิลป”

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาในไทยเพื่อปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่น ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรร้องขอให้ระบําโป๊คณะของนายหรั่งเปิดการแสดงเป็นพิเศษ กระทั่งเมื่อเข้าสู่ภาวะสงบแล้ว คณะของนายหรั่งได้ทำการแสดงระบำโป๊อยู่ที่ตลาดบำเพ็ญบุญอย่างถาวร

สถานเริงรมย์ในตรอกซอกซอย

หากพูดถึง “สำเพ็ง” แล้ว ข้อมูลด้านหนึ่งที่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์พบเห็นสอดคล้องกันคือชื่อเสียงของสถานเริงรมย์ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมเริงรมย์ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า “โสเภณี”

วิลเลียม จี สกินเนอร์ (William G. Skinner) นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องชาวจีนในไทยสมัยรัตนโกสินทร์ระบุไว้ว่า เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนอพยพมาอยู่ที่บริเวณสำเพ็ง หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงปรากฏชาวจีนหลั่งไหลเข้ามพักอาศัยในสำเพ็งจำนวนมาก และชาวจีนที่อพยพมาไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และ(ยัง)ไม่ได้นำครอบครัวมาด้วย

หากพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าว นักวิชาการบางรายยังวิเคราะห์ต่อมาว่า นั่นอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ความต้องการกิจกรรมเริงรมย์ทางเพศมีมากจนกระทั่งสำเพ็งกลายเป็นย่านที่มีชื่อเสียงเรื่อง “โสเภณี” ถึงขั้นคำว่า “นางสำเพ็ง” กลายเป็นคำแสลงเชิงว่ากล่าวอันสื่อถึง หญิงค้าประเวณีหรือประพฤติสำส่อน (ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, 2526)

หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องสถานเริงรมย์สายขายบริการ(ทางเพศ)ยังพบเห็นได้จากเนื้อหาของนิราศเมืองแกลง โดยสุนทรภู่ เนื้อหาส่วนที่เอ่ยถึงสำเพ็งกล่าวไว้ว่า

“ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน มีซุ้มซอกตรอกนางเจ้าประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง”

เนื้อหาข้างต้นบ่งชี้ว่า ลักษณะทางพื้นที่ของสำเพ็งที่เป็น “ซอกตรอก” นั้น ปรากฏหญิงที่เชิญชวนลูกค้ามาใช้ “บริการ” จึงพอกล่าวได้ว่ากิจการลักษณะนี้ปรากฏในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และมีลักษณะไม่ได้เตร็ดเตร่หาลูกค้า โดยจะอยู่ประจำในสถานที่ และมักเรียกกันว่า “โรงหญิงคนชั่ว” (ตามคำเรียกในสมัยโบราณ) หรือ “สำนักคณิกา”, “นครโสเภณี” ซึ่งหมายถึงสถานบริการทางเพศ

กิจการสายขายบริการในสำเพ็งน่าจะเฟื่องฟูต่อเนื่องในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีระบบจัดเก็บภาษีแม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ภาษีที่นำไปสู่การสนับสนุนอบายมุขถูกยกเลิกไป อาทิ ภาษีฝิ่น แต่จากการศึกษาหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 4 พบว่าการจัดเก็บภาษีค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีได้เป็นเงิน 50,000 บาท มากกว่าภาษีอื่นอีกหลายชนิด และตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา จึงมีเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีเป็นภาษีที่เรียกว่า “ภาษีบำรุงถนน” (ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, 2527)

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) เป็นต้นมา มีประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ. 127 ซึ่งมีเนื้อหายอมรับว่า อาชีพให้บริการของโสเภณีปรากฏมายาวนาน ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการมีหลายเชื้อชาติ หากไม่ควบคุมดูแลผู้ติดโรค หรือผู้ติดโรคไม่ได้รับการรักษา จะทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น จึงกำหนดให้หญิงที่จะให้บริการต้องจดทะเบียน มีเอกสารประจำตัว และให้แพทย์ตรวจโรคเป็นประจำ เมื่อพบว่าเป็นโรคติดต่อก็ต้องพักรักษาตัวจนหาย อีกทั้งมีใบรับรองจากแพทย์ จึงจะให้บริการต่อไปได้

ขณะเดียวกัน การตั้งสถานบริการหญิงนครโสเภณีก็สามารถขออนุญาตจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามความในพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค พ.ร.บ. นี้ยังระบุข้อกำหนดเรื่องการจัดสถานที่โรงหญิงนครโสเภณี ปรากฏข้อกำหนดหนึ่งว่า “ต้องมีโคมแขวนไว้หน้าโรงเปนเครื่องหมายด้วย”

มีข้อสันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำตัวอย่างให้ดูเป็นโคมไฟที่ใช้กระจกสีเขียว ส่งผลให้โรงหญิงนครโสเภณีใช้สีเขียวตามกันมา และชาวบ้านก็เรียกขานโรงหญิงนครโสเภณีว่า “โรงโคมเขียว” และเรียกขานหญิงนครโสเภณีว่า หญิงโคมเขียว ตามลักษณะโคมที่แขวน และมีชื่อตรอกดังแห่งหนึ่งว่า “ตรอกน่ำแช” คำว่า “น่ำแช” แปลว่า โคมเขียวนั่นเอง (สันต์ สุวรรณประทีป, 2525)

บรรดาตรอกที่มีชื่อในอดีตปรากฏอยู่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นมีชื่อ “ตรอกโรงโคม” (ข้างโรงเรียนเผยอิง) มีเสียงเล่าลือกันว่า โรงผู้หญิงที่โด่งดังเรียกกันว่า โรงแม่อิ่มขาว

ขณะที่ชื่อ “ตรอกอำแดงแฟง” ก็ปรากฏในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 ด้วย (บุบผา คุมมานนท์, 2525) และกล่าวกันว่าที่ตรอกเต๊า (เยาวราชซอย 8 ) เป็นที่ตั้งสำนักดังแห่งยุค คือ โรงหญิงหากินของยายแฟง ที่เปิดกิจการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ยายแฟงมีลูกสาวชื่อ กลีบ รับช่วงกิจการแทนยายแฟง ต่อมา เรียกว่าโรงแม่กลีบ

หลักฐานอีกประการหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความเฟื่องฟูของการขายบริการจนส่งอิทธิพลทางสังคมกระทั่งเล่าลือกันว่าให้กำเนิด “วัด” ได้ ยังปรากฏในประกาศของหนังสือพิมพ์ไทย เมื่อ พ.ศ. 2462 ซึ่งเขียนถึงหญิงนครโสเภณีไว้ว่า

“…หญิงนครโสเภณี (หญิงงามเมือง) เมื่อจะเกิดมีเปนหมู่คณะขึ้นในกรุงสยามนั้น ได้ทราบจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่สืบต่อมาว่า เดิมมีหญิงสองคน เรียกชื่อว่า ยายแฟง และยายแตง เปนผู้คิดตั้งโรงหญิงนครโสเภณีขึ้นก่อน คือยายแฟงได้ตั้งขึ้นที่ตรอกเต๊าแห่งหนึ่ง และยายแตงได้ตั้งขึ้นที่ตรอกแตง (สำเพ็ง) แห่งหนึ่ง

วิธีที่จะหาหญิงเข้าอยู่ในคณะนี้ ยายต้องลงทุนทรัพย์มากมาย คือรับซื้อหญิงเสเพลมาไว้เปนทาสอย่างหนึ่ง หรือหญิงที่ติดตามชายไปโดยทางชู้สาว และชายพาไปขายไว้เปนทาสอย่างหนึ่ง บางทีผู้ที่ประพฤติตนเปนหญิงแพสยาได้สมัคเข้าหาเงินเองบ้าง จนมีคำเล่าลือว่าพวกนายโรงหญิงนครโสเภณีได้พากันร่ำรวยด้วยการหาเงินในทางนี้มากมาย ถึงกับได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งซึ่งอยู่ที่น่าบ้านพระอนุวัตน์ราชนิยม ให้ชื่อว่า วัดคณิกาผล (ผลที่สร้างขึ้นด้วยทรัพย์ของหญิงนครโสเภณี) ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แต่ชาวบ้านมักเรียกชื่อโดยตรงว่า วัดใหม่ยายแฟง”

ข้อมูลในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ยังพบว่า บัญชีจำนวนหญิงโสเภณีในพ.ศ. 2452 ปรากฏข้อมูลโรงโสเภณีที่จดทะเบียนที่ตั้งในสำเพ็งประมาณ 40 แห่ง (ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, 2526)

พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 (พ.ศ. 2451) ใช้มาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 กระทั่งถึงยุครัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกพ.ร.บ. ปรามการค้าประเวณีมาใช้แทนใน พ.ศ. 2503 จึงได้ยกเลิกไป และปรากฏพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 สืบเนื่องต่อมา

มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า สำเพ็งและพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ(รวมถึงพื้นที่ซึ่งกลายเป็นถนนทรงวาดในเวลาต่อมา)ในช่วงเวลานั้นเป็น “ศูนย์กลาง” ด้านธุรกิจของประเทศ เป็นแหล่งการค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าเกือบทุกประเภท และเป็นที่ตั้งของธุรกิจการเงินสำคัญ ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบกิจกรรมต่างๆ เสร็จจากธุระการงาน น่าจะสรรหาแหล่งบันเทิงเริงรมย์ไม่ต่างกับผู้คนยุคปัจจุบัน สำเพ็งจึงปรากฏแหล่งบันเทิงทั้งกลางวันและกลางคืน มีตั้งแต่โรงโสเภณีดังที่กล่าว ไปจนถึงโรงบ่อน โรงหวย และโรงฝิ่น

แม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 1-3 มีกฎหมายห้ามซื้อ-ขายฝิ่นชัดเจน แต่ในซอกหลืบของสังคมในอดีตก็มีการลอบซื้อ-ขายปรากฏให้เห็นในหมู่ชุมชนชาวจีนเช่นเดียวกับการลักลอบตั้งโรงฝิ่นในสมัยรัชกาลที่ 4 จนมีออกกฎเก็บภาษีฝิ่น

ในโรงฝิ่นไม่ได้ปรากฏเพียงการสูบฝิ่นเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยในหมู่แรงงานเท่านั้น กิจกรรมที่พ่วงเข้ามาด้วยคือหญิงนวด ยิ่งโรงใหญ่ยิ่งมีหญิงนวดจำนวนมาก ซึ่งการนวดก็แฝงการขายบริการไว้ด้วยนั่นเอง

โรงฝิ่นเข้าช่วงขาลงในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีนโยบายยกเลิกโรงยาโรงฝิ่นในพ.ศ. 2502 เจ้าของโรงฝิ่นก็ดัดแปลงโรงยาฝิ่นเป็น “โรงน้ำชา” และกลายเป็นยุคโรงน้ำชาที่เปิดบริการนวดกันอย่างแพร่หลาย

แม้จะขึ้นชื่อว่าโรงน้ำชา แต่กล่าวกันว่า จุดขายของสำนักบริการเหล่านี้ก็มีหญิงสาว หรือหญิงนครโสเภณีเป็นจุดขาย แต่จะแตกต่างกันตรงที่รูปแบบบริการ เช่น “ซ่อง” ขายบริการตรงไปตรงมา ส่วน “โรงน้ำชา” ผสมผสานวัฒนธรรมจีนเข้ามาใน “บริการ” ที่จะมีผู้หญิงมาให้บริการด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วมีเจ้าของเป็นชาวจีนที่เข้ามาในเมืองไทย

เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) บันทึกเรื่องราวสถานเริงรมย์-การเที่ยวผู้หญิงในอดีตในหนังสือชื่อ “ฟื้นความหลังภาค 3” ส่วนที่เอ่ยถึงสำเพ็งมีว่า

“…เราอาจเดาได้ด้วยเหตุผลว่า ‘หญิงหาเงิน’ หรือ ‘หญิงหากิน’ ด้วยการค้าประเวณี จะต้องเกิดมีขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อบ้านเมืองมีความเจริญด้วยเงินทอง ซึ่งทุกคนต้องการ อันเนื่องด้วยมีชาวต่างประเทศ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทําการค้าขาย ตั้งเป็นห้างเป็นหอขึ้น…

เมื่อเวลาล่วงมาแล้ว 70 ปี หรือกว่านั้น ที่สนุกในกรุงเทพฯ มีอยู่เป็นหย่อม ๆ ตามบ่อนเบี้ยและโรงหวย เพราะมีคนไปเล่นเบี้ย และแทงหวย และเที่ยวเตร่หาความสําราญ มีคนพลุกพล่านในเวลาค่ำคืน ที่สนุกเหล่านี้มีขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่ทําเลที่ตั้งของสถานที่เช่นนั้น แต่ที่สนุกมากคือ ในท้องสามเพงลางตอน…”

ว่ากันว่าสำเพ็งเป็นแหล่งที่ตั้ง “บ่อนเบี้ย” เป็นแห่งแรกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เวลาต่อมา สำเพ็งก็ถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีบ่อนเบี้ยจำนวนมากที่สุดถึง 10 แห่ง กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชบัญญัติอากรการพนันและข้อบังคับสำหรับนายอากรบ่อนเบี้ย ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) หลังจากนั้นมา สำเพ็งเหลือบ่อนเบี้ย 5 แห่ง

ทั้งนี้ กิจกรรมเล่นพนันเป็นที่นิยมกันมาก บริเวณที่ตั้งบ่อนเบี้ยก็มักปรากฏแหล่งบันเทิงหรือสถานเริงรมย์ชนิดอื่นควบคู่ไปด้วย ตั้งแต่ร้านเขียนหวย ร้านขายเหล้า โรงโสเภณี โรงขายฝิ่น ไปจนถึงโรงรับจำนำที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางธุรกิจร้อยไปกับวิถีของการเล่นพนัน กล่าวได้ว่าพึ่งพากันก็ว่าได้

เมื่อกล่าวถึงวิถีที่เชื่อมโยงกัน บ่อนเบี้ยยังเป็นแหล่งบันเทิงที่จัดการแสดงมหรสพอย่างงิ้วด้วย และบ่อนเบี้ยในสำเพ็งก็นิยมมหรสพประเภทนี้ที่สุด แต่เมื่อถึงช่วงที่เลิกหวยและบ่อนเบี้ยราวช่วงพ.ศ. 2459 ในสมัยรัชกาลที่ 6 งิ้วก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

หากมองในภาพกว้าง คงไม่ใช่แค่งิ้วกับบ่อนเบี้ยเท่านั้นที่เชื่อมโยงกัน ในภาพรวม กิจการทั้งหลายล้วนเชื่อมโยงร้อยเรียงซึ่งกันและกัน จากสภาพของพื้นที่ศูนย์กลางทางการค้าของสำเพ็ง มาสู่วิถีชีวิตของผู้คนในย่านการค้ายุคบุกเบิกที่สะท้อนผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างงิ้ว มาจนถึงกิจกรรมความบันเทิง แหล่งเริงรมย์ตามยุคสมัยตอบสนองความต้องการพื้นฐานของปุถุชนแต่ละยุค สิ่งเหล่านี้ล้วนปรากฏขึ้นและสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเสมือนโครงข่ายของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนในย่านสำเพ็งและบริเวณใกล้เคียงเช่นกัน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดตำนานธุรกิจเก่าแก่ในไทย จากกิจการย่านถนนทรงวาด สู่บริษัทเติบใหญ่ระดับสากล

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ที่มาที่ไปของตึกเก่าแก่ร่วมร้อยปีแถบ “ถนนทรงวาด” อาคารทรงคุณค่าย่านการค้ายุคบุกเบิก

อ้างอิง :

“2 วัด กับ 1 โรงพยาบาล หลักฐานความเฟื่องฟูของ ‘หญิงหากิน’ สมัยรัชกาลที่ 5”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2562. เข้าถึงเมื่อ 29 ธันวาคม 2564. < https://www.silpa-mag.com/history/article_24556>

“งิ้วมาจากไหน ในไทยเคยฮิตขั้นเจ้าเป็นเจ้าของโรงงิ้ว มหรสพชั้นสูงในราชสำนักถึงช่วงโรย”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 4 มิถุนายน 2562. เข้าถึงเมื่อ 22 ธันวาคม 2564. < https://www.silpa-mag.com/culture/article_35077 >

จี. วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ภรณี กาญจนัษฐิติ และคณะ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548.

จันทร์จุฑา สุขขี. “สำเพ็ง แหล่งรวมเศรษฐกิจ แหล่งรวมความบันเทิง, ” ใน สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

พระสันทัดอักษรสาร. “ประวัติงิ้วเมืองไทย, ” ใน วารสารศัพท์ใหม่ เล่ม 3 ตอน 9 เดือนเมษายน 2467.

ภาสวร สังข์ศร. “สวนสนุก : การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการพักผ่อนหย่อนใจในกรุงเทพ ปี พ.ศ.2470-2540”. วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี การศึกษา 2559

นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. “หนังจีน ของชอว์บราเธอร์ส และสังคมไทย, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2547.

พิศาลศรี กระต่ายทอง. “อาคารสูงยุคแรกในสยาม ทศวรรษ 2390-2470”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2557.

วีระยุทธ ปีสาลี. กรุงเทพฯ ยามราตรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.

“ ‘ระบำโป๊’ ความบันเทิงยามสงคราม เปิด ‘หวอ’ ท่ามกลางเสียง ‘หวอ’, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม. เว็บไซต์. เผยแพร่เมื่อ 29 มีนาคม 2564. เข้าถึงเมื่อ 26 ธันวาคม 2564. <https://www.silpa-mag.com/history/article_65004>

บุบผา คุมมานนท์. “ ‘สำเพ็ง’ ศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 6, เมษายน 2525.

บัณฑิต จุลาสัย และ รัชดา โชติพานิช. “ เปิดโลก ‘นครโสเภณี’ หญิงนครโสเภณี โรงถ้ำมอง โรงลับแล ธุรกิจขายบริการในไทยสมัยก่อน”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 1 กันยายน 2564. เข้าถึงเมื่อ 29 ธันวาคม 2564. < https://www.silpa-mag.com/history/article_73894>

สันต์ สุวรรณประทีป. “ลำเลิกอดีต, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 5, มีนาคม 2525.

ศักดิ์ เสาวรัตน์. “ย่ำบางกอก จิบน้ำชา-เริงนารี เล่าสภาพนครโสเภณีและร้านดัง 50 ปีก่อน, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2537

EARLY CHINESE FILM: HISTORY, SHANGHAI AND CLASSIC OLD MOVIES เพจ https://factsanddetails.com/

สัมภาษณ์

สมชัย กวางทองพานิชย์ เมื่อ 13 กันยายน 2564.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2565