นอกจากแป้ง สตรียุคก่อนใช้อะไรทำให้สวย ผ่า อายไลเนอร์ ของราชินี ถึงสารตะกั่วแบบฝรั่ง

(ซ้าย) ประติมากรรมรูปพระนางเนเฟอร์ติติ ราชินีของฟาโรห์อาเมนโฮเทป ที่ 4 แห่งอียิปต์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสตรีที่มีใบหน้างดงาม สมบูรณ์แบบ, AFP / POOL / MICHAEL SOHN (ขวา) ภาพวาดราชินีอลิซาเบ็ธที่หนึ่ง แห่งอังกฤษ (Wikimedia Commons)

เครื่องสำอาง ที่ราชินีเนเฟอร์ติติ (Queen Nefertiti) และเหล่าชาวอียิปต์โบราณนำมาใช้แต่งแต้มตานั้น ครั้งหนึ่งเชื่อกันว่ามีสรรพคุณในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ อีกทั้งยังนำมาซึ่งพลังแห่งการปกปักรักษาจากเทพฮอรัส (Horus) และเทพรา (Ra) อีกด้วย แน่นอนว่าวิทยาศาสตร์คงจะพิสูจน์เรื่องของพลังจากเหล่าทวยเทพไม่ได้ ที่จะทำได้ก็คงจะเป็นเรื่องของการพิสูจน์สรรพคุณทางยาที่ชาวอียิปต์โบราณเขาว่ากันว่า มีอยู่ในเครื่องสำอางที่ใช้กัน

ทั้งนี้ข้อมูลจากวารสาร American Chemical Society ระบุว่า เครื่องสำอาง ของชาวอียิปต์โบราณใช้สารตะกั่วเป็นส่วนประกอบหลัก มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันการติดต่อของเชื้อโรคที่กำลังแพร่หลายในช่วงที่เกิดเหตุการณ์การเอ่อล้นของน้ำในแม่น้ำไนล์ โดยสารที่ใช้ในเครื่องสำอางสำหรับทาตามีคุณสมบัติเป็นพิษฆ่าแบคทีเรียจากอนุภาคที่ลอยมาเข้าตาและอาจทำให้เกิดโรค และการติดเชื้อขึ้น

นอกจากนี้นักวิจัยยังพบอีกว่าสารตะกั่วที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอางของชาวอียิปต์โบราณมีอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน คือ กาลีนา (galena) ซึ่งให้สีดำและความเงางาม เซรูสไซท์ (cerussite), ลอริโอไนต์ (laurionite) และ ฟอสจีไนต์ (phosgenite) ซึ่งให้สีขาว อย่างไรก็ตามนักวิจัยยังไม่สามารถระบุได้ถึงสัดส่วนของสารตะกั่วที่ผสมอยู่ เนื่องจากตัวอย่างเครื่องสำอางที่นำมาตรวจสอบนั้นได้ผ่านการเสื่อมสลายมามากกว่าศตวรรษ

แม้ว่าผลการศึกษาจะชี้ให้เห็นถึงข้อดีของ เครื่องสำอาง ที่ชาวอียิปต์โบราณใช้อยู่หลายประการ นักวิจัยก็กลับออกมากล่าวห้ามไม่ให้เอาเครื่องสำอางชนิดนี้มาใช้ โดย ดร.คริสเตียน อมาทัวร์ (Dr.Christian Amatore) นักเคมีจากสถาบัน École Normale Supérieure แห่งกรุงปารีส กล่าวว่าส่วนผสมของสารตะกั่ว “ให้โทษมากกว่าประโยชน์” ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ผู้คนได้รับพิษจากสารตะกั่วในสีและน้ำประปาในศตวรรษที่ 20

การใช้สารตะกั่วในเครื่องสำอางไม่ได้พบเพียงแต่ในยุคอียิปต์โบราณเท่านั้น แต่ยังปรากฏในยุคกรีกโบราณ และในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 14-19 จากที่มีคติในหมู่สังคมชั้นสูงว่า คนหน้าตากระดำกระด่างเป็นคนไม่มีเงิน” หรือแม้แต่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากใบหน้าที่ขาวผุดผ่องของพระราชินีอลิซาเบ็ธที่หนึ่งซึ่งฉาบด้วยเครื่องสำอางผสมตะกั่ว

การใช้สารตะกั่วกับร่างกายนี้ก่อให้เกิดอันตรายมากมาย ไม่ว่าจะทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ท้องไส้ปั่นป่วน มือชาเท้าชา หรืออาจตาบอดได้ ถึงกับมีรายงานว่ามีผู้ที่เสียชีวิตจากการพิษตะกั่วในเครื่องสำอางมาแล้ว!

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการใช้สารตะกั่วในเครื่องสำอางนั้นยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่เรื่อยมาในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยเฉพาะในกรณีการพบสารตะกั่วปริมาณเล็กน้อยในลิปสติก

ในกรณีนี้ แม้ว่าจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวและแพทย์ออกมาทำการต่อต้าน เพราะมองว่าการใช้สารตะกั่วในปริมาณเพียงเล็กน้อยเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านพฤติกรรม องค์การอาหารและยาก็ยังคงยืนยันว่าปริมาณสารตะกั่วที่พบในเครื่องสำอางนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้

สำหรับในประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ “สารตะกั่ว” อยู่ในรายชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง เมื่อพ.ศ. 2559 แต่มีข้อยกเว้นว่า ตะกั่วปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สําเร็จรูปได้ไม่เกิน 20 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก (20 ppm หรือ 20 mg/kg)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.nytimes.com/2010/01/19/science/19egypt.html 

http://www.fda.moph.go.th


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2561