ผู้หญิงสวย แขน-ขา-คิ้ว-ฟัน-อก ฯลฯ ต้องมีรูปทรงแบบไหน?

(ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6, หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร)

“ความสวย” กับ “ผู้หญิง” เป็นของคู่กัน แต่ถ้าให้ตอบว่าเธอสวยอย่างไร อาจเป็นเรื่องยาก และถ้าให้แจกแจง “ความสวย” ของร่างกายแต่ละส่วนยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่

ทว่า ภาษิต จิตรภาษา (ชื่อจริง สันต์ จิตรภาษา, พ.ศ. 2472-2554) อดีตนักเขียนอาวุโสของนิตยสารศิลปวัฒนธรรม รวบรวมคำกล่าวอ้าง, คำชม ฯลฯ ที่กวีไทยอธิบายเรื่องผู้หญิงสวย ไว้ใน “วิชาดูขาอ่อน” (อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ คุณพ่อสันต์ จิตรภาษา 26 มกราคม 2554, สนพ.มติชน) ดังนี้


 

ในสังคมเมืองเรา มีคำประชดประชันการประกวดนางงามกันอยู่วลีหนึ่งว่า “ประกวดขาอ่อน”. การไปดูประกวดนางงาม (นางสาวไทยและมิสต่างๆ) ก็ว่า “ไปดูขาอ่อน”. ผมเองก็เคยถูกถามบ่อยๆ :- .

“พี่, พี่ชอบดูขาอ่อนไหม”.

ผมก็ตอบทันทีว่า “ชอบว่ะ”.

ถ้าใครจะนินนทาผมก็ว่าผมดูเพื่อปลุกเซ็กส์ก็ไม่ปฏิเสธ, เพราะผมก็ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลอันใดอันจะเป็นเหตุให้ผมหลุดพ้นจากความเป็นปุถุชน (ผู้หนาด้วยกิเลส).

แต่ส่วนหนึ่งในใจจริงของผมแล้ว มันมีวิชาการแฝงอยู่.

“ฮั่นแน่, คุณจะบอกว่าดูเพื่อวิชาการใช่ไหม” คุณอาจจะถามอย่างประชดประชันหรือหมั่นไส้.

ครับ, ผมดูเพื่อวิชาการ. ก็เพราะในวิชาวรรณคดีของเรา กวีโบราณท่านพรรณนาความงามแห่งอวัยวะของสตรีไว้เป็นเอนกประการ, ผมก็อยากพิสูจน์ว่าที่ท่านว่าไว้นั้นเป็นความจริงแท้แค่ไหน, ท่านพรรณนาตามตัวอย่างที่ได้เห็นหรือท่านเพ้อฝันเอา.

พูดก็พูดเถอะครับ, บรรดาอาจารย์ต่างๆ ที่สอนวรรณคดีน่ะ ถ้าลูกศิษย์ท่านถามว่า “อาจารย์ครับ, งามนาสายลกลขอ หรืองามศอดั่งศอสุวรรณหงศ์ นั่นเป็นยังไงครับ” ท่านจะตอบได้หรือไม่. แม้กรรมการตัดสินนางงามก็เถอะ, ถ้าถามว่า “ที่ตัดสินว่าสวยนั้นน่ะ, สวยยังไง”. ท่านจะตอบแจงเป็นส่วนๆ ได้ไหม.

ผมกลัวคำถามแบบนี้แหละครับ, จึงต้องขวนขวายศึกษาไว้.

…………

เช่นนั้นผมก็จะได้สรุปและอธิบายให้เป็นอันเดียวกันไปเลย :-

รูปร่าง (โดยส่วนรวม) “อ้อนแอ้นดังกินริน” ก็คือเอวเล็กเอวบาง หรือเอวบางร่างน้อย ไม่อวบอ้วน.

หน้า ผ่องดังพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ.

ตา ดำเหมือนตากวางและเป็นมัน.

ขนตา “ขนเนตรงอนดุจงอน รถไท้” คือยาวและงอน.

คิ้ว โก่งหมือนคันธนู หรือเหมือนพระจันทร์ตอนข้างแรมอ่อนๆ. ในภาษาพูดเรามักพูดกันว่า “คิ้วโก่งเหมือนวงพระจันทร์” มากกว่า, คำว่า “โก่งเหมือนคันศร คงมีแต่ในวรรณกรรมเท่านั้น, ทั้งนี้ก็เพราะเราได้เห็นพระจันทร์กันอยู่เกือบทุกคืนนั่นเองในคืนข้างแรม, ในเพลงโคราชก็มีบทหนึ่งที่เปรียบเทียบคิ้วคนกับพระจันทร์แรม :-

“อันศศีงามแสงเมื่อขึ้นแหว่งคอดเว้า 

ยิ่งงอนโค้งมีเค้างามกว่าคิ้วงอนโค้ง

คนสิค้อนแหงนค้างเพราะคนคคิ้วกางแขโก่ง – กว่า”

เพลงโคราชบทนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า คิ้วโค้งนั้นสวยกว่าคิ้วเหยียดกาง อย่างที่เขียนๆ กัน

หู “พระกรรณเปรียบเทียบกลีบบุษบง” อีนี่ไม่ได้บอกว่าเหมือนอย่างไร, แต่ในอนิรุทธ์ท่านขยายให้ทราบ “พระกรรณใบบาง คือกลีบบุณฑริกขจี” คือบางเหมือนกลีบบัว, แต่ก็ไม่ได้บอกลักษณะรูปร่าง แต่เท่าที่สังเกตมา แม่ทวินันท์ คงคราญ คนอ่านข่าวช่อง 5 นับว่าหูสวยได้คนหนึ่ง. แต่จะบางเหมือนกลีบบัวหรือไม่ยังไม่มีโอกาสเข้าไปพินิจใกล้ๆ.

จมูก ใน 3 เรื่อง คือ อนิรุทธ์, สมุทรโฆษ, และพระลอนรลักษณ์ กล่าวตรงกันว่า เหมือนขอ, แต่ไม่ได้บอกชัดว่า ขออะไร, พบในขุนช้างขุนแผนชมนางสร้อยฟ้าว่า “นาสิกตละทรงพระแสงขอ” จึงขอสรุปว่า ดั้งจมูกเป็นสันตรงไม่โก่งไม่แอ่นแล้วงุ้มตรงปลายเหมือนขอสับช้าง

แก้ม เปล่งเหมือนมะปรางสุก. ท่านเคยเห็นมะปรางสุกบ้างไหม, พิศดูเอาเถอะ นอกจากเปล่งแล้วยังทั้งเหลืองทั้งนวล, น่ากินเป็นบ้า.

ปาก “ริมโอษฐพรายคือมณี-ไพฑูรยรัตนเรืองรอง”. ในสมัยอยุธยายังไม่มีสีลิ้นจี่ของจีนเข้ามา กวีสมัยนั้นท่านจึงเปรียบกับสีของแก้วไพฑูรย์, แต่มาสมัยรัตนโกสินทร์มีสีลิ้นจี่ของจีนเข้ามาแล้ว (มากับคณะงิ้ว) กวีสมัยรัตนโกสินทร์ท่านจึงเปรียบกับสีลิ้นจี่ (โอษฐนางอย่างลิ้นจี่จีนแต้ม, โอษฐนางอย่างสีลิ้นจี่จิ้ม), สีลิ้นจี่เป็นสีที่ระบายติดกับแผ่นกระดาษ, เวลาจะใช้ก็เอานิ้วแตะน้ำพอหมาด แล้วป้ายลงไปบนแผ่นกระดาษสีก็จะติดนิ้วขึ้นมา ก็เอามาระบายที่ริมฝีปากอีกที ลิเก-ละคอนสมัยก่อนนี้ใช้สีลิ้นจี่นี้ทั้งนั้นแหละครับ, จนมาสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่แหละ จึงค่อยมีรูธและลิปสติกเข้ามา.

………….

ฟัน “ทนต์ดำดังนิลอันเรียบราย”. อีนี่สมัยเปลี่ยนไปแล้ว ปัจจุบันนิยมฟันขาวแบบตะวันตก ฉะนั้นก็เอาแค่เรียงเรียบเป็นระเบียบ ไม่เขยิน, สั้น-ยาว, หรือแต่ละซี่เล็ก-ใหญ่ กว่ากันเกินไปเท่านั้นก็พอ.

คอ ผมมีกลอนจำติดหัวมาอยู่บทหนึ่งคือ “งามนาสายลกลขอ งามศอดังศอสุวรรณหงส์ งามกรรณกลกลีบบุษบง งามวงวิลาศเรียบระเบียบไร” (จำติดหัวมา 30 กว่าปีแล้ว นึกไม่ออกว่ามาจากหนังสืออะไร ที่แท้ก็กลอนกลบทจารึกวัดโพธิ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง)

อีนี่หามานานแล้วครับ เพิ่งพบเมื่อเร็วๆ นี้เอง, เป็นชาวเขาเผ่าอีก้อ แต่แต่งครึ่งท่อนคือท่อนล่างนุ่งกะโปรงตามแบบของเขาแต่ท่อนบนใส่แต่เสื้อและไม่ใส่เครื่องประดับหัว แต่เกล้าผมสูง เลยเผยให้เห็นต้นคอถนัด. คอแกกลมขึ้นไปแต่ฐานเลยครับ แล้วโอนไปข้างหน้าน้อยๆ ระหงขึ้นไปจนถึงตีนผมเลย, เห็นภาพหงส์ที่ว่ายน้ำชูคอเลย. ผมเห็นแล้วร้องอื้อในลำคอเลย “มันอย่างนี้นี่เอง”…

คอสวยนี่มี 2 ลักษณะ คือนอกจากคอดังคอหงส์แล้ว ยังมี “คอปล้อง” อีก. ท่านเคยได้ยินคำ “คิ้วต่อคอปล้อง” ไหม, ในตะเลงพ่ายก็มีกล่าวไว้ “เรียมระเมียลเดื่อปล้อง ดั่งปล้องศอสมร” ในลิลิตเพ็ชรมงกุฎของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็มี “สอทรงปล้องกลกลึง”…

อก “อกเสมอประเล่ห์ฐาน์ สีหราชเปรียบปาน” อกผลึ่งเหมือนอกราชสีห์ มีอยู่เรื่องเดียวที่เป็นวรรณคดีที่กล่าวถึง, นอกนั้นก็เป็นร้อยแก้ว จำได้ว่าเป็นสำนวนของ “แสงทอง” ที่แปลนวนิยายฮินดูของ เอฟ. ดับเบิลยู. เบน. นี่ว่าเฉพาะลักษณะรวมของอกเท่านั้น ไม่ใช่นม, เพราะนมท่านก็ว่าไว้อีกต่างหาก “สองถันกระทุ่มกาญ- จนแมนมาเลขา”…

นม ทุกสมัยและทุกกวีกล่าวตรงกันหมดคือ เต่ง และตูมตั้งเหมือนดอกบัว แต่สมุทรโฆษขยายความละเอียดเข้าไปอีก “สองนม ชชิดวิจิตรในอก- -” ก็ตรงกับความงามที่เรานิยมกันอยู่ ตูม-ตั้ง และฐานนมนั้นเบียดชิดกัน (ขนาดเสียบดอกไม้ได้) เต้าคล้อยลงนิดๆ หัวนมงอนขึ้นหน่อยๆ และเบนออกจากกัน.

เอว “อรชรอ้อนแอ้นเอวองค์” คำ “อ้อนแอ้น” นี้แสดงว่า เล็ก, ถ้าไม่เล็กก็ไม่อ้อนแอ้น, แต่จะกลายเป็นอุ้ยอ้าย. นอกจากเล็กแล้วยังต้องกลมด้วย เพราะอนิรุทธ์ก็ว่าไว้ “เอวกลมคือกามา มาแกล้งเกลาอนงค์ยง” ว่าไปแล้ว เอวนี่มันก็มีส่วนสัมพันธ์กับสะโพกและอก, เพราะอยู่กลางระหว่างสะโพกกับอก ถ้าสะโพกไม่ผาย, อกไม่มี, ถึงเอวจะเล็กก็งั้นๆ กลายเป็นทรงกระบอกไป. มาตรฐานของสะโพก อก เอว เท่าที่นิยมกันก็คือ 36-22-36 อันเป็นส่วนสัดของรูปสลัก วีนัส เดอ ไมโล.

สะดือ ศรีปราชญ์ว่าไว้ในอนิรุทธ์คำฉันท์ว่า เหมือนสระบัว คือ บุ๋มเป็นบ่อลงไปและกลมด้วย, ไม่ใช่บุ๋มแล้วเบี้ยว-แบน. ยิ่งเนื้อนูนที่ปากบ่อนั้นเรียบโดยรอบด้วยแล้ว นิยมกันว่าดี แม้เป็นยาจกก็จะได้เป็นเศรษฐินี, ถ้าเป็นชายก็จะได้เป็นเศรษฐี.

แขน สมุทรโฆษว่า “กรแก้วอันงามประดุจดัง คชงวงคชาพงศ์” รามเกียรติ ร.1 ก็ว่า “พิศกรดั่งงวงคชาพงศ์” คือแขนเหมือนงวง ช้าง, อีนี่เคยเห็นครับ, เธอยืนเกาะราวรถเมล์ ผมมองเสียจนลืมลงป้าย เมื่อสองวันนี้ก็เจออีก บนรถไฟสายมหาชัย, อูมกลมมาแต่หัวไหล่เลยจนถึงข้อมือ, จนข้อมือแทบจะไม่มีกระดูกตานกแก้วแน่ะ, แลดูมันนุ่มนิมเหมือนงวงช้าง, ยิ่งเวลาไกวแขนด้วยแล้ว, นิ่มระทวยเหมือนตอนช้างมันกวัดงวงไม่มีผิด. สมดังคำกวีท่านว่า “ดำเนินเดินทอดระทวยกาย กรกรายคล้ายงวงเอราวัณ” จริงๆ

นิ้วมือ มีอยู่เล่มเดียวเท่านั้นครับ ในบรรดาวรรณคดีที่ชมนิ้วมือ, คือสมุทรโฆษคำฉันท์ของมหาราชครู :- “นิ้วสวยแสล่มนขนิภา และพรรณเรียบเรียวรี” คือนิ้วเรียวเรียบและเล็บเป็นเงา. ปัจจุบันที่เราพูดกันอยู่ก็ “นิ้วเรียวเหมือนลำเทียน” อีนี่ไม่ประหลาดอันใด, ได้พบเห็นอยู่เสมอ เรียกว่ามาตรฐานนี้มีมาแต่โบราณ.

เดิน พูดถึงแขนเหมือนงวงช้างแล้ว ก็ยังมีอาการเดินอีก. ดังเห็นได้จากคำกลอนข้างบนที่ว่า “ดำเนินเดินทอดระทวยกาย กรกรายคล้ายงวงเอราวัณ” คือเดินนุ่มนิ่มเหมือนช้างเดิน…เมื่อเร็วๆ นี้ก็พบอีกคนหนึ่ง…ว่าถึงหน้าตาเธอมิได้สวยเลิศเลออะไร แต่เธอมีเสน่ห์ครับ, เสน่ห์ของเธออยู่ที่เดินนี่แหละ, เวลาเธอเยื้องย่างงี้ละคุณเอ๋ย-น่ารักอย่างบอกไม่ถูก

…………

ขา “ลำขาคือกาญจนกัทลี” คือขาอวบกลมเป็นลำลงมาแต่โคนถึงหัวเข่า ไม่มีเว้ามีคอดและชิดกันมาแต่โคนขา. จงตัดต้นกล้วยให้ถึงโคน แล้วลอกกาบนอกออกสัก 3 กาบ แล้วพินิจดูว่ามันเป็นยังไง เขาถึงเอามาเปรียบ, ขาอวบน่ะมีเยอะครับแต่มักจะมาคอดอีตรงเหนือเข่า, ที่จะเต็มมาตลอดนั้นหายาก และยิ่งท่อนล่างคือแข้งตรงด้วยแล้วยิ่งหายากใหญ่, พูดถึงแข้งมันก็สัมพันธ์กับน่อง, ต้องมีน่องขึ้นปลีป่องหน่อยๆ ค่อนขึ้นมาทางส่วนบนแล้วเรียวลงมาจนถึงข้อเท้า, อย่างนี้นับว่ายอด

ได้เห็น ผู้หญิง ที่ขาและแข้งตรงแล้วให้นึกสรรเสริญพ่อแม่ของเขาครับ ว่าเขาเอาใจใส่ลูกเขาดีเหลือเกิน, คือขยันคัดแต่เล็กๆ. ถ้าไม่เอาใจใส่ดัดแต่แบเบาะละก็, โตขึ้นขาโก่งแน่ๆ, เพราะมันได้งอมาแต่อยู่ในท้องแล้ว…

พูดอย่างนี้แล้วก็ทำให้เกิดสงสัยขึ้นมาอีก, คือกวีสมัยนี้น่ะครับ ถ้าจะชมอกผู้หญิงจะชมได้ยังไง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2565