เต้านมผู้หญิง อย่างไรจึงสวย? วิเคราะห์ถอดแก่นจากบทชมความงามในวรรณคดี

ในบทชมความงามของนางต่างๆ ในวรรณคดีไทยเรานั้น ส่วนมากท่านจะชมอย่างหลวมๆ, ไอ้โน่นนิด ไอ้นี่หน่อย แล้วก็สรุปว่า “งามอย่างนางฟ้า” บ้าง, “นางในใต้ฟ้าไม่มีสอง” บ้าง, “นางในธรณีไม่มีเหมือน” บ้าง, “นางในกรุงศรีไม่มีเทียม” บ้าง, “งามสิ้นสารพางค์” บ้าง, “สวยบาดตา” บ้าง, เช่น

นางจันท์สุดา (บทละคอนเรื่องคาวี) :-

“พระพินิจพิศโฉมจันท์สุดา    นางในใต้ฟ้าไม่มีสอง
ผิวเนื้อเรื่อเหลืองเรืองรอง    พักตร์ผ่องเพียงดวงจันทรา
อรชรอ้อนแอ้นเอวองค์       เนตรขนงน่ารักเป็นหนักหนา”.

นางรจนา (สังข์ทอง) :-

“พิศโฉมพระธิดาวิลาวัณย์            ผุดผาดผิวพรรณดังดวงเดือน
งามละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์     นางในธรณีไม่มีเหมือน”.

นางพิมพิลาไลย (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“เณรใจบึกบึกนึกเป็นครู่           เหมือนเคยเล่นกับกูกูจำได้
ชื่อว่าสีกาพิมพิลาไลย             สาวขึ้นสวยกะไรเพียงบาดตา”.

“นางพิมพิลาไลย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐

นางศรีมาลา (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“คนนี้แน่แล้วที่เราฝัน             รูปโฉมโนมพรรณหาผิดไม่
น้องเอ๋ยรูปร่างช่างกะไร          นางในกรุงศรีไม่มีเทียม”.

เมื่อท่านไม่กล่าวถึงอย่างนี้ ก็ยากที่จะวิเคราะห์ ว่าอย่างไรจึงสวย.

อย่างนางบุษบาที่ว่ากันว่าสวยๆ ก็เหมือนกัน, ท่านก็ชมอย่างรวบๆ ว่า :-

“พักตร์น้องละอองนวลปลั่งเปล่ง       ดังดวงจันทร์วันเพ็งประไพศรี
อรชรอ้อนแอ้นทั้งอินทรีย์              ดังกินรีลงสรงคงคาไลย
งามจริงพริ้งพร้อมทั้งสรรพางค์       ไม่ขัดขวางเสียทรงที่ตรงไหน”.

นางจินตะหราก็เช่นกัน :-

“ดวงเอ๋ยดวงยิหวา                  งามอย่างนางฟ้ากระยาหงัน
นวลละอองผ่องพักตร์ผิวพรรณ   ดังบุหลันทรงกลดหมดมลทิน
งามเนตรดังเนตรมฤคมาศ        งามขนงวงวาดดังวงศิลป์
อรชรอ้อนแอ้นดังกินริน          งามสิ้นทุกสิ่งพริ้งพร้อม”.

นางเกษรา (พระอภัยมณี) :-

“ดูจิ้มลิ้มพริ้มเพราดังเหลาหล่อ       พระทรวงศอสองขนงดังวงศิลป์
นวลละอองสองปรางอย่างลูกอิน    ช่างงามสิ้นสารพางค์สำอางองค์”.

แต่ก็มีบางบท ที่ท่านกล่าวอย่างรวบรัด แต่ก็เห็นความสวยและความตึง-เต่ง. เช่น

นางบุษมาลี (รามเกียรติ์ ร. ๒) :-

“ทรงโฉมประโลมเลิศลักขณา        พักตราจิ้มลิ้มยิ้มแย้ม
ผิวเนื้อนวลละอองเป็นสองสี        โอษฐนางอย่างลิ้นจี่จีนแต้ม
ขอบขนงก่งเหมือนดังเดือนแรม    ทั้งสองแก้มเพียงพระจันทร์วันเพ็ง
เอวบางร่างรัดกำดัดสวาท          ผุดผาดสารพัดครัดเคร่ง”.

อย่างนี้ไม่ใช่ “ตึง” เป็นบางส่วน, แต่ตึงทั้งตัว.

มีบ้างเหมือนกันที่ท่านกล่าวถึง, แต่บอกแต่ว่า “งาม”, ไม่รู้งามอย่างไร เช่น

นางมณโฑ (รามเกียรติ์ ร. ๑) :-

“พินิจพิศทั่วทั้งอินทรีย์            มีลักษณ์พริ้มพร้อมวิไลวรรณ
งามพักตร์งามขนงงามเนตร     งามเกศงามจุไรงามถัน
งามโอษฐ์งามแก้มงามกรรณ    งามพรรณผิวเนื้อดังทองทา”.

นางมณโฑ กับ ทศกัณฐ์ (จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ภายในพระระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

มีเป็นอันมากที่กล่าวถึง และเอาไปเปรียบกับดอกบัว เช่น

พระเพื่อนพระแพง (พระลอนรลักษณ์) :-

“โอษฐ์นางอย่างสีลิ้นจี่จิ้ม       งามพริ้มเพราสมคมสัน
เกษาดำระยับขลับเป็นมัน      ทนต์นั้นเทียมสีมณีนิล
สองถันสันทัดสัตบุษ            เพิ่งผุดพ้นท่าชลาสินธุ์
ขึ้นบังใบใสสดหมดมลทิน     ภุมรินมิได้มาใกล้เคียง”.

นางแก้วดารา (รามเกียรติ์ ร. ๑) :-

“พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดั่งดวงจันทร์    พิศขนงดั่งคันธนูศิลป์
พิศเนตรดั่งเนตรมฤคิน                พิศทนต์ดั่งนิลอันเรียบราย
พิศโอษฐโอษฐเอี่ยมดั่งจะแย้ม       พิศนาสิกแสล้มเฉิดฉาย
พิศปรางดั่งปรางทองพราย          พิศกรรณคล้ายกลีบบุษบง
พิศถันดั่งดวงประทุมาศ              พิศศอวิลาศดั่งคอหงส์
พิศกรดั่งงวงคชาพงศ์                 พิศทรงทรงงามจำเริญตา”

นางมิสาประหมังกุหนิง (ดาหลัง) :-

“นวลละอองผ่องแผ้วเพียงจันทร์     เมื่อวันเพ็งเปล่งเปรื่องไม่ราคิน
พิศเกศดังปีกแมลงทับ                 จุไรรับกับขนงดังก่งศิลป์
นาสาดังขอคชรินทร์                   เนตรน้องดังนิลมณีดี
โอษฐ์พริ้มตะละชาดแต้ม            ยิ้มแย้มดังสลับทับทิมสี
พระทนต์เรียงเรียบระเบียบดี      เป็นแสงสีดำขลับระยับตา
กรรณน้องดังกลีบบุษบง           ศอกลมสมทรงดังเลขา
เต้าตั้งดังดอกประทุมา             กลิ่นกล้าขึ้นพ้นชลที
กรน้องดังงวงไอยเรศ              เมื่อประเวศกระหวัดหญ้าพนาศรี
นิ้วหัตถ์งามแฉล้มแช่มช้อยดี     ทั้งอินทรีย์สมควรเร่งยวนใจ”.

นางบุษมาลี (รามเกียรติ์ ร. ๑) :-

“เห็นนางทรงลักษณ์วิไลวรรณ       ผิวพรรณเพียงเทพอัปษร
พักตร์ผ่องดังดวงศศิธร              แน่งน้อยอรชรทั้งอินทรีย์
ขนงก่งค้อมดังวาด                  โอษฐ์เอี่ยมดังชาดเฉลิมศรี
นัยน์เนตรเพียงเนตรมฤคี          ปรางเปรียบมณีพรายพรรณ
ลำคอดั่งคอราชหงส์               เอวองค์ดังกินรีสวรรค์
สองกรดังงวงเอราวัณ             สองถันดังดวงประทุมทอง”.

นางกากี (กากีคำฉันท์) :-

“กรคืองวงคช นิ้วน้อยช้อยชด นะแน่งน้อยทรง
วรลักษณ์สรัพสรรพ์  พิศถันคือบง- กชมาศผจง ตูมเต่งดวงมาลย์”

นางลาวทอง (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“เต้าตั้งดังดอกประทุมา     เมื่อกลีบแย้มผกาเสาวคนธ์”.

นางสร้อยฟ้า (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“นางโฉมยงองค์นี้เป็นลูกหลวง
พึ่งเป็นสาวรุ่นร่างกระจ่างดวง     ดูสองถันนั้นเป็นพวงผกาทิพย์
เหมือนโกมุทเพิ่งผุดหลังชลา      พอต้องตาเตือนใจจะให้หยิบ”

สวยอย่างไรหรือ นมเหมือนดอกบัว. ลองตัดดอกบัวครึ่งดอกแล้วเอาตั้งบนอกราบๆ ดูซิ ว่ามันงามอย่างไร, เห็นได้แต่ความตูมตั้งอย่างเดียว. แต่เนื้อหนังมังสาของคนนั้นมันไม่อำนวยให้เป็นเช่นนั้น.

และก็มีไม่น้อย ที่ชมตรงๆ ตามธรรมชาติ เช่น

ธิดาท้าวมคธ (เสือโคคำฉันท์) :-

“ดวงนมอันครัดเคร่ง       ตเต้าเต่งทั้งสองสม
แน่งนวยสลวยกลม        ศุภสวัสดิไพบูลย์”

นางเมรี (กาพย์ขับไม้เรื่องพระรถ) :-

“พิศเนื้อเนื้อเกลี้ยง  พิศนมนมเพียง  เต่งเต้าตรึงตรา”.

นางประทุมวดี (ลิลิตเพ็ชรมงกุฎ) :-

“โอษฐเสียวสรวลว่าแย้ม     ยวนรับ
ศอดั่งศอหงส์ขยับ           ปีกหร้อน
ถันายุคลาคับ                ทรวงเต่ง เต้าแม่
สรัพสรรพางค์อ่อนอ้อน   นิ่มเนื้อนวลผจง”

นางวิมาลา (ไกรทอง) :-

“สองเต้าเต่งตั้งอยู่ทั้งคู่     พิศดูนงรามงามขำ
ดูสง่าน่าเล่นเคล้นคลำ    จับจูบลูบทำให้อิ่มใจ”

 

นางพิมพิลาไลย (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“ว่าพลางเกลียวกลมสมสนิท     กอดชิดจูบถนอมหอมกระแจะ
เต้าเคร่งเต่งตั้งดังจะแยะ        เลียมและโลมลูบให้หลับพลัน”

นางสายทอง (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“จูบแก้มแนมนมขยำยั้ง          เต้าตั้งเต่งโตอล่างฉ่าง
เอนเอียงเคียงกอดสอดนาง     เป่ามนต์พลางลูบหลังให้ลานใจ”

ดังได้กล่าวแล้ว ว่านมคนนั้นเป็นเนื้อหนังมังสา จะให้ตั้งเด๊ะอย่างดอกบัวนั้นย่อมไม่ได้, ยิ่ง “เต่งโต” ด้วยยิ่งแล้ว, ย่อมมีน้ำหนักถ่วงให้คล้อย. เช่นนั้น นมที่สวยตามธรรมชาติ (ไม่ใช่ฉีด) เต้าจะต้องคล้อยลงหน่อยหนึ่ง แล้วปลายเต้าช้อนหัวนมงอนขึ้นนิดๆ ดังในขุนช้าง-ขุนแผนกล่าวไว้ :-

“ขอโทษพี่เถิดเจ้าจงเอาบุญ อย่าเคืองขุ่นคั่งแค้นเฝ้าแหนหวง
นมเจ้างอนงามปลั่งดั่งเงินยวง ประโลมล่วงน้องหน่อยอย่าน้อยใจ”

นอกจากงอนขึ้นแล้ว, ยังจะต้องเบนออกจากกันอีกด้วย ดังใน “วนวัลลรี” ของ “แสงทอง” บอก :-

“พระอุรภาคซึ่งพระเต้าสตันตึง เบ่งเบนออกจากกันน้อยๆ คล้ายสาวสองพี่น้องแหนงใจกัน”.

ใช่แต่เท่านั้น ยังต้องประกอบด้วย “ฐาน”, คือฐานนมทั้งสองเต้าต้องชิดกัน ดังในสมุทรโฆษว่า :-

“สองนมชชิดวิจิตรใน     อกอาสน์แก้วโฉมเฉลา”.

ยิ่งเบียดชิดกันขนาดทัดดอกไม้ได้ยิ่งดี ดังในขุนช้าง-ขุนแผนพรรณนา :-

“ใส่ตุ้มหูซ้ายขวาระย้าย้อย เอวบางร่างน้อยนมถนัด
ดังประทุมตูมเต่งเคร่งครัด จำปาทัดถันได้ไม่ลอดทรวง”

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี

ใน “อลิจุมพิตา” ของ “แสงทอง” ก็กล่าวสอดคล้องในข้อนี้ :-

“บัวแดงดอกเดียวสีดังโลหิต เสียบก้านอยู่หว่างหนีบแห่งความนูนของสองนม”.

นมที่เต่ง-โต โดยฐานไม่ชิดกันนั้น ก็เรียกได้ว่านมโตเท่านั้น, ไม่ใช่นมสวย (จงจินตนาการดูว่า โตชิดกับโตห่างนั้นต่างกันอย่างไร).

สรุปแล้ว นมสวยคือนมที่ตั้งเต้าตูมเต่งจนฐานนมชิดกัน และปลายเต้าคล้อยลงนิดๆ หัวนมงอนขึ้นหน่อยๆ และเบนออกจากกันน้อยๆ.


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาออนไลน์เมื่อ 24 กันยายน 2561