ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“เมอร์ไลออน” (Merlion) มาสคอตประจำชาติของ “สิงคโปร์” เกาะปลายแหลมมลายูที่มีขนาดไล่เลี่ยกับภูเก็ต แต่เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เมอร์ไลออนคือรูปปั้นซีเมนต์หนัก 70 ตัน สูง 8.6 เมตร มีหัวเป็นสิงโต ลำตัวเป็นปลา ทรงตัวเหนือฐานรูปเกลียวคลื่น ตั้งตระหง่านต้อนรับผู้มาเยือนในฐานะแลนด์มาร์กสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ที่มาของเมอร์ไลออนนั้นเกี่ยวข้องกับตำนานเมืองของสิงคโปร์ ตั้งแต่การบุกเบิกพื้นที่โดย เจ้าชายแสง นิลา อุตมะ (Sang Nila Utama) แห่งอาณาจักรศรีวิชัย เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ก่อนพัฒนาเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรมที่รุ่มรวยเรื่องความหลากหลาย เมื่อกลายเป็นประเทศเอกราชในคริสต์ศตวรรษที่ 20
ตำนานเล่าถึงเจ้าชายแสง นิลา อุตมะ จากนครปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตรา ได้ออกแสวงหาดินแดนใหม่เพื่อสร้างเมือง แต่เรือเกิดอับปางลง เจ้าชายว่ายน้ำมาขึ้นฝั่งบริเวณที่ปัจจุบันคือเกาะสิงคโปร์ ซึ่งตอนนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเรียกว่า “เทมาเส็ก” (Temasek)
ที่นั่นเจ้าชายได้ทอดพระเนตรเห็นสัตว์รูปร่างประหลาดชนิดหนึ่ง มี “ลำตัวสีแดง หน้าอกสีขาว ส่วนหัวสีดำ” เมื่อสืบทราบว่ามันคือ “สิงโต” (Merlion) เจ้าชายจึงตั้งชื่อเมืองใหม่จาก เทมาเส็ก เป็น “สิงหปุระ” (Singapura) ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “เมืองแห่งสิง(ห์)โต”
สิงหปุระ จึงกลายมาเป็น “สิงคโปร์” เกิดจากการสมาสคำระหว่าง “สิงห์” แปลว่า สิงโต กับ “ปุระ” แปลว่า เมือง ภายหลังนักเดินเรือตะวันตกยังเรียกขานเพิ่มอีกชื่อว่า “เมอร์ไลออน” จากคำว่า “Mer” ในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ทะเล และ “Lion” ในภาษาอังกฤษ แปลว่า สิงโต
นัยว่าคือ “เมืองสิง(ห์)โตแห่งโพ้นทะเล” นั่นเอง
9 สิงหาคม 1965 สิงคโปร์ประกาศเอกราชหลังอยู่ร่วมกับสหพันธรัฐมาเลเซียเป็นเวลา 2 ปี แต่รู้สึกแปลกแยกเพราะความแตกต่าง และการเหยียดชนชาติอย่างรุนแรงในกลุ่มรัฐมาเลย์
เมอร์ไลออน ถูกออกแบบตั้งแต่ปี 1964 ก่อนการประกาศเอกราชแล้ว ผู้ออกแบบคือ นายเฟรเซอร์-บรันเนอร์ (Fraser-Brunner) กรรมการฝ่ายสินค้าที่ระลึกและผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแวนคลีฟ (Van Kleef Aquarium) เขาต้องการสร้างสัญลักษณ์สัตว์ในเทพนิยาย โดยร่างแบบสองมิติ ให้มีส่วนหัวเป็นสิงโต ลำตัวเป็นปลา ทรงตัวเหนือเกลียวคลื่น ตามแนวคิดสัตว์ประหลาดในตำนานที่เจ้าชายแสง นิลา อุตมะ เคยพบ จนกลายเป็นที่มาของชื่อเมือง “สิงหปุระ”
20 กรกฎาคม 1966 สัญลักษณ์ดังกล่าวถูกจดทะเบียนเป็นตราของ คณะกรรมการการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board – STB) เมอร์ไลออน หรือ สิงโตทะเล จึงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติสิงคโปร์
สำหรับรูปปั้นเมอร์ไลออน สร้างขึ้นโดย ลิม นัง เส็ง (Lim Nang Seng) ศิลปินชาวสิงคโปร์ เปิดตัวเมื่อวันที่ 15 กันยายน 1972 แต่การสร้างสะพานเอสพลานาด (Esplanade Bridge) เมื่อปี 1997 ได้ไปบดบังทัศนียภาพของรูปปั้นจากริมน้ำ แม้การทุบสร้างใหม่จะใช้ต้นทุนต่ำกว่า แต่เพราะรูปปั้นได้ก้าวขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของชาติเรียบร้อยแล้ว ทางการสิงคโปร์จึงมองว่าการเคลื่อนย้ายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า
พวกเขาปักหมุดให้รูปปั้นตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำสิงคโปร์ และต้องหันหน้าออกทะเลด้านทิศตะวันออกตามหลักฮวงจุ้ยของจีน เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะสิงคโปร์ และนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เมือง ตำแหน่งปัจจุบันของเมอร์ไลออน ที่อยู่หน้าโรงแรมและศูนย์การค้าวันฟูลเลอร์ตัน (One Fullerton) เหนืออ่าวมารีนาเบย์ (Marina Bay) จึงห่างออกมาจากตำแหน่งเดิม 120 เมตร
อุทยานใหม่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของรูปปั้น “Merlion Cub” หรือลูกเมอร์ไลออน ความสูง 2 เมตร หนัก 3 ตัน รูปปั้นสิงโตทั้ง 2 ตัวถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในบรรดารูปปั้นเมอร์ไลออนทั้ง 5 ตัวของสิงคโปร์ แต่เมอร์ไลออนสูง 20 เมตร บนเกาะเซนโตซา ซึ่งใหญ่ที่สุดเพิ่งถูกทุบทิ้งไปเมื่อปี 2019
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงซื้อที่ดินในสิงคโปร์ ?
- วิถี “ลี กวน ยู” สู้สุดแรงมุ่งนำสิงคโปร์พัฒนาก้าวกระโดด ไม่อุ้มคนทุจริตแม้เป็นเพื่อนกัน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดร. องค์ บรรจุน. เมอร์ไลออน : ตำนาน(ห์)โตแห่งสิงหปุระ มาสคอต และแรงดึงดูดการท่องเที่ยว. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2567