เจ้าคุณจอมมารดาแพ พระภรรยาที่รัชกาลที่ 5 ทรง “จีบ” แต่ถูกผู้ใหญ่ขัดขวาง

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5)

เรื่องราวของ เจ้าคุณจอมมารดาแพ พระภรรยาที่ รัชกาลที่ 5 ทรง จีบ แต่ถูกผู้ใหญ่ขัดขวาง

ขึ้นชื่อว่า “เจ้าชีวิต” แล้ว คนทั่วไปมักจะคิดว่า เมื่อเจ้าชีวิตปรารถนาสิ่งใดจะต้องได้สิ่งนั้นทันที

Advertisement

โดยเฉพาะเรื่องผู้หญิง

เพราะถึงหากไม่มีพระราชประสงค์ ก็ยังมีผู้นํามาถวาย จนดูราวกับว่า ชีวิตรักของเจ้าชีวิตนั้นไม่เหมือนชีวิตรักของสามัญชน ไม่มีโอกาสที่จะครองคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว หรือไม่มีโอกาสที่จะผ่านขั้นตอนของความรัก คือมีความพอใจพอตาเป็นแรกเริ่ม มีความพยายามทําให้อีกฝ่ายรับรู้และรักตอบอย่างที่เรียกว่า “จีบ” เป็นขั้นต่อไป จนถึงขั้นส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ มีพิธีอยู่กินร่วมทุกข์สุขฉันสามีภรรยาเป็นที่สุด

“เจ้าชีวิต” พระองค์หนึ่งของไทยคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดํารงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงเป็นเจ้าชีวิตที่มักจะไม่มีใครคิดว่าจะทรงเคย ผ่านขั้นตอนของความรักเหมือนอย่างสามัญชนกับสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นขั้นตอนของความรักที่สมบูรณ์ที่สุด

สตรีผู้นั้นคือ คุณแพ ภายหลังเป็น เจ้าคุณจอมมารดาแพ และโปรดสถาปนาเป็น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์

เจ้าคุณจอมมารดาแพ

คุณแพ เป็นธิดา เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วอน บุนนาค) เกิดจากท่านผู้หญิงอิ่ม ถวายตัวเข้ารับราชการเมื่ออายุ 13 ปี รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อยู่ในพระอุปการะของพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี พระราชธิดา เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์มีพระชนมายุได้ 15 พรรษา ต้องเสด็จออกจากพระราชสํานักฝ่ายในตามประเพณีวัง จึงไม่มีโอกาสรู้จักคุณแพ

ครั้งแรกที่สมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ ทรงได้พบคุณแพ เมื่อคุณแพตามเสด็จพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีชมละครที่วังหน้า ครั้งนั้นเล่ากันว่า ทรงพอพระทัยคุณแพแต่แรกทอดพระเนตรเห็น ต่อจากวันนั้นก็ทรงพยายามหาโอกาสที่จะพบคุณแพอีก แม้จะยากลําบากเพราะกีดด้วยขนบประเพณีฝ่ายหน้าฝ่ายใน แต่ก็ทรงขอร้องพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีให้พาคุณแพออกในงานพิธีต่าง ๆ เพื่อจะได้ทรงเห็นหน้าบ้าง

สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์
สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์

นอกจากนี้ยังทรงใช้วิธีให้พ่อสื่อเข้ามาติดต่อ พ่อสื่อของพระองค์ก็คือ พระอนุชาพระองค์น้อย ๆ ซึ่งยังทรงสามารถเข้านอกออกในพระราชสํานักฝ่ายในได้ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ และพระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ เป็นต้น

พระอนุชาทั้งสามพระองค์จะทรงรับรับสั่งให้เข้ามาชวนคุณแพไปโน่นไปนี่ เช่นชวนไปชมมหรสพที่พระตําหนักสวนกุหลาบบ้าง ไปดูขบวนแห่ต่าง ๆ บ้าง บางครั้งก็ทรงใช้ให้พระพี่เลี้ยงนําของกํานัลมาประทาน

เกี่ยวกับเรื่องนี้คุณแพเล่าไว้ว่า “…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดให้พระพี่เลี้ยงชื่อกลาง นําหีบน้ำอบฝรั่งเข้าไปประทานหีบหนึ่ง ด้วยสมัยนั้นน้ำอบฝรั่งเพิ่งมีเข้ามาขายในเมืองไทย คนกําลังชอบกันมาก หีบน้ำอบฝรั่งที่ประทานนั้นทําเป็นสองชั้น เปิดฝาออกถึงชั้นบน มีพระรูปฉายวางไว้ในนั้น เปิดถึงชั้นล่างต่อลงไปมีน้ำอบฝรั่งสองขวดกับสบู่หอมก้อนหนึ่งวางเรียงกันอยู่…”

สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

ในส่วนตัวคุณแพนั้น เมื่อรู้ตัวว่าเป็นที่สนพระทัย แม้จะมิได้กล่าวออกมาเป็นวาจาก็พอจะคาดเดาได้ว่า มีทั้งความพอใจและความเขินอายตามประสาสตรีสาว แต่ความพอใจน่าจะมีอํานาจเหนือกว่า เห็นได้ชัดก็ตอนที่เรื่องราวการพบปะของทั้งสองฝ่ายล่วงรู้ไปถึงผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ผู้เป็นปู่ของคุณแพ มีคําสั่งให้ท่านผู้หญิงอิ่ม มารดารับคุณแพกลับบ้าน

ก่อนที่จะจากกันครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ ทรงขอให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีช่วยเหลือให้ได้พบกันอีกครั้ง คุณแพเล่าถึงการพบกันครั้งนั้นว่า “เป็นแต่รันทดกําสรดโศก หาได้ปรึกษาหารือคิดอ่านกันอย่างไรไม่”

เมื่อกลับไปอยู่บ้านครั้งนั้น คุณแพก็ปฏิญาณกับตัวเองว่า จะไม่ขอมีชายอื่นเป็นอันขาด แม้ผู้ใหญ่บังคับให้แต่งงาน ก็จะหนีมาอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ

ทางด้านสมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ ก็น่าจะนับได้ว่าทรงมีโอกาสพบความทุกข์เกี่ยวกับความรักเป็นครั้งแรกในพระชนมชีพ ชาววังที่รู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นเล่ากันว่า “พอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องกลับไป อยู่บ้านก็เฝ้าแต่ทรงเศร้าโศก ไม่เป็นอันจะเสวยหรือเข้าเฝ้าแหน….”

ทุกข์ของเจ้าแตกต่างจากทุกข์สามัญชน ก็คือทุกข์บางอย่างที่สามารถแก้ไขได้ก็จะมีผู้ช่วยเหลือและแก้ไขให้อย่างรวดเร็ว เรื่องนี้ก็เช่นกัน ทรงได้รับความช่วยเหลือจาก เจ้าจอมมารดาเที่ยง เจ้าจอมคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับอาสาที่จะนําเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ และความทุกข์ของสมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ ก็ได้รับการปัดเป่า เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทรงพระเมตตาตรัสขอคุณแพต่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

ความรักของหนุ่มสาวกลับสู่ความสดชื่นราบรื่นอีกครั้ง สามารถติดต่อส่งของถึงกันและกันโดยไม่มีใครคอยห้ามปราม คงรอคอยการกลับจากราชการของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ บิดาคุณแพ เพื่อจะได้ทําพิธีสมรส

ในพิธีส่งตัวไปยังพระตําหนักสวนกุหลาบที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ นั้น เป็นเวลา 20 นาฬิกา คุณแพพรรณนาถึงบรรยากาศและความรู้สึกครั้งนั้นว่า “เดินออกไปทางประตูราชสําราญ เหมือนกับกระบวนแห่พระนเรศวร พระนารายณ์ มีคนถือเทียนนําหน้า และถือคบรายสองข้าง มีคนตามหลังเป็นพวกใหญ่ พวกชาววังก็พากันมานั่งดูแน่นทั้งสองข้างทาง อายจนแทบจะเดินไม่ได้”

เมื่อหม่อมแพจะคลอดพระหน่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทานพระตําหนักสวนนันทอุทยานริมคลองมอญ ฝั่งธนบุรี ให้เป็นสถานที่สําหรับคลอดพระหน่อ

ณ พระตําหนักใหม่นี้ ทั้งคู่มีวัตรปฏิบัติเยี่ยงเดียวกับสามีภรรยาสามัญชน คือเวลาเช้า สมเด็จเจ้าฟ้าชายฯ จะเสด็จลงเรือข้ามฟากมาทรงปฏิบัติราชการในพระบรมมหาราชวัง และเสด็จข้ามฟากกลับพระตําหนักเวลาเย็น บางครั้งค่ำหรือดึก เคยตรัสเล่าว่า บางคืนน้ำในคลองแห้ง ต้องเสด็จขึ้นบกทรงพระดําเนินไต่สะพานยาวไปตามริมคลองบ่อย ๆ ไปถึงได้บรรทมก็ดึก พอเช้าก็ต้องเสด็จข้ามกลับมารับราชการเป็น กิจวัตร

ยิ่งเมื่อทรงมีพระธิดาพระองค์แรกแล้ว ชีวิตครอบครัวก็ยิ่งสมบูรณ์

จวบจน พ.ศ. 2411 วิถีชีวิตของทั้งสองต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณแพเปลี่ยนฐานะจากหม่อมเป็นเจ้าจอมมารดา พระธิดาเป็นพระเจ้าลูกเธอ ที่ประทับเป็นพระบรมมหาราชวัง อาจกล่าวได้ว่าชีวิตคู่ผัวเดียวเมียเดียวเยี่ยงสามัญชนสิ้นสุดลงโดยทันที

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ใน รัชกาลที่ 5)

เจ้าจอมมารดาแพ ได้ปฏิบัติหน้าที่ภรรยาคนเดียวของสามีเป็นครั้งสุดท้าย คือการปรนนิบัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งกําลังประชวร และประทับอยู่ ณ ห้องพระฉาก พระที่นั่งอมรินทร์ จนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จเข้าไปประทับในพระราชมณเฑียรฝ่ายใน พระจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเปลี่ยนเป็นพระราชานุกิจ

ก่อนที่จะพ้นหน้าที่ภรรยาคนเดียวนั้น เจ้าจอมมารดาแพได้ทูลขอพระพรจากพระบรมราชสวามีว่า “พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ จะมีพระสนมกํานัลมากสักเท่าใด ก็จะไม่เคียดขึ้งตึงหวง และไม่ปรารถนาจะมีอํานาจว่ากล่าวบังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด ขอแต่ให้ได้สนองพระเดชพระคุณเหมือนอย่างเมื่อเสด็จอยู่พระตําหนักสวนกุหลาบเท่านั้นก็พอใจ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตาพระราชทานพรให้เป็นพิเศษหลายประการ เช่น ห้ามท้าวนางไปว่ากล่าวรบกวน สร้างพระที่นั่งเย็นเป็นที่สําราญพระอิริยาบถ มีพระบรมราชานุญาต เฉพาะเจ้าจอมมารดาแพเป็นผู้ปรนนิบัติขณะประทับ ณ พระที่นั่งนี้ และโปรดสร้างพระตําหนักใหญ่ขึ้นใหม่เฉพาะเจ้าจอมมารดาแพ

และที่เป็นพิเศษคือ หน้าที่ปรนนิบัติ ที่เจ้าจอมมารดาแพได้ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดคือ เวลาเช้าตื่นบรรทม ถวายเครื่องพระสําอาง ตั้งเครื่องพระกระยาหารต้ม ตอนบ่ายถวายการปรนนิบัติอีกครั้งเมื่อเสร็จพระราชกรณียกิจช่วงเช้า กลางคืนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเข้าที่บรรทมแล้ว ท่านจึงเข้าไปนอนในห้องบรรทมจนเช้า และปรนนิบัติเช่นเดิมเป็นกิจวัตร นอกจากเวลาดังกล่าว เจ้าจอมมารดาแพจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่บางครั้งก็มีเรื่องเล่าลือถึงอาการ “ขวาง” ที่ท่านมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงเยื่อใยอันเหนียวแน่น ที่ท่านมีต่อพระบรมราชสวามี

คือครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีพระองค์หนึ่ง ถึงกับบางวโรกาสเสด็จไปทรงเปิดพระโกศทอดพระเนตรพระศพของพระนาง และทรงแสดงพระอาการโศกสลดพระราชหฤทัยเป็นที่สุด

เล่ากันว่า เจ้าจอมมารดาแพสั่งให้สวดคฤหัสถ์เป็นบทเรื่องลักษณวงศ์ ตอนปิดม่านเปิดพระโกศนางทิพเกษร และทรงคร่ำครวญทํานองล้อเลียนพระอาการ เมื่อทรงฟังสวดคฤหัสถ์บทนี้ ว่ากันว่าทรงกริ้ว แต่มิทรงกล้าจะว่ากล่าว เพราะเกรงใจและให้เกียรติในฐานะภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากดั้งเดิม

แต่โดยปกติแล้วเจ้าจอมมารดาแพจะปฏิบัติตนสนองพระราชประสงค์ดําเนินตามพระบรมราโชบายเยี่ยงบาทบริจาริกาที่จงรักภักดีต่อองค์เจ้าชีวิต เช่นครั้งที่ทรงมีพระบรมราโชบายพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุดหน้าเท่าเทียมนานาอารยประเทศ อย่างหนึ่งที่ทรงมีพระราชประสงค์ขอความร่วมมือจากสตรีในพระราชสํานักฝ่ายในคือ ให้เป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น เครื่องแต่งกายและทรงผม ซึ่งไม่มีสตรีท่านใดในพระราชสํานักที่จะกล้าหาญเปลี่ยนแปลงโดยทันทีทันใด

เจ้าจอมมารดาแพ เป็นสตรีคนแรกที่สนองพระบรมราโชบาย เป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลง การแต่งกายและทรงผม โดยไว้ผมยาวแทนผมปีก เลิกนุ่งจีบห่มแพรสไบเฉียงกับตัวเปล่า เป็นนุ่งโจงใส่เสื้อสั้นเพียงบั้นเอว และห่มแพรสไบเฉียงนอกเสื้อ สวมรองเท้ากับถุงเท้าหุ้มน่อง

นอกจากความจงรักภักดีแล้ว ความรักที่เต็มเปี่ยมของเจ้าจอมมารดาแพก็ได้แสดงออกอย่างชัดเจนเต็มที่ เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ตรัสเล่าว่า

“…ผู้ได้เห็นแก่ตาเขามาเล่าให้ฉันฟังว่า เมื่อท่านออกไปเฝ้าพระบรมศพที่พระมหาปราสาท สังเกตเห็นแต่หน้าท่านเกรียมกรมระทมทุกข์ ไปนั่งนิ่งอยู่ไม่ร้องไห้สะอึกสะอื้นเหมือนคนอื่น แต่น้ำตาหลั่งไหลลงอาบหน้าไม่ขาดสาย สักครู่หนึ่งก็เอาผ้าเช็ดน้ำตาเสียคราวหนึ่ง แล้วน้ำตาก็ไหลลงอีก และเช็ดอีกต่อไปไม่รู้ว่ากี่ครั้งจนกระทั่งกลับ ฟังพรรณนากิริยาที่ท่านร้องไห้ ชวนให้เห็นว่าความรักของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัว เห็นจะตรึงแน่นอยู่ในใจลึกซึ้ง…”

เจ้าจอมมารดาแพมีอายุยืนยาวต่อมาและได้เลื่อนเป็น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านดํารงชีวิตอยู่ด้วยความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์และผืนแผ่นดินไทย สิ่งใดที่จะนํามาซึ่งประโยชน์ต่อประเทศชาติและพระบรมราชวงศ์เจ้าคุณพระประยูรวงศ์มิเคยลังเลที่จะปฏิบัติ แม้กระทั่งเมื่อมีอายุใกล้จะ 90 ปีแล้ว รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขอให้ท่านเป็นผู้นําการแต่งกายสตรีให้เป็นไปตามสากลนิยม คือนุ่งสเกิร์ต ใส่เกือกและสวมหมวก ท่านก็ได้แต่งเป็นแบบอย่างแก่สตรีในสมัยนั้น

น่าจะนับได้ว่า ท่านได้บําเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศ ชาติจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะท่านถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2486 รวมอายุ 90 ปี

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2562