ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ใครที่อ่านเอกสารประวัติศาสตร์ ดูละครหรืออ่านวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ น่าจะพอคุ้นกับคำว่า “เจ้าจอมหม่อมห้าม” กันบ้าง อย่างไรก็ดี เจ้าจอมหม่อมห้าม ที่มักเรียกคู่กัน แบ่งได้เป็น 2 คำ คือ “เจ้าจอม” และ “หม่อมห้าม” ซึ่งใช้ต่างกัน
เริ่มกันที่ “เจ้าจอม” คำนี้เรียก “สตรีสามัญชน” ที่เป็นบาทบริจาริกาถวายงานรับใช้พระมหากษัตริย์ มีตำแหน่งเทียบเท่าพระสนม
ตัวอย่างเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเช่น เจ้าจอมเอี่ยม, เจ้าจอมเอิบ, เจ้าจอมอาบ, เจ้าจอมเอื้อม (4 ใน 5 ท่านแห่ง “เจ้าจอมก๊กออ”) เจ้าจอมโหมด, เจ้าจอมแจ่ม, เจ้าจอมสดับ (ท่านเป็นหม่อมราชวงศ์ แม้จะมีเชื้อเจ้า แต่หม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงถือเป็นสามัญชน) เป็นต้น
หากเจ้าจอมท่านใดมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ก็จะเรียกว่า “เจ้าจอมมารดา”
เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 5 มีเช่น เจ้าจอมมารดาแข พระมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องอำไพ, เจ้าคุณจอมมารดาแพ “รักแรกในรัชกาลที่ 5” พระมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี, เจ้าจอมมารดาแสง พระมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร เป็นต้น
ส่วนคำว่า “หม่อมห้าม” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า “สตรีผู้ที่เนื่องในพระราชวงศ์ หรือสตรีสามัญที่เป็นภรรยาของเจ้านาย, เดิมเรียกว่า ห้าม ต่อมาเรียกว่า นางห้าม หม่อมห้าม และ หม่อม ตามลำดับ”
กล่าวโดยง่าย หม่อมห้ามก็คือ “สตรีสามัญชน” ที่เป็นภรรยาของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก หม่อมชาวรัสเซียในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, หม่อมลออ จุฑาธุช ณ อยุธยา หม่อมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย, หม่อมอรพินทร์ ดิศกุล ณ อยุธยา หม่อมในหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นต้น
เพราะฉะนั้น “เจ้าจอมหม่อมห้าม” จึงไม่ใช่คำเดียวกัน และยังใช้ต่างกัน แต่มีอย่างเดียวที่เหมือนกันคือเป็นสตรีสามัญชน
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจ้าจอมมารดาแข” เจ้าจอมมารดาท่านแรกในรัชกาลที่ 5
- “เจ้าคุณจอมมารดาแพ” รักแรกของรัชกาลที่ 5 กับเหตุการณ์ “หึง” ต่อพระบรมราชสวามี
- สกุลยศ “เจ้าฟ้า” และ “พระองค์เจ้า” ต่างกันอย่างไร?
- “ณ อยุธยา” คำสร้อยท้ายราชสกุล ใช้อย่างไร ทำไมบางคนมี บางคนไม่มี?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เล็ก พงษ์สมัครไทย. “หม่อม”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนมีนาคม 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2567