“แม่พลอย” ตัวละครเอกใน “สี่แผ่นดิน” มีเชื้อสายสกุลอะไร?

แม่พลอย สี่แผ่นดิน วรรณกรรม แต่ง โดย หม่อมคึกฤทธิ์
คุณเปรมและแม่พลอย ในละคร "สี่แผ่นดิน (ปี 2534) รับบทโดยฉัตรชัย เปล่งพานิช และจินตหรา สุขพัฒน์ (ภาพ : ข่าวสด)

สี่แผ่นดิน เป็นวรรณกรรมระดับขึ้นหิ้งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี แต่งขึ้นและตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ดำเนินเรื่องผ่าน “แม่พลอย” ตัวละครเอก ที่ใช้ชีวิตผ่าน 4 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 5-8 ความที่แม่พลอยมีคุณลักษณะหลายอย่างคล้ายบุคคลในชีวิตจริงที่ “หม่อมคึกฤทธิ์” เคารพนับถือ จึงมีการคาดเดากันไปหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือ แม่พลอยมีเชื้อสายจากสกุลไหน?

ก่อนจะไปถึงสายสกุลแม่พลอย มาดูประวัติคร่าวๆ ของหม่อมคึกฤทธิ์สักนิด

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นบุตรของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ (พระนามเดิม คือ ม.จ.คำรบ) กับหม่อมแดง ซึ่งหม่อมแดงเป็นธิดาเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) และเป็นหลานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ขุนนางผู้มีบทบาทสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เหตุนี้ หม่อมคึกฤทธิ์จึงมีเชื้อสายสกุลบุนนาค

ตระกูลบุนนาค เป็นตระกูลขุนนางมากบารมีในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อาทิ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) รัชราชการตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 1 เติบโตก้าวหน้าตามลำดับกระทั่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยาสมัยรัชกาลที่ 4, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) น้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เป็นต้น อีกทั้งสตรีในตระกูลบุนนาคก็ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นฝ่ายในจำนวนมาก

บ้านเรือนของตระกูลบุนนาค เดิมอยู่ฝั่งพระนคร เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการขยายพระบรมมหาราชวังลงมาทางใต้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เมื่อครั้งยังเป็นพระยาสุริยวงศ์มนตรี จึงย้ายบ้านไปอยู่ที่สวนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ใต้บ้านกุฎีจีน

หลังจากนั้น ตระกูลบุนนาคก็สร้างบ้านเรือนในละแวกใกล้กัน เลียบตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่คลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) เข้าไปจนถึงเขตคลองขนอน (คลองตลาดบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) ซึ่งบ้านเรือนของตระกูลบุนนาค แบ่งเป็น 2 เขตใหญ่ คือ เขตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และเขตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ

ทำไมต้องอธิบายเรื่องตระกูลบุนนาคเสียยาว? เดี๋ยวมีคำตอบ มาเข้าเรื่อง “แม่พลอย” กันบ้าง

แม่พลอย ในวรรณกรรม “สี่แผ่นดิน” เกิดเมื่อ พ.ศ. 2425 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นธิดาของพระยาพิพิธฯ กับ “แม่แช่ม” สาวชาววัง เรือนของพระยาพิพิธฯ ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง น่าจะมีพื้นที่กว้างขวาง เพราะนอกจากเรือนที่เป็นตัวตึก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาพิพิธฯ และลูกๆ ที่เกิดจากคุณหญิงเอื้อมแล้ว ยังมีเรือนของแม่แช่ม ที่อาศัยกับลูกๆ คือ พ่อเพิ่มและแม่พลอย อยู่ใกล้ๆ เรือนใหญ่

เมื่อแม่แช่มตัดสินใจพาแม่พลอยเข้าถวายตัวกับ “เสด็จ” เจ้านายที่ชุบเลี้ยงแม่แช่มมาตั้งแต่แม่แช่มยังเด็ก แม่แช่มก็ได้พบกับ “คุณสาย” ข้าหลวงในตำหนักของเสด็จ บทสนทนาของทั้งสองมีตอนหนึ่งกล่าวถึง “คุณสายหยุด” สาวชาววังอีกตำหนักว่า

“เจ้าคุณนั้นก๊กฟากขะโน้นบ้านบน คุณสายหยุดเธอบ้านล่าง”

“เจ้าคุณ” ในประโยคนี้ หมายถึงพระยาพิพิธฯ พ่อของแม่พลอย ส่วนคำว่า “ฟากขะโน้น” หรือ “ฟากข้างโน้น” ในยุคนั้น ชาวฝั่งพระนครรู้กันว่าหมายถึง “ตระกูลบุนนาค” ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งธนบุรี และคำว่า “บ้านบน” ก็หมายถึงเขตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ คือพื้นที่ย่านคลองบางหลวง

แม้ในวรรณกรรมจะไม่ได้ระบุชัด แต่หากดูจากบริบทแวดล้อมแล้ว แม่พลอย น่าจะมีเชื้อสายตระกูลบุนนาคในพื้นที่บ้านบน ส่วน หม่อมคึกฤทธิ์ ผู้เขียน “สี่แผ่นดิน” มีเชื้อสายตระกูลบุนนาคในพื้นที่บ้านล่าง เพราะสืบสายจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. สี่แผ่นดิน เล่ม 1. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000, พิมพ์ครั้งที่ 15, 2554

ยุวดี ศิริ. “ถิ่นฐาน ‘บ้านสมเด็จ’ สมเด็จฯ องค์ไหน?”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2567