“พระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวร” คือใคร เพราะหลักฐานฝ่ายไทยไม่เคยกล่าวถึง?

พระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวร
มณีจันทร์ ในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคยุทธหัตถี (ภาพจากคลิป "ราชาภิเษก ใน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" จาก YouTube/Sahamongkolfilm International Co.,Ltd)

แม้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจะมิได้กล่าวถึง “พระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวร” ไว้เลย แต่เอกสารต่างชาติหลายฉบับด้วยกัน เช่น จดหมายเหตุบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา ของสเปน, จดหมายเหตุฟานฟลีตของฮอลันดา, พงศาวดารละแวกของเขมร, คำให้การขุนหลวงหาวัด ฯลฯ กลับบันทึกเรื่องนี้เอาไว้

เอกสารเหล่านี้กล่าวถึงพระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวรไว้อย่างไรบ้าง?

จดหมายเหตุสเปน ที่บาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของบาทหลวงนิกายฟรานซิสกัน ที่กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ถึงต้นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ตอนหนึ่งกล่าวถึงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งมีสมเด็จพระอัครมเหสีและพระราชโอรสผู้ทรงพระเยาว์โดยเสด็จมาด้วยว่า

Advertisement

“…ครั้งหนึ่งบาทหลวงนิกายฟรานซิสกันได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินประทับในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งประดับประดาแล้วล้วนไปด้วยพระปฏิมากร เพื่อจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนพระอารามแห่งหนึ่ง มีเรือสี่ลำแล่นล่วงหน้าไปก่อนเรือพระที่นั่ง…เรือแต่ละลำมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งราชสำนัก 1 คน 

แล้วจากนั้นเป็นพระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุดในพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จปรากฏพระองค์ในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งอย่างหรูหรามาก ตามติดมาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีและสาวสรรกำนัลใน สมเด็จพระอัครมเหสีประทับแต่เพียงลำพังพระองค์ และบรรดานางกำนัลนั่งในเรือลำอื่นที่ตกแต่งอย่างน่าอัศจรรย์ และกั้นด้วยม่านอย่างรอบคอบจนเป็นไปได้ที่จะสามารถมองผ่านม่านจากภายในออกมาสู่โลกภายนอกได้…” 

คำให้การขุนหลวงหาวัด (พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ) เป็นเอกสารฉบับเดียวกับโยธยา ยาสะเวง (พงศาวดารอยุธยา) ของพม่า ตอนหนึ่งกล่าวถึง “พระมณีรัตนา” ขึ้นเป็นพระอัครมเหสี พร้อมพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศวรว่า

“ส่วนพระนเรศวรนั้น ก็เข้าไปกรุงศรีอยุธยา ก็เสด็จเข้าสู่พระราชฐาน อันอัครมหาเสนาบดีและมหาปุโรหิตทั้งปวง จึงทำการปราบดาภิเษกแล้วเชื้อเชิญขึ้นให้เสวยราชสมบัติ จึงถวายอาณาจักรเวนพิภพแล้วจึงถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 และเครื่องมหาพิไชยสงครามทั้ง 5 ทั้งเครื่องราชูปโภคทั้งปวงอันครบครัน แล้วจึงถวายพระนามใส่ในพระสุพรรณบัตรสมญา แล้วฝ่ายในกรมจึงถวายพระมเหษีพระนามชื่อพระมณีรัตนา แล้วถวายพระสนมกำนัลทั้งสิ้น แล้วครอบครองราชสมบัติเมื่อจุลศักราช 952 ปีขาลโทศก อันพระเอกาทศรถนั้นก็เปนที่มหาอุปราช” 

จดหมายเหตุฟานฟลีต ที่เยเรเมียส ฟาน ฟลีต-หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาประจำพระนครศรีอยุธยาเรียบเรียง กล่าวถึงพระชายาม่ายของสมเด็จพระนเรศวร เมื่อครั้งพระอินทราชา (พระเจ้าทรงธรรมครองราชย์) กริ้วพระหมื่นศรีสรรักษ์ (พระเจ้าปราสาททอง) และน้องชาย (สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราช) ที่ไปทำร้ายพระยาแรกนาขวัญ

“ขณะนั้นออกญากลาโหมเพิ่งมียศเป็นพระหมื่นศรีสรรักษ์…โดยมากับน้องชายซึ่งบัดนี้เป็นฝ่ายหน้าหรือมหาอุปราช ทั้ง 2 คนขี่ช้างมีบ่าวไพร่ติดตามมาหลายคน และได้โจมตีพระยาแรกนาอย่างดุเดือด ดูเหมือนว่ามีเจตนาจะฆ่าพระยาแรกนาและกลุ่มผู้ติดตามทั้งหมดด้วย…

…แต่คนชั่วผู้นี้รู้ตัวดีว่ามีผู้ติดตามจับ จึงซ่อนตัวอยู่ในโบสถ์กับบรรดาพระสงฆ์…เมื่อพระเจ้าแผ่นดิน [สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราช] ไม่อาจลงโทษให้สมกับพระอารมณ์ขุ่นเคืองได้ ออกญาศรีธรรมาธิราชจำต้องได้รับผลการกระทำนี้ พระองค์รับสั่งว่าจะประหารชีวิตเขาถ้าหากไม่นำตัวบุตรชายมาเฝ้า

พระหมื่นศรีสรรักษ์เมื่อทราบข่าว จึงออกจากที่หลบซ่อนมาเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว และทูลขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ถูกมหาดเล็กจับตัวไว้…พระหมื่นศรีสรรักษ์ถูกจำขังอยู่ในคุกมืดเป็นเวลา 5 เดือน จนกระทั่งเจ้าขรัวมณีจันทร์ (Zian Croa Mady Tjan) ชายาม่ายของพระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ คือพระ Marit หรือพระองค์ดำ [สมเด็จพระนเรศวร] ได้ทูลขอ จึงได้กลับเป็นที่โปรดปรานอีก”

พงศาวดารละแวก ของเขมร ฉบับแปล จ.ศ. 1170 พระองค์แก้วเจ้านายเขมรได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองละแวกได้สำเร็จใน พ.ศ. 2137 ทรงนำตัวพระศรีสุริโยพรรณและพระราชวงศ์เขมรกลับมาเป็น “เชลยศักดิ์” ยังพระนครศรีอยุธยา ภายหลังสมเด็จพระนเรศโปรดให้แต่งตั้ง “พระเอกกษัตรีย์” พระราชธิดาในพระศรีสุริโยพรรณเป็นพระมเหสีว่า

“…สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า พระองค์ได้สมบัติในเมืองละแวก…พระองค์ก็เลิกกองทัพกลับมาศรีอยุธยา แล้วพระองค์ให้นำมาซึ่งพระศรีสุริโยพรรณกับพระมเหสี พระราชบุตร พระราชธิดา และพระศรีไชยเชษฐ พรรคพวกพระศรีสุริโยพรรณเข้ามาอยู่เมืองกรุงศรีอยุทธยาด้วย ให้ตั้งบ้านอยู่นอกกำแพงกรุง…สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้านำเอาพระราชธิดาพระศรีสุริโยพรรณพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเอกษัตรี เป็นพระมเหสีพระนเรศวรเป็นเจ้า ในปีมะแมสัปตศก (พ.ศ. 2138)”

นี่คือเรื่องราวที่ไม่มีในเอกสารไทย ด้วยเน้นบันทึกเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร เฉพาะเรื่องการศึกสงครามกับอาณาจักรเพื่อนบ้านข้างเคียงเป็นสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. “แกะรอย ‘หลังบ้าน’ สมเด็จพระนเรศในเอกสารต่างชาติ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2567