ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระนเรศวรฯ ถูกยกย่องโดยคนไทยในฐานะมหาราชผู้ทรงกอบกู้เอกราชฉันใด “เจ้าอนุวงศ์” ก็ได้รับการเชิดชูเกียรติโดย “คนลาว” ในฐานะวีรกษัตริย์ผู้เรียกร้องอิสรภาพและเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองฉันนั้น
แม้ปลายทางของทั้ง 2 พระองค์นั้นต่างกันลิบลับ สมเด็จพระนเรศวรฯ ก่อการสำเร็จ กรุงศรีอยุธยาหวนคืนสู่อิสรภาพและความรุ่งเรืองอันยืนยาวนับร้อย ๆ ปี แต่อาณาจักรลาวล้านช้างแพ้พ่าย นครหลวงเวียงจันทน์ถูกเผาทำลาย ส่วนเจ้าอนุวงศ์สิ้นพระชนม์อย่างน่าสลดใจในฐานะเชลยศึกผู้ก่อการ “กบฏ” ต่อพระเจ้ากรุงสยาม
เป็นเรื่องน่าสนใจว่า คนลาว มีมุมมองอย่างไรต่อเหตุการณ์เมื่อเกือบสองร้อยปีก่อนนี้ ในสงครามที่พวกเขานิยามว่าเป็นความพยายาม “กอบกู้อิสรภาพ” ของชนชาติลาว รวมถึงความล้มเหลวในการนำพาชาติลาวให้หลุดพ้นจากเจ้าประเทศราชอย่างสยาม สำหรับนักวิชาการลาวแล้ว “เจ้าอนุฯ พลาดตรงไหน?”
หากถามคนไทย จุดพลิกผันสถานการณ์ที่อยู่ในความทรงจำมากที่สุดเห็นจะเป็นเหตุการณ์สู้รบที่ “ทุ่งสำริด” จุดกำเนิดวีรกรรม “ท้าวสุรนารี” หรือย่าโม
อ่านเพิ่มเติม : การสู้รบที่ “ทุ่งสำริด” คราวสงครามเจ้าอนุวงศ์ หลักฐาน “ลาว” เล่าอย่างไร
อย่างไรก็ตาม แม้หลักฐานลาวจะเล่าถึงความวุ่นวายที่ทุ่งสำริดเหมือนไทย แต่ความปราชัยของเจ้าอนุวงศ์ยังมีสาเหตุปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย และมโนทัศน์คนลาวต่อเจ้าอนุฯ ในเรื่องความเป็นวีรกษัตริย์ ยังคงแข็งแกร่งมาก ๆ ไม่ว่าข้อเท็จจริง “เชิงลึก” ของเหตุการณ์ที่ทุ่งสำริดจะเป็นอย่างไร
ประเด็นนี้ ผศ. ดร. วริษา กมลนาวิน ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเล่าไว้ตอนหนึ่งในบทความ “เจ้าอนุวงศ์ในมุมมองของลาว บทสะท้อนจากหนังสือและตำราเรียนลาว” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2544 ดังนี้ [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
การ “กอบกู้อิสรภาพ” ของเจ้าอนุวงศ์ ในมโนทัศน์ของลาว
นักวิชาการลาวส่วนใหญ่เห็นว่า สาเหตุที่เจ้าอนุวงศ์จำเป็นต้อง “กอบกู้อิสรภาพ” เป็นเพราะหลังจากสิ้นรัชกาลที่ 2 ของไทยแล้ว คนลาวจำนวนมากถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น ถูกเกณฑ์ให้ไปตัดต้นตาลอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ไปสร้างป้อมปราการตามบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง ล้วนแล้วแต่ได้รับความยากลำบาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์เกิดความคับแค้นใจในความทุกข์ที่คนลาวได้รับ
นอกจากนี้ บทความต่าง ๆ ยังกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเจ้าอนุฯ จะกลับเมืองเวียงจันหลังจากงานพระบรมศพรัชกาลที่ 2 เจ้าอนุฯ ต้องการพาพวกนักแสดงและศิลปินลาวกลับเวียงจัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ขอเอาเจ้าหญิงดวงคำ ซึ่งเป็นน้องสาว รวมทั้งผู้หญิงลาวที่ได้มารับใช้ในวังกลับคืนไปเวียงจันด้วย
แต่คำร้องขอเหล่านั้นล้วนได้รับการปฏิเสธ จึงเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์เกิดความคับแค้น และมีความมุ่งมั่นในการกอบกู้อิสรภาพมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่เดินทางกลับ เจ้าอนุวงศ์ได้รับคำร้องทุกข์จากประชาชนลาวอย่างมากมายถึงความทุกข์ทรมานที่ได้รับเพราะถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ประกอบกับเจ้าเมืองน้อยใหญ่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง รวมทั้งบรรดาข้าราชการชั้นกลางและชั้นผู้น้อยเมืองโคราช ได้แสดงให้เห็นว่าพวกตนต้องการร่วมกันกอบกู้เอกราช
นอกจากนี้ ประชาชนลาวทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงส่วนหนึ่งหันมาร่วมมือกับกองทัพของเจ้าอนุฯ เนื่องจากเห็นว่าบ้านเมืองยังไม่มีความสงบสุขเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนรัชกาล
ดร.มะยุรี และ ดร.เผยพัน เหง้าสีวัทน์ กล่าวว่า พงศาวดารลาวทุกฉบับรวมทั้งเอกสารบันทึกเหตุการณ์ของต่างชาติ เช่น Gutzlaft และพงศาวดารของเวียดนาม ต่างบันทึกตรงกันว่า เจ้าอนุฯ ได้ตีโคราชเพื่อกวาดต้อนเอาครอบครัวลาวกลับไปเท่านั้น ไม่ได้จงใจจะมาโจมตีบางกอกเลย
…การกอบกู้เอกสารสมัยเจ้าอนุฯ ไม่ใช่เรื่องของเจ้าอนุฯ เพียงองค์เดียวเท่านั้น แต่เป็นการลุกฮือของคนลาวทั้งหมด
เพราะในสมัยนั้น สยามมีนโยบายกลืนกินชาติลาวด้วยการสักเลข และล้มล้างเกียรติและศักดิ์ศรีของราชวงศ์เวียงจัน ด้วยการให้เจ้าราชวงศ์ (โอรสของเจ้าอนุฯ) เป็นผู้คุมคนลาวไปตัดต้นตาลจากเมืองสุพรรณบุรี และขนย้ายลงมาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาในสมุทรปราการเพื่อต่อต้านการโจมตีของทหารอังกฤษ
เจ้าอนุฯ ทรงเป็นผู้ที่ไม่หวังในลาภยศตำแหน่งใด ๆ เห็นได้จากที่พระองค์ได้สัญญาต่อเจ้าชีวิตหลวงพระบางว่า หากพระองค์กอบกู้เอกราชจากไทยได้สำเร็จ พระองค์จะไม่ขอเป็นเจ้าชีวิต แต่จะขอให้เจ้าชีวิตของหลวงพระบางเป็นเจ้าชีวิตของลาวแต่เพียงองค์เดียว โดยพระองค์จะออกผนวชเพื่อความเป็นหนึ่งอันเดียวกันของลาว
ดร.มะยุรี และ ดร.เผยพัน กล่าวถึงสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ของสงครามเจ้าอนุฯ ว่า เป็นเพราะสยามมีอาวุธที่ทันสมัยกว่า และสามารถซื้อหาอาวุธอันทันสมัยจากพวกนายทุนตะวันตกได้อย่างมากมาย ในขณะที่ดินแดนล้านช้างห่างไกลจากท่าเรือทะเล จึงยุ่งยากในการหาซื้ออาวุธ อีกทั้งประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเลยังผูกขาดการค้าอาวุธ จึงทำให้ฝ่ายลาวหาซื้ออาวุธไม่ได้
นอกจากนี้ สยามยังจ้างคนต่างชาติเป็นผู้ฝึกการใช้อาวุธและเป็นผู้บัญชาการกองทหารอีกด้วย สถานการณ์ในขณะนั้นก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการต่อสู้ ลาวได้ขอความช่วยเหลือจากเวียดนาม ซึ่งเวียดนามเองก็มีปัญหาภายในหลายด้าน จะช่วยเหลือลาวมากนักก็ไม่ได้ เนื่องจากอาจกระทบไปถึงความสัมพันธ์ระหวางเวียดนามและไทย
แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดของความพ่ายแพ้ คือ การขาดความสามัคคีภายในลาวเอง ผู้ที่ร่วมมืออย่างดีในการทำสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าอนุฯ คือเจ้าราชบุตรโย้ผู้เป็นโอรสซึ่งครองเมืองจำปาศักดิ์ ส่วนเจ้าองค์อื่น ๆ ก็ไม่ได้เต็มใจที่จะเข้าร่วมกับเจ้าอนุฯ จริง
ดังเช่นเจ้านันทาตุราชแห่งเมืองหลวงพระบาง เมื่อเห็นว่ากำลังของเจ้าอนุฯ เริ่มเป็นฝ่ายเสียเปรียบและอ่อนลงอย่างมาก ก็ยอมสวามิภักดิ์ต่อสยามเพื่อพ้นความผิด เจ้าอุปราชติสสะนั้นถึงจะร่วมมือมาตั้งแต่ต้นก็ตาม พอเห็นท่าว่ากองทัพฝ่ายเจ้าอนุฯ ใกล้แตก ก็ยอมจำนนต่อสยามเช่นกัน
ดวงไช หลวงพะสี ให้ความเห็นในเรื่อง “ความไม่พร้อม” ในการกอบกู้อิสรภาพของเจ้าอนุวงฯ ว่า “เลื่องนี้ สมเด็ดพะเจ้าอนุวงก็ชะล่าใจคือกัน แต่… เมื่อคิดจะทำกานใหย่เพื่อปะเทดชาดบ้านเมืองแล้ว พะองก็ยอมเสี่ยง เถิงชีวิตจะมอดม้วยมอละนาก็ตามช่าง”
เจ้าอนุวงศ์ ในฐานะวีรกษัตริย์ของลาว
เมื่อวันที่ 21-23 มกราคม 1997 (พ.ศ. 2540) ในงานสัมนาวิชาการโดยคณะภาษา วรรณคดี และมนุษยศาสตร์ ในหัวข้อเรื่อง “สำมะนาปะหวัดสาดลาว : ตามหารอยเจ้าอะนุวง” … นักวิชาการลาวได้เขียนอย่างชัดเจนว่า เจ้าอนุฯ ไม่ใช่ “กบฏ” แต่เป็นวีรกษัตริย์ของลาวที่คนลาวจะต้องระลึกบุญคุณตลอดไป เช่นคำกล่าวต่อไปนี้
“…แต่ตะหลอดไลยะปะหวัดสาดผ่านมานี้ ยังมีกุ่มคนจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดพาด เสกสันปั้นแต่งบิดเบือนความเป็นจิง ก่าวหาว่าเจ้าอะนุวงเป็นผู้กะบด ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องสิดผนปะโหยดของพวกเขา และใส่ร้ายป้ายสีจิดใจรักชาดของคนลาว
…ผ่านกานสึกสา ค้นคว้า ตะหลอดไลยะที่ผ่านมานี้ ก็รู้ได้ว่า สมเด็ดพะเจ้าอะนุวงบ่เป็นคือดั่งกุ่มคนจำนวนหนึ่งได้ก่าวหา กานเคื่อนไหวนำพาปะชาชนต่อสู้ในไลยะปกคองลาดชะกานนั้น แม่นกานเคื่อนไหวที่รักชาดอย่างแท้จริง…”
ดร.นีวอน ไชยะวง
“…ปะชาชนลาวได้จดจำน้ำใจรักชาดในสะไหมเจ้าอะนุวงไว้อย่างไม่มีวันลืม ถึงเพิ่นจะถูกไปเป็นตัวปะกันให้สะหยามแต่อายุ 11 ปี ถูกอบรมสั่งสอนให้ลืมชาด แต่เพิ่นพัดกับกายเป็นผู้รักชาดอย่างดูดดื่ม เพิ่นได้ต่อสู้อย่างบ่รู้อิดรู้เมื่อย จนได้เป็นเจ้าชีวิดปกคองเวียงจัน และเพิ่นสามารถท้อนโรม (รวบรวม) แผ่นดินเวียงจันอันกว้างใหญ่ให้เป็นเอกะพาบซึ่งมีหัวเมืองทั้งหมด 165 หัวเมือง เพิ่นได้นำพาปุกละดมน้ำใจรักชาด ให้ฟดเดือนในทุกบ่อน ทำให้ปะชาชนลาวเข้าร่วมกานต่อสู้อย่างกว้างขวาง…”
อ.บัวพัน ทำมะวง
…
“…สมเด็ดเจ้าอะนุวง พะองได้นำพาปะชาชนเฮ็ดสงคามกู้ชาด ต่อสู้โดยบ่ยอมให้สัดตูข่มเหงขูดรีดประชาชน แม้นแต่พระชนมะชีบของพะองก็ยอมเสียสะหละ เถิงแม่นว่า บ่สำเล็ดย้อนเหดผนหลายปะกานก็ดี แต่ผนได้เป็นกานดีแก่ชาดบ้านเมืองก็มีหลายปะกาน ที่สำคันนั้น แม่นได้ปุกสะติสำนึกให้แก่คนรุ่นหลังรู้ว่าความมีสิดอิดสะหละ และเป็นเอกะลาดของชาดนั้น มันแม่นสิ่งปะเสินสุดในชีวิดแห่งความเป็นคน…”
สำลิด บัวสีสะหวัด
ความเห็นพ้องต้องกันของเหล่านักเขียน-นักวิชาการลาว ต่อการมองเหตุการณ์ที่ (ไทย) เราเรียกกันว่า “กบฏเจ้าอนุฯ” นั่นคือ พวกเขาล้วนใช้คำว่า “สงครามกู้ชาติ” หรือ “การกอบกู้เอกราชของเจ้าอนุฯ” ทั้งมอง เจ้าอนุวงศ์ ในฐานะวีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แม้วีรบุรุษของชาติพระองค์นี้จะก่อการล้มเหลว จาก “ความไม่พร้อม” ไม่สามัคคีกันภายในหัวเมืองลาวด้วยกัน และถูกมองว่าเป็น “กบฏ” ในสายตาฝ่ายตรงข้ามก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม :
- เสียงจากผู้ปราชัย เรื่องราวของ “เจ้าอนุวงศ์” ในตำราเรียนลาว
- “ศึกเจ้าอนุวงศ์” สงครามปลดแอกชาติลาว
- ความปราชัยของ “เจ้าอนุวงศ์” วิเคราะห์เหตุความพ่ายแพ้ของมหาราชชาติลาว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2567