“เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ” เจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ผู้อยู่มาถึง 5 แผ่นดิน!

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ใน รัชกาลที่ 5 เจ้าจอมสดับ สวม เครื่องเพชร
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5

ชวนทุกคนมารู้จัก “เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ” หรือ “เจ้าจอมสดับ” เจ้าจอมใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ได้ชื่อว่าจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 5 มาก และอยู่มาถึง 5 แผ่นดิน!

“เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ” หรือนามเดิม คือ “หม่อมราชวงศ์สั้น” ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นธิดาของหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี) และหม่อมช้อย กุลสตรีแห่งสกุลนครานนท์ 

Advertisement

ท่านใช้ชีวิต ณ วังกรมหมื่นภูมินทรภักดี ในกรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลาถึง 11 ปี ก่อนที่หม่อมเจ้าเพิ่มจะทรงลาออกจากราชการ และตัดสินใจย้ายครอบครัวไปที่ราชบุรี เนื่องจากทรงต้องการหลีกหนีคำครหาว่าใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์พ่อตา หลังจากหม่อมเจ้าเพิ่มเสกสมรสกับหม่อมห่วง ธิดานายอากร 

ทว่าท้ายที่สุด “หม่อมราชวงศ์สั้น” ก็ไม่ได้ย้ายไปอยู่หัวเมืองตามครอบครัว เนื่องจากเจ้าจอมมารดาจีน หม่อมอีกท่านในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ไม่อยากให้หลานไป และทูลพระวิมาดาเธอ (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นพระอัครชายาเธอ) พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ขอให้รับหลานสั้นเข้ามาอยู่ในวัง

จากนั้นพระวิมาดาเธอฯ จึงทรงขอต่อหม่อมเจ้าเพิ่ม ก่อนที่หม่อมเจ้าเพิ่มจะยอมถวายตัวธิดาของตนเองให้เข้าไปอยู่พระบรมมหาราชวังกับพระวิมาดาเธอฯ ตั้งแต่นั้นมา และสมเด็จหญิงพระองค์ใหญ่ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร วโรฬารลักษณสมบัติ รัตนกุมารี) พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 กับพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ (พระเชษฐภคินีในพระวิมาดาเธอฯ) ก็ได้ประทานนามใหม่ให้ว่า “สดับ”

หม่อมราชวงศ์สดับได้เรียนรู้อะไรต่างๆ มากมายภายในรั้ววัง ทั้งวิชาการ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ งานฝีมือ ทำอาหารคาวหวาน จนเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายทุกพระองค์ เนื่องจากเป็นคนเรียนรู้เร็ว 

นอกจากจะได้ความรู้ความสามารถด้านวิชาการและงานบ้านงานเรือนต่างๆ แล้ว ท่านยังมีน้ำเสียงอันไพเราะ จนทำให้ได้รับหน้าที่เป็นต้นเสียงในวงมโหรีอีกด้วย

ด้วยหน้าที่ต้นเสียงนี้ผสมกับเสียงอันไพเราะ ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงออกพระโอษฐ์ขอหม่อมราชวงศ์สดับต่อพระวิมาดาเธอฯ ทำให้พระวิมาดาเธอฯ ต้องไปทูลถามหม่อมเจ้าเพิ่ม ท่านพ่อของหม่อมราชวงศ์สดับ 

เมื่อท่านไม่ทรงคัดค้านอะไร หม่อมราชวงศ์สดับก็ได้ถวายตัว กลายเป็น “เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ” โดยมีคุณท้าววรจันทร์ เจ้าจอมวาดในรัชกาลที่ 4 เป็นผู้นำถวาย ในปี 2448 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาท เมื่อ พ.ศ. 2449

หลังจากเข้ามาเป็นหนึ่งในพระภรรยาในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ก็ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

จะเห็นว่าครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ 5 เคยพระราชทานวัตถุชิ้นสำคัญแก่ท่าน นั่นคือ “กำไลทองรูปตาปู” ซึ่งพระองค์ทรงสวมกำไลให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับด้วยพระองค์เอง ในกำไลทองมีจารึกคำกลอนพระราชนิพนธ์สุดหวานซึ้งไว้ว่า…

“กำไลมาศชาตินพคุณแท้

ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นย่อมยืนสี

เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที

จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย

ตาปูทองสองดอกตอกสลัก

ตรึงความรักรับไว้อย่าให้หาย

แม้นรักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย

เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย”

ไม่เพียงแค่นั้น ครั้งรัชกาลที่ 5 จะต้องเสด็จประพาสยุโรป ในปี 2450 ก็ทรงสอนภาษาอังกฤษพระราชทานแก่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับด้วยพระองค์เอง หวังให้ท่านได้ตามเสด็จฯ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เป็นไปตามพระราชดำริ จนเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเป็นทุกข์อยู่นาน อย่างที่ท่านบันทึกไว้ว่า…

“ข้าพเจ้ารู้สึก ทุ้กข์ ทุกข์ เศร๊า เศร้า ตลอด ๒๔ ชั่วโมงไม่ได้กินไม่ได้นอน พอถึงเสด็จออกสรงมูรธาภิเศกที่ชลาห้องพระชั้น ๓ บนพระที่นั่งอัมพร ข้าพเจ้ากลั้นไม่ไหวเพราะอารมณ์เด็ก ปล่อยเสียโฮๆ…”

แม้จะไม่ได้ตามเสด็จฯ แต่รัชกาลที่ 5 ก็ทรงส่งลายพระราชหัตถเลขา รวมถึงพระราชทานของฝากจากทุกหนแห่งที่เสด็จไปถึงให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับอยู่เสมอ… กระทั่งพระองค์กลับมาก็ยังพระราชทานเครื่องเพชรมูลค่ามหาศาลให้อีกด้วย

ทำให้เรียกได้ว่า “เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ” เป็นหนึ่งในพระภรรยาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปราน

ทว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ก็ต้องมีวันลาจาก เพราะเมื่อ พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เสด็จสวรรคต ยังความโศกเศร้าให้กับเจ้านายในรั้ววังจนถึงประชาชนคนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง

เจ้าจอมก็เป็นหนึ่งในนั้น ท่านเศร้าเสียใจมาก ถึงขั้นบันทึกไว้ว่า “ใจคิดเสียสละได้ทุกอย่าง จะอวัยวะ หรือเลือดเนื้อ หรือชีวิต ถ้าเสด็จกลับคืนมาได้ ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นใจที่คิดแน่วแน่ว่าตายแทนได้ ไม่ใช่พูดเพราะๆ…” และยังบันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่มีใจเหลือเศษที่จะรักผู้ชายใดอีกต่อจนตลอดชีวิต”

เมื่อเสียสวามีไป ท่านก็มุ่งหน้าเข้าหาทางธรรม เลี้ยงลูกหลานของวงศ์ตระกูลบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองก็ย้ายออกไปพำนัก ณ “สวนนอก” รวมทั้งไปพำนักยังต่างประเทศ แล้วก็กลับมาที่ไทย

สิ่งที่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับยึดถือก็คือพระพุทธศาสนา และการได้ศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด

กระทั่ง พ.ศ. 2526 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับก็ได้ถวายบังคมลาถึงอนิจกรรม สิริรวมอายุได้ 93 ปี และเรียกได้ว่าท่านเป็นเจ้าจอมที่อยู่มาถึง 5 แผ่นดิน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับในรัชกาลที่ 5. [ม.ป.ท.]:อมรินทร์การพิมพ์, 2526. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:177690.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อเมื่อ 13 พฤษภาคม 2567