ทำไม “เจ้าจอมสดับ” ถวายคืนเครื่องเพชรพระราชทาน หลังรัชกาลที่ 5 สวรรคต

เจ้าจอมสดับ สวม เครื่องเพชร
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5

“เจ้าจอมสดับ” เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเครื่องเพชรแก่เจ้าจอมสดับ แต่เมื่อเสด็จสวรรคต เจ้าจอมสดับก็ได้คืน “เครื่องเพชรพระราชทาน” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? 

ด้วยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระภรรยาเจ้าหลายพระองค์ เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมหลายท่าน ตอนปลายรัชกาลทรงเกิดความกังวลพระทัย โดยเฉพาะเจ้าจอมบางคนที่ไม่มีบุตรว่าจะขาดคนอุปถัมภ์ค้ำชู จึงพระราชทานที่ดิน บ้านเรือน และทรัพย์สินให้เจ้าจอมเหล่านี้ ด้วยพระเมตตาสงสารในชะตาชีวิตที่จะต้องตกยากในบั้นปลาย แต่ในความเป็นจริง บางครั้งก็มีการกล่าวหาว่า พระสนมนำของมีค่าออกไปจากวังโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เกิดการทวงคืนของพระราชทานกันขึ้นก็มี

Advertisement

ตอนหนึ่งในบทความ “พระราชประสงค์ พระราชดำริ พระราชปรารภ ในสมเด็จพระปิยมหาราช เมื่อก่อนสวรรคต” เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2554 ไกรกฤษ์ นานา ผู้เขียนบทความ กล่าวถึงกรณี เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ลดาวัลย์ ถวายคืน เครื่องเพชรพระราชทาน ว่า

ภายหลังรัชกาลที่ 5 สวรรคต คำครหาที่ไม่เป็นธรรมมีผลกระทบไปถึงเจ้าจอมคนสุดท้าย คือ เจ้าจอมสดับ ผู้ยืนยันว่าได้รับของพระราชทานมาเป็นกรรมสิทธิ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ อย่างไรก็ตาม เจ้าจอมสดับต้องจำใจส่งเครื่องเพชรพระราชทานคืนให้หลวง เพราะกลัวความผิด อันเป็นการค้านความรู้สึกของผู้เป็นเจ้าของโดยสิ้นเชิง เพราะเจ้าจอมสดับยืนยันว่า ได้รับพระราชทานมาด้วยความเต็มพระทัยตั้งแต่ยังไม่สวรรคต

คำให้การของผู้รู้เห็นเหตุการณ์ทั้ง 2 ฝ่ายค้านกันโดยหลักการ และเป็นอุทาหรณ์หนึ่งของเรื่องยุ่งๆ ปลายรัชกาลที่ 5 ที่หาข้อพิสูจน์ไม่ได้ทางโลก

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์” จัดพิมพ์โดย สำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๔๗)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายถึงเรื่องยุ่งๆ จากฝ่ายในที่เคยใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท แต่มีอันถูกตราหน้าว่าเป็นผู้หยิบฉวยของมีค่าออกไปจากวงใน ขณะที่เกิดโกลาหลขึ้นเมื่อข่าวการสวรรคตแพร่ออกไปว่า

“อนึ่งมีข้อที่ควรจดไว้ข้อ 1 คือเมื่อคืนวันที่ 19 พฤศจิกายนนั้น ฉันได้รับลายพระหัตถ์เสด็จแม่ว่าด้วยเรื่องของต่างๆ ส่วนพระองค์ ของทูลกระหม่อม ลายพระหัตถ์ตอน 1 ฉันได้จดข้อความไว้ มีดังต่อไปนี้ –

ยังมีของอื่นๆ อีกของทูลกระหม่อมที่ไปตามเรียกเอามาได้ คือ แหวนนิลวง 1 ท่านรับสั่งให้หาไว้สำหรับจะประทานรัชทายาทเยอรมัน มีผู้ฉวยเอาไป นี่ไปเรียกของอื่นๆ ที่จำได้ แหวนวงนี้จึงพลัดขึ้นมาด้วยในวันสวรรคต ที่ให้เก็บของต่างๆ ในห้องที่พระบรรทม ได้ยินว่าเจ้าจอมที่เก็บกุญแจของได้ไขหยิบเอาของห่อผ้าลงมาห้องห่อเขื่องหน่อย แต่จะเป็นอะไรบ้างก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ตรวจตราอะไรกัน กรมวังเข้าไปลั่นกุญแจตีตราภายหลัง

บางทีของจะรั่วไปมาก ของดีๆ ของท่านยังมีอยู่หลายสิ่ง ไม่ได้แจกจ่ายให้ใคร ของที่ซื้อมาจากยุโรป ก็ยังเหลือแต่จะเป็นสิ่งใดบ้างฉันก็ไม่เห็น ที่พูดนี้ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปด้วยโลภในสิ่งของเหล่านั้น แต่เห็นเป็นการไม่สมควรที่มีผู้กระทำเช่นนี้ ก็เล่าสู่กันฟังพอให้ทราบแลเห็นใจคนเท่านั้น ว่าเขาไม่ได้เศร้าโศกและรักใคร่อะไรท่านนักหนา มีแต่ต่างพากันวุ่นถึงตัวแลโลภต่างๆ เท่านั้น เดี๋ยวนี้ก็กำลัง “ไว้หนวด” (คือแค้น) เหลวๆ ถึงที่จะโกกฮาก็ไปขบขันกันได้ที่พระมหาปราสาท แลคลั่งต่างๆ นี่ก็กำลังร้องว่าจะลาออกกันแทบทั้งวัง…

เรื่องเจ้าจอมฉวยเอาของข้างที่ไปนั้น ที่จริงก็ออกจะเป็นข้อควรที่เสด็จแม่ทรงฉุนอยู่บ้างจริง แต่ภายหลังเมื่อให้ไปเรียกเอาคืนก็ได้คืนโดยมาก นอกจากที่เขาอ้างว่าเป็นของที่พระราชทานแก่ตัวเขาและมีพยานเบิกสม ก็ตกลงให้เขาไป ที่เกิดยุ่งและของพลัดผลูไปได้นั้น  

ฉันเห็นว่าความผิดตกอยู่ที่กรมขุนสรรพสิทธิ์ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวังอยู่ในเวลานั้น เพราะฉันได้สั่งท่านตั้งแต่เมื่อทูลกระหม่อมสวรรคตลงว่าให้ท่านจัดการทุกๆ อย่างให้ถูกต้องตามแบบแผน ในห้องที่พระบรรทม กรมสรรพสิทธิ์สั่งช้าไปและท่านไม่ใคร่จะได้กวดขันจริงจังด้วย เจ้าจอมผู้ถือกุญแจจึ่งได้มีโอกาสไขตู้หยิบเอาของไปได้” [2]

ขณะที่วังหลวงโจมตีพระสนมนางกำนัลในอย่างดึงดันดุเดือด ข้อมูลอีกด้านก็กล่าวถึง “เจ้าจอมสดับ” ว่า

เมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จกลับจากยุโรป ก็ทรงพระมหากรุณาพระราชทานเครื่องเพชรจำนวนมหาศาล มีพระราชประสงค์ให้เป็นหลักทรัพย์เลี้ยงชีพในอนาคตแทนตึกแถวห้องเช่า พระราชประสงค์ดังกล่าวตรัสกับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ว่า เพชรนั้นสำหรับแต่งเป็นทรัพย์ถาวร

เมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสวรรคตนั้น เป็นที่หวั่นวิตกกันในหมู่พระบรมวงศ์ชั้นสูงว่า เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับคงไม่สามารถครองตัวรักษาพระเกียรติยศตลอดไปได้ เพราะยังอยู่ในวัยสาว มีอายุเพียง 20 ปี ทั้งนอกจากจะมีรูปสมบัติแล้ว ยังอุดมไปด้วยทรัพย์สมบัติคือเพชรนิลจินดา และเครื่องประดับที่ได้รับพระราชทานไว้มากมาย ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้มีผู้หมายปอง แล้วใช้เล่ห์กลทำให้ลุ่มหลงไปในทางที่ผิด

อย่างไรก็ดี เมื่อเครื่องเพชรพระราชทานเป็นสิ่งที่ทำให้มีผู้คาดว่าจะเป็นชนวนทำให้เสีย พระวิมาดาเธอฯ จึงมีพระกรุณาแนะนำให้ทูลเกล้าฯ ถวายคืนเสีย เจ้าจอมสดับยินยอมในขั้นแรก พระวิมาดาเธอฯ ได้ถวายคืนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ทรงรับ ตรัสว่าพระองค์ไม่ทรงมีพระราชสิทธิอันใด ที่จะทรงรับของที่ทูลกระหม่อมพระราชทานแล้วคืน

แต่เมื่อเห็นว่าควรคืน ก็ให้ถวายคืนไปที่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] “ศรุตานุสรณ์.” พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชเพลิงศพ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5, 2526

[2] ราม วชิราวุธ ปร. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2564