ท่านผู้หญิงพัน บุนนาค ภริยาสมเด็จช่วง ผู้ที่เคยพูดเสียดสีรัชกาลที่ 5

ท่านผู้หญิงพัน บุนนาค
ท่านผู้หญิงพัน บุนนาค ภาพถ่ายโดย John Thomson (ภาพจาก wellcomecollection.org)

“ท่านผู้หญิงพัน บุนนาค” ภริยาขุนนางผู้ใหญ่ “ช่วง บุนนาค” สตรีที่เคยพูดเสียดสี รัชกาลที่ 5 ว่า “พ่อคุ๊ณ น่าสงสาร นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไหร่?”

ท่านผู้หญิงพัน บุนนาค เป็นธิดาของพระยาศรีอัคราช (เมือง) กับนางบัว เกิดเมื่อ พ.ศ. 2364 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 และเป็นภริยาคนหนึ่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือช่วง บุนนาค ขุนนางที่ทรงอำนาจที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 จนอาจเรียกได้ว่า “สมเด็จช่วง” คือ “Kingmaker” ผู้สถาปนา และสนับสนุนให้ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” และ “เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” ได้ครองราชสมบัติ

หลังจากรัชกาลที่ 4 สวรรคต สมเด็จช่วงก็ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ ทำให้อำนาจของตระกูลบุนนาคยิ่งใหญ่คับฟ้าคับแผ่นดิน ในขณะที่ราชสำนัก และบรรดาเจ้านายถึงคราวตกต่ำ 

จากบันทึกของเจ้านายที่เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ก็แสดงให้เห็นถึงคราวเสื่อมถอยของพระราชวงศ์ แต่เป็นคราวรุ่งโรจน์ของตระกูลบุนนาค ตัวอย่างเช่น

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงบันทึกไว้ว่า “สพสมัยอัยยะชาตท้อ ถอยนิยม อำนาจราชการ บุนนาคคว้า”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกไว้ว่า “คนผู้เคยนับถือและฝากตัวก็จืดจางไป คนที่เราไม่เคยเกรงก็ต้องเกรง…สมัยที่พวกเรามาถึงเข้าบัดนั้น ชั่งเป็นคราวที่พวกเจ้านายตกต่ำนี่กระไร” 

เช่นเดียวกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ก็เป็นอีกสองพระองค์ที่กล่าวถึงสมเด็จช่วงว่าเป็นคนที่น่าเกรงขาม และน่ากลัว “ถ้าเดินมาในที่ประชุม คนทั้งร้อยก็กลัวทั้งร้อย”

เมื่อสมเด็จช่วงผู้เป็นสามีใหญ่โตถึงเพียงนี้ ย่อมทำให้ท่านผู้หญิงพันเป็นสตรีที่มีอำนาจตามไปด้วย แต่อำนาจที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ “อำนาจวาจา” ที่ท่านผู้หญิงพันพูดเสียดสีรัชกาลที่ 5 ว่า “พ่อคุ๊ณ น่าสงสาร นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไหร่?”

คำกล่าวของท่านผู้หญิงพันนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัชกาลที่ 4 เพิ่งสวรรคตได้ไม่นาน เรื่องนี้มีบันทึกในหลักฐานสองชิ้น คือ ใน “ความทรงจำ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ และ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ ซึ่งทั้งสองพระองค์บันทึกว่ารัชกาลที่ 5 เป็นผู้ตรัสเล่าให้ฟัง

เริ่มที่พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ข้างต้นนี้ว่า หลังจากที่รัชกาลที่ 4 สวรรคตในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 รัชกาลที่ 5 (ขณะนั้นมีพระชนมายุ 15 พรรษา) ทรงพระประชวรหนัก ทั้งยังทรงโศกเศร้าจากการที่พระราชบิดาสวรรคต ทำให้พระองค์ไม่สามารถจะเสด็จพระราชดำเนินได้ด้วยพระองค์เอง ต้องเสด็จขึ้นพระเก้าอี้หาม 

เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จผ่านไปในห้องพระฉนวนในพระอภิเนาวนิเวศน์ ซึ่งเป็นที่ที่บรรดาภรรยาข้าราชการน้อยใหญ่มาคอยเข้าเฝ้าอยู่นั้น ทรงได้ยินท่านผู้หญิงพันพูดขึ้นเมื่อเสด็จผ่านพอพ้นไปว่า

“พ่อคุณนี่พ่อจะได้อยู่สักกี่วัน”

ในขณะที่พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ทรงเล่าถึงเรื่องนี้ว่า

“ทูลกระหม่อมได้รับสั่งเล่าให้ฉันฟังว่า เมื่อพระองค์ท่านกำลังบรรทมประชวรอยู่ในพระฉากในพระที่นั่งอมรินทร์นั้น, คุณหญิงพันเมียสมเด็จเจ้าพระยาได้เข้าไปยืนอยู่ทางบนพระเจ้า, แล้วแลพูดว่า. ‘พ่อคุ๊ณ น่าสงสาร นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไร?’”

รัชกาลที่ 6 ทรงเล่าต่อไปว่า หลังจากที่ท่านผู้หญิงพันถึงแก่กรรม รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นไปบนเมรุ ทรงเคาะโกศแล้วตรัสว่า

“ยายพัน, แกได้เคยถามว่าฉันจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไร. วันนี้ฉันมาตอบแกว่าฉันอยู่มาได้นานพอที่จะมาในงานศพของแกแล้วละ, จะว่าอย่างไร?”

อย่างไรก็ตาม กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่ารัชกาลที่ 5 ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงพันตามพระราชประสงค์ เพราะเมื่อมีการปลงศพท่านผู้หญิงพันนั้น รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2440

แม้ในหลักฐานทั้งสองชิ้นของรัชกาลที่ 6 กับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะทรงเล่าต่างกันไปบ้างในบางจุด แต่สิ่งที่ทรงเล่าไว้ตรงกันก็คือ “อำนาจวาจา” ของท่านผู้หญิงพันที่เคยพูดเสียดสีรัชกาลที่ 5

“พ่อคุณนี่พ่อจะได้อยู่สักกี่วัน”

“พ่อคุ๊ณ น่าสงสาร นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไหร่?”

ด้วยเพราะสถานะภรรยาของขุนนางที่ทรงอำนาจมากที่สุดในแผ่นดินสยาม คงทำให้ท่านผู้หญิงพัน บุนนาค ไม่ได้กลัวเกรงใครผู้ใด แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระเยาว์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ราม วชิราวุธ. (2545). “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6”. กรุงเทพฯ : มติชน.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2494). “ความทรงจำ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ”. พระนคร : คลังวิทยา.

“เครือญาติสกุลบุนนาค ลำดับแต่พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม)”. (2497), พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิง เกษร พิชัยญาติ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม พระนคร วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2497.

“ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ 3 สกุลเฉกอหมัด ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์”. (2473), พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร) ณ เมรุวัดเบญจมบพิตร พ.ศ. 2473. 

วิภัส เลิศรัตนรังษี. (มกราคม, 2564). อวสานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค). “ศิลปวัฒนธรรม”. 43 (3) : 71-93.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2567