“ทุเรียนหมอนทอง” เจอหลักฐานครั้งแรกเมื่อไหร่ ทำไมถึงเป็นสายพันธุ์ยอดฮิต

ทุเรียน ผลไม้ เนื้อทุเรียน สีเหลือง ทุเรียนหมอนทอง
ทุเรียน ผลไม้ที่หลายคนชื่นชอบ (ภาพจาก https://www.matichon.co.th)

เมื่อคิดจะกิน “ทุเรียน” ชื่อของ “ทุเรียนหมอนทอง” น่าจะเป็นหนึ่งในทุเรียนสายพันธุ์ที่คนส่วนใหญ่นิยม ทุเรียนหมอนทองมีการปลูกในทุกภาคของประเทศ และให้ผลดีงามต่างกันไปจนต้องนำมาอ้างอิง เป็นทุเรียนหมอนทองป่าละอู, ทุเรียนหมอนทองระยอง, ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ฯลฯ

ความนิยมทุเรียนหมอนทองมีมายาวนานพอสมควรทีเดียว สถิติของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ระบุว่า พื้นที่ปลูกทุเรียนหมอนทองทั่วประเทศสูงถึง 596,304 ไร่ มีผลผลิตรวม 543,767 ตัน

พื้นที่เพาะปลูกมากขนาดนี้ แน่นอนว่าความนิยมทุเรียนหมอนทองย่อมมีมาก เพราะเป็นทุเรียนที่เปลือกบาง มีปริมาณเนื้อมากกว่าหลายๆ พันธุ์, ทุเรียนหมอนทองแต่ละพูเนื้อหนาเมล็ดด้านในลีบ, สีเหลืองน่ากิน, มีกลิ่นอ่อน (แต่คนไม่กินทุเรียนยังไงคงไม่อ่อน), รสชาติหวานมันพอดี ฯลฯ

ทุเรียนหมอนทอง ยังมีคุณสมบัติสำคัญอีกประการ คือ “การคงสภาพของเนื้อนาน” 

การคงสภาพของเนื้อนาน หมายถึง ผลสุกแก่แล้ว แต่ปล่อยไว้ได้นานกว่าพันธุ์อื่น ความอร่อยก็ยังอยู่ บางพันธุ์ความอร่อยสั้นมาก อย่างทุเรียนชะนี อร่อยที่สุดคือช่วงปลิงหลุด ก่อนหน้านี้หรือหลังจากนี้ คุณภาพและความอร่อยจะลดลง

ดร. ทรงพล สมศรี นักปรับปรุงพันธุ์ กล่าวว่า “พื้นที่ปลูกทุเรียนในบ้านเราทุกวันนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปปลูกหมอนทอง เป็นทุเรียนอเนกประสงค์ แปรรูปได้ กินสดได้ การคงสภาพของเนื้อนาน เก็บที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส อยู่ได้นาน 15 วัน อุณหภูมิห้อง 7-10 วัน”

ขณะที่เจ้าของสวนทุเรียนหลายรายพูดตรงกันว่า “หมอนทองตัดลงมาอยู่ได้ 7-10 วัน สุกแล้วอยู่ได้นาน ขณะที่พันธุ์อื่น 3 วันก็อยู่ไม่ได้แล้ว” ทำให้ “หมอนทอง” มีเวลาสำหรับขาย, สำหรับส่งออก ยาวนานกว่าทุเรียนพันธุ์อื่น

แล้วทุเรียนที่มีคุณสมบัติดีงามนี้ มีที่มาอย่างไร

ถิ่นกำเนิดของ ทุเรียนหมอนทอง อยู่ที่ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยเกิดจากชาวสวนทุเรียนนนทบุรี เพาะเมล็ดจากพันธุ์กำปั่นเหลืองแล้วกลายพันธุ์ ส่วนผู้ที่เผยแพร่ให้หมอนทองมีชื่อเสียง “แจ้งเกิด” ในวงการทุเรียนทุกวันนี้คือ ร้อยเอก นายแพทย์ทองคำ ระงับภัย

แม้จะไม่สามารถระบุชัดเจนว่าโลกนี้มีทุเรียนชื่อ “หมอนทอง” ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่คาดว่าไม่น่าจะน้อยกว่า 80 ปี เนื่องจากทะเบียนบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทุเรียนหมอนทองระยองฯ ระบุว่า ปี 2480 นายผาด สุขสุด ชาวสวนอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี นำต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง และพันธุ์อื่นๆ มาปลูกที่สวนของหลานสาวในจังหวัดระยอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พานิชย์ ยศปัญญา. “ทำไมต้อง…หมอนทอง” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2562.

ทะเบียนบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทุเรียนหมอนทองระยอง คำขอเลขที่ 62100224 ทะเบียนเลขที่ สช 67100222.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2567