“อโยธยา” ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “อยุธยา” หรือเพราะนามไม่มงคล?

กรุงศรีอยุธยา ส่งออก ของป่า เช่น หนังกวาง ไป ญี่ปุ่น อโยธยา
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สงสัยไหม ทำไม “อโยธยา” ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “อยุธยา” เกี่ยวข้องอะไรกับความไม่เป็นมงคลอย่างที่เคยเชื่อกันมาหรือไม่?

เรื่องการเปลี่ยนชื่อจาก “อโยธยา” เป็น “อยุธยา” ที่จริงแล้วอาจไม่ได้เปลี่ยนเพราะเหตุผลความไม่เป็นมงคลของชื่อก็เป็นได้ แต่เปลี่ยนมาตั้งแต่สมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอยู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยา ซึ่งพระองค์ทรงย้ายพระราชวัง

Advertisement

ข้อสันนิษฐานนี้เป็นของ “รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล” อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้ความเห็นถึงการเปลี่ยนชื่อเมืองจากอโยธยาเป็นอยุธยา ไว้ในหนังสือ “อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า…

การเปลี่ยนชื่อไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับนามที่ไม่เป็นมงคล ตามที่ ศาสตราจารย์ ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. 2531 สันนิษฐานไว้ใน บทความ “ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก” (จากปาฐกถาที่จุฬาฯ พ.ศ. 2531) ที่พิมพ์รวมในหนังสือ ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด พ.ศ. 2549

ว่า… ชื่ออโยธยาได้เปลี่ยนมาเป็นอยุธยา ใน พ.ศ. 2112 ที่เกิดเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 1 เนื่องจากชื่อเดิมไม่เป็นมงคล ทำให้ต้องเสียดินแดนไป 

แต่เกิดจากการที่กษัตริย์อยุธยาต้องการย้ายพระราชวัง

อาจารย์รุ่งโรจน์ได้อธิบาย รวมถึงยกตัวอย่างไว้ ดังนี้…

ประเสริฐ ณ นคร (อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. 2531-ผู้เขียน) ได้เคยเสนอว่า กรุงอโยธยาได้เปลี่ยนมาเป็นกรุงศรีอยุธยา เพราะชื่อ ‘อโยธยา’ ไม่เป็นมงคลนาม เนื่องจากเมืองแห่งนี้กรุงหงสาวดี สามารถยึดครองได้แล้ว 

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นที่แตกต่างดังประเด็นต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 ถ้าเชื่อว่าเปลี่ยนชื่อเพราะกองทัพกรุงหงสาวดีตีเมืองได้ ชื่อเก่าไม่เป็นมงคล เมื่อสงครามใน พ.ศ. 2310 เนเมียวสีหบดีสามารถกรีธาพลเข้ากรุงศรีอยุธยากวาดต้อนเชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวงไปกรุงอังวะได้ แต่เหตุใดเอกสารสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ยังออกพระนามพระนครแห่งใหม่ที่บางกอกว่ากรุงศรีอยุธยา

ประเด็นที่ 2 จากหลักฐานเอกสารหมิงสือลู่ ชิงสือลู่ (บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง-ผู้เขียน) ได้บันทึกพระนามพระนครศรีอยุธยาไว้ต่อดังนี้

1. วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 1987 ว่า ‘ต้าหมิงหวางตี่มีพระราชโองการไปยังกู่หรงโหยวตี่เซี่ย

2. วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2025 ว่า ‘มีพระราชโองการแต่งให้ให้กั๋วหลงป๋อลาลู่คุนสี่โหยวตี่ [ยา] พระราชโอรสของพระเจ้ากรุงสยามเป็นกษัตริย์’

3. วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2030 ว่า ‘พระเจ้ากรุงสยาม กั๋วหลงโป่ลาลู่คุนซี่โหยวลียา’

4. วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2102 ว่า ‘พระเจ้ากรุงสยามปอเลี่ยคุนสีหลี่โหยวจีหยา’

5. วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2208 ว่า ‘เซินเลี่ยไพล่าเจ้ากู่หลงไพล่าหม่าฮูคุนซือโหยวถียาผูอาย’

จากตัวอย่างพระนามพระนครตั้งแต่ช่วงก่อนสงคราม พ.ศ. 2112 จนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ปรากฏในเอกสารจีน แม้ว่ารูปศัพท์ในภาษาจีนจะไม่ตรงกัน แต่ออกสำเนียงในภาษาปักกิ่ง ‘โหยวตี้ยา’ ทั้งหมด

แสดงว่าหลังจากสงคราม พ.ศ. 2112 หรือหลังสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 1 ไม่มีการเปลี่ยนนามเมืองหลวงแต่ประการใด ไม่เช่นนั้นการเรียกนามพระนครใน พ.ศ. 2208 จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง…

แม้คำว่า ‘โหยวตี้ยา’ อาจจะใกล้เคียงเสียง อโยธยาก็ตาม หากแต่เสียง ‘โหยว’ เป็นสำเนียงจีนกลางปัจจุบันไม่ใช่เสียงในสมัยราชวงศ์หมิงตอนต้นที่ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียงกรุงครั้งที่ 1

อีกทั้งในหมิงสือลู่ ได้ระบุว่าคนที่แปลภาษาไทยเป็นภาษาจีนนั้นเป็นทางกวางตุ้งจัดหาให้แก่ทางราชสำนัก ดังเช่นถ้าเสียงของตัว 尤 และ 由 ในสำเนียงจีนตอนใต้จะออกเสียงว่า อิ่ว”

จากข้อความดังกล่าวจึงทำให้คาดได้ว่า ชื่อเดิมก่อนสงครามเสียกรุงครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2112 คือ “อยุธยา”

แม้หลักฐานอื่น ๆ เช่น “จารึกลานทองวัดส่องคบ” และ “จารึกศรีสองรัก” จะเขียนไว้ว่า “อโยธยา” ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นจารึกที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับราชสำนัก จึงทำให้บันทึกไว้เป็นชื่อเดิม เหมือนกับที่ราชสำนักพม่าสมัยราชวงศ์คองบองเรียกกรุงศรีอยุธยาว่า “โยเดีย” ที่มาจากคำว่าอโยธยา

แล้ว “อโยธยา” เปลี่ยนชื่อมาเป็น “อยุธยา” ตั้งแต่เมื่อใด?

เรื่องนี้เจ้าของบทความบันทึกไว้ว่า “นามกรุงเปลี่ยนจากอโยธยามาเป็นอยุธยาในสมัยใด จากหลักฐานที่เก่าที่สุดที่ออกนามพระนครว่า กรุงศรีอยุธยา ปรากฏในบทพระราชปรารภของ ‘พระไอยการลักษณภญาน’ ประกาศไว้เมื่อปีขาล พ.ศ. 1894 เชษฐมาส (เดือน 7)

และถ้าคิดว่าพุทธศักราชในสมัยนั้นเร็วกว่าปัจจุบัน 1 ปี พ.ศ. 1894 จะตรงกับ จ.ศ. 812 คือปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา ประกอบกับพระไอยการฉบับนี้ประกาศในเดือน 7 หลังจากการสถาปนาพระนครในเดือน 5 เพียง 2 เดือนเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เชื่อว่าเพราะสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยา สถาปนาพระนคร ตั้งพระราชวังหลวงแห่งใหม่บริเวณหนองโสน จึงได้เปลี่ยนนามจาก ‘อโยธยา’ มาเป็น ‘อยุธยา’”

หากให้สรุปเข้าใจง่ายก็คือ รศ. ดร. รุ่งโรจน์ คาดว่า อโยธยาไม่ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นอยุธยา ใน พ.ศ. 2112 หลังเสียกรุงครั้งที่ 1 เนื่องจากนามเดิมไม่เป็นมงคล อย่างที่ ศ. ประเสริฐ ณ นคร เสนอไว้ แต่อยุธยาได้ชื่อนี้มาตั้งแต่สถาปนาเมืองหลวงใหม่ที่หนองโสนแล้ว 

ทว่าเรื่องราวของ “อยุธยา” และ “อโยธยา” ไม่ได้มีเพียงแค่นี้เท่านั้น เพราะในการศึกษาประวัติศาสตร์ยังเชื่อว่ามี “เมืองอโยธยา” ที่เกิดมาก่อน “อยุธยา” ซึ่งสามารถอ่านต่อได้ในหนังสือเล่มเดิม นั่นคือ “อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา” (สำนักพิมพ์มติชน)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.

https://www.matichonweekly.com/column/article_726807


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2567