“กรุงอโยธยา” ศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย

ฐาน พระปรางค์ วัดสมณโกฏฐาราม เมืองอโยธยา
ฐานพระปรางค์วัดสมณโกฏฐาราม พระมหาธาตุหลักกรุงอโยธยา

กรุงอโยธยา เป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย อาจารย์ประวัติศาสตร์ เปิดหลักฐาน ‘อโยธยา’ เก่ากว่าสุโขทัย ห่วงหลักฐานถูกทำลาย ยันไม่ได้ต้าน ‘รถไฟความเร็วสูง’ แนะศึกษาผลกระทบรอบด้าน หาทางออกร่วมกัน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า ตนพบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ยืนยันว่า ‘อโยธยา’ เก่าแก่กว่าสุโขทัย ต่างจากความเชื่อเดิมที่กล่าวกันว่าสุโขทัยคือราชธานีแห่งแรกของไทย โดยหลักฐานที่พบใหม่ ส่งผลให้อโยธยาซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย

รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวว่า เมืองอโยธยาตั้งอยู่ทางตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา ปัจจุบันคือบริเวณสถานีรถไฟอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียง มีคูน้ำคันดิน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ราว 1.4×3.1 กิโลเมตร ปรากฏหลักฐานบ่งชี้ว่า อย่างน้อยเมื่อราว พ.ศ. 1750 เมืองอโยธยาถือกำเนิดแล้วตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์พ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาว ร่วมทัพขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง ดังนั้น กรุงสุโขทัยเกิดหลังกรุงอโยธยา

“ภาษาไทยเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นคนไทย พบว่ากรุงอโยธยาใช้ภาษาไทยในพระไอยการเบ็ดเสร็จ หรือกฎหมายลักษณะเบ็ดเตล็ด เขียนเป็นภาษาไทย ประกาศใช้ พ.ศ. 1777 ราว 116 ปี ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา แล้วใช้สืบเนื่องตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ การขุดค้นทางโบราณคดีบางแห่งบริเวณวัดพนัญเชิง พบชุมชนขนาดใหญ่ มีภาชนะดินเผาเคลือบแบบจีนสมัยราชวงศ์หยวน มีอายุราว พ.ศ. 1800 แสดงว่าชุมชนมีก่อนหน้านั้นนานมาแล้ว อาจเป็นร้อยปีก่อนเติบโตเป็นเมืองใหญ่” รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าว

รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวด้วยว่า นอกจากกรุงอโยธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของไทย ยังเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกา ที่ใช้ภาษาไทยแผ่ไปทั้งเหนือและใต้ ปรากฏหลักฐานด้านเอกสารที่กล่าวถึงเมืองอโยธยา ก่อน พ.ศ. 1893 ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้แก่

เรื่องที่ 1 สิหิงคนิทาน ของพระโพธิรังสี ซึ่งรจนาช่วง พ.ศ. 1960 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงราว 140 ปี ยังทรงจำว่า ทิศใต้ของสุโขทัยติดแดนอโยธยา

เรื่องที่ 2 พื้นเมืองเชียงแสน กล่าวถึงเหตุการณ์ พ.ศ. 1835 ว่าพญาเบิกมาขอพลกับอโยธยามาช่วยรบกับพญามังราย อีกทั้งพญาอโยธยายกมาด้วยพระองค์เอง

เรื่องที่ 3 พื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุการณ์ พ.ศ. 1817 ตอนที่พญามังรายจะไปตีเมืองหริภุญไชยว่า “พ่อค้าทางบกทางน้ำ เที่ยวมาค้าชุเมืองทางน้ำก็เถิงเมืองธิยา” และเนื้อความตอน พ.ศ. 1840 ขุนครามได้ทูลพญามังรายว่า “หากลวดไปเถิงนครเขลางค์ก็ดีเถิงโยธิยาก็ดี”

เรื่องที่ 4 คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์, ตำนานมูลศาสนา, และตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ได้กล่าวถึงพระสุมนเถระและพระอโนมาทัสสีลงมาร่ำเรียนที่อโยธยา

รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวว่า แม้ว่าเอกสารเหล่านี้ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าพระสุมนเถระและพระอโนมาทัสสีลงมาร่ำเรียนที่อโยธยาเมื่อใด หากแต่ในตำนานมูลศาสนาและตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ระบุตรงกันว่า เมื่อ พ.ศ. 1871 อุทุมพรมหาสวามีกลับถึงนครพัน ข่าวของท่านได้ขจรกระจายไปถึงสุโขทัย พระทั้งสองจึงเดินทางไปขอบวชใหม่กับอุทุมพรมหาสวามี ดังนั้น ก็ชวนให้คิดได้ว่า เหตุการณ์พระมหาสุมนเถระและพระอโนมาทัสสีมาเรียนที่กรุงอโยธยานั้นก็ควรที่จะเกิดขึ้นก่อน พ.ศ. 1893

“นอกจาก 4 เรื่องข้างต้น ยังมี เรื่องที่ 5 คือ ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึง ผขาวอริยพงศ์ชาวอยุธยาได้มาช่วยซ่อมพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชที่ชำรุดทรุดโทรมเพราะเมืองร้าง และเมื่อกลับอยุธยาได้ทูลต่อพระเจ้าอยู่หัวเรื่องพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช พระเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้นิมนต์เปรียญทศศรีชาวหงสาวดีไปนครศรีธรรมราช และใน พ.ศ. 1815 จึงโปรดเกล้าให้นายศรีทนูออกมากินเมืองนครศรีธรรมราช แม้ว่าเหตุการณ์เรื่องฟื้นพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชในตำนานเรื่องนี้จะใช้ชื่อเมืองอยุธยาก็ตาม แต่ก็หมายถึงเมืองอโยธยาก่อน พ.ศ. 1893

ด้วยเหตุนี้เราจึงกลับมาทบทวนว่าเอกสารของพระฝ่ายป่าแดงและพระฝ่ายสวนดอก ซึ่งพระทั้งสองฝ่ายมีข้อขัดแย้ง แต่เหตุใดจึงกล่าวตรงกันถึงพระมหาสุมนเถรลงมาเรียนที่อโยธยา อีกทั้งตำนานของเมืองนครศรีธรรมราชก็กล่าวอโยธยาหรือกรุงศรีอยุธยาก่อน พ.ศ. 1893 ถ้ากรุงอโยธยาไม่มีจริงเหตุใดตำนานทั้งสองภูมิภาคจึงพร้อมใจกันกล่าวถึงกรุงอโยธยาก่อน พ.ศ. 1893” รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าว

รศ. ดร. รุ่งโรจน์กล่าวต่อไปว่า กรมศิลปากรขุดแต่งบูรณะวัดขนาดใหญ่สมัยอโยธยาจำนวนมาก และมีอีกมากยังไม่ขุดแต่งเพราะอยู่ใต้ทางรถไฟสมัย ร.5 แต่ที่สำคัญยังไม่เคยขุดค้นศึกษาลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเพื่อเข้าใจวิถีชีวิตของประชาชนสมัยอโยธยา ตลอดจนการจัดผังเมืองให้มีเส้นทางคมนาคมทางน้ำ มีแม่น้ำลำคลองไขว้หลายทิศทาง

ล่าสุด มีโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ซึ่งสร้างทับซ้อนทางรถไฟปัจจุบัน และมีสถานีขนาดใหญ่ตรงสถานีอยุธยา เท่ากับทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์กรุงอโยธยา ศูนย์กลางอำนาจแห่งแรกของคนไทย

เมืองอโยธยา มีคูน้ำคันดินทำผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1.4 x 3.1 กิโลเมตร [สำรวจและทำผังโดย พเยาว์ เข็มนาค (อดีตข้าราชการงานโบราณคดี กรมศิลปากร) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2562]
ซึ่งมีกลุ่มเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการทำลายหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนไทยและประเทศไทย โดยยืนว่าไม่ได้คัดค้านโครงการรถไฟฯ ไม่ได้ต่อต้านความเจริญที่กำลังเข้ามา แต่ควรผ่านการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และมีทางเลือกอื่นๆ เช่น เบี่ยงออกไปให้พ้นจากพื้นที่เมืองอโยธยา หรือหาทางออกให้สมดุลระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2566