อโยธยากับอยุธยา “คนละเมืองเดียวกัน” : รถไฟความเร็วสูงผ่าซีกเมืองอโยธยา (ไม่ผ่ากลาง)

แผนที่ อโยธยา อยุธยา
แผนที่พระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน (ปรับปรุงจากแผนที่ฯ ของกรมศิลปากร พ.ศ. 2558) แสดงพื้นที่ในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ที่ตั้งเมืองโบราณทับซ้อนกัน 2 เมือง ได้แก่ (ขวา) อโยธยา (เมืองเก่า) เริ่มมีราว พ.ศ. 1600 บริเวณที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองแนวเหนือ-ใต้ เป็น 2 ซีก (ไม่ผ่ากลาง) (ซ้าย) อยุธยา (เมืองใหม่) แรกมีราว พ.ศ. 1893

อโยธยา มาจากนามเต็มว่า “อโยธยาศรีรามเทพ” แปลว่าเมืองแห่งชัยชนะของพระราม (อวตาร) อยุธยา มาจากนามเต็มว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” แปลว่าเมืองอันเป็นที่สถิตของเทวดาและนางฟ้า ซึ่งมีประตูนับไม่ถ้วนเป็นกำแพง (คือเมืองทวารวดีของพระกฤษณะ) และไม่มีผู้ใดเอาชนะได้ (คือเมืองอยุธยาของพระราม)

เมือง “อโยธยา” อยู่ตรงไหน?

เมืองอโยธยา มีคูน้ำคันดินทำผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ราว 1.4 x 3.1 กิโลเมตร (1,400 x 3,100 เมตร) อยู่ทางตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา (อ. เมืองฯ จ.พระนครศรีอยุธยา) ปัจจุบันคือบริเวณสถานีรถไฟอยุธยาและปริมณฑล

เมืองอโยธยา มีคูน้ำคันดินทำผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1.4 x 3.1 กิโลเมตร [สำรวจและทำผังโดย พเยาว์ เข็มนาค (อดีตข้าราชการงานโบราณคดี กรมศิลปากร) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2562]

อโยธยา เก่าแก่กว่าสุโขทัย

อโยธยา เก่าแก่กว่าสุโขทัย พบหลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา สนับสนุนหนักแน่น ดังนั้น อโยธยาเป็นเมืองตั้งต้นคนไทย, ภาษาไทย, และประเทศไทย

กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมากกว่า 100 ปีมาแล้ว จากนั้นถูกสถาปนาเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยเพื่อใช้ครอบงำสังคมไทย ผ่านสถานศึกษาทุกระดับ และผ่านสื่อสารพัดทั้งของราชการและของเอกชน ยังมีอิทธิพลสืบเนื่องจนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างใหม่เรื่องกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เสมือนเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ หมายถึงคิดต่างไม่ได้ หรือคัดค้านไม่ได้ว่าสุโขทัย “ไม่ใช่” แห่งแรก หากละเมิดหรือคิดต่างจะถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน เท่ากับต้องอยู่ยาก

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเมืองแบบประชาธิปไตย มีนักค้นคว้าและนักวิชาการทั้งไทยและสากลศึกษาค้นคว้าวิจัย พบว่ากรุงสุโขทัย “ไม่ใช่” ราชธานีแห่งแรกของไทย

รถไฟความเร็วสูง ผ่าซีกเมืองอโยธยา (ไม่ผ่ากลาง)

สนับสนุนรถไฟความเร็วสูงหลีกเลี่ยงการทำลายเมืองอโยธยา ตามมติคณะกรรมการว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก

เมืองอโยธยาต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย จะถูกทำลายจากโครงการรถไฟความเร็วสูง ด้วยอำนาจมาตรา 44 (ม.44) โดยคณะผู้รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร พ.ศ. 2557

ซึ่งมีอภิสิทธิ์ คือ ข้อยกเว้นพิเศษไม่ต้องทำรายการการประเมินผลกระทบทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม จึงไม่อยู่ในร่องในรอยอารยประเทศ, ไม่มีประชาพิจารณ์, ไม่บอกกล่าวข่าวสารต่อสาธารณะอย่างที่ควรต้องทำ ฯลฯ

ดังนั้น สังคมทั่วไปไม่รู้ความเป็นมาและเป็นไปตั้งแต่แรกเริ่มของโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองอโยธยา

แผนที่พระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน (ปรับปรุงจากแผนที่ฯ ของกรมศิลปากร พ.ศ. 2558) แสดงพื้นที่ในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ที่ตั้งเมืองโบราณทับซ้อนกัน 2 เมือง ได้แก่ (ขวา) อโยธยา (เมืองเก่า) เริ่มมีราว พ.ศ. 1600 บริเวณที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองแนวเหนือ-ใต้ เป็น 2 ซีก (ไม่ผ่ากลาง) (ซ้าย) อยุธยา (เมืองใหม่) แรกมีราว พ.ศ. 1893

ต่อมาได้รับรู้เพียงเบื้องต้นเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งประชาชนและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยจึงร่วมกันแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการสร้างผ่าเมืองอโยธยา ด้วยเหตุดังนี้

(1.) เมืองอโยธยาเป็นต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย

(2.) สังคมไทยก่อนหน้านี้ถูกทำให้เข้าใจผิดว่าสุโขทัย “ราชธานีแห่งแรก” เป็นเมืองต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย (ถ้ารถไฟความเร็วสูงสร้างผ่าเมืองสุโขทัยคงไม่มีใครยอม) แต่หลักฐานใหม่ที่พบสมัยหลังและเป็นที่ยอมรับทางสากลทั่วไปว่าสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย

ดังนั้น ที่แท้แล้วเมืองอโยธยาเป็นต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย

(3.) โครงการรถไฟความเร็วสูงถ้าก่อสร้างสำเร็จด้วยการผ่าซีก (ไม่ผ่ากลาง) ทำลายเมืองอโยธยา ย่อมเสียหายอย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก สวนกระแสความต้องการของชนชั้นนำให้เพิ่มความสำคัญในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทย ทั้งนี้ เพื่อความเป็นปึกแผ่นและภาคภูมิใจในความเป็นไทยและความเป็นประเทศไทย

ประการหลัง รัฐบาลที่อนุมัติให้ก่อสร้างต้องได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายย่อยยับในหลักฐานข้อมูลประวัติศาสตร์และความเป็นมาของต้นกำเนิดคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย

ด้วยเหตุดังนั้น เพื่อความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองในอนาคตที่มีสติและปัญญาเยี่ยงนานาอารยประเทศ….

(1.) ไม่คัดค้านการสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่

(2.) ไม่เห็นด้วยการก่อสร้างทับซ้อนและทำลายเมืองอโยธยา และ

(3.) สนับสนุนมติคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ให้โครงการรถไฟความเร็วสูงหลีกเลี่ยงการก่อสร้างทับซ้อนและทำลายเมืองอโยธยา

ทั้งนี้เพื่อให้การสงวนรักษาต้นตอรากเหง้าความเป็นคนไทย, ภาษาไทย, ประเทศไทย อยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่นและเกื้อกูลซึ่งกันและกันกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจการค้าและเทคโนโลยีของสังคมอนาคต

จึงไม่ใช่ขัดขวางความเจริญ แต่เป็นการสร้างสรรค์ความเจริญอย่างสังคมอารยประเทศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2566