พงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร ฉบับ มานิต วัลลิโภดม : อโยธยา เก่าแก่กว่าสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา ต้นแบบรัตนโกสินทร์

อาจารย์มานิต วัลลิโภดม เมือง อโยธยา สุจิตต์ วงษ์เทศ
(ซ้าย) อาจารย์มานิต วัลลิโภดม (กลาง) เมืองอโยธยา แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันคือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก (นอกเกาะเมืองอยุธยา) บริเวณสถานีรถไฟอยุธยา [ภาพจากวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2560 รองปกหน้า-หน้า 1] และ(ขวา) สุจิตต์ วงษ์เทศ

พงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร ฉบับ มานิต วัลลิโภดม : อโยธยา เก่าแก่กว่าสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา ต้นแบบรัตนโกสินทร์

อโยธยา เก่ากว่ากรุงสุโขทัย ราว 100 ปี ทั้งอโยธยา, สุโขทัย ข้อมูลจากตำนาน อโยธยาเริ่มราว พ.ศ. 1650 (จากตำนาน) สุโขทัยเริ่มราว พ.ศ. 1750 (จากตำนาน)

อโยธยา ต้นกำเนิดอยุธยา อโยธยาเริ่มราว พ.ศ. 1650 กาฬโรคระบาดราวเรือน พ.ศ. 1890 ตำนานเรียกโรคห่า แต่ถูกเข้าใจผิดเป็นอหิวาต์

ย้ายศูนย์กลางอำนาจจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ขนานนามใหม่ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” (เพื่อแก้อาถรรพ์)

อโยธยา ต้นแบบรัตนโกสินทร์ เป็นเส้นตรง อโยธยา – อยุธยา – ธนบุรี – รัตนโกสินทร์

ก่อนอโยธยาไม่เป็นเส้นตรง เพราะมีที่มาหลายทิศทาง ได้แก่ เหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, ตะวันออก, ตะวันตก, ใต้

อโยธยาถูกบังคับสูญหาย

ครั้งแรก มากกว่า 150 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ. 2400 ชนชั้นนำสยามเชื่อตามนักค้นคว้าจากยุโรปว่า “ชนเชื้อชาติไทย” มีถิ่นกำเนิดในจีน (ลุ่มน้ำแยงซี) แล้วอพยพหนีการรุกรานของจีนลงมาตั้งหลักแหล่งในไทย ตั้งกรุงสุโขทัย ครั้นเมืองสุโขทัยเสื่อมอำนาจ จึงมีกรุงศรีอยุธยา โดยไม่มีอโยธยา

ร.5 มีพระราชดำรัสเมื่อ 116 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2450 “ทักท้วง” ว่าอโยธยาเป็นเมืองต้นกำเนิดของอยุธยา อโยธยาซึ่งอยู่ทางตะวันออกของอยุธยา เป็นเมืองมีก่อนการสร้างอยุธยา นับเป็นต้นประวัติศาสตร์สยาม

“กรุงสยามเป็นประเทศที่แยกกันบ้างบางคราว รวมกันบ้างบางคราวฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินผู้ที่ปกครองก็ต่างชาติกันบ้าง ต่างวงษ์กันบ้าง”

[จากพระราชดำรัส ร.5 ทรงเปิด “โบราณคดีสโมสร” หรือ “สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม” พระราชทานที่พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ ในพระราชวังโบราณ อยุธยา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2450]

ครั้งหลัง ราว 90 ปีมาแล้ว หลัง พ.ศ. 2475 ลัทธิชาตินิยม “ทางการ” ปลุกใจคลั่ง “ชนเชื้อชาติไทย” สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก ส่วนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีต่อจากกรุงสุโขทัย

ปัจจุบัน อโยธยาถูกบังคับสูญหาย เพราะขัดกับความเชื่อว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของชนเชื้อชาติไทย ทั้งนี้ โดยระบบราชการรวมศูนย์ และระบบการศึกษาผูกขาดด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี เลื่อมใสลัทธิชาตินิยม คลั่ง “ชนเชื้อชาติไทย”

อโยธยา ต้นทาง “ความเป็นไทย”

“ความเป็นไทย” ที่เชิดชูบูชาทุกวันนี้มีต้นตอหรือรากเหง้าจากอโยธยา

ร.5 มีพระราชดำรัสบอกไว้เมื่อ 116 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2450 (ก่อนสวรรคต 3 ปี) ว่าอโยธยาเป็นเมืองเก่าของอยุธยา หรืออยุธยามาจากอโยธยา

ต่อมาเมื่อ 57 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2509 ศรีศักร วัลลิโภดม (ขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) แสดงหลักฐานรอบด้านทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยาว่าอโยธยาเป็นเมืองเก่าของอยุธยา อยู่ในหนังสือ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์”

จิตร ภูมิศักดิ์ (2473-2509) สรุปว่าอโยธยาสืบเนื่องเป็นอยุธยา โดยให้ความสำคัญต่ออโยธยา ว่าเป็นต้นทางลัทธิรามและตระกูลราม (คู่กับสุพรรณภูมิ ลัทธิอินทร์, ตระกูลอินทร์) อยู่ในหนังสือ “สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา” (เขียนก่อน พ.ศ. 2509 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2526)

อโยธยา อยู่ตรงไหน?

อโยธยา อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านตะวันออก บริเวณปัจจุบันเป็นทางรถไฟและสถานีรถไฟอยุธยา ตัวเมืองอโยธยามีคูน้ำคันดินทำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดราว 800 x 3,000 เมตร [จากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560 หน้า 251]

มีกำกับด้วยตำนาน พงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร

ภาพวาด เมืองอโยธยา อโยธยา
เมืองอโยธยา แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันคือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก (นอกเกาะเมืองอยุธยา) บริเวณสถานีรถไฟอยุธยา [ภาพจากวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2560 รองปกหน้า-หน้า 1]
แผนที่ เมืองอโยธยา อโยธยา
เมืองอโยธยา (เส้นประ) ต้นแบบทางวัฒนธรรมและการเมืองให้กรุงรัตนโกสินทร์ มีทางรถไฟตัดผ่าเมือง และจะถูกขยายเพิ่มอีก
แผนที่ แสดง เมือง อโยธยา
แผนที่แสดงเมืองอโยธยานับถือพระราม (ขวา) มีต้นตอจากกลุ่มละโว้ สถาปนาเมืองอโยธยา รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (เส้นประคือส่วนที่ถูกทำลายไม่เหลือร่องรอยแล้ว) ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ซ้าย) ส่วนสยามมาจากกลุ่มสุพรรณภูมิ นับถือพระอินทร์ สถาปนาเวียงเหล็กอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
แม่น้ำป่าสัก อโยธยา อยุธยา
SAVE อโยธยา เพราะเมืองอโยธยาสุ่มเสี่ยงสาบสูญจากระบบรถไฟความเร็วสูง (ซ้าย) ทางรถไฟและสถานีรถไฟอยุธยา (ในวงกลม) อยู่ในเมืองอโยธยา ริมแม่น้ำป่าสัก (ขวา) เกาะเมืองอยุธยาบริเวณหัวรอและวังจันทรเกษม (วังหน้า)

พงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร ฉบับ มานิต วัลลิโภดม

[จากหนังสือ พระเจ้าอู่ทอง ไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545 หน้า 176-193]

ประวัติเรื่องราวกรุงศรีอโยธยา หรือจะเรียกพงศาวดารก็เห็นจะได้ ตามที่สอบค้นมีดังนี้

เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 1595 (จ.ศ. 414) พระเจ้าจันทโชติได้เสวยราชสมบัติกรุงละโว้ มีอัครมเหสีทรงพระนามพระนางปฏิมาสุดาดวงจันทร์ มีพระพี่นางองค์หนึ่งทรงพระนามพระนางแก้วประพาฬ พระองค์เสวยราชสมบัติได้ 3 ปี มีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามพระนารายน์ราชกุมาร

ถึงปีจอ พ.ศ. 1601 (จ.ศ. 420) พระเจ้าอโนรธามังฉ่อ กรุงพุกาม (พ.ศ. 1589-1620) ยกทัพมาล้อมพระนครละโว้ ในเดือนอ้ายแรม 13 ค่ำ พระเจ้าจันทโชติถูกล้อมอยู่ 7 วัน ทรงเห็นว่าต้านทานกองทัพข้าศึกมิไหว จึงอ่อนน้อมถวายพระพี่นางแก้วประพาฬแก่พระเจ้าอโนรธามังฉ่อๆ อภิเษกเป็นพระอัครมเหสี ต่อมาประสูติราชโอรสองค์หนึ่ง ณ ราชสำนักกรุงพุกามทรงนามว่า พระนเรศวร

อยู่ต่อมาเมื่อพระนารายน์ราชกุมารมีชันษาได้ 14 ปี ลาพระราชบิดาพระราชมารดาไปเยี่ยมพระมาตุจฉา ณ เมืองพุกาม แต่ประทับอยู่มิช้ามินานเกิดบาดหมางพระทัยกับพระนเรศวร ก็เลี่ยงหลบกลับมากรุงละโว้ ในราว พ.ศ. 1612 พระเจ้าจันทโชติสิ้นพระชนม์ พระนารายน์ราชกุมารยังเยาว์วัยอยู่ เชื้อพระวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (พงศาวดารเหนือเรียกมหาอำมาตย์) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาบ้านเมืองแทนสืบมาร่วม 11 ปี สิ้นอายุลงใน พ.ศ. 1623 พระนารายน์จึงได้เสวยราชสมบัติ ขณะนั้นมีพระชันษา 25 ปี ครองกรุละโว้อยู่ระยะหนึ่งก็ย้ายลงมาสร้างเมืองอโยธยาเป็นราชธานี

(เหตุที่ต้องย้ายราชธานีน่าจะเนื่องจากแม่น้ำลพบุรีเปลี่ยนแปรสภาพแถวปากน้ำประสบ อำเภอบางปะหัน)

ลุปีเถาะ พ.ศ. 1630 (จ.ศ. 449) พระนเรศวร (กยันสิษฐา พ.ศ. 1627-1656) กรุงพุกามยกกองทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลนนทรี (ทางลำน้ำพุทธเลา) ท้าพระนารายน์กระทำสงครามทางธรรม ยุทธโดยแข่งขันก่อพระเจดีย์ ในพงศาวดารเหนือว่าพระนเรศวรเป็นฝ่ายก่อเจดีย์วัดภูเขาทอง พระนารายน์เป็นฝ่ายก่อเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล และคิดอุบายลวงพระนเรศวรให้เกิดหลงเข้าใจว่าแล้วเสร็จก่อน พระนเรศวรจึงล่าทัพกลับไป

(กองทัพพุกามที่ยกมาตั้งอยู่ ณ ทุ่งบ้านนนทรีครั้งนี้ เห็นจะยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เข้ากาญจนบุรี ผ่านอำเภอพนมทวน, บ้านจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง, บ้านหนองสาหร่าย, บ้านคอย, ท่าท้าวอู่ทอง อำเภอศรีประจันต์ ตรงมายังอำเภอป่าโมกเข้าบ้านขวาง-บ้านนนทรี แม้กองทัพครั้งพระเจ้าอโนรธามังฉ่อก็คงยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เช่นเดียวกัน ทำให้นึกถึงเมืองอู่ทองที่โบราณวัตถุโบราณสถานแสดงอายุว่าตัวเมืองเลิกร้างมาแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 17 อาจจะถูกทำลายยับเยินโดยกองทัพพุกามครั้งใดครั้งหนึ่งในสองคราวนี้ก็ได้ เพราะเวลาตกต้องเหมาะสมกัน พระเจ้ากยันสิษฐาเป็นราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าอโนรธามังฉ่อที่ได้ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าสอลู (พ.ศ. 1620-1627) ผู้เป็นพระเชษฐาธิราชคงยกกองทัพเข้ามาประเทศไทยจริงตามความพงศาวดารเหนือ เพราะมีข้อสังเกตคือการได้แบบอย่างสถานเจดีย์วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดนครปฐมไปสร้างอานันทเจดีย์ในกรุงพุกาม)

หลังจากยุติสงครามทางธรรมยุทธแล้ว พระนารายน์กรุงอโยธยาเสด็จขึ้นไปสร้างพระปรางค์เมืองละโว้ และเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ เรียกว่าเมืองลพบุรี ลดฐานะลงเป็นเมืองลูกหลวง ครั้นเสด็จกลับมาสู่พระราชฐานกรุง อโยธยาได้ 30 วัน ก็ประชวรสวรรคต

(พระปรางค์เมืองละโว้ที่พระนารายน์สร้างนี้ เชื่อว่าเป็นพระปรางค์ใหญ่ในวัดมหาธาตุเมืองลพบุรี เพราะพิจารณาจากลักษณะบางอย่างที่เหลืออยู่ มีอายุตกในรุ่นของเรื่องราวนี้)

หลังจากพระนารายน์ผู้แรกสถาปนากรุงอโยธยาเป็นราชธานี (ในราว พ.ศ. 1625 สวรรคตแล้ว เกิดศึกกลางเมืองชิงราชสมบัติกันอยู่ 2 ปี ถึงปีมะเมีย พ.ศ. 1632 จึงมีพระมหากษัตริย์องค์ ใหม่ขึ้นครองราชสมบัติเรียกพระนามว่าพระเจ้าหลวงๆ ครองราชย์อยู่ได้ 9 ปี โปรดให้ยกพระราชวังสร้างเป็นพระอาราม เรียกวัดเดิม (วัดศรีอโยธยา) เพราะทรงดำริห์ว่าพระราชวังเป็นอัปมงคลสถาน และย้ายไปสร้างอยู่ใหม่ที่ท้ายเมือง คือทางปากน้ำแม่เบี้ยเมื่อ พ.ศ. 1641 พระองค์เริ่มสร้างวัดโปรดสัตว์ แต่ยังไม่แล้วเสร็จก็สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1654

ในปีเถาะ พ.ศ. 1654 (จ.ศ. 473) นั้นพระเจ้าสายน้ำผึ้งได้เป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติสืบต่อมา โอกาสหนึ่งทรงทอดพระเนตรเห็นลูกสาวมอญค้าขายผ้ามีเบ็ญจลักษณะต้องพระทัย จึงจัดคนนำเรือและคานหามไปรับนางมาอภิเษกเป็นมเหสี

(บ้านที่ลูกสาวมอญนี้อยู่เลยเรียกบ้านคานหาม ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภออุทัย เรือสัญจรไปมายังบ้านคานหามต้องไปตามลำคลองบ้านบาตร หรือคลองบ้านกระมังก็เรียก คลองนี้ขุดต่อจากคูขื่อหน้า ที่ขวางเหนือวัดพิชัย (ใต้สถานีอยุธยา) จึงเป็นเหตุหนึ่งที่เชื่อว่าคูขื่อหน้าและคลองบ้านบาตรมีมาแล้วก่อนกลางพุทธศตวรรษที่ 17 คูขื่อหน้าควรเป็นคูด้านตะวันตกของ เมืองอโยธยามาก่อน)

พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสร้างพระอารามขึ้นในบริเวณเมืองอโยธยา 2 แห่ง คือ พ.ศ. 1687 สร้างวัดพนัญเชิงที่แหลมบางกะจะแห่งหนึ่ง

(วัดพนัญเชิงอยู่ตรงข้ามกับป้อมเพ็ชร ถ้าสังเกตภูมิประเทศตรงบริเวณนั้นจะเห็นลำน้ำเจ้าพระยาเป็นเวิ้งว้างขึ้นไป จนถึงหน้าวัดสุวรรณดาราราม ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตก กับหน้าวัดเกาะแก้วซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออก คูขื่อหน้าขุดมาบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาตรงนี้ และประสานกับคลองปากข้าวสารที่อยู่ข้างเหนือวัดเกาะแก้ว ที่ตั้งของวัดพนัญเชิงจึงยื่นเป็นแหลมน้อยๆ เรียกแหลมบางกะจะ ลำน้ำตรงหน้าวัดพนัญเชิงเป็นวังวนเชี่ยวจัด พระยาโบราณราชธานินทร์เคยเล่าว่าได้ทดลองเอาไม้ไผ่ทั้งลำทำเครื่องหมายทิ้งลงที่วังวน สายน้ำดูดจมหายไปโผล่ขึ้นที่หัวเกาะเรียน ตั้งแต่สมัยโบราณมาเรือแพค้าขายและสัญจรไปมาคงจะล่มจมที่น้ำวนนี้เสมอๆ สรรพสิ่งของอันบรรทุกมาถูกกระแสน้ำพัดพาไปติดถัมถมอยู่ที่เกาะเรียน จนทำให้เมื่อไม่กี่ปีล่วงมานี้เกิดเป็นทรัพย์ในดินสินในน้ำขึ้น คือ มีผู้งมพบเครื่องถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง เครื่องหม้อไหทำที่เตาแม่น้ำน้อยสมัยอยุธยา โครงกระดูกคน สมอเรือใหญ่ๆ ทำด้วยเหล็กและไม้ เครื่องถ้วยชามหม้อไหเหล้านี้เข้าสู่ตลาดค้าของเก่า งมขึ้นมาซื้อขายกันจนทุกวันนี้)

วัดที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งสร้างขึ้นอีกแห่งหนึ่งเรียกวัดมงคลบพิตร

(ถ้าเอ่ยชื่อพระมงคลบพิตรย่อมมีผู้รู้จักกันมากมาย ว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งก่ออิฐหุ้มด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย ประดิษฐานอยู่ทางมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่าเมื่อ พ.ศ. 2146 แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ย้ายพระมงคลบพิตรจากฝ่ายตะวันออกไปไว้ฝ่ายตะวันตก (คือที่อยู่ในปัจจุบันนี้) แต่มิได้เล่าประวัติว่าพระพุทธรูปกับวัดสร้างมาแต่ครั้งใด สถานที่ฝ่ายตะวันออกคือที่พระมงคลบพิตรประดิษฐานอยู่แต่แรกนั้น เวลานี้มีซากวิหารขนาดเล็ก เรียกวิหารแกลบเหลืออยู่หลังหนึ่ง วัดมงคลบพิตรครั้งพระเจ้าสายน้ำผึ้งอาจจะอยู่ตรงนี้ก็เป็นได้ แต่พระพุทธรูปมงคลบพิตรคงยังมิได้สร้างขึ้นในสมัยนั้น เพราะรูปทรงลักษณะฝีมือช่าง ส่อว่าเป็นของทำในชั้นหลังต่อมา)

ปีระกา พ.ศ. 1708 (จ.ศ. 527) พระเจ้าสายน้ำผึ้งสวรรคต รวมเสวยสิริราชสมบัติ 54 ปี ราชโอรสได้สืบสันตติวงศ์สืบมาทรงพระนามพระเจ้าธรรมิกราชา โปรดให้สร้างวัดธรรมิกราช

(คือวัดที่อยู่หน้าพระราชวังโบราณทุกวันนี้ ในพระอุโบสถเดิมของวัดนี้เมื่อรัชกาลที่ 5 พระยาโบราณราชธานินทร์ตรวจพบพระเศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่เศียรหนึ่งหักตกอยู่ใกล้ฐานชุกชี จึงขนย้ายมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานวังจันทรเกษม และปัจจุบันนี้ย้ายไปตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานเจ้าสามพระยา เรียกกันโดยทั่วไปว่าพระเศียรพระพุทธรูปวัดธรรมิกราช มีลักษณะเป็นฝีมือช่างที่ทางโบราณคดีกำหนดเรียกศิลปะอู่ทอง ประติมากรรมศิลปะแบบนี้ผู้เขียนเคยระบุว่าเป็นศิลปะของอาณาจักร อโยธยา ฉะนั้นถ้าเรียกให้ถูกต้องตามชื่ออาณาจักรอย่างศิลปะสมัยอื่นๆ ควรเรียกว่าศิลปะอโยธยา)

พ.ศ. 1738 โปรดให้ขุดคลองบางตะเคียน (คลองขุนละคอนชัยก็เรียก) ไปออกแม่น้ำสุพรรณบุรีที่ตำบลบางยี่หน (อำเภอบางปลาม้า) ครั้งนั้นให้สร้างวัดสนามชัยและบูรณวัดป่าเลไลยก์เมืองสุพรรณบุรีด้วย

ถึงปีฉลู พ.ศ. 1784 (จ.ศ. 567) พระเจ้าธรรมิกราชาสิ้นพระชนมายุ ท้าวอู่ทองราชโอรสได้สืบราชสมบัติกรุงอโยธยาต่อมา พระองค์มีพระเชษฐาองค์หนึ่งได้ให้ไปครองเมืองสุคันธคีรี (ยังสอบไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน) มีพระราชบุตร 3 องค์ ทรงพระนาม เจ้าอ้าย, เจ้ายี่, เจ้าสาม โปรดให้ไปครองเมืองนคร (?) เมืองตะนาว (ศรี) และเมืองเพชรบุรี ตามลำดับ และยังมีพระราชธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งตามเนื้อเรื่องเล่าว่านางลักลอบได้เสียกับเจ้าชัยทัต ราชบุตรของเจ้าเมือง สุคันธคีรีผู้เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าอู่ทอง พระนางทรงครรภ์แก่ เจ้าชัยทัตประสบอุบัติเหตุ(ติดลอบเหล็ก) ตาย พระเจ้าอู่ทองจึงเอาตัวเจ้าชัยเสนผู้เป็นอนุชาของเจ้าชัยทัตมาแต่งตั้งเป็นพระสวามีของพระราชธิดาสืบไป

พระเจ้าอู่ทองสวรรคต ณ วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ปีฉลู พ.ศ. 1796   (จ.ศ. 616)

เจ้าชัยเสนราชนัดดาได้ครองราชสมบัติกรุงอโยธยาสืบมาเป็นเวลา 27 ปี ราชกุมารซึ่งเกิดแต่เจ้าชัยทัตกับพระราชธิดาของพระเจ้าอู่ทอง มีนามว่าเจ้าสุวรรณกุมาร เจริญวัยสมควรปกครองบ้านเมืองได้แล้ว พระเจ้าชัยเสน (พ.ศ. 1796-1823) ผู้เป็นพระเจ้าอาว์จึงเวนคืนราชสมบัติ อภิเษกให้เจ้าสุวรรณกุมารเป็นกษัตริย์ เรียกพระนามว่าพระเจ้าสุวรรณราชา แล้วพระองค์ก็เสด็จจากนครอโยธยา กลับไปปกครองบ้านเมืองเดิมของพระองค์ คือเมืองสุคันธคีรี

(ตอนนี้พงศาวดารเหนือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเมืองพิชัยเชียงใหม่ ในเมืองตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวความตอนหนึ่งว่า “ในศักราชได้1858 ปี มีพระโองการให้นายศรีทูลออกมากินเมืองนครศรีธรรมราช จึงพระมหาปเรียนทศศรีและพระสงฆ์ทั้งหลายทำเรื่องราวให้ผขาวอริยพงศ์กับนาย (จำพระบรรทูล) เอาเข้าไปถวาย มีรับสั่งให้นายช่างเอาทองแดงหล่อยอดพระมหาธาตุปิดทอง เต็มแล้วให้ผขาวอริยพงศ์รับออกมา ตรัสให้นายสามราชหงส์ออกมาทำสารบัญชีญาติโยมพระสงฆ์ทั้งปวง ให้ขาดจากส่วยจากอากร จากอาณาประชาบาลให้เป็นเชิงเป็นตระกูลข้าพระ นายสามราชหงส์ทำบัญชีข้าพระโยมสงฆ์ทั้งปวงอันมารออยู่นั้น” เป็นเนื้อความสำคัญอันหนึ่ง แสดงว่าอย่างช้าใน พ.ศ. 1815 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยเสนนั้น แคว้นนครศรีธรรมราชได้ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของกรุงอโยธยาแล้ว)

เมื่อพระเจ้าสุวรรณราชา (โอรสของเจ้าชัยทัต) ได้ครองราชย์กรุงอโยธยา เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 1823 แล้ว “ก็คิดถึงคุณพระบิดาอันมาแต่ไกลและเกิดพระองค์ๆ จึงให้ช่างทั้งหลายหล่อพระพุทธรูป สัมฤทธิ์รูปหนึ่งหน้าตัก 4 วา แล้วพระองค์ทำบุญให้ทานแก่เจ้ากูโยคาคาวจรฉลองพระพุทธรูปอุทิศไปให้แก่บิดา แล้วพระองค์มีพระราชธิดา 2 องค์ๆ หนึ่งชื่อเจ้ากัลยาเทวี องค์หนึ่งชื่อเจ้าสุนันเทวี” และพระราชธิดาทั้งสองนี้ได้อภิเษกสมรสกับราชบุตรของพระเจ้าธรรมไตรโลกแห่งนครศรีสัชนาลัย

(ความในพงศาวดารเหนือกล่าวดังนี้ “นางกัลยาเทวีได้แก่พระธรรมราชา นางสุนันทาเทวีได้แก่พระบรมราชา แลกษัตริย์ (ราชกุมาร) ทั้งสองได้แล้วจะคืนไปเมือง (ศรีสัชนาลัย) มิได้หลงด้วยรูปทรงนางทั้งสอง แลสมเด็จพระเจ้าสุวรรณราชาผู้เป็นพ่อตา จึงให้บุตรทั้งสองทำกำแพง (เมือง) คนละครึ่งทั้งหอรบทบทาท้าวให้มั่นคง อยู่เป็นสุขในเรือนหลวงแห่งพระองค์เจ้า แลสมเด็จเจ้าสุวรรณราชาให้ก่อพระบรมธาตุสวมไม้ตะเคียนที่พระพุทธเจ้านั่ง แลสร้างอารามอุโบสถที่พระธรรมศาลา พระพุทธรูป พระปฏิมากร กุฎีสถานให้เป็นทาน แล้วพระองค์รักษาศีลเมตตาภาวนา พระชนมายุได้ 98 ปี พระองค์ทิวงคต ณ วันพุธ เดือนหก แรกหกค่ำ ปีฉลู ศกแล” พระเจ้าสุวรรณราชานั้น ในเรื่องกล่าวเป็นเค้าว่าจะประสูติก่อนหรือหลัง พ.ศ. 1748 ซึ่งเป็นปีเสวยราชย์ของพระเจ้าอู่ทอง ผู้เป็นพระอัยกาไม่ช้าไม่นานนัก เมื่อลองนับจากปี พ.ศ. 1784 มาจนถึงเวลาสิ้นพระชนมายุคือ 98 ปี จะตกปีเถาะ พ.ศ. 1846 แต่พงศาวดารเหนือว่าสิ้นพระชนม์ปีฉลู ก็ควรเป็นปีฉลู พ.ศ. 1844 ฉะนั้นคงประสูติเมื่อ พ.ศ. 1746 ก่อนสมเด็จพระอัยกาได้ราชสมบัติ 2 ปี พระองค์ได้เป็นกษัตริย์ยามชรา ชันษาตก 77 ปี เหตุนี้กระมังในพงศาวดารเหนือจึงพรรณนาแต่สิ่งที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางศาสนา ข้อน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือทรงสร้างพระพุทธรูปนั่งสัมฤทธิ์ขนาดหน้าตักกว้าง 4 วา (8.00 เมตร) องค์หนึ่ง พระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะขนาดใหญ่อย่างนี้ ถ้าชำรุดหักพังไปตามกาลเวลา ก็น่าจะมีซากชิ้นส่วนหลงเหลืออยู่บ้าง เช่นพระเศียรพระพุทธรูปธรรมิกราชเป็นต้น ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นมีพระพุทธรูปนั่งสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ยิ่งอยู่องค์หนึ่ง ไม่ทราบประวัติเป็นของสร้างมาแต่ครั้งใด คือพระมงคลบพิตร ได้ทดลองวัดสอบขนาดหน้าตัก ดูได้กว้าง 4 วา 3 ศอกเศษ (9.55 เมตร) รู้สึกขนาดไล่เลี่ยกับองค์ที่กล่าวว่าพระเจ้าสุวรรณราชาทรงสร้างจะเป็นองค์เดียวกันได้หรือไม่ ลองพิจารณาดูพระมงคลบพิตรมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทองเจือปนสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะส่วนพระพักตร์เห็นเค้าศิลปะสุโขทัยชัด พระพุทธรูปลักษณะนี้ตามทฤษฎีของวงการโบราณคดี มีความเห็นว่าจะเกิดขึ้นในราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1974-2031) เป็นต้นมา เพราะพระองค์เสด็จไปประทับอยู่ทางเมืองเหนือ(พิษณุโลก) ได้แบบอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมาสร้างขึ้นในกรุงศรีอยุธยา ทฤษฎีที่ว่านี้วงการโบราณคดีกำหนดขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 25 ในสมัยที่ยังไม่รู้จักพงศาวดารกรุงอโยธยา ผู้เขียนแรกเผยแพร่พงศาวดารกรุงอโยธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2505-6 คือต้นพุทธศตวรรษที่ 26 นี้เอง ก็ลักษณะพระพุทธรูปผสมระหว่างศิลปะสุโขทัยกับศิลปะอู่ทอง (ศิลปะอโยธยา) อย่างพระมงคลบพิตรจะมีมาก่อนแล้วในครั้งกรุงอโยธยาได้หรือไม่ ลองพิจารณากันดู)

พระเจ้าสุวรรณราชาครองกรุงอโยธยาเมื่อ พ.ศ. 1830

(ทางกรุงสุโขทัย พระเจ้ารามคำแหงได้ครองราชสมบัติเมื่อประมาณ พ.ศ. 1822-1824 นับเป็นกษัตริย์ร่วมกาลสมัยเดียวกัน ได้ร่วมกันยกกองทัพไปช่วยพระยายีบาทำสงครามชิงเมืองลำพูน จากพระเจ้าเมงราย เมื่อ พ.ศ. 1824 นับเป็นเหตุผลทางสัมพันธภาพระหว่างอาณาจักรต่ออาณาจักรเป็นประการที่หนึ่ง)

พระเจ้าสุวรรณราชาได้เป็นกษัตริย์ยามชราภาพ มีชันษา 77 ปี

ส่วนพระเจ้ารามคำแหงแม้มิได้ทราบเวลาสมภพ แต่พอเทียบเคียงกับพระยางำเมืองผู้เคยเป็นพระสหายร่วมการศึกษา พระยางำเมืองประสูติรุ่นราวคราวเดียวกับพระเมงราย คือเมื่อราว พ.ศ. 1781 พระเจ้ารามคำแหงคงประสูติไม่แก่ไม่อ่อนกว่าระยะนี้นัก พอสรุปได้ว่าชันษาจะอ่อนกว่าพระเจ้ากรุงอโยธยาสัก 34-35 ปี ฉะนั้นพระเจ้าสุวรรณราชาย่อมจะตกปูนเดียวกับพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ๆ ได้ครองราชสมบัติกรุงสุโขทัย เมื่อประมาณ พ.ศ. 1762 เวลาสมภพของพระองค์กับชันษาเวลาครองราชย์ยังไม่มีทางทราบได้แต่มีผู้สนใจในประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยท่านหนึ่ง (คุณปรีดา ศรีชลาลัย-รวมเรื่องของศรีชลาลัย พิมพ์ พ.ศ. 2507 หน้า 66) อนุมานไว้ว่าเมื่อครองราชย์นั้นคงมีชันษาไม่น้อยกว่า 24 ปี และ น่าจะประสูติราว พ.ศ. 1738 หรือก่อนนั้นสักปีสองปีเป็นอย่างมาก ถ้าลองถือตามที่ว่านี้ก็จะหย่อนชันษาว่าพระเจ่าสุวรรณราชาราว 5-6 ปี นำไปเทียบเคียงกับพระเจ้าธรรมไตรโลกแห่งนครศรีสัชนาลัยผู้เป็นพระบิดาของพระธรรมราชากับพระบรมราชาราชบุตรเขยกรุง  อโยธยาแล้ว พระเจ้าธรรมไตรโลกก็ควรปูนเดียวกับกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ เห็นจะไม่ใช่โอรสของพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ ถ้าหากเป็นเชื้อสายวงศ์เดียวกันก็น่าจะเป็นชั้นพระอนุชา พระธรรมราชากับพระบรมราชาลงไปจากศรีสัชนาลัยอันเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในแคว้นสุโขทัย ได้เป็นราชบุตรเขยและเป็นกำลังของพระเจ้าสุวรรณราชาในการตบแต่งสร้างกำแพงแลหอรบเมืองอโยธยา ย่อมแสดงว่าทั้งสององค์มีความรู้ความชำนาญในการก่อสร้าง ถึงคราวสร้างหล่อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์ใหญ่คงมีความคิดเห็นนำเอาแบบอย่างศิลปะสุโขทัยของบ้านเกิดเมืองนอนมาประดิษฐ์ผสมผสานกับศิลปะอโยธยาตามวิสัยผู้เป็นช่าง นับเป็นเหตุผลประการที่สอง เหตุผลเพียง 2 ประการนี้ เห็นจะพอเป็นลู่ทางให้แลเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรพอที่จะถ่ายเทศิลปกรรมซึ่งกันและกัน ดังนั้นอยากจะเชื่อพระมงคลบพิตรนั้นเป็นของสร้างครั้งแผ่นดินพระเจ้าสุวรรณราชา จึงขอฝากไว้ในดุลยพินิจของนักโบราณคดีรุ่นพุทธศตวรรษที่ 26 ต่อไป ส่วนเชื้อวงศ์ของพระธรรมราชาพระบรมราชาทางเมืองศรีสัชนาลัย ก็ยังเป็นเรื่องน่าสนใจสอบสวนเหมือนกัน แต่ชั้นนี้ขอยุติไว้ก่อน

เมื่อพระเจ้าสุวรรณราชาสวรรคตลงใน พ.ศ. 1844 แล้ว พระราชบุตรเขยองค์ใหญ่คือพระเจ้าธรรมราชาได้สืบสันตติวงศ์ต่อมา ครองราชสมบัติมาถึงปีระกา พ.ศ. 1852 (จ.ศ. 671) พระองค์ทรงสร้างวัดกุฎีดาว ส่วนพระนางกัลยาณีเทวีอัครมเหสีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ อยู่ในราชสมบัติได้ 9 ปี สวรรคตลงในปีจอ พ.ศ. 1853 (จ.ศ. 672) พระเจ้าบรมราชาราชบุตรเขยองค์น้อยของพระเจ้าสุวรรณราชา และเป็นพระอนุชาของพระเจ้าธรรมราชาได้ครองกรุงอโยธยาสืบมา พระองค์มีราชโอรสด้วยพระนางสุนันทาเทวีอัครมเหสี ทรงนามวรเชษฐกุมาร พอราชกุมารมีชนมายุได้ 16 ปี พระองค์ก็ละราชสมบัติออกผนวชเมื่อวันพุธขึ้น 1 ค่ำ เดือนหก ปีฉลู พ.ศ. 1868

(เรื่องของกรุงอโยธยาในพงศาวดารเหนือมาถึงตรงนี้ ก็ได้เข้าประจบกับเนื้อความท่อนหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ คือ “จุลศักราช 686 ชวดศก (พ.ศ. 1867) แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง” เชื่อได้ว่าพระเจ้าบรมราชาองค์นี้เอง เป็นผู้สร้างพระพุทธตรัยรัตนายก วัดพนัญเชิงในปีชวดฉศก จ.ศ. 686 สำเร็จเรียบร้อยแล้ว รุ่งขึ้นปีฉลูยังเป็น ฉศกอยู่ มีพระราชศรัทธาแรงกล้าในพระบวรพุทธศาสนา จึงละราชสมบัติออกทรงผนวชอยู่ ณ วัดสมณโกษฐ์ และมอบให้พระราชบุตรวรเชษฐกุมาร เป็นผู้สำเร็จราชการแทน อาจจะหลังจากลาผนวชแล้ว พระเจ้าบรมราชาคงแต่งตั้งพระราชบุตรวรเชษฐไปครองเมืองเพชรบุรี เพราะปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่าเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 1885 ได้ทรงมีอำนาจจัดให้ข้าราชการ คือ พระพนมวังกับนางสะเดียงทองผู้ภรรยา และเจ้าศรีราชาผู้บุตร นำผู้คนออกไปสร้างบ้านเมืองขึ้นในท้องที่ซึ่งทุกวันนี้เป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีหลายเมือง และในที่สุดเจ้าศรีราชาได้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็นพระยาศรีธรรมโศกราชสุรินทรราชาสุรวงศ์ธิบดีศิรยุธิษเถียรอภัยพิชัยปรากมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมหานคร ส่วนภรรยาชื่อนางสนก็ได้รับแต่งตั้งเป็นนางจันทรเทวีศรีรัตนฉายานางเมืองนครศรีธรรมราช จากเรื่องราวของเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้ทราบได้ว่ายุคนี้กรุงอโยธยามีอำนาจปกครองบ้านเมืองตลอดแหลมมะลายูจนถึงเมืองอาเจ ในเกาะสุมาตราด้วย)

ก่อน พ.ศ. 1885 ที่มีการจัดให้ข้าราชการออกไปทนุบำรุงเมืองในแคว้นนครศรีธรรมราช 1 ปี มีกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จฉบับหนึ่ง บานแพนกว่า “ศุภมัศดุ 1263 อัฐสังวัจฉระเชษฐมาศ ศุกขปักษยปัญจมีดิถีชิวะวาร พระบาทสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีศรี วิสุทธิสุธิวงศ์องคปุริโสดม บรมจักรพรรดิราชาธิราชตรีภูวนาธิเบศบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว”

ศักราช 1263 เป็นมหาศักราชตรงกับ พ.ศ. 1884 ซึ่งเป็นระยะเวลาในสมัยพระเจ้าธรรมราชากับเจ้าวรเชษฐราชโอรส กฎหมายฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าบรมราชากรุงอโยธยามีพระนามเรียก “สมเด็จพระรามาธิบดี… บรมจักรพรรดิราชาธิราช”

ประวัติกรุงอโยธยาสอบค้นโดยอาศัยพงศาวดารเหนือฉบับพิมพ์เป็นหลัก แสดงปีศักราชและเหตุการณ์โดยลำดับตั้งแต่ พ.ศ. 1595 มาจนถึง พ.ศ. 1885 เรื่องก็ขาดหายไปยังห่างจาก พ.ศ. 1893 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสร้างพระนครศรีอยุธยาอีก 8 ปี หนังสือเก่าๆ ประเภทพงศาวดารเหนือตอนต่อจากนี้จะไปหมกจมอยู่ในตู้รดน้ำลายทองหรือตู้กระจกสวยงามลูกหนึ่งลูกใดที่ไหนก็ทราบไม่ได้ เพราะขาดคนเลื่อมใสสอบค้นมานานปีแล้ว จำต้องหยิบยกเอาเอกสารอื่นมาปะติดปะต่อต่อไป

พงศาวดารสังเขปของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส อาจจะได้เค้าเงื่อนมาจากหนังสือเก่าฉบับหนึ่งฉบับใด กล่าวว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เพิ่งได้เสวยสิริราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 1887 นี่เป็นเหตุการณ์ที่ห่างจาก พ.ศ. 1885 มาได้ร่วม 2 ปี

พงศาวดารละแวกซึ่งแปลขึ้นในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มเนื้อความเบื้องต้นว่า “ศักราช 1268 (พ.ศ. 1889) ปีจอ อัฐศก สมเด็จพระมหานิพาน (พระบรมนิพันธบท) เสวยราชสมบัติพระนครศรีโสทรราชธานี ทรงพระราชศรัทธาทำนุบำรุงพระศาสนา ขณะนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีผู้เป็นพระราชบุตรสมเด็จพระมหาจักรพัตราธิราช ได้เสวยราชสมบัติกรุงพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เจ้าไส้เจ้าเทวดาจำทูลพระราชสารเป็นทางพระราชไมตรีมายังกรุงกัมพูชาธิบดี สมเด็จพระมหานิพานมิไว้พระทัยให้จับเจ้าใส้เจ้าเทวดาฆ่าเสีย ครั้นอยู่มา 5 ปี สมเด็จพระมหานิพานสวรรคต”

พระนครศรีอยุธยาในข้อความตอนนี้ ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ใช่กรุงอโยธยา เพราะปีศักราช 1889 บอกบังคับอยู่แล้ว เนื้อความเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างจาก พ.ศ. 1885 มาเพียง 3-4 ปี มั่นใจว่าสมเด็จพระมหาจักรพัตราธิราชในที่นี้คือพระเจ้าบรมราชาสมเด็จพระรามาธิบดีผู้ราชบุตร ก็คือพระวรเชษฐและได้เป็นกษัตริย์ใน พ.ศ. 1887 เป็นแน่แท้

กฎหมายลักษณะกู้หนี้ฉบับหนึ่ง บานแพนกว่า “ศุภมัศดุ 1278 ชวดนักษัตรศก เดือนสิบเบ็จ ขึ้นเก้าค่ำจันทรวารกาลบริเฉทกำหนด มีพระบันฑูรสุรสีหนาทสมเด็จบรมบาทพระเจ้ามหาจักรพรรดิราชาธิราช รามาธิบดีศรีสินทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว”

ศักราช 1278 เป็นมหาศักราชตรงกับปีวอก พ.ศ. 1899 ไม่ใช่ปีชวดดังปรากฏในบานแพนก ถ้าเป็นปีชวดจะต้องเป็น พ.ศ. 1270 ตรงกับ พ.ศ. 1891 กฎหมายนี้อยู่ในหนังสือกฎหมายเก่าฉบับหมอบลัดเลพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2439 ยังไม่มีโอกาสตรวจสอบกับกฎหมายตราสามดวงฉบับสมุดไทยดำของหอสมุดแห่งชาติ จะผิดพลาดที่เลขศักราชหรือปีนักษัตร ยังไม่ทราบแน่ โดยปกติการตีพิมพ์ตัวเลขผิดพลาดได้ง่ายกว่า จึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าปีชวดนักษัตรควรถูกต้อง หากเป็นอย่างว่านี้กฎหมายลักษณะกู้หนี้ต้องบัญญัติขึ้นในสมัยกรุงอโยธยา ก่อนสร้างพระนครศรีอยุธยา 1-2 ปี สำหรับพระนามาภิไธยของกษัตริย์ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ พ.ศ. 1884 จะเห็นได้ว่าใช้ “รามาธิบดี-จักพรรดิราชาธิราช” และ “จักรพรรดิราชาธิราชรามาธิบดี” สับอยู่หน้าอยู่หลังกัน เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งยืนยัน “พระเจ้าจักรพัตราธิราช” ในพงศาวดารละแวก คือพระเจ้าบรมราชาในพงศาวดารเหนือ

พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐว่า

“ศักราช 712 ขาลศก (พ.ศ. 1893 วัน 6 ฯ 5 ค่ำ เพลา รุ่งแล้ว 3 นาฬิกา 9 บาท แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา

ศักราช 731 ระกาศก (พ.ศ. 1912)…ครั้งนั้นสมเด็จพระ รามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน”

สมเด็จพระรามาธิบดีกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งนครอโยธยา ทรงสถาปนาพระนครหลวงขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1893 เสด็จสวรรคตในปีระกา พ.ศ. 1912 มีพระนามเดิมว่าวรเชษฐ

พระวรเชษฐเคยไปครองเมืองเพชรบุรี จดหมายเหตุ มร. เดอะลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนารายน์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2230 บันทึกมีเค้าความว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ก่อนจะมาสร้างพระนครศรีอยุธยานั้นเคยครองอยู่เมืองพริบพรีหรือเพชรบุรี เป็นข้อความที่ตรงกัน นอกจากทรงสร้างวัดพุทไธศวรรย์คงสร้างวัดอีกแห่งหนึ่ง เรียก “วัดวรเชษฐ” มีสถูปรูปปรางค์เป็นสำคัญอยู่ที่ทุ่งประเชต อำเภอพระนครศรีอยุธยา ส่วน “อู่ทอง” เป็นพระนามของพระปัยยกา เป็นกษัตริย์ทรงเดชานุภาพองค์หนึ่ง ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์เริ่มแผ่อิทธิพลทางสัมพันธภาพลงไปยังแคว้นนครศรีธรรมราช ในที่สุดกรุงอโยธยาก็มีอำนาจปกครองภาคใต้อย่างประเทศราชในรัชกาลพระเจ้าชัยเสนเป็นต้นมา

พระเจ้าอู่ทองคงประกอบภารกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองมากมาย พระนามจึงถูกขนานเรียกสิ่งต่างๆ เช่น เมืองท้าวอู่ทอง, วัดท้าวอู่ทอง, ถนนท้าวอู่ทอง, ท่า (เรือ) ท้าวอู่ทอง, ศาลเทพารักษ์ท้าวอู่ทอง เป็นอาทิ

กรุงอโยธยาทางลำน้ำแม่เบี้ยได้พบชื่อปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 11 รุ่นสมัยพระเจ้าเลอไท เรียกว่า “กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร”

รายพระนามกษัตริย์ แห่งกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร

  1. พระนารายน์ (กรุงละโว้) ประมาณ พ.ศ. 1625-1630 (เกิดจลาจลกลางเมือง 2 ปี)
  2. พระเจ้าหลวง ประมาณ พ.ศ. 1632-1654
  3. พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ประมาณ พ.ศ. 1654-1708
  4. พระเจ้าธรรมิกราชา ประมาณ พ.ศ. 1708-1748
  5. พระเจ้าอู่ทอง ประมาณ พ.ศ. 1748-1796
  6. พระเจ้าชัยเสน ประมาณ พ.ศ. 1796-1823
  7. พระเจ้าสุวรรณราชา ประมาณ พ.ศ. 1823-1844
  8. พระเจ้าธรรมราชา ประมาณ พ.ศ. 1844-1853
  9. พระเจ้าบรมราชา ประมาณ พ.ศ. 1853-1887
  10. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระวรเชษฐ) ประมาณ พ.ศ. 1887-1912

พงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร ฉบับ มานิต วัลลิโภดม

เรื่องราวของอโยธยาศรีรามเทพนคร ที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็พอมีอยู่บ้าง แต่เขียนอย่างตำนาน พิมพ์รวมอยู่ในพงศาวดารเหนือปะปนกับเรื่องอื่นๆ หลายเรื่องจนจับต้นชนปลายไม่ถูก

อาจารย์มานิต วัลลิโภดม “นักปราชญ์สามัญชน” (อดีตผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร) ได้ลงมือสอบค้นเอกสารทั้งหลายบรรดาที่มีอยู่และเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของอโยธยาศรีรามเทพนคร โดยตรวจสอบกับหลักฐานโบราณคดีที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วค่อยๆ เลือกสรรลำดับเหตุการณ์อย่างพงศาวดารได้อย่างวิจิตรบรรจง บางช่วงบางตอนก็อธิบายเชื่อมโยงเรื่องราวสอดแทรกไว้เป็นระยะๆ เพื่อให้มีความต่อเนื่องและเพื่อให้อ่านเข้าใจกระจ่าง ในตอนท้ายยังทำลำดับพระนามกษัตริย์ที่เคยครองราชย์ตั้งแต่แรกไว้ด้วย

มานิต วัลลิโภดม
อาจารย์มานิต วัลลิโภดม “นักปราชญ์สามัญชน” ผู้เรียบเรียง พงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร จากเอกสารโบราณ

เอกสารนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความชื่อสมเด็จพระรามาธิบดีศรีอโยธยา โดย มานิต วัลลิโภดม กรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือเฉลิมพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัว (คณะกรรมการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตมงคลสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ 1 และอยุธยามหาปราสาท วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2513)

ที่ยกมาพิมพ์ซ้ำครั้งนี้ คัดเฉพาะตอนท้ายบทความ ที่กล่าวถึงประวัติเรื่อวราวของอโยธยาศรีรามเทพนคร แล้วขึ้นชื่อเอกสารเสียใหม่ว่า พงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร ฉบับ มานิต วัลลิโภดม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2566