ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|---|
เผยแพร่ |
ประวัติศาสตร์ไทย ฉบับแรก มีลักษณะก้าวหน้า และเป็น “สากล” อยู่ในพระราชดำรัสของ ร.5 เมื่อ 116 ปีมาแล้ว ทรงเปิด “โบราณคดีสโมสร” หรือ “สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม” (พระราชทานไว้ ณ พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ ในพระราชวังโบราณ พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2450)
ทรงมีพระราชดำรัสชักชวนให้ค้นคว้ารวบรวมเรื่องราวความเป็นมาของประเทศ (สยาม) “ไม่ว่าเมืองใด ชาติใด วงษ์ใด สมัยใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของประเทศ (สยาม)”
นับเป็นโครงเรื่อง “ประวัติศาสตร์ชาติ” ของไทยฉบับแรก และเป็นฉบับก้าวหน้า “สากล” มาก เนื่องเพราะทรงเน้นประวัติศาสตร์ของประเทศ (สยาม) หรือประวัติศาสตร์ดินแดน (สยาม) ซึ่งประกอบด้วยบ้านเมืองน้อยใหญ่ เช่น นครศรีธรรมราช, นครชัยศรี (นครปฐม), ลพบุรี (ละโว้) ฯลฯ และผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ว่า “กรุงสยามเป็นประเทศที่แยกกันบ้างบางคราว รวมกันบ้างบางคราว ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินผู้ที่ปกครองก็ต่างชาติกันบ้าง ต่างวงษ์กันบ้าง”
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านเมือง ร.5 มีพระราชดำรัสว่า “เป็นเครื่องชักนำ ให้เกิดความรักชาติและรักแผ่นดินของตัว ถึงว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ชั่วช้าไม่ดีอย่างใด ก็เป็นเครื่องที่จะจำไว้ในใจ เพื่อจะละเว้นเกียจกันไม่ให้ความชั่วความไม่ดีนั้นมาปรากฏขึ้นอีก”
[พระราชดำรัส ร.5 พร้อมต้นฉบับลายมือครบถ้วน มีในท้ายเรื่องนี้ ได้จากหนังสือ 111 ปี โบราณคดีสโมสร (บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ บรรณาธิการ) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2561 หน้า 17-38]
ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยฉบับปัจจุบันที่ “เพิ่งสร้าง” แล้วใช้ครอบงำประชาชนจนทุกวันนี้ ไม่ก้าวหน้า ไม่ “สากล” และไม่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศตามที่ ร.5 ทรงมีพระราชดำรัสไว้ แต่เป็นประวัติศาสตร์ “ชนเชื้อชาติไทย” ที่ยกตนข่มท่าน หมายถึง “ด้อยค่า” ชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุของความรุนแรงและสร้างปัญหาสารพัดที่ยังแก้ไม่ตกขณะนี้
อโยธยา คือ “เมืองเก่าของอยุธยา” ส่วนอยุธยาคือ “เมืองใหม่ของอโยธยา” ร.5 ทรงมีพระราชดำรัสว่าเมืองอโยธยา ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของพระนครศรีอยุธยา มีวัดวาอารามสำคัญๆ ได้แก่ วัดพนัญเชิง, วัดใหญ่ชัยมงคล, วัดอโยธยา (วัดเดิม), วัดกุฎีดาว, วัดมเหยงคณ์ เป็นต้น ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาได้ทรงปฏิสังขรณ์แทบทั้งนั้น
นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ “หลง” เรื่องราวอยุธยา (เมืองใหม่) แล้ว “ลืม” อโยธยา (เมืองเก่า) จึงทำให้มี “ความเห็นอันคับแคบ” เพราะไม่กล่าวถึงอโยธยาที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก ซึ่งมีก่อนกรุงศรีอยุธยา ทุกวันนี้จึงมีปัญหากรณีก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองอโยธยา
ดังนั้น เมืองอโยธยา (จ. พระนครศรีอยุธยา) ซึ่งยังไม่มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นระบบทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เพิ่มเติมจากที่นักปราชญ์ทางมานุษยวิทยาศึกษาไว้นานมากแล้ว (พ.ศ. 2509) ถ้าจะต้องถูกทำลายด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือด้วยการสนับสนุนจากนักวิชาการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็นับเป็นความอัปยศที่ต้องตราไว้ในโซเชียลจงเป็นนิรันดร์ “จุ่งคงอยู่กัลปา” และ แม้แผ่นดินจะเหี้ยนหาย แผ่นฟ้าจะถูกเผาไหม้ ความอัปยศที่ตราไว้จงอย่าหาย “หายแผ่นดินฟ้าไหม้ อย่าหาย” [ยวนพ่ายโคลงดั้น]
“สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม”
พระราชดำรัส ของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม” หรือ “โบราณคดีสโมสร” ตามกระแสพระราชดำรัส ณ พระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ (สุริยาสน์อมรินทร์) ในพระราชวังโบราณที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐
ต้นฉบับลายมือเก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร และมีการพิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง
เราทั้งหลายที่ได้มาประชุมกันในวันนี้ มีความพอใจที่จะอ่านตรวจตราสอบสวนโบราณคดีในประเทศของเรา บัดนี้นับว่ามีคนมากคนขึ้นด้วยกัน จึงเหนว่าเปนเวลาสมควรแล้ว ที่จะได้ตั้งเปนสโมสรอันหนึ่ง ซึ่งจะได้นามปรากฏว่าโบราณคดีสโมสร จะหาเวลาใดให้เหมาะกว่าเวลานี้ไม่มี จึงได้ขอเริ่มให้ตั้งขึ้นในวันนี้เปนประถม
ประเทศทั้งหลายที่ได้ควบคุมกันเปนชาติแลเปนประเทศขึ้น ย่อมถือว่าเรื่องราวของชาติตนแลประเทศตน เปนสิ่งสำคัญซึ่งจะพึงศึกษาแลพึงสั่งสอนกัน ให้รู้ชัดเจนแม่นยำ เปนวิชาอันหนึ่งซึ่งจะได้แนะนำความคิดแลความประพฤติ ซึ่งพึงจะเหนได้ในการที่ผิดแลชอบ ชั่วแลดี เปนเครื่องชักนำให้เกิดความรักชาติ แลรักแผ่นดินของตัว ถึงว่าเรื่องนั้นจะเปนเรื่องที่ชั่วช้าไม่ดีอย่างใด ก็เปนเครื่องที่จะไว้ในใจ เพื่อจะละเว้นเกียจกัน ไม่ให้ความชั่วความไม่ดีนั้นมาปรากฏขึ้นอีก
ในเวลาซึ่งเราทั้งหลายเปนตัวผู้ทำเหมือนตัวละครที่ทำบทอยู่ในเวลานี้ ถ้าเรื่องใดที่ดีก็ทำให้ใจคอเฟื่องฟู ให้เกิดความเย่อหยิ่งขึ้นในใจ ซึ่งจะใคร่ได้และใคร่รักษาความดีนั้นไว้ ทั้งจะใคร่ทำขึ้นใหม่ให้เทียบเคียงกันฤาดียิ่งขึ้นไปกว่าเก่า การเรียนรู้เรื่องประเทศของตน เมื่อผู้ใดได้เรียนด้วยความประสงค์อันดี จะได้รับแต่ผลที่มีคุณไม่มีโทษดังได้กล่าวมาโดยสังเขปฉนี้
เรื่องราวของประเทศทั้งหลายซึ่งมนุษย์อาจจะทรงจำได้ ย่อมจะมีหลักถานอยู่เพียง ๖๐๐๐ ปี แต่ย่อมประกอบด้วยเรื่องราวอันไม่น่าเชื่อเจือปนเปนนิทาน ข้อความซึ่งได้มั่นคงอย่างสูงก็อยู่ภายใน ๓๐๐๐ ปี แต่ประเทศโดยมากในชั้นประจุบันนี้มักจะตั้งตัวได้เปนปึกแผ่นราว ๑๐๐๐ ปี เมื่อมีหนังสือเรื่องราวซึ่งเปนหลักถานมั่นคง ไม่เปนแต่ใช้เครื่องหมายเปนรูปนกรูปกาฤารูปภาพที่เขียนต้องคิดประกอบ แต่ความรู้ยืดยาวขึ้นไปเช่นนี้ ย่อมมีในประเทศที่แบบแผนเปนหลักถานในบ้านเมืองที่ถึงความรุ่งเรืองแล้วในสมัยนั้น ถ้าหากว่าเปนเมืองที่ยังคงเปนป่าเถื่อน ไม่รู้จักหนังสือ แลไม่รู้จักเล่าต่อกัน ก็รู้ได้เพียงชั่วอายุฤาสองชั่วอายุคน บ้านเมืองเช่นนี้ก็ยังมีอยู่
กรุงสยามนี้เปนประเทศที่มีเคราะห์ร้าย ถูกฆ่าศึกศัตรูซึ่งคิดทำลายล้างอย่างรุนแรงเหลือเกิน ยิ่งกว่าชาติใดๆ ที่แพ้ชนะกันในสงคราม หนังสือเก่าๆ ซึ่งควรจะสืบสวนได้สาบสูญไปเสียเปนอันมาก ตามเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้มีน้อยเกินกว่าความจริงที่ควรจะมีเปนอันมาก แต่ความจริงเรารู้อยู่ว่าประเทศสยามนี้ได้มีความเจริญบริบูรณ์ดีในบางกาลบางสมัย ถ้าจะนับก็จะได้ถึง ๑๐๐๐ ปี ข้อนี้ย่อมรู้ปรากฏอยู่แก่ผู้ที่เอาใจใส่ในเรื่องราวของประเทศสยาม แลมีหนังสือซึ่งเปนหลักถานควรอ้างอิง แต่หากจะเปนช่วงๆ ไป จะเรียบเรียงให้ติดต่อกันบริบูรณ์ทั้ง ๑๐๐๐ ปีไม่ได้
ยังมีข้อที่น่าเสียดายอยู่อีก ว่าในกาลปางก่อนความใส่ใจในการที่จะเรียบเรียงหนังสือ มีน้อยกว่าประเทศอื่น มักจะรู้แล้วจำไว้เล่ากันต่อไป ไม่ใช่เปนชาติซึ่งจะเล่าเรื่องราวไม่เปนเช่นคนดำหัวหยิก เว้นไว้แต่ไม่เปนชาติที่ชอบแต่งหนังสือ จึงได้แต่คำบอกเล่ากันต่อๆ มา ความจึงเลอะเลือนวิปลาสซ้ำซากจนไม่น่าเชื่อ แต่ยังมีร้ายยิ่งกว่านั้น ตกมาในชั้นหลังไปยอมรับพระราชพงษาวดารกรุงเก่าว่าเปนเรื่องราวของแผ่นดินสยาม ข้อความที่นอกจากได้เขียนไว้ในพระราชพงษาวดารถือเสียว่าเปนนิทาน มีผู้เอาใจใส่ฟังแต่น้อย จะเล่าให้ผู้ใดฟังก็ไม่มีความพอใจฟังเหมือนฟังนิทาน ไม่ใช้สติปัญญาตริตรองเทียบเคียงแล้วแลจดจำไว้
ความหลงพระราชพงษาวดารนี้ทำให้ทอดธุระเสียว่าเรื่องราวของชาติแลประเทศเรา อยู่เพียงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา เรื่องราวที่เก่ากว่านั้นน่าจะพิจารณาก็ได้ละเลยทิ้งเสียทั้งสิ้น เพราะเหนว่าปีก็ล่วงถึง ๔๐๐, ๕๐๐ ปี พอแก่ความปรารถนาที่จะรู้อยู่เพียงนั้นแล
ความจริงชื่อพระราชพงษาวดาร เขาได้ตั้งชื่อขึ้นโดยความเชื่อตรงต่อหนังสือที่เขาเรียง ความจงใจมุ่งหมายที่จะเรียงพระราชพงษาวดารนั้น เขาหมายจะเรียงเรื่องราวของเจ้าแผ่นดิน ซึ่งสืบสันตติวงษ์ลงมาจนถึงเวลาที่เขียนนั้น เรื่องราวกิจการบ้านเมืองอันใดที่กล่าวในพงษาวดาร เขาประสงค์จะกล่าวประกอบประวัติเปนไปของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ว่าศุขทุกข์ดีร้ายอย่างไรในเวลาที่เจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นเปนเจ้าแผ่นดิน ไม่ได้ตั้งใจที่จะกล่าวถึงประเทศสยามทั่วไป
เพราะเหตุฉะนั้นคำที่เรียกว่าพงษาวดาร เรียกโดยความซื่อตรงต่องานที่ทำ มิใช่เราไม่รู้ว่าคำพงษาวดารนั้นแปลว่าอย่างไร แต่หากเราปราศจากความพิจารณา ไปหลงแปลเอาเองว่าเรื่องราวของแผ่นดินสยาม ข้อความจึงได้บกพร่องไม่พอแก่ทางพิจารณาเสียเลย ถ้าผู้ใดไม่อ่านเรื่องราวประเทศอื่นจะกล่าวได้ว่าเรื่องราวประเทศสยามนี้ช่างไม่มีอไรเสียจริงๆ มีแต่เล่าถึงเจ้าแผ่นดินเท่านั้น อยากจะกล่าวด้วยว่าได้ยินคนพูดแล้วซ้ำไป แต่ผู้ที่พูดนั้นไม่ใช่ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในที่นี่ ความข้อนี้เปนเครื่องเตือนใจให้เหนปรากฏเปนพยานว่าความที่หลงชื่อพงษาวดารนี้ จึงทำให้มีผู้ติเตียนได้ แลไม่ใส่ใจที่จะฟังเรื่องราวของเราเลยด้วย
กรุงสยามเปนประเทศที่แยกกันบ้างบางคราว รวมกันบ้างบางคราว ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินผู้ที่ปกครองก็ต่างชาติกันบ้าง ต่างวงษ์กันบ้าง พงษาวดารได้เลือกกล่าวแต่เฉภาะเวลาที่แผ่นดินสยามได้รวมกันเปนพระราชอาณาจักรอันเดียวในชั้นหลัง เชื้อวงษ์เจ้าแผ่นดินก็เลือกแต่เฉภาะวงษ์ไทยที่ได้ลงมาแต่ข้างฝ่ายเหนือ แม้แต่วงษ์ไทยที่ตั้งอยู่ในกรุงศุโขทัยแล้วก็ยังไม่นับ นอกจากได้ออกชื่อครั้งเดียวเมื่อกล่าวถึงขุนพิเรนทรเทพในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ จะป่วยกล่าวไปใยถึงมหานครอันใหญ่ซึ่งได้ตั้งอยู่เฉภาะในตา เช่นที่เก่าขึ้นไปคือกรุงนครไชยศรี กรุงลพบุรี ซึ่งเรายังไม่ใคร่พบเหนเรื่องราวกล่าวถึงนครทั้ง ๒ นั้นเปนการมั่นคง มีแต่ข้อความเปนครั้งเปนคราวที่ได้กล่าวถึงในหนังสืออื่นฤาเปนนิทาน แต่เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งยังไม่ได้สาบสูญคงเปนบ้านเมืองอยู่บัดนี้ แลเปนชาติไทยแท้ยังหลงว่าเปนชาวนครชาวนอก นับเข้าใน ๑๒ ภาษาได้
ความเหนอันคับแคบเช่นนี้ตลอดจนถึงชั้นหลังที่สุดคือกรุงศรีอยุทธยาฤาอโยชฌิยา ซึ่งตั้งอยู่ ณ ฝั่งตะวันออกตรงปละท่าคูจาม (ประทาคูจาม) ที่พระเจ้าอู่ทองมาตั้ง ก่อนสร้างพระนครทวาราวดี ซึ่งมีเจดียฐานปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แลเปนที่เจ้าแผ่นดินในกรุงทวาราวดีได้ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นแทบทั้งนั้น เช่น วัดพนัญเชิง วัดใหญ่ไชยมงคล อันอยู่ในท่ามกลางพระนครเก่า วัดศรีอโยชฌิยาวัดเดิมซึ่งเปนคณะอรัญวาสีเหนือเมือง วัดกุฎีดาว วัดมเหยงคณ์ ซึ่งในอรัญวาสีฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง เปนต้น ทั้งที่เหนอยู่เช่นนี้ แลที่ได้ไปบุรณปฏิสังขรณ์ขึ้น
ถึงว่าจะยังรักษาความสัตย์ ใช้คำว่าปฏิสังขรณ์ไม่ใช้สร้างขึ้นใหม่ทุกแห่งทั่วไป ก็ได้ละเสียไม่กล่าวถึงเรื่องเก่าของกรุงอยุทธยาโบราณนั้นเลย น่าจะเปนเรื่องซึ่งรู้กันอยู่แก่ใจไม่ต้องเล่า ข้อที่ไม่เขียนลงไว้นั้นเปนไปตามวิไสย แลความไม่ต้องการของเวลานั้น ฤาจะมีพงษาวดารฉบับอื่นต่างหาก ซึ่งได้กล่าวถึงอยู่แล้ว เช่น พงษาวดารเหนือ แต่หากหนังสือฉบับนั้นสูญหายในเวลาที่เกิดวิบัติแก่บ้านเมือง ฉบับที่เราได้เหนอยู่นี้เปนแต่มีผู้รู้ว่าพงษาวดารเหนือมีอยู่ แต่ฉบับสาบสูญไปหาไม่ได้ ฤาได้แต่ขาดร่องแร่ง
จึงขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในเวลานั้นช่วยกันแต่งเพิ่มเติม แต่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่นั้นจำไม่ได้ ด้วยความชราหลงลืมจึงเล่าซ้ำๆ ซากๆ ไป ผู้ที่ขอให้เขียนนั้น ถ้าหากว่าเปนผู้ใส่ใจตริตรองอยู่แล้วก็คงจะได้ซักไซ้ทักท้วง ให้เปนทางดำริห์ของผู้หลักผู้ใหญ่ แต่ผู้ซึ่งใส่ใจในโบราณคดีเวลานั้นเหนจะมีน้อย ด้วยความพอใจในพระราชพงษาดารกรุงทวาราวดีว่าเก่าพออยู่แล้วดังได้กล่าวมานั้น จึงไม่ได้ซักไซ้ไถ่ถามสอบความให้ชัดเจน ดูก็เปนที่น่าเสียดายเปนอันมาก
แต่เพียงอายุขนาดข้าพเจ้าเองยังได้ยินถ้อยคำที่ผู้หลักผู้ใหญ่เล่าถึงข้อความชั้นกรุงทวาราวดีมากออกไปกว่าพระราชพงษาวดารที่ได้เรียบเรียงขึ้นไว้เปนหลายอย่าง แต่ก็ไม่มีในจดหมายเหตุแห่งหนึ่งแห่งใดฟังแล้วก็เล่ากันต่อไป ผู้ที่อยากฟังก็น้อยลงไปทุกที ผู้ที่เล่าก็กลายเปนผู้ที่บ่นพึมพำซ้ำๆ ซากๆ เพราะผู้ที่เล่านั้นอายุแก่เข้าทุกที ความจำก็สั้นเข้าทุกที คนหนุ่มที่ฟังก็เบื่อหน่ายในการที่จะฟังขึ้นทุกที ข้อความสูญไปด้วยเช่นนี้โดยมาก โทษที่ไม่เขียนเปนตัวหนังสือลงไว้
ด้วยเหตุดังนี้ข้าพเจ้าจึงมีความพอใจทีได้เหนท่านทั้งหลายเอาใจใส่ในพงษาดาร แลเรื่องราวของชาติบ้านเมืองได้เกิดขึ้นใหม่ เปนที่วางใจว่าความไม่พอใจฟังเรื่องราวของประเทศตัวจะไม่เสื่อมสิ้นเร็วเหมือนอย่างที่ได้เปนมาแล้ว แลทั้งผู้ซึ่งจะได้เข้าในสโมสรนี้โดยมากเปนผู้มีวิชาสามารถที่จะฟังเรื่องราวแลเรียบเรียงด้วยตาแลหู อันได้รู้เรื่องราวของประเทศอื่นๆ แลอาจจะเลือกฟั้นข้อสำคัญแลไม่สำคัญดีกว่าผู้ที่ไม่มีวิชาต่างประเทศ
ทั้งเวลานี้ก็เปนโอกาสอันดีที่เราสามารถอาจจะหาเรื่องราวจากต่างประเทศทั้งในยุรปแลเอเชีย ซึ่งได้เคยสมาคมคบหากับเรามาแต่ในปางก่อน แม้ถึงเมืองที่เปนปัจจามิตร เช่น พม่า เราก็อาจจะสืบสวนหาข้อความได้ มีหลักอยู่ซึ่งเราจะพิจารณาข้อความอันได้มาจากต่างประเทศนั้น ให้รู้ว่าประเทศใดมีอัธยาไศรยอย่างใด เหมือนอย่างเมืองพม่าเปนประเทศที่มีอัธยาไศรยชอบอวดอ้างบารมีเจ้าแผ่นดิน ปรากฏอยู่แก่ใจ เมื่อเราได้อ่านหนังสือนั้นเราก็ควรจะพิจารณา หารความลงในทางนั้น
ฝ่ายเรื่องราวซึ่งฝรั่งเล่ามักจะแต่งให้อัศจรรย์เพื่อจะให้คนอ่านพิศวง ได้ซื้อหนังสือนั้นมากๆ เช่นกับที่กล่าวกันอยู่ในประจุบันนี้ทั่วไป ว่าเมืองไทยมีวังอยู่ใต้น้ำเปนตัวอย่าง ข้างฝ่ายจีนนั้นไม่ใคร่จะออกความคิดอย่างจีน คือให้เราเปนจีนฤาเปนฮวน ทำอไรให้ผิดปรกติไปต่างๆ เปนต้น วิธีที่จะวินิจฉัยเรื่องราวอันได้มาแต่ต่างประเทศนั้นมีข้อสำคัญอยู่ที่จะจับหลักน้ำใจแลความคิดข้างไทยให้มั่น ถ้าเรื่องราวอันใดแปลกไปจากประเพณีความคิดของไทยเราแท้ เราควรจะพิจารณาในข้อนั้นไม่ควรจะด่วนเชื่อ
ทั้งเคราะห์ดีซึ่งมีพระสงฆ์ผู้เปนบัณฑิตยแต่โบราณ ได้เขียนเรื่องราวพระสาสนาอันมาประดิษฐานในแถบประเทศเหล่านั้นลงไว้ในภาษาบาฬี แลมีเรื่องราวประเทศซึ่งนับว่าเปนไทย เช่นล้านช้างแลเชียงใหม่ ซึ่งเปนหนังสืออาจจะสอบสวนเอาความจริงได้อยู่ แต่เรามักจะไปถือเอาเสียว่าเปนหนังสือสาสนา ไม่มีผู้แลดูความหมายจะค้นคว้าเรื่องราวประกอบพงษาวดารฤาเรื่องราวของประเทศ ถึงว่าจะมีบางตอนซึ่งเรายังแลไม่เหนว่าจะหาทางใดที่จะสอบสวนข้อความให้แจ่มแจ้งได้ เหตุไฉนจะทอดธุระไม่สืบสวนหาต่อไป
ด้วยความเหนแลหนทางซึ่งเหนว่าควรเราจะตั้งใจทำ น่าจะสำเร็จได้ ดังเช่นกล่าวมาแล้วนี้ จึงขอชักชวนท่านทั้งหลายแต่ในสโมสรประชุมกันครั้งแรกนี้ ให้กระทำในใจไว้ว่า เราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยาม ไม่ว่าเมืองใดชาติใดวงษ์ใดสมัยใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเปนเรื่องราวของประเทศสยาม จับเดิมตั้งแต่ ๑๐๐๐ ปีลงมา
เรื่องราวเหล่านี้คงจะต้องจับตั้งแต่เมืองหลวง ไนยหนึ่งเรียกว่าหาง ห้าง ฤาช้าง ซึ่งเปนที่ตั้งของชาติไทยแต่ต้นเดิม ลงมาจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ สวรรคโลก โศกโขทัย อยุทธยาเก่า อยุทธยาใหม่ แลเมืองลโว้ ลพบุรี นครไชยศรี นครศรีธรรมราช ฤาเมืองซึ่งเปนเจ้าครองเมือง เช่น กำแพงพชร ไชยนาท พิศณุโลกย์ เมืองสรรค์ สุพรรณ กาญจนบุรี เพชรบุรี เหล่านี้เปนต้น บรรดาซึ่งได้เปนใหญ่ในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง แล้วรวบรวมมาเปนประเทศสยามอันหนึ่งอันเดียวนี้
การที่ตั้งวงกว้างไว้ถึงเพียงนี้ ใช่จะหวังว่าให้ได้ข้อพิสดารตลอด ฤาให้เปนเรื่องที่มั่นคงจริงจังจึงจะใช้ได้ ข้อความจะเก็บได้เพียงเท่าใดเราก็ว่าไว้เพียงเท่านั้น ถึงข้อความจะเกี่ยวเปนเรื่องไม่น่าเชื่ออย่างตำนาน เช่น หนังสือลาวต่างๆ ย่อมอ้างพุทธทำนาย เราก็ควรจะฟัง เพราะเปนแต่เริ่มต้นหนังสือตามความนิยมนับถือของเขาเช่นนั้น ข้อความควรเปนหลักฟังได้คงจะยังมี ถึงจะจดหมายลงไว้ในแห่งใดไม่เปนที่ครหาติเตียนอันใด ขออย่างเดียวแต่ให้พิจารณาให้ถ่องแท้ อย่าไปฉวยเอาคำคนชั่วช้าแต่งหนังสือปลอม อ้างว่าเปนหนังสือเก่า ทีเราเรียกว่ากุอย่างเดียวแล้วเปนใช้ได้
ความคิดอันนี้ใช่ว่าจะมุ่งหมายให้สำเร็จเปนหนังสือเรื่องราวประเทศสยามขึ้นโดยเร็วนั้นก็มิได้ หวังว่าพวกเราจะช่วยกันสอบหารวบรวมเรื่องราวหลักถาน แลช่วยกันดำริห์วินิจฉัยข้อความ ซึ่งยังไม่ชัดเจนให้แจ่มแจ้งขึ้น ตามปัญญาตัวที่คิดเหน ไม่จำเปนจะต้องยืนยันว่าเปนการถูกต้องดังนั้นฤาไม่
เมื่อมีความเหนอย่างไรเขียนลงไว้ส่งให้แก่เลขานุการของสโมสร เก็บรวบรวมข้อความทั้งปวงไว้ในที่แห่งเดียว เมื่อได้ข้อความมากควรจะพิมพ์เปนเล่มก็พิมพ์ขึ้นไว้ สำหรับเปนหนังสือที่ผู้แต่งเรื่องราวของประเทศสยาม จะได้เลือกค้นข้อความตรวจสอบตามแต่เขาจะเหนว่าข้อใดควรรับเปนเรื่องราวของประเทศสยามได้ เขียนเรื่องราวที่ตัวรู้ลงไว้แทนที่จะเล่าให้ใครๆ ฟัง ซึ่งจะเปนเล่าซ้ำเล่าซาก ฤากันความชราที่จะพาให้หลงลืมไปทุกวัน แสดงความเหนหลักถานลงไว้ สำหรับผู้อื่นจะได้เหนแลตริตรองตาม
เมื่อเขาเหนข้อความเปนอย่างอื่นมีหลักถานดีกว่า เราไม่ควรจะอับอายอันใด เพราะเราพิจารณาข้อความตามที่เรารู้แลเราเหนปรากฎเฉภาะหน้า เมื่อเขาได้มาดีกว่าแลความคิดของเขาใกล้ข้างถูกดีกว่า
เราควรจะยอมด้วยความยินดีโดยเหนแก่ประโยชน์ข้อใหญ่ ที่จะได้เรื่องราวของประเทศสยามมั่นคงชัดเจนดีขึ้น ในการที่จะให้สโมสรนี้เปนสโมสรสำหรับพระนครจึงได้ยอมให้ใช้เครื่องหมายรูปมังกรคาบแก้ว อันเปนพระราชลัญจกรโบราณองค์หนึ่ง ซึ่งได้นำมาให้เหนพร้อมกันในที่นี้
เหตุไฉนจึงจะได้ใช้รูปนาคฤามังกรนี้ เหตุด้วยนาคแลมังกรฤางูย่อมเปนที่นับถือมาแต่โบราณกาลในแถบประเทศเราทั้งหลายก่อนกว่าที่นับถืออย่างอื่นๆอันได้นำมาในภายหลัง เพื่อจะให้เปนเครื่องหมายว่าด้วยความคิด ความมุ่งหมายของสโมสรนี้ จะแสวงข้อความโบราณคดีอันมีในรหว่าง ๑๐๐๐ ปีตั้งแต่บัดนี้ขึ้นไป หวังว่าท่านทั้งหลายจะเปนที่พอใจในเครื่องหมายอันนี้ และจะได้นับวันนี้อันเปนวันท้ายอภิลักขิตสมัยรัชมงคล เปนวันต้นซึ่งได้ตั้งโบราณคดีสโมสร นี้สืบไป
พระบรมมหาราชวังกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยา
วันที่ ๒ ธันวาคม รัตนสินทรศก ๑๒๖
หมายเหตุ : จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม :
- พระราชดำรัส ร.5 เรื่องของชาติที่พึงศึกษา..ถึงเป็นเรื่องชั่วช้า ก็จำไว้ในใจ ไม่ให้เกิดอีก
- เมื่อ “สุโขทัย” (ถูกทำให้) เป็น “ราชธานี” แห่งแรกของ “ชาติไทย”
- เวียงเหล็ก พระเจ้าอู่ทอง ย่าน “คูจาม” คลองตะเคียน อยุธยา ขุมกำลังกลุ่มสยาม รัฐสุพรรณภูมิ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2566