ผู้เขียน | ฮิมวัง |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อ “สุโขทัย” (ถูกทำให้) เป็น “ราชธานี” แห่งแรกของ “ชาติไทย”
แบบเรียนประวัติศาสตร์มักแบ่งยุคสมัยเรียงลำดับจาก “ราชธานี” ของ “ชาติไทย” ตามลำดับเวลา คือ สุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ แนวคิดนี้กำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด? ใครเป็นผู้ริเริ่มผลักดันแนวคิดนี้? สุโขทัยกลายเป็น “ราชธานีแห่งแรก” บนหน้าประวัติศาสตร์ไทยเมื่อใด?
ก่อนที่สุโขทัยจะถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นั้น ชนชั้นนำรับรู้ถึงสุโขทัยในฐานะที่เป็นบ้านเมืองที่เจริญมาก่อนกรุงศรีอยุธยา บ้างระบุว่า “พระนครที่ตั้งอยู่ฝ่ายเหนือในแผ่นดินสยามแต่โบราณ” อย่างในพระราชพิธีสิบสองเดือน (ปี 2431) หรือ “เมื่อครั้งกรุงตั้งอยู่ทางเหนือขึ้นไป คือเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัยนั้น” ในบทความเรื่อง โบราณศึกษา (ปี 2439) ที่ตีพิมพ์ลงในวชิรญาณ
ชนชั้นนำทราบดีถึงความเจริญรุ่งเรืองของสุโขทัยที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ได้มีการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ไปไกลเกินกว่ายุคกรุงศรีอยุธยา เรื่องราวของสุโขทัยยังคงอยู่ในสถานะที่พร่ามัว นอกจากนี้ เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระร่วงที่มีฉากหลังเป็นสุโขทัย ก็เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์มากมาย มีลักษณะเป็นตำนานเสียมาก
แต่หลังปี 2450 เป็นต้นมา สุโขทัยได้เริ่มถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย มีความพยายามที่จะสืบค้นเรื่องราวของสุโขทัยทั้งในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ผ่านการศึกษาจากหนังสือ เอกสาร เรื่องเล่า รวมถึงการสำรวจในพื้นที่
ในปี 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง “โบราณคดีสโมสร” ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบค้นหาหลักฐานประวัติศาสตร์ชาติไทย ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการศึกษาวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง ทรงมีพระราชดำรัสเปิดประชุมว่า
“…ความหลงพระราชพงศาวดารนี้ ทำให้ทอดธุระเสียว่า เรื่องราวของชาติและประเทศเราอยู่เพียงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา เรื่องราวที่เก่ากว่านี้น่าจะพิจารณา ก็ได้ละเลยเสียทั้งสิ้น… ชวนท่านทั้งหลายแต่ในสโมสรที่ประชุมกันครั้งแรกนี้ ได้กระทำในใจไว้ว่า เราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยาม ไม่ว่าเมืองใด ชาติใด วงษ์ใด สมัยใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของประเทศสยามจำเดิมตั้งแต่ 1,000 ปีลงมา
เรื่องราวเหล่านี้ คงต้องจับตั้งแต่เมืองหลวงไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของชาติไทยแต่ต้นเดิม ลงมาจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ สวรรคโลก โศกโขทัย อยุธยาเก่า อยุธยาใหม่ และเมืองลโว้ลพบุรี นครไชยศรี นครครีธรรมราช ฤาเมืองซึ่งเป็นเจ้าครองเมือง เช่น กำแพงเพชร ไชยนาท พิษณุโลก เมืองสรรค์ สุพรรณ กาญจนบุรี เพชรบุรี เหล่านี้เป็นต้น บรรดาซึ่งได้เป็นใหญ่ในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง แล้วรวบรวมมาเป็นประเทศสยามอันหนึ่งอันเดียวนี้”
พระราชดำรัสดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับความเป็นมาของสยามว่า มีความเก่าแก่สืบย้อนไปไกลกว่ากรุงศรีอยุธยา ไกลกว่าสุโขทัย แต่ทั้งนี้ พระองค์ยังไม่ได้ทรงมีแนวคิดแบ่งยุคสมัยเรียงลำดับ “ราชธานี” ของ “ชาติไทย” ไม่ได้ยกให้สุโขทัยเป็น “ราชธานีแห่งแรก”
ไม่นานหลังจากตั้งโบราณคดีสโมสร รัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาส กำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ แล้วทรงพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” (ปี 2451) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสำรวจของโบราณตามเมืองต่าง ๆ มีการสืบค้นข้อมูลทั้งเรื่องเล่าและตำนานประกอบการตั้งข้อสันนิษฐานมากมาย
ในส่วนคำนำ รัชกาลที่ 6 ทรงอธิบายว่า
“…หวังจะให้เป็นหนทางที่ผู้ชำนาญในโบราณคดี จะได้มีโอกาสพิจารณาและสันนิษฐานข้อความเกี่ยวข้องด้วยเมืองสุโขทัย สวรรคโลก และกำแพงเพชรต่อไป การสันนิษฐานโดยมิได้ตรวจพื้นที่หรือโบราณสถานนั้นย่อมเป็นการยากนัก เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงหวังอยู่ว่าหนังสือเล่มนี้ อาจเป็นเครื่องช่วยในทางสันนิษฐานได้บ้างเล็กน้อย…”
เที่ยวเมืองพระร่วงอาจเป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่เชื่อมโยงสุโขทัยกับ “ชาติไทย” ในฐานะที่เป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองเมื่อในอดีต มีความเป็นมายาวนาน มีโบราณวัตถุสำคัญสำหรับเชิดหน้าชูตา ดังที่รัชกาลที่ 6 ทรงระบุว่า
“…บางทีจะทำให้คนไทยรู้สึกขึ้นมาบ้างว่า ชาติไทยของเราไม่ใช่ชาติใหม่ และไม่ใช่ชาติที่เป็นคนป่า หรือที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า ‘อันซิวิไลซ์’ ชาติไทยของเราได้เจริญรุ่งเรืองมามากแล้ว…”
สุโขทัยจึงถูกเชื่อมโยงให้เป็น “ราชธานี” แห่งแรกของ “ชาติไทย” ดังที่รัชกาลที่ 6 ทรงระบุว่า “สุโขทัยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไทย” และ “สุโขทัยในเวลานั้นคงจะเป็นเมืองหลวงแห่งคณะไทยฝ่ายเหนือ”
แต่ผู้ที่ให้กำเนิดโครงร่างประวัติศาสตร์ไทยและแบ่งยุคสมัยเรียงลำดับ “ราชธานี” ของ “ชาติไทย” และยกให้สุโขทัยเป็น ราชธานีแห่งแรก คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแก้ไขหนังสือ “พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา” เพื่อตีพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2457 โดยทรงเรียบเรียง “เรื่องพงศาวดารสยามประเทศตอนต้น ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา” เพื่อจัดพิมพ์ครั้งนี้ ทรงระบุว่า ควรจัดเป็น 3 ยุค ตามลำดับ “ราชธานี” คือ สุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์
นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง “ประวัติราชอาณาจักรสุโขทัย” อยู่ในเล่มด้วย ทรงชำระตรวจสอบกับตำราหลายเล่ม เช่น คำแปลศิลาจารึกหลักที่ 1, ตำนานพระสิหิงค์, ชินกาลมาลินี, ราชาธิราช และจดหมายเหตุจีนที่แปลโดยขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) เป็นต้น
เนื้อหาใน “ประวัติราชอาณาจักรสุโขทัย” เน้นเรื่องการเมืองการปกครองสมัยสุโขทัย ที่มีกษัตริย์ทั้งหมด 5 พระองค์ ซึ่งสอดคล้องกับพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงกล่าวถึงในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง แตกต่างเพียงรายละเอียดเล็กน้อยบางส่วน
ในเรื่องกล่าวถึงกษัตริย์พระองค์สำคัญอย่าง “ขุนศรีอินทราทิตย์” พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์แรก “เมื่อเป็นราชธานีมีอิสรภาพ” กษัตริย์พระองค์ที่ 3 คือ “พระเจ้าขุนรามคำแหง” ที่มีเรื่องราวกล่าวถึงมากเป็นพิเศษ
วริศรา ตั้งค้าวานิช ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ ‘สุโขทัย’ ที่เพิ่งสร้าง” อธิบายว่า
“พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ที่มีพระนิพนธ์อธิบายเรื่องของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่ระบุอย่างเป็นทางการชัดเจนว่า สุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย ถือได้ว่า พระองค์เป็นผู้สถาปนาโครงสร้างประวัติศาสตร์ไทยที่มีลักษณะเป็นเอกภาพ ต่อเนื่องและยาวนาน”
นอกจากนี้ ในการแสดงบรรยายเรื่องพงศาวดารสยามของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้แก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2467 ยังทำให้เห็นแนวความคิดเกี่ยวกับการเชื่อมโยงสุโขทัยเข้ากับ “ชาติไทย” ในฐานะ “ราชธานี” แห่งแรก อีกด้วย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวย้อนไปถึงดินแดนประเทศไทยสมัยโบราณว่า มี “มนุษย์ 3 จำพวก” คือ ขอม ลาว และมอญ อยู่ในดินแดนนี้มาก่อน จนเมื่อมาถึงสมัยที่ “ไทยได้ปกครองสยามประเทศ” ชนเชื้อสายไทยถูกจีนรุกรานและได้อพยพลงมาจากจีนตอนใต้ โดยกล่าวถึงการที่พวกคนไทยในแถบล้านนาและสุโขทัย “ไม่ยอมให้พวกขอมบังคับตามชอบใจตั้งแต่ก่อน” จึงร่วมใจกันขับไล่ขอมออกไปและยกพ่อขุนบางกลางท่าวเป็นกษัตริย์ ครองเมืองสุโขทัย ทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ผู้เป็น “ปฐมกษัตริย์ไทยซึ่งได้ปกครองสยามประเทศ”
วริศรา ตั้งค้าวานิช อธิบายว่า เรื่องราวของสุโขทัยหลังปี 2450 ได้ถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ “ชาติไทย” อย่างเป็นทางการ โดยผู้มีบทบาทสำคัญคือ รัชกาลที่ 6 และสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์มีข้อวินิจฉัยใกล้เคียงกัน เห็นการเชื่อมโยงความคิดซึ่งกันและกัน มีการอธิบายเรื่องราวโดยประมวล วิเคราะห์ อ้างอิงหลักฐานจากเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งการสำรวจทางโบราณคดี อย่างไรก็ตาม การอธิบายเรื่องราวยังเน้นความสำคัญที่เรื่องการเมือง การปกครอง และพระมหากษัตริย์ เป็นหลัก
วริศรา ตั้งค้าวานิช สรุปว่า
“สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดของการสร้างประวัติศาสตร์สุโขทัยในยุคนี้คือ การกำหนดยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย กล่าวเชื่อมโยงไปถึงความเป็น ‘ชาติ’ ที่มีมาอย่างยาวนานและเจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งยังมีการให้ภาพสุโขทัยเป็นรัฐที่มีการปกครองดี เศรษฐกิจดี สังคมดี และประชาชนมีความสุข ซึ่งภาพของความเป็นสุโขทัยที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นโครงสร้างและกรอบความคิดอันสำคัญที่จะส่งต่อไปยังนักประวัติศาสตร์สามัญชนในยุคสมัยใกล้กัน รวมทั้งในยุคสมัยหลังจากนั้นด้วย”
อ่านเพิ่มเติม :
- น้ำปลาตราพ่อดื้อ กับ “ฤดูปลาขึ้น” ที่สุโขทัย วิถีท้องถิ่นที่(เคย)ทำน้ำปลากินเองได้ทุกปี
- ผ่าหนังสือ “แบบเรียน” ยุคสุโขทัยถึงคณะราษฎร การศึกษาเจริญช้า เกี่ยวกับแบบเรียนไหม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ตุลาคม 2563