ผู้เขียน | กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร |
---|---|
เผยแพร่ |
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งภายในเกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีสำคัญอีกแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไทย ดำรงความสำคัญสืบเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 1893-2310 รวม 417 ปี ด้วยภูมิสถานเมืองที่เอื้อต่อการติดต่อสัมพันธ์กับดินแดนต่างๆ ทั้งที่อยู่ภายในผืนแผ่นดินและดินแดนโพ้นทะเล สร้างความมั่นคงทางการเมืองการปกครองและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
การศึกษาเกี่ยวกับโบราณสถานของกรุงศรีอยุธยาเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ขุดแต่งพระที่นั่งบางองค์ในเขตพระราชวังหลวง
ต่อมา ในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มโครงการบูรณะพระที่นั่งและวัดสำคัญในกรุงศรีอยุธยา โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานดำเนินการ หลังจากนั้นจึงมีโครงการสำรวจ ขุดแต่งและบูรณะโบราณสถาน นับแต่ พ.ศ. 2512 เพื่อการอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ นำมาสู่การประกาศเขตโบราณสถานเมืองพระนครศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2519
โบราณสถานสำคัญในเขตพื้นที่นี้ อาทิ พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วิหารวัดมงคลบพิตร ครอบคลุมพื้นที่รวม 1,810 ไร่
โครงการฯ ดังกล่าวได้พัฒนาเป็นโครงการในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 นับแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา และใน พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรได้เสนอแผนแม่บทนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาขึ้น เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์แห่งนี้
ต่อมา พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศเขตโบราณสถานเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติม ครอบคลุมพื้นที่เกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบเกาะเมืองที่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีรวม 3,000 ไร่ โบราณสถานสำคัญในพื้นที่นี้ ได้แก่ พระราชวังจันทรเกษม กำแพงและป้อมปราการเมืองของกรุงศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนาราม วัดพุทไธสวรรย์ วัดพนันเชิง วัดภูเขาทอง หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านฮอลันดา หมู่บ้านญี่ปุ่น ฯลฯ
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนีเซีย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 นับเป็นมรดกโลกตามบัญชีในลำดับที่ 576
ข้อมูลจาก : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2561