“อยุธยา” เสี่ยงถูกยูเนสโกถอดจากมรดกโลก เพราะรถไฟความเร็วสูง!?

วัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา อโยธยา มรดกโลก
วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (JJ Harrison)

ท่ามกลางกระแสความยินดีหลัง “เมืองโบราณศรีเทพ” ถูกรับรองให้เป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” แห่งที่ 4 ของไทย โดยองค์การยูเนสโก แหล่งมรดกโลกอีกแห่งของเราอย่าง อยุธยา หรือนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กำลังถูกพูดถึงเป็นวงกว้างเช่นกันว่า (อาจ) อยู่ในภาวะ “สุ่มเสี่ยง” หรือมีแนวโน้มค่อนข้างน่ากังวลว่า จะถูกถอดจากสถานะ “มรดกโลก”

เรื่องราวทั้งหมดคืออะไร? อยุธยาอยู่ในภาวะเสี่ยงดังกล่าวจริงหรือ? ได้อย่างไร?

ประเด็นนี้มีคำสำคัญอยู่ 2-3 คำด้วยกัน ได้แก่ เมืองอโยธยา รถไฟความเร็วสูง และ สถานีรถไฟอยุธยา หมายเหตุตัวโต ๆ “เมืองอโยธยา” ในที่นี้ ไม่ใช่เกาะเมืองอยุธยาที่อยู่ด้านตะวันตก อโยธยา คือบริเวณทางรถไฟและสถานีรถไฟอยุธยา ตัวเมืองมีร่องรอยของคูน้ำคันดิน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และหลักฐานการมีอยู่ในตำนานพงศาวดารอโยธยาศรีรามเทพนคร กล่าวให้ชัดคือ นี่คือเมืองต้นกำเนิด “รัฐอยุธยา”

รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสว่า เมืองอโยธยา เป็นเมืองเก่าของอยุธยา หรือเมืองต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่เมื่อคราวเสด็จฯ อยุธยา พ.ศ. 2450 ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ชี้ว่า อโยธยาเป็นเมืองต้นกำเนิด “ความเป็นไทย” ภาษาไทย, ประเทศไทย, เถรวาทแบบลังกา, พระราม, วรรณกรรมไทย, สมุดข่อย ล้วนมีพัฒนาการจากเมืองอโยธยา

นายพเยาว์ เข็มนาค ผู้เขียนงานวิจัยเรื่อง “ระบบลำน้ำสมัยอยุธยา” อธิบายรายละเอียดของเมืองอโยธยาไว้ว่า อโยธยามีด้านกว้าง ตะวันออก-ตะวันตก ราว 1,400 เมตร ด้านยาว เหนือ-ใต้ ราว 3,100 เมตร คล้ายผังเมืองสุพรรณบุรี เพียงแต่สุพรรณฯ ยังปรากฏคันดินให้เห็น แต่อโยธยาไม่เหลือร่องรอยแล้ว เหลือเพียงคูเมืองเท่านั้น

ปัจจุบัน บริเวณเมืองอโยธยาเป็นที่ตั้งของ สถานีรถไฟอยุธยา และบริเวณที่ทางรถไฟตัดผ่านแนวเหนือ-ใต้นั้น เรียกได้ว่า “ผ่า” กลางเมืองเลยทีเดียว ที่สำคัญ เส้นทางดังกล่าวกำลังจะถูกพัฒนาเป็น รถไฟความเร็วสูง ในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับนักอนุรักษ์แล้ว อโยธยาถูกมองข้ามจากการศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและความเป็นมรดกโลกระหว่างการอนุมัติโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง นั่นเพราะผู้เกี่ยวข้องถือว่าบริเวณนี้อยู่ห่างจากเกาะเมืองอยุธยา

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี อโยธยาคือเมืองต้นกำเนิด “อยุธยา” ต้นกำเนิดความเป็นชาติไทย ประชาชนและนักวิชาการประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งจึงคัดค้านการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองอโยธยา เพราะโครงการดังกล่าว “อาจ” ส่งผลกระทบต่อเมืองอโยธยา และ “อาจ” รวมถึงอยุธยาในฐานะมรดกโลกด้วย

ดังจะเห็นว่า องค์การยูเนสโกส่งข้อความแสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวว่าจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน โบราณวัตถุ ของอยุธยาหรือไม่

เมืองอโยธยา แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันคือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก (นอกเกาะเมืองอยุธยา) บริเวณสถานีรถไฟอยุธยา [ภาพจากวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2560 รองปกหน้า-หน้า 1]
ทั้งนี้ ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งมองถึงการพัฒนาที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว และการพัฒนาเมือง โดย นายนิรุฒ  มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลว่า รางรถไฟความเร็วสูงจะไม่ก่อปัญหา เพราะสร้างบนแนวรถไฟเดิม และตำแหน่งสถานียังอยู่ห่างจากพื้นที่ (นครประวัติศาสตร์) กว่า 2 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางรถไฟเดิมและสถานีรถไฟอยุธยาที่สร้างมาก่อน ได้ส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน-วัตถุไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ไทยยังไม่ใช้กฎหมายคุ้มครองมรดกทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนโบราณสถาน-วัตถุ อะไรคือสิ่งรับประกันว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง จะไม่ส่งผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรมอีก ยกตัวอย่าง เจดีย์วัดสามปลื้ม หรือ “เจดีย์นักเลง” ที่ตั้งอยู่กลางถนน พื้นที่เมืองอโยธยา เป็นหลักฐานประจักษ์พยานว่า ทุกตารางนิ้วของเมืองอโยธยามีซากโบราณสถานอยู่ และอาจมีอีกจำนวนหนึ่ง (หรือจำนวนมาก) ที่ยังขุดไม่พบ

20 เมษายน พ.ศ. 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น และการรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

นายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงว่า ควรเลือกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการยอมรับผลกระทบที่อาจตามมา มีวิธีที่สามารถอนุรักษ์และพัฒนาโดยเกิดผลกระทบน้อยที่สุดอยู่ คือการทำ (โครงการ) บนพื้นที่ราบ ไม่เจาะ ขุด ทำลาย เพื่อลดการสูญเสีย “ลงทุนแค่ไหนก็คุ้มค่า…ต้องควบคู่กันทั้งสองด้าน ประเด็นของค่าใช้จ่าย หรือการเสียเวลา กับสิ่งที่เราต้องสงวนรักษาไว้ ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะในส่วนต่าง ๆ ที่เราสูญเสียไปแล้ว เราไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ อยุธยาฯ ไม่ใช่แค่จังหวัด แต่เป็นนครประวัติศาสตร์”

ด้าน นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ว่า ตนเตรียมยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอเสนอญัตติด่วนเรื่อง ให้สภาผู้แทนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลกเมืองเก่าอโยธยาจากโครงการรถไฟความเร็งสูง สถานีอยุธยา 

นายทวิวงศ์กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เคยปฏิเสธรถไฟความเร็วสูง เพราะก็อยากเห็นเมืองเจริญ แต่จุดที่จะก่อสร้างสถานีมีแนวโน้มจะเกิดผลกระทบหลายด้านต่อคนในพื้นที่ รวมถึงผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ จึงอยากเห็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง โดยกล่าวส่งท้ายว่า ความคิดเห็นส่วนตัวผมมองว่าอยากให้อนุรักษ์โบราณสถานอย่างจริงจัง การอนุรักษ์ต้องมาก่อน เพราะหากถูกทำลายจะไม่สามารถนำกลับคืนมาได้”

19 กันยายน 2566 หลังการรับรองเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยองค์การยูเนสโก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงประเด็นผลกระทบของการสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่านเมืองอโยธยา โดยเฉพาะผลกระทบต่อสถานะมรดกโลกของอยุธยา

นายพนมบุตร ให้ข้อมูลกับมติชนออนไลน์ว่า เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบ การรถไฟแห่งประเทศไทยให้มหาวิทยาลัยศิลปากรศึกษาอยู่ สำหรับองค์การยูเนสโกที่แสดงความเป็นห่วงเข้ามา หากมีผลกระทบต้องมีการแก้ไข เช่น การเบี่ยงหรือเลี่ยงเส้นทาง ตลอดจนการสร้างอุโมงค์ลอด แต่ผลการศึกษาผลกระทบยังไม่ได้ข้อสรุป จึงยังไม่มีการดำเนินการเพิ่มเติมจากกรมศิลปากร

“ยืนยัน พ่อ-แม่ พี่-น้องชาวอยุธยาสบายใจได้ กรมศิลปากรและกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้เพิกเฉย หรือไม่ได้ละทิ้งในเรื่องนี้ และผมเชื่อว่าการรถไฟฯ ก็มีแนวโน้มในทางที่ดี ที่จะไตร่ตรองและรอผลการศึกษาที่คาดว่าใกล้จะแล้วเสร็จ”

เมื่อถามถึงการที่องค์การยูเนสโกส่งโนติส (Notice) เกี่ยวกับประเด็นผลกระทบต่อมรดกโลกอยุธยา นายพนมบุตรกล่าวว่า นั่นไม่ใช่เป็นสัญญาณเตือนที่น่ากังวลใจแต่อย่างใด ทุกประเทศมีหลักที่ต้องปฏิบัติต่อมรดกโลกในการดูแลของตน หาก (ยูเนสโก) รู้สึกว่ามีสิ่งที่อาจไม่เป็นตามเกณฑ์ ย่อมแสดงความเป็นห่วงเข้ามา เป็นเรื่องธรรมดา

นายพนมบุตรกล่าวทิ้งท้ายว่า “ไม่ใช่ว่าเขาจะถอดถอนเราออกจากบัญชีเลย… อย่างอยุธยาไม่ได้มีแค่เรื่องรถไฟความเร็วสูงอย่างเดียว มีเรื่องบริหารจัดหารพื้นที่ต่าง ๆ กรมศิลปากรก็ปฏิบัติตามคำแนะนำ เพราะมันเป็นพันธสัญญาระหว่างกัน ขอยืนยันว่าอยุธยายังอยู่ในสถานะที่ปลอดภัย และสถานะของการเป็นมรดกโลกยังคงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ไม่มีปัญหา”

อโยธยา อยุธยา มรดกโลก
SAVE อโยธยา เพราะเมืองอโยธยาสุ่มเสี่ยงสาบสูญจากระบบรถไฟความเร็วสูง (ซ้าย) ทางรถไฟและสถานีรถไฟอยุธยา (ในวงกลม) อยู่ในเมืองอโยธยา ริมแม่น้ำป่าสัก (ขวา) เกาะเมืองอยุธยาบริเวณหัวรอและวังจันทรเกษม (วังหน้า)

ประเด็นผลกระทบต่อ มรดกโลก ตลอดจนสถานะมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอยุธยาจึงยังต้องติดตามกันต่อไป รวมถึง “โนติส” จากยูเนสโกที่ต้องย้ำว่าเป็นเพียงการ “แสดงความห่วงใย” ไม่ใช่คำเตือนหรือคำขู่แต่อย่างใด

สุดท้ายแล้ว การรับรองศรีเทพเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมลำดับที่ 4 พอจะย้ำเตือนได้บ้างว่า กว่าเราจะได้การรับรองดังกล่าวมาด้วยความลำบากยากเย็นนั้น สำหรับสิ่งที่มี (หรือเป็น) อยู่ก่อนแล้ว ย่อมควรถูกถนอมรักษาไว้ให้ดีที่สุดเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มติชนออนไลน์. ส.ส.อยุธยา เตรียมเสนอญัตติด่วน ตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบสร้างสถานีไฮสปีดเทรน. 1 กันยายน 2566. จาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_4158834>

มติชนออนไลน์. กรมศิลป์ รับ ยูเนสโกห่วงรถไฟกระทบอยุธยา อยู่ในขั้นตอนศึกษา ยังไม่ถูกถอดมรดกโลก. 19 กันยายน 2566. จาก <https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_4188756>

มติชนออนไลน์. ‘อดีตอธิบดีกรมศิลป์’ เบรกให้คิดใหม่ ดึงเทคโนโลยีทำ ‘รถไฟไฮสปีด’ ถึงเสียเงิน-เวลา แต่มรดกอยุธยาไม่ตาย. 20 เมษายน 2566. จาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_3935332>

สุจิตต์ วงษ์เทศ ใน มติชนออนไลน์. ‘ไฮสปีด’ มุ่งพิฆาตเมืองอโยธยา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. 24 เมษายน 2566. จาก <https://www.matichon.co.th/columnists/news_3941342>

สุจิตต์ วงษ์เทศ ใน มติชนออนไลน์. อโยธยา รูปร่างหน้าตาเมืองสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. 22 เมษายน 2566. จาก <https://www.matichon.co.th/columnists/news_3938397>

สุจิตต์ วงษ์เทศ ใน มติชนออนไลน์. รัฐราชการไทย ทำลาย ‘เมืองต้นกำเนิด’ ความเป็นไทย และประเทศไทย. 17 สิงหาคม 2566. จาก <https://www.matichon.co.th/columnists/news_4134004>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2566