“จีน” ลูกค้ารายใหญ่ ซื้อข้าวอยุธยา ยุค “พระเจ้าท้ายสระ-พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” 

ภาพ ยูเดีย หรือ กรุงศรีอยุธยา ภาพกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา อยุธยา
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมัย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงศรีอยุธยาอยู่ในยุคที่ “ข้าว” อุดมสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ โดยมี “จีน” เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด  

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ และ พรนิภา พฤฒินารากร ระบุไว้ตอนหนึ่งในบทความ “ข้าว: ในสมัยปลายอยุธยา พ.ศ.2199-2130”, ข้าวไพร่-ข้าวเจ้า ของชาวสยาม ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปี 2531 ว่า 

ข้าวในอยุธยาคงทำการซื้อขายกันตามธรรมดาระหว่างชาวบ้านกันเอง คงไม่เป็นล่ำเป็นสัน เพราะเกือบทุกครอบครัวก็ทำนา แต่ในเมืองหลวงมีการค้าข้าวเป็นล่ำเป็นสัน จนมีชื่อเรียกพื้นที่ว่า สะพานข้าวเปลือก คลองข้าวเปลือก เป็นต้น 

ข้าว ยังเป็นสินค้าสำคัญที่กรุงศรีอยุธยาค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งการค้าข้าวกับต่างประเทศได้เริ่มมาตั้งแต่โบราณแล้ว พอถึงสมัย พระเจ้าปราสาททอง ได้มีการห้ามขายข้าวกับต่างประเทศอยู่พักหนึ่ง แต่เมื่อเริ่มสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยาก็ขายข้าวให้ต่างประเทศต่อไป มีทั้งที่ส่งไปขายเอง และที่พ่อค้าฝรั่งเข้ามาซื้อ แล้วไปขายต่ออีกที่หนึ่ง เช่น ฮอลันดา ฝรั่งเศส โดยต่างประเทศที่เราค้าข้าวให้ในปลายอยุธยาได้แก่ ฮอลันดา ฝรั่งเศส หัวเมืองชายทะเลแถบมลายู มะละกา ชวา ปัตตาเวีย ญวน เขมร มะนิลา ลังกา ญี่ปุ่น และจีน

อิทธิพล “จีน” ยุค สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

บทความระบุว่า ใน พ.ศ. 2257 ในสมัย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ จีนเริ่มจะมีอิทธิพลมากขึ้น ดังที่มองซิเออร์ ซิเซ เขียนในปี 2257 ว่า เจ้าพระยาพระคลังสมัยนี้มีอิทธิพลมากและสนิทกับจีน ก็ชักชวนจีนเข้ามาค้าขายมากมาย และหลังจากช่วงนี้ไป จีนก็เข้ามามีบทบาทแทนฮอลันดา เป็นการแสดงให้เห็นว่า เพราะเหตุใดในสมัยแรกๆ ของปลายอยุธยา ฮอลันดามาซื้อข้าวจากอยุธยามาก และหลังจากนี้แล้วก็น้อยลงจนเกือบจะไม่มีหลักฐานกล่าวไว้เลย หรือเพราะอิทธิพลของฮอลันดาในแถบนี้ลดน้อยลง ฝรั่งชาติอื่นเข้ามาแทนที่ ส่วนประเทศอื่นเคยค้าข้าวกับอยุธยาอย่างไรก็คงค้าต่อไปเรื่อยๆ

ตั้งแต่ปี 2265-2300 หรือนับตั้งแต่สมัย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ลงไป “จีน” กลายเป็นตลาดค้าข้าวที่สำคัญของอยุธยา ประจวบเหมาะกับในช่วงนั้นจีนมีพลเมืองเพิ่มขึ้นมาก และกำลังขาดแคลนข้าวมาก จีนถึงได้ประกาศว่า “ถ้าไทยส่งข้าวไปขายถึง 3,000,000 ถัง (300,000 เจี๊ยะ) แล้วจะไม่เสียภาษี ฉะนั้น จีนก็ต้องหาแหล่งข้าวมากๆ คืออยุธยา 

ดังเช่นในบันทึกของจีนในปี 2265 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ “ชาวสยามพูดว่า บ้านเมืองเขานั้นข้าวสารสมบูรณ์ และถูกมาก เงิน 2-3 สลึงซื้อข้าวได้เจี๊ยะหนึ่ง” (เท่ากับ 10 ถัง) เกวียนหนึ่งก็ตกราว 7 บาทกว่า แสดงว่าข้าวในอยุธยาตอนนี้มีมากจริงๆ ราคาถึงได้ถูกกว่าแต่ก่อน

จีน ลูกค้ารายใหญ่มาตั้งแต่ยุคอยุธยา 

จีนได้มาซื้อข้าวจากอยุธยาเป็นเวลาติดต่อกันตามในบันทึก ตั้งแต่ปี 2265 ถึงราวปี 2294 จะยกเอาบันทึกของจีนจากหนังสือพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับจีน หนังสือประวัติการค้าไทย และหนังสือของ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ (G. William Skinner) ซึ่งได้กล่าวตรงกัน เป็นลำดับดังนี้

สมัย “สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ” 

ปี 2265 ราชทูตไทยไป พระเจ้าเสี่ยโจ๋วหยินฮ่องเต้ได้รับสั่งให้เอาข้าวสารไปขายที่เมืองฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และนิงโผบ้าง เพราะข้าวสารเมืองไทยสมบูรณ์ เงิน 2-3 สลึงซื้อข้าวสารได้เจี๊ยะหนึ่ง ให้เอาไปขาย 3,000,000 ถังไม่เสียภาษี

ปี 2267 ราชทูตไทยเอาข้าวสารไปขายมาก

ปี 2271 ไทยเอาข้าวสารไปขายที่เมืองเอ้หมึง

ปี 2271 ราชทูตไทยเอาข้าวสารไปขาย และขอซื้อลวดทองเหลืองมา

สมัย “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ”

ปี 2286 ไทยเอาข้าวสารไปขายที่เมืองฮกเกี้ยน จีนตั้งเป็นธรรมเนียมว่าต่อไปถ้าต่างประเทศเอาข้าวมาขายแล้ว ถ้าเอาข้าวมา 1,000,000 ถัง ให้เก็บเงินค่าภาษี 10 ส่วน ให้ลดเสีย 5 ส่วน ถ้าเอามา 50,000 ถัง เก็บ 10 ส่วน ให้ลดเสีย 3 ส่วน

ปี 2289 ไทยเอาข้าวสารไปขายที่เมืองหมังไฮ้ จำนวน 43,000 ถัง และ 38,000 ถังเศษ ลดค่าภาษีให้ไทยพิเศษ คือเก็บ 10 ส่วนลด 2 ส่วน

ปี 2290 จดหมายจีนว่า ปลัดเทศาภิบาลมณฑลฮกเกี้ยน ชื่อ ต้นไต้ลิง ทูลพระเจ้าเราจงสุนฮ่องเต้ว่า พวกพาณิชย์เมืองฮกเกี้ยนไปซื้อข้าวสารเสียมหลอก๊กกลับมาพูดว่า เครื่องไม้ในเสียมหลอราคาถูกที่สุด

ปี 2294 พวกพ่อค้าที่หมังต๊ก (มณฑลฮกเกี้ยน) ไปซื้อข้าวสารจากไทย 20,000 ถัง กษัตริย์จีนยังได้ประกาศว่าใครซื้อข้าวได้มากกว่า 20,000 ถัง แล้วจะมีรางวัลให้

พิจารณาจากรายการแต่ละปีที่ไทยส่งข้าวไปขายในช่วงนี้ จะสังเกตได้ว่า จีนต้องการข้าวอย่างมาก คือ ที่กษัตริย์จีนได้ประกาศว่า เอาข้าวไปขาย 3,000,000 ถัง จะไม่ต้องเสียภาษี และต่อมาก็ตั้งธรรมเนียมว่าถ้าเอาไปขาย 100,000 ถัง เก็บภาษี 10 ส่วน ลด 5 ส่วน และ 50,000 ถัง เก็บ 10 ส่วน ลด 3 ส่วน เมื่อไทยส่ง 40,000 กว่าถัง จีนก็ลดภาษีพิเศษให้ และท้ายสุดยังประกาศให้รางวัลผู้มาซื้อข้าวได้มากกว่า 20,000 ถัง

แต่ปรากฏว่า ข้าวคงส่งไปขายไม่เกินกว่า 50,000 ถังแน่ เพราะถ้าส่งไปถึงคงได้ลดภาษี 3 ส่วนดังกล่าว และจีนจะต้องดีใจบันทึกไว้แน่นอน ผู้เขียน (ทวีศิลป์และพรนิภา) คิดว่า จำนวน 43,000 ถังคงจะเป็นจำนวนมากที่สุด ถึงได้ลดภาษีพิเศษ 2 ส่วนให้

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า ข้าวอยุธยาที่ประเทศต่างๆ ซื้อ จะไม่มีประเทศใดซื้อมากเท่าจีนเลย เทียบจากจีนซื้อข้าวเป็นจำนวนหมื่นถัง ขณะที่ฮอลันดาซื้อตัวเลขแค่พันเท่านั้น (285 กระสอบ = 1,700 กว่าถัง)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2566