“ข้าวหอมมะลิ” เกิดจากนาภาคกลาง แต่ไปเติบโตไกลถึงทุ่งกุลาร้องไห้

ข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลา
ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ในฤดูกาลเก็บเกี่ยว

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะข้าวปลาอาหารราคาแพง องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าจะเกิดการขาดแคลนอาหารตามมาในอนาคต จึงริเริ่มโครงการปฏิวัติเขียว เพื่อส่งเสริมการผลิตธัญญาหารเลี้ยงพลเมืองโลก ซึ่งอเมริกาเข้ามาช่วยเหลือโครงการนี้ เป็นที่มาของ ข้าวหอมมะลิ ที่ ทุ่งกุลาร้องไห้

ประเทศไทยมุ่งปรับปรุงพันธุ์ข้าวเป็นสำคัญ โดยเน้นที่ผลผลิตต่อไร่สูง ขณะเดียวกันก็มีการเก็บรวงข้าวพื้นเมืองมาคัดสายพันธุ์บริสุทธิ์ และมีลักษณะดีออกเผยแพร่ ปี 2493 รัฐบาลอเมริกาส่งผู้เชี่ยวชาญมาสนับสนุน 2 คน คือ ดร. โรเบิร์ต แพนเดอร์ตัน (Dr.Robert Panderton) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน มาร่วมปรับปรุงพัฒนาการใช้ที่ดิน และ ดร.แฮริ เอช.เลิฟ (Dr.Harris H.Love) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชมาช่วยปรับปรุงพันธุ์ข้าว จนกระทั่งปลายปี พนักงานข้าว 30 คนที่เข้าอบรมก็แยกย้ายกันไปเก็บรวบรวมตัวอย่างข้าวพันธุ์ดีจากทั่วประเทศ เพื่อศึกษาทดลอง คัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์

รวงข้าวจากภารกิจครั้งนั้น มีอยู่หนึ่งรวงที่กลายเป็นรากเหง้า “ข้าวหอมมะลิ” ในปัจจุบัน

นายสุนทร สีหะเนิน อดีตพนักงานข้าว อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา สังกัดกองข้าว กรมกสิกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในพนักงานที่เข้าอบรมมีความชำนาญพื้นที่ดี จึงได้รับมอบหมายให้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวแถบภาคตะวันออก

พื้นที่บางคล้าสมัยนั้น ชาวนายังทำนาแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ นาส่วนใหญ่เป็นนาสวน เนื่องจากเป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ นาสวน ชาวนาจะใช้วิธีการปักดำข้าว ข้าวที่ปลูกเป็นพันธุ์ข้าวไม่ขึ้นน้ำ (พ้นน้ำ) หากนำไปปลูกที่ลุ่มน้ำ ข้าวจะเน่าตายเพราะถูกน้ำท่วม สมัยก่อนถือว่านาแถบบางคล้าหรือฉะเชิงเทราเป็นแหล่งปลูกข้าวชั้นดีของประเทศ ข้าวหอมมะลิก็เป็นข้าวดังของอำเภอบางคล้าที่มีมานาน นายสุนทรจึงตัดสินใจเก็บส่งปรับปรุงสายพันธุ์ “หอมมะลิ” (แต่เดิมชาวนาบางคล้าเรียกข้าวพันธุ์นี้ว่า “ข้าวขาวดอกมะลิ”)

วิธีการเลือกเก็บรวบรวมพันธ์ุข้าวนั้นมีหลักว่า “ต้องให้ความยุติธรรมกับต้นข้าว” คือ 1. เลือกนา ต้องเป็นนาที่ติดต่อกัน 10-15 ไร่, ปลูกข้าวสายพันธุ์เดียวกัน, ข้าวงามสม่ำเสมอ 2. เลือกข้าว ข้าวริมคันนาได้เปรียบดูดปุ๋ยจากคันนาที่ว่าง ไม่เก็บ, ข้าวงามกว่าปกติ ไม่เก็บ, เลือกต้นข้าวกอที่ต้นแข็งแรง ไม่ล้ม เลือกรวงที่เมล็ดข้าวสมบูรณ์ น้ำหนักเมล็ดดี เลือกตัดที่กลางต้นเพียงรวงเดียว ซึ่งต้องเป็นรวงที่สุกเต็มที่

แต่สำหรับข้าวหอมมะลิแล้วใช้เกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ เพราะข้าวหมอมะลิต้องปลูกบนที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง ผืนนาที่ปลูกมักมีขนาดเล็ก 3-5 ไร่ กระจายตามลักษณะภูมิประเทศ

ข้าวหอมมะลิจากอำเภอบางคล้า ที่นายสุนทรเก็บส่งปรับปรุงสายพันธุ์ ปี 2498 กรมการค้าส่งไปปลูกคัดพันธุ์ให้บริสุทธิ์ ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ต่อมาปี 2500 มีการนำพันธุ์ข้าวหอมมะลิไปทดลองปลูกในภาคต่างๆ จึงพบว่า ข้าวหอมมะลิไม่เหมาะที่จะปลูกในที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในภาคกลาง เพราะเมล็ดข้าวจะอ้วน ไม่แกร่ง หักง่าย

ในภาคเหนือ สายพันธุ์ที่ 103 (หรือรวงที่ 103) ให้ผลดี แต่เนื่องจากคนเหนือไม่นิยมบริโภคข้าวเจ้า จึงมีคนปลูกน้อย

ส่วนในภาคอีสาน ข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ 105 (รวงที่ 105) ให้ผลดีมาก รวงดีที่สุด เมล็ดยาวเรียวสมบูรณ์

เมื่อการคัดพันธุ์และปลูกทดลองข้าวหอมมะลิเป็นผลสำเร็จ คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์จึงประกาศให้ใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิพันธ์ุที่ 105 ขยายพันธุ์ได้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ปี 2502 โดยใช้ชื่อว่า “ขาวดอกมะลิ 4-2-105” (4-อำเภอที่ 4 คืออำเภอบางคล้า, 2- พันธุ์ข้าวที่ 2, 105-รวงข้าวมี 105 ที่เลือกพันธุ์ออกมา) แต่มักเรียกกันว่า ข้าวขาวดอกมะลิ 105

หลังการคัดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีสำเร็จ ในปี 2502 กรมการข้าวจึงเริ่มโครงการทำนาสาธิตแปลงใหญ่ขึ้นที่ ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นทุ่งร้างกว้างใหญ่ ครอบคลุมเขตรอยต่อ 5 จังหวัดด้วยกัน คือ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม โดยทำแปลงนาสาธิตขนาดใหญ่เป็นร้อยไร่รอบๆ ทุ่งกุลา มีหลายประเทศเข้ามาร่วมให้ความช่วยเหลือ เช่น อเมริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น

เมื่อการปลูกข้าวหอมมะลิรอบทุ่งกุลาในครั้งนั้นได้ผลผลิตดี ชาวนาแถบทุ่งกุลาจึงหันมาเพาะปลูกข้าวหอมมะลิกันมากขึ้น แต่กว่าข้าวหอมมะลิจะเต็มทุ่งกุลา ก็ต้องใช้เวลากว่า 30 ปี นับแต่ปี 2502-2536

เมื่อการปลูกข้าวหอมมะลิให้ผลดี จังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ก็เริ่มปลูกข้าวหอมมะลิไว้ขายเพราะได้ราคาสูง ส่วนข้าวเหนียวก็ยังคงปลูกไว้บริโภค ภาคอีสานกลายเป็นภูมิภาคที่ปลูกข้าวหอมมะลิขายเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุด แต่คุณภาพข้าวหอมมะลิพื้นที่อื่นแม้จะเป็นพื้นที่ภาคอีสานเช่นกันก็สู้ที่มาจากทุ่งกุลาไม่ได้

ปี 2522 ไทยสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิไปขายตลาดโลกเป็นครั้งแรก เพื่อแบ่งตลาดข้าวบัสมาติของอินเดียที่มีชื่อเสียงอยู่ก่อนหน้าแล้ว ตลาดที่สำคัญคือ อเมริกา (คนเอเชียที่อยู่ในอเมริกานิยมบริโภค), จีน, ยุโรป, ไต้หวัน, ฮ่องกง, สิงคโปร์ เป็นต้น

อนึ่ง เกี่ยวกับข้าวหอมมะลินี้ บ้างว่ามีแหล่งกำเนิดที่จังหวัดลพบุรี, บ้างก็ว่ามาจากแหลมประดู่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยนายจรูญ ตัณฑวุฒ นำมาปลูกที่อำเภอบางคล้า เมื่อปี 2488 ส่วนชื่อ “หอมมะลิ” ก็มีผู้เล่าว่าเป็นชื่อที่นายพิศาล มูลศาสตรสาทร เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้ตั้งตามชื่อของภรรยา (คุณหญิงมะลิ มูลศาสตรสาทร)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหมอ, สำนักพิมพ์มติชน 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2563