ข้อมูลเรื่องข้าวปลายสมัยอยุธยายืนยัน “กรุงศรีอยุธยา” เมืองอู่ข้าวอู่น้ำตัวจริง

ข้าว ทุ่งนา ทุ่งข้าว รวงข้าว
(ภาพจาก www.technologychaoban.com)

ในสมัยอยุธยาตอนปลาย จากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจนถึงเสียกรุงครั้งที่ 2 ผู้คนมักอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อการคมนาคม ทำมาหากิน แม่น้ำสายใหญ่และสำคัญคือ แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ดินสองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ลุ่ม การปลูก “ข้าว” ทำนาก็คงใช้พื้นที่แถบดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ แม้ในสมัยรัตนโกสินทร์จนปัจจุบันนี้ แหล่งปลูกข้าวสำคัญก็ยังเป็นแถบแม่น้ำเจ้าพระยานี้

ซึ่งที่ดินที่ใช้ปลูกข้าวในสมัยอยุธยาตอนปลายกับสมัยปัจจุบันคงไม่ต่างกันมาก คือให้ความสำคัญแก่แม่น้ำเจ้าพระยา (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ที่ดินแถบอื่นจะไม่ได้ปลูกข้าว เพราะปรากฏว่ามีการเก็บภาษีข้าวในที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง เช่น เก็บภาษีนาฟางลอย หรือจากที่ว่า “เมืองแดนต่อแดน มักไม่ส่งค่านาเต็มเม็ดเต็มหน่วย” แต่การปลูกข้าวคงไม่มากเท่ากับแถบแม่น้ำเจ้าพระยา)

1. บริเวณที่ใช้ทำการเพาะปลูก

เมื่อมีการปลูกข้าวทำกันมากแถบแม่น้ำเจ้าพระยา จึงใคร่ขอเสนอที่ดินในการปลูกข้าวให้แคบลงอีก จากพื้นที่จริงของอาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ถึงเสียกรุงครั้งที่ 2 นั้น

ทางเหนือ อยุธยาคงมีอำนาจแถบพิษณุโลกหรืออาจเหนือขึ้นไปอีกเล็กน้อย เชียงใหม่เองก็หาใช่อาณาเขตที่แท้จริงไม่ (จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยรัตนโกสินทร์เชียงใหม่จึงเป็นอาณาเขตไทยทั้งนิตินัยและพฤตินัย)

ทางใต้ ก็คงมีอาณาเขตถึงแค่สงขลาและปัตตานี

ทางตะวันตก ถึงเมืองกาญจนบุรี และบางทีอาจเลยถึงเมืองมะริด ตะนาวศรีบ้าง

ทางตะวันออก คงมีอำนาจจริงแค่แถบนครราชสีมา หรือเลยขึ้นไปอีกก็ได้แต่คงไม่ไกลนัก

และถ้าเราพิจารณาจากอาณาเขตที่ประมาณไว้ให้แคบเข้า แถบตะวันตกเป็นป่าเป็นเขามาก ทำการเพาะปลูกคงไม่ค่อยเหมาะ ทางใต้พื้นที่ราบแคบถ้าเพาะปลูกก็คงไม่มาก คงเป็นบางแห่งทางตะวันออกก็ค่อนข้างแห้งแล้ง ยกเว้นทางจันทบุรีที่เพาะปลูกได้บ้าง

เราก็หันมาพิจารณาทางเหนือกับดินแดนตอนกลาง จะเห็นว่าเป็นที่ลุ่มที่ดีมาก และในความคิดของผู้เขียนคิดว่า คงปลูกมากตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา และคงปลูกมากแถบชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี และใกล้เคียงกับอยุธยา เพราะดินแดนแถบนี้มีแม่น้ำไหลผ่านเป็นที่ลุ่ม และจากการศึกษาเมืองชัยนาทเก่า อ่างทอง ก็พบว่าคงเคยเป็นที่ปลูกข้าวมากมาก่อน นอกจากนี้ผู้เขียนก็ขอเสนอดินแดนแถบสุพรรณบุรี ซึ่งก็เป็นดินแดนที่มีแม่น้ำท่าจีนผ่าน และเคยเป็นดินแดนซึ่งเคยมีอำนาจมาก่อนเมื่อสมัยต้นอยุธยา คงต้องทำการเพาะปลูกมากแน่

นอกจากนี้ จากการอ้างอิงของลาลูแบร์ถึงเมืองบางกอก ธนบุรี ซึ่งก็คงมีการเพาะปลูกด้วยเหมือนกัน ส่วนทางเหนือขึ้นไปจากนครสวรรค์ก็คงมีการปลูกข้าวบ้าง แต่คงไม่มากเหมือนทางใต้นี้ ที่พิษณุโลกก็คงทำนากันมาก เพราะเป็นเมืองสำคัญทางเหนือ จึงต้องเลี้ยงตัวด้วย

อนึ่ง พื้นที่อื่นก็ปลูกข้าวได้ แต่คงไม่มากเหมือนแถบนี้ เช่นที่กำแพงเพชรก็ทำการปลูกข้าวได้ ดังเมืองกำแพงเพชร ที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม 2 ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกว่า “ครั้นถึงเดือน 5 ปีมะเส็ง เอกศก พระเจ้าหงสาวดีดำรัสให้พระมหาอุปราชถือพล 50,000 ลงมาตั้งทำนา ณ เมืองกำแพงเพชร” และถ้าเมืองที่น้ำท่วมไม่ถึงก็ทำการปลูกข้าวที่เรียก “นาดอน” กัน

จากการศึกษาที่ดิน คือเมืองต่าง ๆ เราจะเห็นว่า ในตอนหลังนี้เมืองได้เกิดขึ้นใหม่ ๆ หลายเมือง อาจเพราะการขยายการปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น เช่น เมืองอ่างทอง “ซึ่งสมัยอยุธยาตอนต้นๆ ยังไม่ปรากฏชื่อเมืองนี้ จึงเข้าใจว่าคงจะเป็นเพียงชายเขตแขวงของพระนครหลวงเท่านั้น แม้สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ยังไม่ปรากฏว่ามีชื่อเมืองในท้องที่อ่างทองเลย” และตัวอย่าง เช่น เมืองบางกอกก็พึ่งมารู้ในสมัยของพระนารายณ์ – ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ยังมีการยกบ้านตลาดขวัญเป็นนนทบุรี บ้านท่าจีนเป็นเมืองสาครบุรี ส่วนของราชบุรี-สุพรรณบุรีเป็นนครชัยศรี เมืองต่างๆ เหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพราะการขยายเนื้อที่การเพาะปลูกซึ่งคงปลูกข้าวมากขึ้น

ข้าว ทุ่งนา
(ภาพจาก หนังสือข้าวไพร่-ข้าวเจ้า ของชาวสยาม)

สำหรับในตัวอยุธยาเอง ในเวลาปกตินั้นคงจะไม่มีการปลูกข้าวเป็นล่ำเป็นสันในตัวเมือง แต่จากการศึกษาตามพงศาวดารมักจะกล่าวถึงว่า เมื่อเวลาสงครามจะกวาดต้อนผู้คนเข้าในเมืองและในจดหมายเหตุฝรั่งก็บอกว่า ตัวอยุธยาก็มีที่ว่างทางด้านตะวันตกของเกาะ ที่นี่อาจใช้ทำนาในยามข้าศึกปิดล้อมก็ได้ นอกจากเป็นที่อยู่อาศัยและย่อมจะมีการปลูกข้าวขึ้นซึ่งก็คงใช้เฉพาะเวลาสงครามเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามในพงศาวดารก็กล่าวถึง สะพานขายข้าว และ คลองประตูข้าวเปลือก ซึ่งคงมีการขายข้าวกันมากในบริเวณที่กล่าว และมีชื่อประตูคลองข้าวเปลือกก็คงจะลำเลียงมาจากที่อื่นมากกว่าและนำมาขายในอยุธยา

ถ้าจะคำนวณเนื้อที่ทำการปลูกข้าวออกมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่นาที่ปลูกข้าวในประเทศประมาณหยาบๆ ได้ 16.5 ล้านไร่ ซึ่งถ้าเราจะประมาณในสมัยอยุธยาตอนปลายคงได้ราว 10-13 ล้านไร่ โดยที่ประชากรในตอนปลายอยุธยามีราว 6 ล้านคน พอๆ กับที่สังฆราชปาลเลกัวซ์เล่าเรื่องเมืองไทยในรัชกาลที่ 4 ก็มีราว 6 ล้านคน

2. ประชากร

ที่เราต้องมาพิจารณาปัญหาประชากร เพราะคนก็เป็นปัจจัยเศรษฐกิจที่สำคัญ เราจะผลิตข้าวได้มากน้อยขึ้นกับจำนวนคน แต่ก็เป็นการยากที่จะรู้จำนวนคนที่แน่นอนในอยุธยาตอนปลาย สิ่งที่จะเสนอเป็นข้อสันนิษฐานจากข้อมูลที่ได้เท่านั้น

ในสมัยปลายอยุธยา นับตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ซึ่งเป็นสมัยที่คนต่างชาติเข้ามามากที่สุด และหลักฐานประชากรในอยุธยาก็ได้จากสมัยนี้ว่าในเมืองหลวงนั้นมีประชาชน 190,000 คน ซึ่งพอๆ กับประชาชนที่กล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงเก่าว่ามีคนอยู่ 193,272 คน จำนวนประชากรดังกล่าวนี้สามารถที่จะเชื่อถือได้บ้าง เพราะดูจากหลักฐานอื่นได้กล่าวไว้ว่า ในราวปี พ.ศ. 2100 ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1 มีประชากรตกอยู่ในเรือนราว 150,000 คน (คำว่าตกอยู่ในเรือนคิดว่าคงจะเป็นจำนวนคนที่อยู่ในตัวกรุงอยุธยาที่เป็นเมืองหลวง) และประชากรทั้งประเทศมีราว 8-9 ล้านคน (ไม่แน่นอน)

จะเห็นว่าจำนวนคนในเมืองหลวงไม่ได้ต่างกันมากเท่าไรนัก และถ้าเชื่อตามหลักฐานนี้แล้วก็แสดงว่า ประชากรทั้งประเทศในอยุธยาจะต้องมีถ้าไม่มากกว่า 8-9 ล้านคน ก็ต้องน้อยกว่า 8-9 ล้านคน คงไม่ต่างกันมากเหลือเกินตามที่ลาลูแบร์ว่ามีประชากรในสยามราว 1,900,000 คน ซึ่งต่างกันถึง 6-7 ล้านคนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

ตอนนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า ประชากรจะเพิ่มหรือลดจาก 8-9 ล้านคน

ถ้าดูตามเหตุการณ์ต่างๆ แล้วก็ต้องมีแนวโน้มในการลดลงมากกว่าเพิ่ม เพราะในช่วงปี พ.ศ. 2100 ถึงปลายอยุธยากินเวลาร้อยปีเศษนั้น อยุธยาต้องประสบกับปัญหาใหญ่ๆ ที่ทำให้ประชากรลดลงตลอดเวลามากกว่าอัตราเพิ่มคือ

1. เริ่มด้วยเกิดสงครามกับพม่าครั้งใหญ่ที่ทำให้เสียกรุงครั้งที่ 1 การเกิดสงครามครั้งนี้ทำให้คนตายเป็นจำนวนมากต้องเป็นแสนคนขึ้นไป และยังรวมทั้งสงครามทำให้อดอยาก โรคระบาดตายเป็นจำนวนมาก

2. ปัญหาเรื่องการกวาดต้อนผู้คน เป็นธรรมเนียมในการสงครามที่ฝ่ายใดชนะก็กวาด ต้อนผู้คนอีกฝ่ายหนึ่งไปยังประเทศของตนเป็นจำนวนมากๆ เพื่อเอาไว้เป็นกำลังของประเทศ ปรากฏว่า ตอนที่ไทยเสียกรุงนั้น อยุธยาสูญเสียกำลังคนไปมาก ถูกทั้งพม่าและเขมรต้อนไป โดยเฉพาะตามชายแดน

3. ในระยะ 100 กว่าปีนี้ อยุธยาต้องทำสงครามรวมหลายครั้ง แม้จะหยุดพักรบไปบ้างแต่ก็มีสงครามใหญ่ๆ กับพม่า เชียงใหม่ เช่น สมัยพระนารายณ์ ทำให้ต้องสูญเสียจำนวนคนในการรบดังปรากฏในพงศาวดารว่าประมาณ 2 แสนคน ซึ่งรวมทั้งที่เจ็บป่วยและอดตาย

4. ปัญหาเรื่องโรคระบาด ได้แก่ อหิวาตกโรค โรคมาเลเรีย ไข้ทรพิษ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่อยู่คู่กับอยุธยา ทุกสมัยที่เกิดสงครามก็จะเกิดระบาดร้ายแรงขึ้นครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะเวลาเกิดสงครามก็ต้อนผู้คนเข้าไปแออัดอยู่ในเมืองหมด การบริโภคก็ย่อมไม่ดีเป็นธรรมดา และแม้แต่เวลาปกติก็มีโรคระบาดด้วย

เช่นปี 2106 ชนทั้งปวงเกิดทรพิษมีตายมาก ปี 2164 ออกฝีตายมากและดังที่ ลาลูแบร์หรือจากหลักฐานของฝรั่งเศสที่เข้ามาอยุธยาตอนนั้นก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่าในปี 2294 เกิดโรคระบาดร้ายแรง ข้าวยากหมากแพง น้ำตามแม่น้ำลำคลองขุ่นสีเขียวใช้รับประทานไม่ได้ และเกิดโรคทรพิษแทรกทั่วพระราชอาณาจักรระบาดตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี ผู้คนล้มตายเกือบ 80,000 คน” หรือในปี 2246 เกิดโรคระบาดคนตายมาก และต้นปี 2256 คนเป็นไข้ทรพิษตายไปเกือบครึ่งหนึ่ง (คงจะตายมากเกือบครึ่งหนึ่งของคนในเมือง) ทั้งนี้เกี่ยวกับการแพทย์ไม่ดี

5. นอกจากนี้เหตุการณ์ภายในบ้านเมืองก็ยังไม่สงบ เนื่องจากเกิดจลาจลบ่อยๆ มีการแย่งชิงอำนาจกันเกือบทุกรัชกาลในปลายอยุธยา

สาเหตุเหล่านี้เป็นตัวทำให้ประชากรลดลง แม้ว่าอยุธยาจะมีวิธีการต้อนเชลยกลับมา ต้อนคนในเมืองอื่นๆ เข้ามาเวลาที่ดีได้ และทั้งยังมีพวกมอญอพยพเข้ามาเพิ่มจำนวนคนให้แก่อยุธยา เช่นปี 2101 มีแขกแม่นางกะยาอันอยู่เมืองกัมพูชาหาที่พึงไม่ได้ พร้อมกับพระยาอีกหลายคนคุมชายฉกรรจ์อพยพเข้ามา 773 คน และปีก่อน 2207 มอญอพยพเข้ามา 10,000 คน และได้ประชากรเพิ่มในช่วงหลังสงครามก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะชดเชยต่อประชากรเดิมได้ อัตราเพิ่มกับอัตราลดต่างกันมาก ฉะนั้น จำนวนประชากรในช่วงปลายอยุธยาจะต้องน้อยกว่าจำนวน 8-9 ล้านคนแน่

ถ้าจะสันนิษฐานว่า จำนวนที่ลดลงไปเป็น 1/4 เหลือจำนวนราว 6 ล้านคน ก็อาจจะเป็นไปได้

3. ปัญหาที่ดิน

ที่ดินสมัยอยุธยาตอนปลายคงไม่มีปัญหาว่าจะมีน้อยไม่พอทำกิน แต่กลับมีเหลือเฟือทำกินได้อย่างสบาย ดังเช่นลาลูแบร์บันทึกไว้ว่า “ประเทศสยามนั้นแทบว่ายังมิได้รับการปรับปรุงที่ดิน (เพื่อกสิกรรม) และเต็มไปด้วยป่าไม้” หรือ “พ.ศ. 2210 พวกเขมรเจ็ดร้อยเจ็ดสิบสามคนมาขอเป็นข้าสู่พระราชสมภาร ทรงพระกรุณาให้อาหาร ไร่นาให้ทํามาหากิน” และในกฎหมายตรา 3 ดวง ในบทที่ว่าด้วยกฎหมายที่ดิน ด้วยที่ดินคงมีมากจริง กษัตริย์ถึงได้ออกกฎหมายว่า ใครไปหักร้างถางพงเอาไว้ทำไร่ทำนาแล้วจะไม่ต้องเสียภาษี 1-2 ปีเข้าล่อ ซึ่งตรงกับที่ลาลูแบร์บันทึกว่า พระมหากษัตริย์ยังโปรดให้คนเข้ามาทำการบุกเบิกเพาะปลูก

(ดังนี้ ที่ดินจึงยังไม่เป็นปัญหาในการเพาะปลูก ซึ่งถึงแม้นิตินัยที่ดินจะตกเป็นของกษัตริย์ทั้งหมด แต่ตามพฤตินัยแล้ว กษัตริย์ก็มีที่ดินของพระองค์บางส่วนเท่านั้น จะมีปัญหาก็ตรงที่ว่า ที่ดินนั้นตกแก่มูลนายเป็นส่วนใหญ่ และพวกชาวนาธรรมดาต้องเช่าที่ทํากินของพวกมูลนาย ซึ่งมีภาษีแพงจนชาวนาใกล้การเป็นทาสมากขึ้นหรือไม่ ปัญหานี้ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานที่เชื่อถือได้แน่นอน แต่ที่มีหลักฐานคือที่ดินนั้นตกอยู่แก่วัดเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งกษัตริย์เป็นผู้อุทิศให้วัดเก็บผลประโยชน์ในที่ดินนั้นๆ รวมทั้งจำนวนคนให้อยู่ภายใต้วัด แสดงว่าชาวนาจำนวนมากก็มีที่ดินเพราะสามารถจับจองได้ ขณะเดียวกันก็มีอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้มีที่ดินของตน ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วผู้เขียนเห็นว่าปัญหาที่ดินไม่สําคัญในสมัยนั้น)

4. การชลประทาน

พื้นที่ดินปลูกข้าวอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดังกล่าวแล้ว และน้ำท่วมสองฝั่งในฤดูหน้าน้ำเกือบทุกปี ทำให้ที่ดินอุดมสมบูรณ์กลายเป็นผลดีต่อการเพาะปลูก หรือประกอบกับคนในสมัยก่อนไม่มีความรู้เรื่องเทคนิคและเรื่องการปรับปรุงที่ดินใดๆ ทั้งสิ้น พอถึงหน้าทำนาก็ทำไป จึงไม่แปลกที่ลาลูแบร์บันทึกว่า ประเทศสยามไม่ได้ปรับปรุงที่ดินเพื่อกสิกรรม และยังใช้แรงคนแรงสัตว์ทำนา แม้ปัจจุบันนี้ชาวนาตามแหล่งที่ไม่เจริญอีกมากก็ยังคงมีสภาพเช่นนี้อยู่

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะไม่มีเทคนิคใดๆ แต่สิ่งที่ช่วยในการเพาะปลูกตอนปลายอยุธยาก็มีอยู่แล้ว ซึ่งได้มีมาตั้งแต่อยุธยาตอนต้นและอาจย้อนไปถึงสมัยสุโขทัยด้วย คือ การขุดคลอง และการชลประทาน

ก. การขุดคลอง จากหลักฐานการปลูกข้าวสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ว่า ในสมัยนั้นส่วนมากจะปลูกข้าวในที่ราบระหว่างแม่น้ำหลายสายและในที่นั้นๆ มีคลองถึงกันเป็นอันมาก ปลายอยุธยาก็เช่นกัน แสดงว่าสมัยนั้นได้เห็นความสำคัญของการใช้คลองเพื่อทำนาอย่างแน่นอน เพราะถ้าดูตามแผนที่ที่ฝรั่งเข้ามาสมัยนั้นเขียนไว้ จะเห็นว่ามีคลองอยู่บริเวณภาคกลางเป็นจำนวนมาก

และจากหนังสือประเภทพงศาวดารต่างๆ จะกล่าวถึงภารกิจของกษัตริย์อย่างหนึ่งคือ เป็นผู้สั่งให้ขุดคลองต่างๆ เช่น สมัยอยุธยาตอนต้น ได้ขุดคลองบางกอกใหญ่ ในปี 2068 คลองบางกรวย ปี 2081 คลองสำโรง ปี 2041 คลองลัดวัดไก่เตี้ย ปี 2151 คลองเมืองนนท์ ปี 2179 และในสมัยปลายอยุธยา เช่น คลองวัดปากจั่น ปี 2204 ในสมัยพระนารายณ์ คลองมหาไชยชลมารค ในสมัยพระเจ้าเสือ และเสร็จในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ปี 2247 และคลองวัดเตล็ดน้อย สมัยพระเจ้าท้ายสระเป็นต้น

คลองด่าน (คลองมหาไชยชลมารค)

คลองเหล่านี้ไม่ใช่คลองภายในเกาะอยุธยา และใช้ประโยชน์ต่างกันด้วย คลองภายในอยุธยาที่ขุดอย่างเป็นระเบียบนั้น มีไว้เพื่อการคมนาคม การค้าขาย ส่วนคลองภายนอกนั้นแม้กษัตริย์จะไม่ได้ให้ขุดขึ้นเพื่อการเกษตร (ไม่มีหลักฐานว่าเพื่อการเกษตรหรือไม่) แต่ผลที่ได้ก็เป็นประโยชน์ต่อการทำนามาก เพราะเป็นการแบ่งซอยให้น้ำเข้าในนาได้ทั่วถึง สำหรับในภาคกลางนี้เห็นจะพึ่งแต่คลองเพียงอย่างเดียว

ข. การชลประทาน นอกจากบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงแล้ว บริเวณริมแม่น้ำที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปหน่อย เช่น สระบุรี ลพบุรี กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย นั้น น้ำไม่ได้สมบูรณ์อย่างภาคกลางนัก จึงต้องอาศัยการชลประทานซึ่งคลองก็มามีบทบาท คือไว้ทำทำนบและประตูน้ำให้เข้านา

การชลประทานนั้น เชื่อแน่ว่าต้องมีแล้ว และอาจสืบเนื่องจากสมัยสุโขทัย ที่ได้สร้างอ่างเก็บน้ำที่เรียก “สรีดภงค์ เพื่อกักน้ำไว้ทำนาเวลาหน้าแล้งก็ได้ และวิธีนี้อาจตกทอดมาสมัยอยุธยา

หลักฐานจากคำให้การขุนโขลนนั้นกล่าวถึง มีการทำทำนบน้ำธารทองแดง ทำนบธรรมเกษมที่สระบุรี ที่ลพบุรีก็มีทำนบศิลาดาด ทำนบสวนมลิ ทำนบเจ้าพระน่าเมือง ทำนบเหล่านี้คงจะจัดทำขึ้นเองในแต่ละพื้นที่ กษัตริย์คงไม่ได้มีส่วนส่งเสริม และคิดว่าที่อื่นๆ คงจะมีการสร้างทำนบแบบนี้อีก แสดงว่าในท้องถิ่นแต่ละแห่งเมือสภาพภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศไม่อำนวยให้แล้วก็รู้จักทำชลประทานเพื่อเพาะปลูก แม้ว่าจะเป็นเพียงทำนบเล็กๆ ก็ตาม แต่ก็ทำให้สามารถทำนาได้สบายพอๆ กับภาคกลาง

5. ภาษีอากรกับเรื่องที่ดิน-ข้าว

ในสมัยพระนารายณ์นั้นเริ่มมีการเก็บภาษีที่นาไร่ละสลึง (25 สตางค์) เก็บทั้งที่นาที่ทำได้และทำไม่ได้ กล่าวคือ คิดตามเนื้อที่ที่ครอบครอง ซึ่งเดิมก่อนสมัยนี้มีการเก็บอากรค่านา ชนิดที่เรียกว่า “หางข้าว” คือ ประชาชนต้องส่งข้าวเปลือกให้แก่ฉางหลวงทุกปี ข้าวที่เก็บนี้เรียกว่าหางข้าว หางข้าวที่จะเก็บขึ้นฉางหลวงนี้ประชาชนจะต้องขนส่งด้วยเครื่องมือ และกำลังของตนไปถึงฉางหลวง

จากคำกล่าวนี้เราก็พอจะรู้ถึงอากรค่านาที่เรียกว่าหางข้าว และนอกจากนี้ ชาวนาที่เช่าที่ดินจากมูลนายต้องเสียค่าเช่าแก่มูลนายต่อหนึ่ง และต้องเสียให้พระมหากษัตริย์อีกต่อหนึ่งด้วย จากคำพูดของข้อความนี้ดูออกจะรุนแรงมาก แต่อย่างไรก็ตามชาวนาได้รับความลำบากมาก ไหนจะเสียค่าเช่าที่ดิน 2 ต่อแล้ว เมื่อได้ผลผลิตก็ต้องแบ่งให้หลวงอีกด้วย และยังต้องนำไปให้เอง แต่ฉางหลวงนั้นก็มีทั้งฉางในกรุง และฉางตามหัวเมือง ใครจะไปส่งฉางไหนก็ได้ไม่มีกฎเกณฑ์ ขึ้นกับพวกข้าหลวง

ในการเก็บภาษีแบบนี้ โฉมหน้าศักดินาไทย บอกว่า กษัตริย์องค์นี้ลอกเลียนชีวิตในราชสำนักมาจากราชสำนักอันฟุ่มเฟือยหรูหราของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพระปิยสหาย ถึงกับไปสร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นเมืองพักร้อน เลียนแบบพระราชวังแวร์ซายส์… เงินทองในราชสำนักจึงฝืดเคือง การเก็บภาษีอากรหางข้าวจึงเปลี่ยนมาเก็บไร่ละสลึง” แต่ก็มีข้อคัดค้านว่า อาจไม่ใช่เพราะความฝืดขาดเงิน แต่เพราะพระนารายณ์ไม่อยากให้คนหวงที่ดิน เลยให้เก็บค่านาทั้งที่ทำได้และทำไม่ได้ ซึ่งข้อนี้ดูจะเป็นความจริงมากกว่า เพราะ

1. การค้าสมัยพระนารายณ์ก็ได้ผลกำไรดีมาก การเก็บภาษีอากรภายในคงได้ผลเพราะทรงเข้มแข็ง การเงินคงจะไม่เลวร้ายนัก

2. เมืองลพบุรีที่ทรงสร้างก็ไม่ใหญ่โตมโหฬารถึงกับต้องเสียเงินเท่าพระราชวังแวร์ซายส์เลย

3. อาจเป็นเพราะทรงอยากให้ประชาชนใช้ที่ทำมาหากินจริง เพราะจะทรงพอใจถ้าคนมาทำที่ดินให้เกิดประโยชน์ดังที่ลาลูแบร์ได้บันทึก เนื่องจากเราขาดคนที่จะทำที่ดินให้เกิดประโยชน์

ถ้าคิดเทียบข้าวประมาณเกวียนละ 10-12 บาท จาก โฉมหน้าศักดินาไทย ที่ว่า “ปี 2301 ปีนี้ข้าวแพงเกวียนละ 12 ตำลึง ราคาข้าวปกติเกวียนละ 3-5-6 ตำลึง” (ก็คงราว 12-20-24 บาทต่อเกวียน ซึ่งอาจเป็นข้าวธรรมดากับข้าวที่ดีก็ได้ หรือราคาเขยิบสูงบ้างแต่ขอคิดราวเกวียนละ 12 บาท) ฉะนั้น ราคาข้าวตกถังละ 12 สตางค์ อากรค่านาไร่ละ 25 สตางค์ ก็ตกเป็นข้าวเปลือกราว 2 ถังต่อไร่ ซึ่งเป็นอากรเดียวกับสมัยรัตนโกสินทร์

ถ้าจะลองเปรียบเทียบกันดูกับสมัยรัชกาลที่ 4 นี้ รัชกาลที่ 4 เก็บไร่ละสลึงเฟื่อง พระนารายณ์เก็บไร่ละสลึง สมัยรัชกาลที่ 4 สังฆราชปาลเลอกัวซ์ว่ามีประชากรราว 6 ล้านคน อยุธยาตอนนั้นก็มีราว 6 ล้านคน ถ้าดูเนื้อที่แล้วก็แตกต่างไม่มากที่ใช้ทำนา

จากการประมาณรายได้ของรัชกาลที่ 4 ปาลเลอกัวซ์ว่า ค่านาเก็บได้ 2,000,000 บาท ภาษีข้าวขาออก 100,000 บาท เมื่อเทียบกับลาลูแบร์ว่า ผลประโยชน์ภาษีอากรที่กษัตริย์ได้รับเป็นตัวเงินปีละ 1,500,000 บาท ซึ่งคิดว่าส่วนใหญ่เป็นภาษีค่านา ที่จริงเงิน 1,500,000 บาท ควรเป็นเงินที่นา เพราะดูใกล้เคียงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเก็บได้ 2 ล้านบาท แต่อาจเป็นเพราะ 1. การเก็บภาษีอากรสมัยพระนารายณ์ยังไม่ดีพอ 2. ข้าราชการคอรัปชั่นมาก และ 3. การจดตัวเลขประมาณเงินคงผิดพลาดเล็กน้อย

แต่เราก็รู้ว่าการเก็บค่านาได้ราวกว่าล้านบาทขึ้นไป สมัยพระนารายณ์คงราว 1,300,000-1,400,000 บาททีเดียว (ผู้เขียนเสนอเอง) เพราะเงินภาษีอากรในตัวเมืองคงได้ไม่มากนัก อีกประการหนึ่ง ผู้เขียนใคร่ขอเสนอว่าอาจเป็นไปได้ที่สมัยอยุธยาเก็บเงินค่านาได้น้อยกว่าสมัยรัชกาลที่ 4 นี้ อาจเป็นเพราะพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก และยังมีที่นาส่วนพระองค์อีก

ดังที่ลาลูแบร์บอกไว้ว่า “กษัตริย์ มีที่สวนที่นาของพระองค์เองในตำบลต่างๆ และดำเนินกสิกรรม โดยให้ทาสหลวงหรือเลกเกณฑ์เข้าเดือนทำงาน” ซึ่งคิดว่าที่ดินที่ว่านี้คงมีจำนวนมาก เพราะเราจะเห็นว่า ตอนปลายอยุธยา (ก่อนกรุงแตกปี 2310) นั้นพวกไพร่หันไปสังกัดกับมูลนายมาก และพยายามหนีจากการเป็นไพร่หลวงทำให้รัฐบาลกลางอ่อนแอลง เพราะพวกไพร่ไปทำไร่ทำนาแล้ว ไม่เกิดผลประโยชน์เลย

อีกประการหนึ่ง คือมีที่ไร่นาจำนวนมากยกให้แก่วัด ซึ่งเราเรียกว่าที่ “กัลปนา” จากคำให้การขุนโขลนบอกว่า คนที่จะเข้าไปทำนาในที่ของพระต้องเสียค่ากัลปนา คือ เสียเงินให้แก่วัด และไม่ต้องเสียภาษีอากรแก่รัฐ นอกจากนี้ ยังมีการยกคนให้กับวัดด้วยเป็นจำนวนมาก ดังที่ว่า “มีข้าพระมากถึง 600 ครัวสมัยพระบรมโกศ” และในสมัยพระเพทราชา “ปี 2242 ยกที่ดินให้แก่วัดในที่ดินเขตพัทลุงบรรดาไพร่ข้าที่อยู่บริเวณนั้น และชาวเหนือที่อพยพมา พวกนี้ไม่ต้องเสียภาษีแก่หลวงแต่เสียให้แก่วัดเรียกว่า ข้าพระ หรือ เลกวัด

จาก 2 สาเหตุนี้อาจทำให้การเก็บอากรค่านาน้อยกว่าสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะที่ดินของกษัตริย์และที่ดินถวายวัดจำนวนมากไม่เสียภาษีอากร นอกจากนี้ การเก็บอากรค่านายังเก็บในแบบ “นาฟางลอย” และ นาคู่โค 2 วิธีนี้ ใช้มาแต่สมัยอยุธยา

“นาฟางลอย” ใช้สำหรับเก็บค่านานาดอนที่ทำแห่งละเล็กละน้อย จึงใช้วิธีสังเกตตอฟางแล้วทำรางวัดที่ดินว่าทำจริงเท่าไร แล้วเก็บอากรตามนั้น ภาษีชนิดนี้เก็บได้ไม่แน่นอน เพราะเป็นการทำนาแบบเลื่อนลอย

“นาคู่โค” หรือ “นาโคคู่” เป็นประเพณีเก็บนาที่ปัตตานี สำรวจเอาจำนวนโคที่ไปทำนาเป็นหลักของอัตราค่านา โคคู่ 1 ก็เก็บค่านาเท่านั้นๆ คงเป็นวิธีเก็บค่านานาทุ่ง บางที่อาจมีความหมายว่า เป็นการทำนาแบบถาวรที่ไม่ได้นับตามจำนวนโดและเป็นภาษีที่เก็บได้มากกว่า

6. การค้าข้าว

ข้าวในอยุธยาก็คงทำการซื้อขายกันตามธรรมดา ในระหว่างชาวบ้านกันเองคงไม่เป็นล่ำเป็นสัน เพราะเกือบทุกครอบครัวก็ทำนา แต่ในเมืองหลวงนั้นมีการค้าข้าวเป็นล่ำเป็นสันจนมีชื่อว่า “สะพานข้าวเปลือก” “คลองข้าวเปลือก” เป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนที่เราทำการค้ามากคือ การค้าข้าวกับต่างประเทศ ซึ่งเรามีข้าวอยู่มากมาย ดังหลักฐานใน 2203 ว่า สินค้าที่มีอยู่แพร่หลายในประเทศ คือ ฟันช้าง กำยาน น้ำมัน ข้าว…ฯลฯ”

การค้าข้าวกับต่างประเทศนั้น ได้เริ่มมาตั้งแต่โบราณแล้ว พอถึงสมัยพระเจ้าปราสาททองได้มีการห้ามขายข้าวกับต่างประเทศอยู่พักหนึ่ง แต่เมื่อเริ่มสมัยพระนารายณ์แล้ว เราก็ขายข้าวให้ต่างประเทศต่อไป ซึ่งมีทั้งที่ไทยส่งไปขายเอง และที่พ่อค้าฝรั่งเข้ามาซื้อแล้วไปขายต่ออีกที่หนึ่ง เช่น ฮอลันดา ฝรั่งเศส ต่างประเทศที่เราค้าข้าวให้ในปลายอยุธยาได้แก่ ฮอลันดา ฝรั่งเศส หัวเมืองชายทะเลแถบมลายู มะละกา ชวา ปัตตาเวีย ญวน เขมร มะนิลา ลังกา ญี่ปุ่น และจีน

การค้าข้าวกับต่างประเทศนี้ เราจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ โดยถือเอาประเทศที่มาซื้อข้าวจากอยุธยามากที่สุดเป็นหลัก คือ

1. ตั้งแต่ปี 2199-ประมาณปี 2257 ในช่วงนี้ประเทศที่ซื้อข้าวอยุธยามากที่สุดคือ ฮอลันดา ดังใจจดหมายเหตุของบาทหลวงเดอชัวซี กล่าวว่า “พวกฮอลันดาเหล่านี้ยังต้องการมีทางไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินไทย เพราะทุกปีเขาส่งเรือไปประเทศนั้นหลายๆ ลำเพื่อไปบรรทุก ข้าว แร่ ทองแดง ดีบุก” และตั้งแต่ฮอลันดาได้บริเวณแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออกเป็นอาณานิคมและตั้งบริษัทอีสต์อินเดียแล้ว ข้าวไทยเป็นสินค้าประจำของบริษัท เพราะประเทศในหมู่เกาะมลายู ชวาต้องอาศัยข้าวไทยเป็นพื้น โดยมีฮอลันดาเป็นผู้มาซื้อข้าวไทย แล้วจัดส่งไปขายอีกทีหนึ่ง

การที่ฮอลันดามาซื้อข้าวไทยทำให้ฮอลันดากลายเป็นลูกค้าสำคัญที่สุดของอยุธยา อาจเป็นเพราะฮอลันดาได้ทำสัญญาการค้ากับไทยแบบผูกขาด (Monopoly) กับไทยในปี 2207 ซึ่งไม่ได้รวมถึงข้าว แต่เมื่อมาซื้อสินค้าอื่นเมื่อไร ฮอลันดาก็บรรทุกข้าวไปด้วย แม้ว่าอยุธยาได้ทำสัญญาการค้ากับฮอลันดา แต่โชคดีที่ไม่ได้ผูกขาดเรื่องข้าวด้วย ทำให้ไทยได้ขาบข้าวให้ประเทศอื่นๆ ได้ เช่น จากบันทึกของฮอลันดาว่าปี 2203 “กรุงสยามมีข้าวปลาธัญญาหารพอส่งไปขายมะนิลา ญี่ปุ่น หมาเก๊า โคชินไชนา”

ปี 2205 “สำเภาที่พระเจ้าแผ่นดินสยามจัดส่งไปในปัตตาเวีย เมื่อปี 2204 ได้เกิดรั่วและจำต้องแวะที่นครศรีธรรมราชเอาข้าวที่ขนมาขึ้นบกเพราะปรากฏว่าถูกน้ำทะเลเปียกหมด” และ “อีกลำหนึ่งมุ่งไปสุภาดาขายข้าวไม่ได้เลย จำต้องเปลี่ยนเส้นทางตรงไปยังยะโฮร์แทน ซึ่งพอขายสินค้าได้กำรบ้างพอประมาณ” “…เขตที่ข้าวสยามส่งไปจำหน่าย แผ่ไปไกลถึงมะละกา เมื่อถึงยามข้าวหายากและราคาแพงขึ้นในแถบชวา ซึ่งเคยเกิดขึ้นในปี 2210-2220 ชาวดัชและชาติอื่นๆ ได้ขนข้าวจากที่นี้”

ในสมัยพระเพทราชา รายงานการค้าประเทศญวน ปี 2239 ว่าญวนซื้อ ดินประสิว ฝ้าย ครั่ง งา ดีบุก ตะกั่ว ข้าว จากไทย หรือจากจดหมายเหตุของมองซิเออร์เวเรต์ ในปี 2228 ได้บันทึกถึงฝรั่งเศสซื้อข้าวจากไทย แล้วนําไปขายยังเขมร ญวน มะนิลา ราคาข้าวที่ขายต่างประเทศนั้น คิดว่าราคาปกติ ขายในราวเกวียนละ 42 บาท อยุธยาต้องได้รายได้จากการค้าข้าวปีละเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว เพราะฮอลันดาซื้อแต่ละครั้งก็ซื้อจำนวนมากพอสมควร เช่น ปี 2198 เดือนกุมภาพันธ์ ฮอลันดาบรรทุกข้าว 285 กระสอบ หลังสมัยพระเจ้าปราสาททองคงซื้อข้าวจำนวนพอๆ กัน

ฮอลันดายังมีบทบาทต่อมา แม้ในสมัยพระเพทราชา ซึ่งไม่ถูกกับฝรั่ง โดยเฉพาะฝรั่งเศสปรากฏว่า ฮอลันดาไม่ได้ผลกระทบนักและยังเป็นตลาดสำคัญ แม้เราขายข้าวให้ประเทศอื่นๆ ด้วย แต่มาในระยะหลัง คือ ราวปี 2248 สมัยพระเจ้าเสือ ได้เกิดเรื่องขัดใจกับไทยอย่างรุนแรงว่าด้วยเรื่องสัญญา และยังเรื่องทุจริตในราคาสินค้า ทำให้การค้าระหว่างไทยกับฮอลันดาแย่ลงถึงกับฮอลันดาคิดจะถอนตัวออกจากอยุธยา แต่ปัตตาเวียยังต้องพึ่งข้าวจากอยุธยาอยู่ (แสดงว่าปัตตาเวียพึ่งข้าวจากไทยผ่านฮอลันดา)

จนที่สุด ในปี 2257 ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ จีนเริ่มจะมีอิทธิพลมากขึ้น ดังที่มองซิเออร์ ซิเซเขียนในปี 2257 ว่า เจ้าพระยาพระคลังสมัยนี้มีอิทธิพลมาก และสนิทกับจีนก็ชักชวนจีนเข้ามาค้าขายมากมาย และหลังจากช่วงนี้ไป จีนก็เข้ามามีบทบาทแทนฮอลันดา เป็นการแสดงให้เห็นว่า เพราะเหตุใดในสมัยแรกๆ ของปลายอยุธยาฮอลันดามาซื้อข้าวจากอยุธยามาก และหลังจากนี้แล้วก็น้อยลงจนเกือบจะไม่มีหลักฐานกล่าวไว้เลย หรือเพราะอิทธิพลของฮอลันดาในแถบนี้ลดน้อยลง ฝรั่งชาติอื่นเข้ามาแทนที่ ส่วนประเทศอื่นเคยค้าข้าวกับอยุธยาอย่างไรก็คงค้าต่อไปเรื่อยๆ

2. ตั้งแต่ปี 2265-2300 จีนกลายเป็นตลาดค้าข้าวที่สำคัญของอยุธยา ประจวบเหมาะกับในช่วงนั้นประเทศจีนมีพลเมืองเพิ่มขึ้นมาก และกำลังขาดแคลนข้าวมาก จีนถึงได้ประกาศว่า ถ้าไทยส่งข้าวไปขายถึง 3,000,000 ถัง (300,000 เจี๊ยะ) แล้วจะไม่เสียภาษี” ฉะนั้น จีนก็ต้องหาแหล่งข้าวมากๆ คืออยุธยา ดังเช่นในบันทึกของจีนในปี 2265 ตรงกับสมัยพระเจ้าท้ายสระ “ชาวสยามพูดว่า บ้านเมืองเขานั้นข้าวสารสมบูรณ์ และถูกมาก เงิน 2-3 สลึงซื้อข้าวได้เจี๊ยะหนึ่ง” (เท่ากับ 10 ถัง) เกวียนหนึ่งก็ตกราว 7 บาทกว่า แสดงว่าข้าวในอยุธยาตอนนี้มีมากจริงๆ ราคาถึงได้ถูกกว่าแต่ก่อน

เพราะเหตุนั้นเอง จีนจึงได้มาซื้อข้าวจากอยุธยาเป็นเวลาติดต่อกันตามในบันทึกตั้งแต่ปี 2265 ถึงราวปี 2294 จะยกเอาบันทึกของจีนจากหนังสือ พระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับจีน และจากหนังสือประวัติการค้าไทย และหนังสือของ Skinner ซึ่งได้กล่าวตรงกัน เป็นลำดับดังนี้

สมัยพระเจ้าท้ายสระ

2265 ราชทูตไทยไป พระเจ้าเสี่ยโจ๋วหยินฮ่องเต้ได้รับสั่งให้เอาข้าวสารไปขายที่เมืองฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และนิงโผบ้าง เพราะข้าวสารเมืองไทยสมบูรณ์ เงิน 2-3 สลึงซื้อข้าวสารได้เจี๊ยะหนึ่ง ให้เอาไปขาย 3,000,000 ถังไม่เสียภาษี

2267 ราชทูตไทยเอาข้าวสารไปขายมาก

2271 ไทยเอาข้าวสารไปขายที่เมืองเอ้หมึง

2271 ราชทูตไทยเอาข้าวสารไปขาย และขอซื้อลวดทองเหลืองมา

สมัยพระเจ้าบรมโกศ

2286 ไทยเอาข้าวสารไปขายที่เมืองฮกเกี้ยน จีนตั้งเป็นธรรมเนียมว่าต่อไปถ้าต่างประเทศเอาข้าวมาขายแล้ว ถ้าเอาข้าวมา 1,000,000 ถัง ให้เก็บเงินค่าภาษี 10 ส่วน ให้ลดเสีย 5 ส่วน ถ้าเอามา 50,000 ถัง เก็บ 10 ส่วน ให้ลดเสีย 3 ส่วน

2289 ไทยเอาข้าวสารไปขายที่เมืองหมังไฮ้ จำนวน 43,000 ถัง และ 38,000 ถังเศษ ลดค่าภาษีให้ไทยพิเศษ คือเก็บ 10 ส่วนลด 2 ส่วน

2290 จดหมายจีนว่า ปลัดเทศาภิบาลมณฑลฮกเกี้ยน ชื่อ ต้นไต้ลิง ทูลพระเจ้าเราจงสุนฮ่องเต้ว่า พวกพาณิชย์เมืองฮกเกี้ยนไปซื้อข้าวสารเสียมหลอก๊กกลับมาพูดว่า เครื่องไม้ในเสียมหลอราคาถูกที่สุด

2294 พวกพ่อค้าที่หมังต๊ก (มณฑลฮกเกี้ยน) ไปซื้อข้าวสารจากไทย 20,000 ถัง กษัตริย์จีนยังได้ประกาศว่าใครซื้อข้าวได้มากกว่า 20,000 ถังแล้วจะมีรางวัลให้

พิจารณาจากรายการแต่ละปีที่ไทยส่งข้าวไปขายในช่วงนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า จีนต้องการข้าวอย่างมาก คือ ที่กษัตริย์จีนได้ประกาศว่า เอาข้าวไปขาย 3,000,000 ถึงจะไม่ต้องเสียภาษี และต่อมาก็ตั้งธรรมเนียมว่าถ้าเอาไปขาย 100,000 ถัง เก็บภาษี 10 ส่วนลด 5 ส่วน และ 50,000 ถัง เก็บ 10 ลด 3 ส่วน เมื่อไทยส่ง 4 หมื่นกว่าถัง จีนก็ลดภาษีพิเศษให้และท้ายสุดยังประกาศให้รางวัลผู้มาซื้อข้าวได้มากกว่า 2 หมื่นถัง

แต่ปรากฏว่า ข้าวคงส่งไปขายไม่เกินกว่า 5 หมื่นถึงแน่ เพราะถ้าส่งไปถึงจำนวน 5 หมื่นคงได้ลดภาษี 3 ส่วนดังกล่าว และจีนจะต้องดีใจบันทึกไว้แน่นอน ผู้เขียนคิดว่าจำนวน 43,000 ถังคงจะเป็นจำนวนมากที่สุดถึงได้ลดภาษีพิเศษ 2 ส่วนให้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า ข้าวอยุธยาที่ประเทศต่างๆ ซื้อจะไม่มีประเทศใดซื้อมากเท่าจีนเลย เทียบจากจีนซื้อข้าวเป็นจำนวนหมื่นถัง ฮอลันดาซื้อตัวเลขแค่พันเท่านั้น (285 กระสอบ = 1,700 กว่าถัง)

ฉะนั้น รายได้จากการขายข้าวในช่วงนี้ก็ต้องดีมากเป็นพิเศษ แม้ว่าราคาข้าวที่ขายให้จีนจะถูกกว่า 42 บาทต่อเกวียน เพราะตอนที่ขาย 42 บาทนั้นราคาข้าวปกติ 10 กว่าบาท เมื่อเวลานี้ราคาข้าวแค่ 7 บาทกว่าต่อเกวียน ราคาส่งออกก็ต้องขายถูกกว่า 42 บาทแน่

7. ราคาข้าว

ราคาข้าวจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และเหตุการณ์ในบ้านเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการทำนามากน้อยเพียงใด ราคาข้าวในสมัยอยุธยานั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงคือ

  1. ข้าวในสมัยพระนารายณ์ถึงปี 2250 เศษ

ตามจดหมายเหตุชาวต่างประเทศ ได้กล่าวถึงสมัยพระนารายณ์ว่าอุดมสมบูรณ์เหมือนกันหมดทุกคน และคิดว่าจะต้องสมบูรณ์จริงๆ เพราะปรากฏว่า ในสมัยนี้คือปี 2203 ปี 2205-2208 ไทยยกทัพไปตีทั้งเชียงใหม่ และพม่าเพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพ เพราะถ้าบ้านเมืองไม่อุดมสมบูรณ์แล้ว คงไม่มีกำลังไปตีถึงเชียงใหม่และพม่าแน่ และในปีเหล่านี้ต่างประเทศยังมาซื้อข้าวจากเมืองไทยด้วย

หลังจากที่ไทยได้ห้ามขายข้าวออกนอกประเทศในสมัยพระเจ้าปราสาททองแล้ว ยอร์ช ไวท์ นักการค้าชาวอังกฤษ เข้ามาสมัยพระนารายณ์ 4 ปี กล่าวว่า “เมืองไทยมีข้าวอุดมสมบูรณ์ ข้าวในสมัยพระนารายณ์ราคาปกติเกวียนละ 10 ตําลึง 2 บาท ราคาข้าวปกติ 42 บาทนี้ เชื่อว่าเป็นราคาขายต่างประเทศมากกว่าราคาข้าวที่ซื้อขายกันภายในซึ่งคงขายในราคาเกวียนละ 10 กว่าบาทเท่านั้น เหมือนในเวลาที่ข้าวราคาปกติทั่วไป และเทียบกับราคาข้าวในสมัยพระเจ้าท้ายสระและพระเจ้าบรมโกศซึ่งข้าวถูกที่สุดเพียง 7 บาทกว่า ก็ไม่ต่างกันมากนัก

ส่วนจดหมายเหตุของชาวฮอลันดาในสมัยเดียวกันซึ่งได้แปลไว้ว่า ราคาข้าวธรรมดาตกถังละ 92 บาท (10 ชั่ง 12 บาท) นั้นก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่ คิดว่าอาจจะแปลผิดก็ได้

ในจดหมายเหตุของยอร์ช ไวท์ยังบันทึก ต่อว่า “และในปีหนึ่งปรากฏว่าข้าวราคาสูงขึ้นมาก คือแพงเป็นเท่าตัว เป็นราคาเกวียนละ 21 ตําลึง” (84 บาท) ซึ่งตรงกับจดหมายเหตุของฮอลันดากล่าวว่า “แต่ปีนี้ (หมายถึงปี 2222) ราคาข้าวถีบสูงขึ้นเป็น 2 เท่า และพระนารายณ์ห้ามส่งข้าวออกนอกโดยเด็ดขาด” เมื่อมาเทียบกับเหตุการณ์จะพบว่าในปี 2221 ได้เกิดน้ำท่วมมาก ข้าวเสียหายสาเหตุนี้แน่ต้องทำให้ข้าวแพงเป็น 2 เท่า และหลังจากเหตุการณ์นี้แล้วราคาข้าวก็คงเดิม

แต่เมื่อสิ้นสมัยพระนารายณ์ไปแล้วบ้านเมืองไม่อุดมสมบูรณ์เท่าแต่ก่อน เช่น เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2233 และยังเกิดกบฏจลาจลต่างๆ เช่น กบฏธรรมเถียร กบฏนครศรีธรรมราช และกบฏนครราชสีมา ดังในพระราชพงศาวดาร บันทึกว่า “สมัยพระเพทราชายกทัพไปทำสงครามกับนครศรีธรรมราชและนครราชสีมา ประมาณ 2 ปีเศษ ชาวนาไม่ได้ทำนาสิ้น 2 เทศกาลแล้ว” ประกอบกับในปี 2239 เกิดโรคระบาดรุนแรงมาก คนตายถึง 8 หมื่นคนทำให้ข้าวยากหมากแพง ในสมัยพระเจ้าเสือก็ยังเกิดจลาจล และในปี 2246 ยังเกิดโรคระบาดคนตายมากอีก

ในช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับในบันทึกของฝรั่งเศสที่ว่า ซื้อข้าวกันเพียง 6 ฟรังซ์ไปถึง 29-30 ฟรังซ์ก็มี แสดงว่าราคาข้าวได้สูงขึ้นถึง 5 เท่า ราคาที่ซื้อขายกันภายในคงตกราวเกวียนละ 60-70 บาท

  1. ข้าวในปี 2250 เศษ ถึงประมาณปี 2260

เป็นช่วงที่ข้าวแพงที่สุดในอยุธยาตอนปลาย เดิมจากราคาข้าวสูงถึง 5 เท่านั้น มาถึงเวลานี้ราคากลับสูงขึ้นถึง 10 เท่ากว่า โดยเฉพาะในปี 2255-2256 ราคาข้าวแพงที่สุด ตามที่จดหมายเหตุมองเซอร์เยอร เดอบูร์ ได้กล่าวว่า “ต้นปี 2255 เกิดไข้ทรพิษ ประชาชนตายไป 1/2 และข้าวยากหมากแพงทำให้ประชาชนเดือดร้อน ข้าวปีก่อนๆ ซื้อได้ในราคา 10 เหรียญ เดี๋ยวนี้ 10 เหรียญก็ซื้อไม่ได้” และในตะนาวศรีข้าวแพงปี 2255 เมื่อข้าวแพงทุกอย่างก็แพงตามไปด้วยแม้แต่ดอกเบี้ยก็สูงถึงร้อยละ 10-12

การที่ข้าวราคาสูงขึ้นเพราะโรคระบาด และอาจเนื่องจากราคาข้าวที่สูงถึง 5 เท่าก่อนหน้านั้นแล้ว ปรากฏว่าช่วงเวลานี้ต่างประเทศก็ไม่ได้มาซื้อข้าว เมื่อราคาข้าวจากเกวียนละ 10 กว่าบาท กลายเป็นเกวียนละ 100 กว่าบาท ประชาชนในกรุงก็ต้องเดือดร้อนมากที่สุด

  1. ข้าวหลังปี 2260 ถึงปี 2294

ตรงกับสมัยพระเจ้าท้ายสระและพระเจ้าบรมโกศ ราคาข้าวถูกมาก อาจกล่าวได้ว่าช่วงนี้ลงไปการเพาะปลูกได้ผลดีมาก น้ำฝนที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะปี 2265 จากราคาข้าวที่สูงถึง 10 เท่าลดเหลือ เงิน 2-3 สลึง ซื้อข้าวได้ 10 ถัง และในช่วงนี้จีนยังได้บันทึกว่าไทยเอาข้าวไปขายเกือบตลอด ในช่วง 34 ปีนี้

อีกหลักฐานหนึ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่าช่วงนี้ต้องอุดมสมบูรณ์มาก คือ ในสมัยพระเจ้าบรมโกศนั้นได้ชื่อว่าเป็นยุคทองแห่งวรรณคดี การที่วรรณคดีจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อบ้านเมืองมีความสงบไม่เดือดร้อนในเรื่องการทำมาหากินการดำรงชีวิตแม้ว่บางครั้งจะเกิดโรคระบาดคนตายชุม เช่นปี 2292 แต่ก็ไม่กระทบกระเทือนการเพาะปลูกมากนัก เพราะยังปรากฏในปี 2294 ว่าไทยยังส่งข้าวไปขายจีนตั้ง 20,000 ถัง

  1. หลังจากสมัยพระเจ้าบรมโกศ ปี 2301 ถึงเสียกรุงครั้งที่ 2 ปี 2310

ราคาข้าวกลับสูงขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะปรากฏในจดหมายโหรว่า “ปีขาล พ.ศ. 2301 ปีนี้ ข้าวแพงเกวียนละ 12 ตำลึง” (เกวียนละ 48บาท) ซึ่งแพงขึ้นกว่าเดิมเกวียนละ 7 บาทกว่า และ 10 กว่าบาท ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าบรมโกศ และพระนารายณ์ สาเหตุที่ข้าวกลับแพงเพราะในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์โหดร้ายปกครองไม่ดีเป็นเหตุให้ข้าราชการถือโอกาสตามอย่าง โดยกอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์ รีดไถจากประชาชน ทำให้ประชาชนปั่นป่วน ประชาชนทำมาหากินไม่เต็มที่

ประกอบกับปลายอยุธยากำลังคนลดน้อยลงมาก อยุธยาอ่อนแอเปิดโอกาสให้พม่ามาเผาเมืองตะนาวศรี มะริด และยกทัพเข้ามาอยุธยาในปี 2303 และปี 2304 มอญกบฏเผาหมู่บ้านเกือบถึงพระนคร และมาปล้นสะดมด้วย และปี 2308 ยังเกิดน้ำเหนือหลาก สาเหตุเหล่านี้ทำให้เพาะปลูกไม่ได้เต็มที่และบางปีก็เกือบไม่ได้เลย

ชาววังนั่งเปิบข้าวภาพลายเส้นสมัยรัตนโกสินทร์ โดยชาวยุโรป

แต่ปรากฏว่าชาวเมืองก็ยังมีข้าวกินพอควรเพียงแต่ราคาแพง ดังจากหลักฐานที่ว่า “ปี 2309 พม่าได้สร้างป้อมล้อมกรุงไว้ 3 แห่ง แต่ถึงดังนั้น เสบียงอาหารในกรุงก็ยังบริบูรณ์จะมีคนตายด้วยอดอาหารก็เพียงแต่คนขอทานเท่านั้น” ก็แสดงว่า ข้าวก็คงเหลืออยู่มากตั้งแต่ในช่วงที่บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ มิฉะนั้นจะต้องมีคนอดตายมากกว่านี้นอกจากคนขอทาน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาข้าวต้องแพงกว่า 48 บาทอีก และคงจะแพงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเสียกรุงครั้งที่ 2 และหลังจากเสียกรุง ข้าวก็ยิ่งแพงมากขึ้น

8. ผลของข้าว ต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

ทางด้านเศรษฐกิจ

ข้าวเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องอาหาร นอกจากนี้ในการค้าขาย ข้าวยังทำรายได้แก่ประเทศมานานแล้ว สมัยปลายอยุธยานี้ก็เช่นกันรายได้จากข้าวก็มีมาก จนเราอาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจของเราขึ้นกับข้าวเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าข้าวถูกกระทบกระเทือน เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ข้าวแพงก็พลอยทำให้เศรษฐกิจด้านอื่นกระทบกระเทือนไปด้วย

บางปีถ้าข้าวน้อย พระมหากษัตริย์จะกักข้าวไว้ห้ามขายออก เช่น สมัยพระเจ้าปราสาททอง ทำให้รายได้การค้าข้าวลดลง (เกือบจะไม่ได้เลย เพราะบางปีก็ค้าน้อย) ทำให้รายได้ของพระคลังสินค้าพลอยลดลงด้วย การใช้จ่ายของแผ่นดินก็ลดลง ดังนั้น ข้าวจึงเป็นตัวสำคัญ อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแปร คือเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับราคาข้าวเป็นสำคัญ และสมัยก่อนสินค้าหลักถึงมีอยู่แต่ก็น้อย ที่เห็นชัดมีอยู่ประจำก็มีข้าวและดีบุก

ทางด้านการเมือง

คราวใดถ้าข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยากมักจะเกิดกบฏโจรผู้ร้ายอยู่เนืองๆ จะเห็นว่าข้าวส่งผลโดยตรง ซึ่งก็เป็นปัญหาทางการเมือง จะเห็นมากเมื่อใกล้กรุงแตก และข้าวยังส่งผลให้เกิดสงคราม คือ ยกทัพไปตีเขาเพื่อเอาข้าวปลาอาหารเมื่อเวลาขาดแคลน เมื่อเวลาอุดมสมบูรณ์ก็ยกทัพไปตีแสดงอำนาจ

นอกจากนี้ ข้าวยังเป็นตัวเชื่อมสัมพันธไมตรีได้ เช่น กับฝรั่ง ประเทศทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน ได้ข้าวจากไทยไปช่วยเหลือจำนวนมาก

อนึ่ง จากการที่พระมหากษัตริย์มีที่ส่วนพระองค์ ทรงใช้ไพร่ เลก เข้าทำงานในที่นาและ ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากมาเป็นไพร่หลวง เพราะจะได้ไม่ทำงานหนักฟรี ทำให้รัฐบาลกลางอ่อนแอ ขาดกำลังคน และส่งผลถึงการเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี 2310 ด้วย ซึ่งถึงมิใช่ข้าวกระทบโดยตรงแต่เราก็ปฏิเสธ ไม่ได้เลยว่าข้อนี้ข้าวก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยมาก

ทางด้านสังคม

ข้าวก็มีส่วนในการใช้วัดยศถาบรรดาศักดิ์ของคน คือ ใช้ที่นาวัดว่าคนนั้นมีฐานะในสังคมสูงต่ำ คือใช้จำนวนที่ดินกี่ไร่วัดฐานะ ที่เราเรียกว่า “ระบบศักดินา กล่าวว่าทุกคนมีความเป็นศักดินา คือทาสก็ยังมี 5 ไร่ ที่ดินสมัยนั้นคงมีมาก และคนเห็นว่าข้าว-การทำนาเป็นของที่เป็นหลัก จึงใช้เป็นกฎเกณฑ์สำหรับวัดฐานะคน

บางคนกล่าวว่า สังคมแบบชาวนานี้เป็นสังคมที่ไม่ใช่ทำให้เกิดทาสเหมือนสังคมที่เป็นชาวไร่ ซึ่งงานไร่เป็นงานหนักกว่า ต้องใช้แรงงานมาก และตลอดเวลา ส่วนสังคมแบบชาวนาจะทำงานแค่ช่วงที่เป็นหน้านาเท่านั้น เมื่อหมดหน้านาก็สบาย แต่ที่ชาวนากลายเป็นทาสได้ก็คงเพราะพอหมดหน้านาแล้วก็จะเที่ยวเตร่ เล่น หวย ถั่วโป ไปเรื่อยๆ จนเกิดหนี้สินมากมายถึงกับต้องขายลูกเมีย หรือตัวเองเป็นทาส และเมื่อถึงหน้านาก็ไถ่ตัวออกมา คำกล่าวนี้อาจเป็นจริงได้ แต่ชาวนาสมัยนั้นก็ไม่ได้สบายๆ เลย เพราะต้องเข้าราชการ 6 เดือน หรือไม่ก็ต้องทำงานกับเจ้าขุนมูลนาย

9. สรุป

ถ้าเราพิจารณาการดำเนินชีวิตในสมัยอยุธยาแล้ว ก็อาจสรุปได้ว่า ชีวิตการทำมาหากินตามปกติของชาวนานั้นดูจะไม่ค่อยมีปัญหามากมายเหมือนในปัจจุบัน เพราะชาวนาในสมัยอยุธยา มีที่ทำกินมาก ชาวนาทั่วไปปลูกข้าวเป็นหลักไว้กินเอง และใช้เป็นสินค้าแลกเปลี่ยน การเพาะปลูกก็ได้ผลดีมากกว่าผลเสีย เมื่อดูจากสถิติราคาข้าว และยังมีมากถึงกับส่งไปขายต่างประเทศที่ดินก็ไม่เป็นปัญหาสำคัญ

ฉะนั้น การที่ชาวนาเกิดมีปัญหาขึ้นมานั้นก็ต้องโทษภูมิอากาศ เพราะการเพาะปลูกสมัยนั้นยังอาศัยดินฟ้าอากาศ เช่น ชาวนาจะคอยมรสุมตกครบ 4-5 หน ก็จะลงมือปลูกข้าว ถ้าดินฟ้าอากาศไม่ได้เป็นไปตามนี้ข้าวก็เสียหมด ชาวนาก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน หรือชาวนาที่เช่าที่ดินก็จะลำบากมากเพราะเก็บเกี่ยวเป็นค่าเช่าไม่ได้ยังต้องบวกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกปีหนึ่ง ถ้าภูมิอากาศดีหรือรัฐบาลได้ทำชลประทานช่วยเหลือชาวนาตอนนั้นแล้วก็ไม่มีปัญหา

ตัวที่ก่อให้เกิดปัญหาหนึ่งของชาวนาในปัจจุบัน ผู้เขียนว่ามีส่วนสืบเนื่องกับปัญหาในสมัยนั้นเหมือนกัน คือ เรื่องชลประทาน ดินฟ้าอากาศไม่ได้ผลดีเหมือนเดิม และรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจต่อการชลประทานเลย ทั้งๆ ที่มีโครงการอยู่แล้วในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เริ่มทำในสมัยรัชกาลที่ 7 ตามโครงการที่วางไว้ถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าเทคนิคการเพาะปลูกของเรายังล้าหลังมาก และที่ทำแล้วก็ปรากฏว่าไม่ได้ผลเท่าไรนัก

เมื่อเทคนิคที่ทำให้ผลิตมากขึ้นนั้นไม่สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการ “ข้าว” ได้ ก็ต้องเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ปัญหาเรื่องเจ้าของที่ดินหรือเรื่องกดขี่ตามที่เรียกร้องกัน สาเหตุก็มาจากเรื่องนี้ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ, พรนิภา พฤฒินารากร. “ข้าว: ในสมัยปลายอยุธยา พ.ศ.2199-2130”, ข้าวไพร่-ข้าวเจ้า ของชาวสยาม, กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2531.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562