ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ข้าว เป็นสินค้าส่งออกของไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2398 อย่างไรก็ตามข้าวที่ส่งออกนั้นมาจากโรงสีที่เป็น “ธุรกิจข้าว” ของชาวจีนเกือบทั้งหมด แม้ชาวตะวันตกจะเป็นผู้บุกเบิกโรงสีแบบเครื่องจักรไอน้ำในไทยเมื่อ พ.ศ. 2401 แต่ก็มีเพียง 5 แห่งเท่านั้น และยุติการขยายบทบาทใน พ.ศ. 2410
จากนั้นชาวจีนได้เข้าทวงบทบาทผู้นำในกิจการโรงสีแบบเครื่องจักรไอน้ำ ถึง พ.ศ. 2455 โรงสีทั่วประเทศ 50 แห่ง เป็นของชาวตะวันตกเพียง 3 แห่งเท่านั้น พ่อค้าชาวจีนที่เป็นผู้บุกเบิกกิจการโรงสี คือ กลุ่มเจ้าภาษีนายอากร โดยโรงสีที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยก็เป็นของกลุ่มเจ้าภาษีนายอากรชาวจีนตระกูลหนึ่ง
ไม่ใช่แค่โรงสี ที่จริงพ่อค้าชาวจีนยึดครอง “ธุรกิจข้าว” เกือบทั้งระบบ
พ่อค้าชาวจีนควบคุมตั้งแต่การซื้อข้าวเปลือก แม้แต่พ่อค้าตะวันตกก็ต้องซื้อข้าวเปลือกผ่านพ่อค้าชาวจีน บริษัทส่งออกข้าวส่วนใหญ่เป็นของชาวจีน ขณะที่ตลาดส่งออกข้าวสำคัญของไทยคือ สิงคโปร์, ฮ่องกง และตอนใต้ของจีน ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวจีน ดังนั้น จึงสะดวกที่จะติดต่อกันระหว่างชาวจีน นอกจากนี้แรงงานในโรงสีข้าวส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ซึ่งนิยมที่จะทำงานในโรงสีชาวจีนด้วยกันมา
เมื่อธุรกิจค้าข้าวทำให้เกิดความต้องการเงินทุนและเครดิตทางการค้า ในระยะแรกพ่อค้าชาวจีนจะกู้ยืมเงินกันเองเพื่อใช้ในการลงทุน ต่อมาเมื่อการค้าข้าวและกิจการโรงสีขยายตัวมากขึ้นจำเป็นต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ขึ้น แหล่งเงินกู้สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ พระคลังข้างที่ และเจ้านายบางพระองค์ที่ให้พ่อค้าจีนกู้ยืมเป็นการส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อระดมทุนให้พ่อค้ากู้ยืมไปใช้ขยายการลงทุน
ดูทรงแล้ว พ่อค้าจีนก็น่าจะจัดการ “ธุรกิจข้าว” ไปด้วยดี
ช่วงต้นปี 2452-กลางปี 2453 พ่อค้าส่งออกข้าวชาวจีน สามารถสร้างกำไรอย่างงาม พ่อค้าส่งออกข้าวบางราย โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าภาษีนายอากร จึงทำสัญญาล่วงหน้าระยะยาว โดยกำหนดจำนวนข้าว และราคาซื้อขายแบบคงที่ ซึ่งในช่วงแรกก็เป็นไปด้วยดี
แต่สถานการณ์กลับผันผวน เมื่อราว พ.ศ. 2456 จีน, ชวา, บอมเบย์ ฯลฯ ต้องการข้าวสารจำนวนมาก ทำให้ราคาข้าวที่ตลาดฮ่องกง และสิงคโปร์ปรับราคาสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณข้าวเปลือกในประเทศที่ออกสู่ท้องตลาดมีจำนวนลดลงจึงปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้พ่อค้าส่งออกข้าวชาวจีนบางกลุ่มที่ใช้วิธีทำสัญญาระยะยาวดังกล่าวข้างต้น ประสบภาวะขาดทุนและบางรายถึงขั้นล้มละลายก็มี เพราะต้องซื้อข้าวในประเทศที่ราคาแพงขึ้น ไปขายในราคาถูกตามสัญญาที่ทำล่วงหน้า ทั้งที่ตลาดก็ปรับราคาสูงขึ้น
ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากกับกิจการธนาคารที่ระดมทุนให้แก่ธุรกิจค้าข้าว ธนาคารของชาวจีนที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2450-2456 เช่น ธนาคารยู่เสงเฮง (ภายหลังเปลี่ยนผู้ถือหุ้น-ชื่อเป็น ธนาคารจีนสยาม) ธนาคารมณฑล, ธนาคารบางกอกซิตี้ ต่างทยอยปิดกิจการในเวลาต่อมา เนื่องจากธนาคารก่อตัวด้วยทุนขนาดเล็ก, ผู้บริหารขาดความรู้ประสบการณ์ในกิจการธนาคาร และเป็นการจัดตั้งธนาคารเพื่อกู้ยืมเงินกันระหว่างพ่อค้าที่เป็นกรรมการ เมื่อการให้กู้ขาดหลักทรัพย์ประกันและการค้าล้มละลาย ธนาคารจึงพลอยล้มไปด้วย
วิกฤตการณ์ข้าวครั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่า ชาวจีนที่เป็นเจ้าภาษีนายอากรนั้นเคยชินกับการทำธุรกิจแบบผูกขาด และมีอภิสิทธิ์ภายใต้การอุปถัมภ์ของเจ้านาย เมื่อมาทำการค้าแบบนายทุนพาณิชย์ จึงไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะขาดประสบการณ์ และเครือข่ายการค้าแบบใหม่ สุดท้ายจึงประสบความล้มเหลว
อ่านเพิ่มเติม :
- ข้อมูลเรื่องข้าวปลายสมัยอยุธยายืนยัน “กรุงศรีอยุธยา” เมืองอู่ข้าวอู่น้ำตัวจริง
- นโยบายผูกขาดค้าข้าว ทศวรรษ 2490 เปิดช่อง ทหาร-ขรก. คอร์รัปชั่น บนความทุกข์ชาวนา
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก
พรรณี บัวเล็ก. “สยาม” ในกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง: ประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2541.
จี.วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 (ฉบับปรับปรุงใหม่) เมษายน 2564.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2566