
ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | ณัฏฐพงษ์ สกุลเดี่ยว |
เผยแพร่ |
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าควบคุมการค้าข้าวระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยจะต้องส่งมอบข้าวให้แก่สหประชาชาติโดยไม่คิดมูลค่าเป็นจำนวนถึง 1.5 ล้านตัน ตามข้อตกลงสมบูรณ์แบบที่ทำไว้กับอังกฤษเพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากฐานะผู้แพ้สงคราม [23]
แต่ข้อเรียกร้องนี้ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบมากเกินไปจนไม่อาจจะหาข้าวมาให้ได้ตามที่กำหนด จึงเกิดการเจรจาขึ้นอีกหลายครั้งในภายหลังเพื่อให้ประเทศไทยสามารถขายข้าวได้ในราคาที่ใกล้เคียงกับตลาดโลก และเมื่อสามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้นก็ทำให้สถานการณ์ภายในประเทศดีขึ้นมาก และในปี พ.ศ. 2492 ได้ปรากฏว่าข้าวไทยยังเหลือจากการคัดสรรประมาณ 2.5 แสนตัน จึงเป็นปีที่ประเทศไทยมีโอกาสส่งข้าวขายได้อย่างเสรีเป็นครั้งแรก [24]
“สำนักงานข้าว” เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการค้าข้าวส่งออกนอกประเทศโดยตรง อยู่ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ผูกขาดการส่งข้าวออกไปจำหน่ายต่างประเทศแต่ผู้เดียว ในการซื้อข้าวนั้นสำนักงานข้าวจะซื้อจากพ่อค้าข้าวสารหรือโรงสีในราคาที่รัฐบาลประกาศควบคุม และสำนักงานข้าวก็จะเป็นผู้จำหน่ายข้าวสารที่ซื้อในประเทศอีกขั้นตอนหนึ่ง [25]
แม้ว่าในปี พ.ศ. 2492 สถานการณ์การค้าข้าวต่างประเทศจะดีขึ้นแต่รัฐบาลก็ยังคงให้สำนักงานข้าวผูกขาดการค้าข้าวระหว่างประเทศต่อไป เนื่องจากการผูกขาดการค้าข้าวนี้เป็นที่มาของรายได้ก้อนโตของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ได้เปิดโอกาสให้พ่อค้าเอกชนติดต่อตลาดต่างประเทศแล้วมาขอส่งออกผ่านสำนักงานข้าว กล่าวคือ พ่อค้าที่หาตลาดต่างประเทศได้แล้วก็นำข้าวมาขายให้สำนักงานข้าว แล้วสำนักงานข้าวก็จะนำข้าวจำนวนนี้ไปขายต่างประเทศตามจำนวนที่พ่อค้าได้ติดต่อเอาไว้ สำนักงานข้าวจะได้กำไรจากการตั้งราคารับซื้อต่ำกว่าราคาขาย ส่วนพ่อค้าก็จะได้กำไรจากการซื้อข้าวจากชาวนามาส่งให้สำนักงานข้าวอีกทอดหนึ่ง [26]

เมื่อการค้าข้าวส่งออกเป็นธุรกิจที่ให้ผลประโยชน์สูง ผู้นำทางการเมืองในสมัยนั้นจึงให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ จอมพลผิน ชุณหะวัณ มีบริษัททหารสามัคคี และบริษัทค้าต่างประเทศทหารสามัคคี ส่วนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีบริษัทบางกอกสากลการค้า และจอมพลประภาส จารุเสถียร มีบริษัทสหพาณิชย์สามัคคี บริษัทเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการค้าข้าวส่งออกและล้วนใช้อิทธิพลทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจทั้งสิ้น เช่น บริษัท ทหารสามัคคีได้รับโควต้าส่งออกข้าวมากที่สุดเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2492-99 ประมาณร้อยละ 20-25 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
เมื่อกลุ่มผู้นำทางการเมืองให้ความสนใจในธุรกิจค้าข้าว รวมทั้งจอมพล ป. ยังได้นำนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจกลับมาใช้ในการค้าข้าว ดังปรากฏในการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2491 ที่มีการนำปัญหาเรื่องข้าวเข้าหารือ และมอบนโยบายที่จะให้รวมโรงสีให้เหลือน้อยลง และให้บริษัทข้าวไทยเข้าถือหุ้น พร้อมทั้งตั้งโรงสีใหม่ให้คนไทยเข้าถือหุ้นด้วย [28]
จากปัจจัยทั้ง 2 อย่างนี้เองทำให้พ่อค้าข้าวเอกชนทั้งหลายต้องเดือดร้อนและต้องวิ่งเต้นกันอย่างหนักหากยังหวังที่จะให้ธุรกิจของตนเองอยู่รอด นอกจากนี้พ่อค้าข้าวยังประสบปัญหาอื่น ๆ เช่น กรณี พ่อค้าข้าวในภาคอีสานที่ประสบปัญหาการขนส่งทางรถไฟไม่เพียงพอ ต้องแข่งกันวิ่งเต้น ผลสุดท้ายก็คือเงินที่ต้องจ่ายเป็นสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่การรถไฟจำนวนมากขึ้นทุกที อีกทั้งยังถูกบีบจากรัฐบาลให้โอนหุ้นเป็นของคนไทย
จนในที่สุดแล้ว นายหวังมูเหน็ง (Wang Muneng) เจ้าของโรงสีใหญ่ในอุดรธานีต้องดำเนินการรวมกลุ่มเจ้าของโรงสีประมาณ 20 คน และจัดตั้งสมาคมเจ้าของโรงสีแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น พร้อมทั้งติดต่อกับ จอมพลผิน ชุณหะวัณ โดยตกลงที่จะรวมกิจการเข้ากับบริษัททหารสามัคคีซึ่งเป็นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก บริษัททหารสามัคคีได้รับเอกสิทธิ์ในการใช้รถบรรทุกสินค้าทางรถไฟได้อย่างเต็มที่ และจัดสรรสิทธิดังกล่าวนี้แก่ผู้ถือหุ้นโดยผู้รับสัมปทานต้องขายข้าวครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดแก่บริษัททหารสามัคคี และบริษัททหารสามัคคีนำไปขายต่อให้รัฐบาล เพื่อการส่งออกอีกทอดหนึ่ง รูปแบบดังกล่าวนี้ได้ปรากฏต่อมาเมื่อเจ้าของโรงสีในภาคเหนือได้รวมตัวก่อตั้งสมาคมเจ้าของโรงสีแห่งภาคเหนือขึ้นในปี 2495 และหาผลประโยชน์ร่วมกับบริษัททหารสามัคคีด้วยวิธีการเช่นเดียวกัน [29]
การรวมตัวกันสร้างเป็น “เครือข่ายบริษัทอภิสิทธิ์” เช่นนี้น่าจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่พ่อค้าเอกชนทั่วไปที่อยู่นอกเครือข่ายหรือไม่มี “ผู้มีอิทธิพล” คอยหนุนหลัง ดังปรากฏว่าบริษัทประชานิยมที่ดำเนินการโดย นายสะอาด ปิยวรรณ ได้รับซื้อพืชไร่และข้าวในจังหวัดลำปางแข่งขันกับบริษัททหารสามัคคี โดยจะซื้อตัดหน้า และให้ราคาสูงกว่าประมาณ 5-10 สตางค์ ซึ่งต่อมาเมื่อจอมพลผินทราบเรื่องเข้าก็ได้มีคำสั่งให้บริษัทประชานิยมเลิกกิจการไปเสีย [30]
หรือที่ปากพนัง (อำเภอหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช) ก็ปรากฏว่ามีผลกระทบจากการผูกขาดและควบคุมราคาข้าวของรัฐบาลเช่นเดียวกัน เพราะทำให้เจ้าของโรงสีในปากพนังต้องหาทางไม่ให้กำไรลดลงโดยการขายส่งข้าวคุณภาพต่ำให้แก่รัฐบาล แต่โรงสีหลายแห่งก็ตั้งอยู่ไม่ได้ต้องเลิกกิจการไป ทำให้โรงสีในปากพนังลดจำนวนลง [31]
นอกจากจะกระทบโดยตรงต่อพ่อค้าแล้วยังพบว่าการผูกขาดและควบคุมการค้าข้าวของรัฐบาลยังส่งผลกระทบแก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีการเพาะปลูกข้าวน้อยทำให้ได้รับความเดือดร้อนมากเป็นพิเศษ ดังปรากฏในรายงานของนักหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า
“…เหตุที่รัฐบาลยินยอมให้เลิกการควบคุมการขนย้ายข้าว โดยปล่อยให้พ่อค้าสามารถขนย้ายข้าวไปจำหน่ายได้โดยเสรี แทนที่จะปล่อยให้บริษัทจังหวัดดำเนินการผูกขาดข้าวปันส่วนแต่เพียงผู้เดียวนั้น…เนื่องมาจากการที่มีราษฎรพากันร่ำร้องว่าได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่ได้รับความสะดวกนานาประการ อาทิเช่น คุณภาพของข้าวไม่สมควรใช้เป็นข้าวบริโภคบ้าง ราคาสูงเกินไปบ้าง รวมตลอดทั้งหาซื้อได้ยาก และนับแต่รัฐบาลได้อนุญาตให้พ่อค้าทำการค้าข้าวโดยเสรีได้แล้ว เสียงร้องว่าได้รับความเดือดร้อนของราษฎรในจังหวัดภาคใต้ที่มิได้มีการเพาะปลูกข้าวเช่นในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนองก็ดูจะเบาบางลงไป นอกจากนั้นยังได้ทราบว่าราคาข้าวสารที่เคยจำหน่ายในราคาสูงก็พลอยลดลงไปด้วย และเป็นสิ่งที่ทำให้ราษฎรในจังหวัดดังกล่าวมีความปิติยินดีต่อการกระทำของรัฐบาลเป็นอันมาก…” [32]

ในปลายทศวรรษ 2490 สถานการณ์การค้าข้าวของประเทศไทยก็ย่ำแย่ลงไปอีก กล่าวคือ ข้าวจากที่เคยเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อต้องง้อผู้ขาย (Seller’s Market) (เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ที่เคยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ยังไม่อาจเพิ่มการผลิตได้พอแก่ความต้องการของโลกได้ทันท่วงที นอกจากนั้นบางประเทศ เช่น พม่าและอินโดจีน ต้องประสบกับความยุ่งยากทางการเมืองต่อมาอีกหลายปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง) [33] กลับเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะมีประเทศที่ขายข้าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ข้าวไทยเสียตลาดและส่งออกได้น้อยลงเป็นอันมาก และเป็นผลให้ราคาข้าวภายในประเทศตกต่ำอย่างที่สุด พ่อค้าข้าวรายเล็กรายน้อยจึงล้มลงเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏในข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าออกไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็พากันร้องว่าขายข้าวไม่ออกแม้แต่ราคาต่ำ ๆ ก็ไม่มีใครมาซื้อ ขอให้ผู้แทนช่วยเหลือด้วย...ครั้นข้าพเจ้ากลับมาที่กรุงเทพฯ คุยกับเพื่อนพ่อค้าข้าวก็บอกว่าพ่อค้าข้าวเจ๊งไปหลายรายแล้ว เขาพรรณนาถึงชื่อบริษัทที่ล้ม และปิดให้ข้าพเจ้าฟัง…เขาบอกว่าพ่อค้าข้าวและโรงสีปีนี้ขาดทุนย่อยยับ ข้าพเจ้าบอกเขาว่าบริษัทที่ข้าพเจ้าเป็นกรรมการอยู่ 2 แห่งก็ขาดทุนย่อยยับ เวลานี้กำลังจะเอนหลังอยู่เหมือนกัน…ข้าพเจ้าฟังดูตามเพื่อนพ่อค้าที่รู้จักแถวราชวงศ์, ทรงวาด ก็ได้รับตอบว่าปีนี้เซ็งลี้ไม่ฮ่อ พ่อค้าก็ล้มไปสองสามราย…” [34]
ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่และสังคมต้องการคำตอบอย่างมาก แม้รัฐบาลจะพยายามไขข้อข้องใจโดยมีข่าวว่าจะให้ยกเลิกโรงสีเล็กเนื่องจากเป็นโรงสีที่สีข้าวได้คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้เกิดเมล็ดข้าวหักปลอมปนจึงส่งผลร้ายต่อการแข่งขันในตลาดต่างประเทศและทำให้ข้าวไทยเสียตลาด [35] แต่ว่าสังคมหาได้ยอมรับในคำอธิบายนี้ไม่ หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ จึงเริ่มขุดคุ้ยค้นหาสาเหตุที่ทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวในต่างประเทศไป และโดยส่วนใหญ่ก็จะโจมตีนโยบายผูกขาดการค้าข้าว ระบบราชการ ที่ทุจริตติดสินบน และบริษัทอภิสิทธิ์ ว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดข้าวในต่างประเทศเสียไป จนทำให้ราคาข้าวภายในประเทศตกต่ำลง ดังปรากฏในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2497 ความว่า
“ขณะนี้ราคาข้าวตามหัวเมืองตกต่ำจริงและเหตุที่ตกต่ำนั้นมิใช่พ่อค้ากดราคาข้าวเองหวังผลกำไร..เพราะรัฐบาลได้ทำให้ตลาดข้าวในต่างประเทศเสียไป…เพราะกระทรวงเศรษฐการควบคุมการค้าข้าวและดำเนินนโยบายผิด…คือเราไม่ยอมให้ข้าวออกนอกประเทศ เพื่อให้การขายใบอนุญาตมีราคาและเพื่อให้การขนส่งลงเรือใหญ่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เพื่อให้คนบางคนได้เป็นผู้ขนส่งโดยเฉพาะ เมื่อการซื้อข้าวจากประเทศไทยเป็นไปโดยยากลำบาก…พ่อค้าที่เคยซื้อก็เลิกซื้อด้วยวิธีการเช่นนี้ได้มีหนังสือพิมพ์เคยคาดโฉมหน้าไว้แล้วว่าเป็นการกระทำชนิดฆ่าช้างเพื่อเอางา คือฆ่าชาวนาทั้งประเทศ…” [36]

ในช่วง พ.ศ. 2497 การเรียกร้องให้ยกเลิกการผูกขาดและควบคุมการค้าข้าวเริ่มดังขึ้นมาเรื่อย ๆ ทั้งจาก พ่อค้า นักหนังสือพิมพ์ รวมทั้งคนที่ทำงานในรัฐบาลเอง โดยเฉพาะเสียงจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ดังเช่น ป๋วย อึ้งภากรณ์ ก็ได้เสนอให้ยกเลิกอำนาจการผูกขาดของสำนักงานข้าวในปี พ.ศ. 2498 เพราะเห็นว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่และรัฐมนตรี เช่น การให้ใบอนุญาตแก่พวกพ้องเพื่อนำไปขายต่อให้พ่อค้า เป็นต้น [37]
ปัญหาเรื่องข้าวนี้กลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลแก้ไม่ตก แม้ว่าจะมีการปรับนโยบายเพื่อผ่อนคลายการผูกขาดตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2497 โดยแบ่งข้าวส่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ข้าวที่ส่งขายระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ข้าวชดเชยที่รัฐบาลอนุญาตให้พ่อค้าส่งออกได้ แต่ต้องนำข้าวมาขายให้สำนักงานข้าว 5 ตัน จึงจะมีสิทธิส่งข้าวออก 1 ตัน และข้าวที่สำนักงานข้าวอนุญาตให้พ่อค้าส่งออกต่างประเทศตามวิถีทางการค้าโดยมีคณะกรรมการของสำนักงานข้าวเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
แต่มาตรการดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตในวงราชการและการแทรกแซงจากนักการเมืองได้ จนในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศยกเลิกการผูกขาดค้าข้าวเพื่อเปิดโอกาสให้พ่อค้าส่งออกขายต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านสำนักงานข้าว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2498 อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะเลิกการผูกขาดไปแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังใช้มาตรการควบคุมการค้าข้าวต่างระเทศ โดยใช้วิธีเก็บค่าพรีเมี่ยมข้าว เป็นวิธีการที่รัฐบาลควบคุมราคาข้าวในประเทศไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อรักษาระดับราคาข้าวในประเทศให้ทรงตัวไม่ผันแปรไปตามตลาดโลกมากนัก [38]
และทันทีที่รัฐบาลยกเลิกการผูกขาด การค้าข้าวของประเทศไทยก็ดีขึ้นโดยฉับพลัน พ่อค้าเอกชนและนักหนังสือพิมพ์ให้ความสนับสนุนนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลแก้ปัญหาได้ถูกจุด ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็เพราะการค้าผูกขาดโดยบริษัทอภิสิทธิ์ต่าง ๆ และการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงของข้าราชการเอง การเปิดให้เอกชนได้ค้าขายแข่งขันโดยเสรีจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาและทางออกของการค้าข้าวในช่วงนี้ไว้ได้ค่อนข้างชัดเจน ดังความว่า
“…เมื่อวันที่ 2 เดือนนี้มีรายงานข่าวจากกระทรวงเศรษฐการว่าตลอดเดือนมกราคมศกนี้ กระทรวงเศรษฐการได้ออกใบอนุญาตข้าวที่จะส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 78,837.05 ตัน ได้ส่งออกไปแล้วทั้งสิ้น 53,584.5 ตัน…การที่เราสามารถขายข้าวได้ในเดือนแรกของช่วงปีใหม่เป็นจำนวนมากเกินความคาดหมายนี้ กล่าวกันว่าเป็นผลเนื่องมาจากการที่รัฐบาลได้แก้ไขระเบียบการค้าข้าวใหม่และได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 31 เดือนธันวาคมศกก่อน แม้ว่าในระเบียบที่แก้ไขใหม่นั้นจะยังมีอีกหลายอย่างที่พ่อค้ามีภาระผูกพันจะต้องปฏิบัติต่อรัฐบาลก็ยังก่อผลดีให้เห็นได้อย่างประจักษ์ชัด ซึ่งถ้าหากระเบียบนั้นได้ถูกแก้ไขเปิดโอกาสให้พ่อค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น บางทีเราอาจขายข้าวได้มากกว่านี้อีก และเมื่อนั้นปัญหาที่ว่าข้าวไทยไม่มีตลาดข้าวไทยขายไม่ได้ ก็จะหมดไป…
อุปสรรคเกี่ยวกับการค้าข้าวที่พ่อค้าทั่วไปพากันท้อแท้ มิใช่อยู่ที่การหาตลาด มิใช่อยู่ที่ต้องพรีเมี่ยมให้รัฐบาล หากแต่อยู่ที่ระเบียบแบบแผนและวิธีการต่าง ๆ ที่รัฐบาลตั้งไว้เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลบางพวกที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชา อันเป็นการเพิ่มรายจ่ายให้แก่พวกพ่อค้าโดยมิเป็นธรรม ซึ่งรายจ่ายเหล่านั้นเป็นความจำเป็นที่จะต้องบวกเข้าไปในราคาข้าวด้วย ทำให้ข้าวที่ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศยังคงมีราคาอยู่ในเกณฑ์แพง แม้ได้พยายามลดแล้วก็ยังแพงอยู่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ
เราเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรจะได้เลิกระเบียบและวิธีการอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลเพียงบางคนอันเป็นประโยชน์ส่วนน้อย เพราะถึงอย่างไรก็มีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถสละอาชีพการทำนาได้ สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือความสุขอันไพบูลย์ของประชาชน เกิดขึ้นได้ด้วยการหาทางให้ทุกคนสละผลประโยชน์ตัวเสียบ้างเท่านั้น” [39]
อ่านเพิ่มเติม :
- กำเนิด “คนชั้นกลางในเมือง” ผลพวงจากเศรษฐกิจบูม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
- ชีวิตคนไทยช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ถ่านหุงข้าวให้รถวิ่งแทนน้ำมัน-โจรอาละวาดหนัก
- วิกฤต “ข้าวแพง” สมัย ร.6 รัฐบาลแก้ปัญหาข้าราชการฝรั่งขอขึ้นเงินเดือนอย่างไร?
เชิงอรรถ :
[23] อ้างใน สมศักดิ์ นิลนพคุณ. “ปัญหาเศรษฐกิจของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการแก้ไขของรัฐบาลระหว่าง พ.ศ. 2488-2498”. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2527. น. 96.
[24] ดูเรื่องปัญหาการค้าข้าวและปัญหาเรื่องอื่น ๆ ของประเทศไทยได้ใน สมศักดิ์ นิลนพคุณ. เพิ่งอ้าง. น. 96-108.
[25] อ้างใน สมศักดิ์ นิลนพคุณ. เพิ่งอ้าง. น. 96-97.
[26] เรื่องเดียวกัน, น. 104-105.
[27] ธรรมรักษ์ จำปา. “การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจข้าวในภาคกลางกับผลกระทบต่อสังคมไทยช่วง พ.ศ. 2460-2498” วิทยานิพนธ์ประวัติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2539m น. 169.
[28] อ้างใน เรืองวิทย์ ลิมปนาท. “บทบาทของรัฐในระบบทุนนิยมของไทย (พ.ศ. 2475-2500)”. น. 206.
[29] อ้างใน รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. “พัฒนาการและบทบาทของสหสามัคคีค้าสัตว์,” ใน รายงานผลการศึกษานโยบายราคาและการตลาดสินค้าเกษตร เล่มที่ 7. น. 29-30.
[30] อ้างใน ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์. “พ่อค้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ : ลําปาง พ.ศ. 2459-2512” น. 96.
[31] อ้างใน พอตา แก่นแก้ว. “ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนปากพนัง พ.ศ. 2439-2525”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2528. น. 85-86.
[32] หจช. บัญชีประมวลข่าวเหตุการณ์สำคัญ พ.ศ. 2497 ศก.3.1.11 ปึกที่ 1 จำนวน 3 ปึก เรื่อง บริษัทจังหวัดกับการค้าข้าวภาคใต้ (สยามรัฐ ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2497)
[33] ธนาคารแห่งประเทศไทย. ที่ระลึกวันครบรอบปีที่ยี่สิบ 10 ธันวาคม 2505. น. 32-33.
[34] หจช. บัญชีประมวลข่าวเหตุการณ์สำคัญ พ.ศ. 2497 ศก.3.1.32 ปึกที่ 2 ในจำนวน 3 ปึก เรื่อง ราษฎรจังหวัดอยุธยาขอให้ผู้แทนช่วยเหลือ เพราะข้าวขายไม่ออก (15 มิถุนายน 2497)
[35] หจช. บัญชีประมวลข่าวเหตุการณ์สำคัญ พ.ศ. 2493 ศก.3.1.24 ปึกที่ 2 ในจำนวน 3 ปึก เรื่อง เศรษฐการดำริจะให้ยุบเลิกโรงสีเล็กเคลื่อนที่ (พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม 2497)
[36] หจช. บัญชีประมวลข่าวเหตุการณ์สำคัญ พ.ศ. 2497 ศก.3.1.31 ปึกที่ 2 ในจำนวน 3 ปึก เรื่อง ข้าวขายไม่ออก (ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2497)
[37] วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน บรรณาธิการ. 90 ปี อาจารย์ ป่วย : ชีวิตและงาน (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539). น. 43.
[38] อ้างใน สมศักดิ์ นิลนพคุณ. “ปัญหาเศรษฐกิจของ ไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการแก้ไขของรัฐบาลระหว่าง พ.ศ. 2488-2498”. น. 106-107.
[39] หจช. บัญชีประมวลข่าวเหตุการณ์สำคัญ พ.ศ. 2498 ศก.1.1.6 ปึกที่ 1 ในจำนวน 2 ปึก เรื่อง กระทรวงเศรษฐการได้ออกใบอนุญาตข้าวที่จะส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ (สยามรัฐ ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2498)
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “การก่อตัวของ ‘คนชั้นกลาง’ กับการเสื่อมสลายของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ‘ทุนนิยมโดยรัฐ'” เขียนโดย ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2565