ว่าด้วยเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ชั้นแรกของ “ฉกามาพจร” สวรรค์ในคติพุทธ

จาตุมหาราชิกา คือภูมิของเทพยดาชาวฟ้า มีท้าวมหาราชทั้ง 4 เป็นผู้ปกครอง เป็นสวรรค์ชั้นที่ 1 จากทั้งหมด 6 ชั้น ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ฉกามาพจร”

หนังสือ สมุดข่อย : สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวง สมัยธนบุรี โดยโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย ระบุว่า สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาอยู่สูงจากแผ่นดินขึ้นไป 46,000 โยชน์ ตั้งอยู่บนยอดเขายุคันธรทางทิศใต้ของเขาสิเนรุราช มีเมืองสวรรค์สำหรับเทวดาอยู่ 4 เมือง กว้างยาวเท่ากัน 400,000 วา มีกำแพงทองล้อมรอบ ประดับประดาด้วยแก้ว 7 ประการ เทพยดาที่นี่มีอายุ 500 ปีทิพย์ เทียบกับมนุษย์คือ 9 ล้านปี

สำหรับข้อมูลแบบเจาะลึกเกี่ยวกับสวรรค์ชั้นนี้ มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ โลกทีปนี ของ ท่านเจ้าคุณพระเทพมุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดดอน และเจ้าคณะเขตยานนาวา กรุงเทพฯ ซึ่งท่านรจนาขึ้นตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ พระศรีวิสุทธิโสภณ จึงขอยกมาสรุปความเพื่ออ่านประดับความรู้ ดังนี้

เทพนครทั้ง 4 แห่ง บนสวรรค์ชั้นนี้ มีปราสาทแก้วเป็นวิมานของชาวฟ้า ส่วนผืนแผ่นดินเป็นแผ่นทองคำอร่าม ราบดังหน้ากลอง แต่อ่อนนุ่มดังฟูก เมื่อเหยียบก็อ่อนยุบก่อนจะคืนสภาพเรียบดังเก่า มีสระโบกขรณีที่น้ำใสยิ่งกว่าแก้ว เต็มไปด้วยปทุม (บัว) นานาชนิด ส่งกลิ่นเหมือนน้ำอบน้ำหอมตลบอมอวลไปทั่ว ทั้งต้นไม้ ดอกไม้ นานาพรรณ มีดอกผลเป็นทิพย์ให้ทวยเทพได้ชื่นชมตลอด ไม่มีวันร่วงโรย

ท้าวจตุโลกบาล ธตรฐมหาราช วิรุฬหกมหาราช วิรูปักษ์มหาราช เวสสุวัณมหาราช
ท้าวจตุโลกบาล เรียงซ้ายไปขวา ได้แก่ ธตรฐมหาราช, วิรุฬหกมหาราช, วิรูปักษ์มหาราช และ เวสสุวัณมหาราช (ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์)

ท้าวจาตุมหาราช

เทพนครทั้ง 4 ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีท้าวเทวราชผู้ยิ่งใหญ่ปกครองอยู่ 4 องค์ เรียกท้าวมหาราชทั้ง 4 หรือ ท้าวจาตุมหาราช (จตุโลกบาล) ได้แก่

1. ธตรฐมหาราช จอมเทพผู้ปกครองเบื้องบูรพา หรือทิศตะวันออก เป็นอธิบดีของ คนธรรพ์ ชาวสวรรค์จำพวกหนึ่งซึ่งมีความถนัดด้านดนตรี ศิลปศาสตร์ระบำรำฟ้อน และการขับเพลง มีชื่อเสียงในหมู่เทวดา งานชุมนุมรื่นเริงต่าง ๆ ของเทวดา จึงมีคนธรรพ์ร่วมสร้างความสำราญเสมอ

2. วิรุฬหกมหาราช จอมเทพผู้ปกครองเบื้องทักษิณ หรือทิศใต้ เป็นอธิบดีของ ภุมภัณฑ์ ยักษ์จำพวกหนึ่ง ท่าทีดุร้าย และร่างกายค่อนข้างพิกลคือ ท้องใหญ่ ตัวมหึมา และมีอัณฑะเหมือนหม้อ (เป็นที่มาของชื่อ กุมภัณฑ์) แม้จะก้าวร้าว แต่เคารพเชื่อฟังท้าววิรุฬหกผู้เป็นนายอย่างยิ่ง

3. วิรูปักษ์มหาราช จอมเทพผู้ปกครองเบื้องประจิม หรือทิศตะวันตก เป็นอธิบดีของ นาค ซึ่งล้วนมีฤทธิ์มาก พิษรุนแรง คร่าชีวิตคนได้ในพริบตา มีญาณรู้มิตรรู้ศัตรู เมื่อไปตามที่ต่าง ๆ จะเนรมิตตนเป็นงู เป็นกระแต บ้างเป็นเทวดา เที่ยวเตร่ตามพงไพรอย่างสุขสำราญ

4. เวสสุวัณมหาราช หรือท้าวกุเวร จอมเทพผู้ปกครองเบื้องอุดร หรือทิศเหนือ เป็นอธิบดีของ ยักษ์ อสูรชั้นสูงซึ่งต่างจากภุมภัณฑ์และรากษส (ยักษ์ในรามเกียรติ์) เพราะมักมีร่างกายงามสง่า ผิวพรรณผุดผ่อง

ท้าวจาตุมหาราช แห่ง สวรรค์ จาตุมหาราชิกา
ท้าวจาตุมหาราชในสมุดไทย (ภาพจาก สมุดข่อย : สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับหลวง สมัยธนบุรี. กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)

อุบัติเทพ

การจะเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา สัตว์ทั้งหลายต้องสร้างบุญสร้างกุศลไว้มากพอ เมื่อมาอุบัติในสวรรค์แล้ว จะไม่ต้องอยู่ในครรภ์มารดาหรือฟองไข่อย่างมนุษย์หรือสัตว์เดียรัจฉาน แต่จะเกิดเป็นร่างทิพย์เป็นวัยหนุ่มสาวเลย

เมื่อเกิดในเทวโลกแล้ว เทวดาผู้นั้นจะตั้งอยู่ในฐานะใดก็ตามแต่สถานที่อุบัติ กล่าวคือ หากสร้างบุญกุศลไว้มากพอ จะอุบัติในวิมานของตนทันที

แต่ถ้ามีบุญน้อย ไม่มีวิมานของตน หากอุบัติที่ตักของเทวดาองค์ใด จะเป็นบุตรธิดาของเทวดาองค์นั้น หากเป็นสตรีแล้วบังเกิดเหนือแท่นบรรทมของเทพองค์ใด ก็จะเป็นบาทบริจาริกาของเทพองค์นั้น

หากบุญน้อยกว่านั้นอีก เพียงบังเกิดใกล้ ๆ ที่บรรทม จะได้เป็นพนักงานตกแต่งประดับประดาอาภรณ์และเครื่องต้นเครื่องทรงของเทพองค์นั้น หรือหากเกิดในบริเวณปราสาทวิมาน ก็จะเป็นเทวดารับใช้ เว้นเสียแต่จะอุบัติที่ว่างระหว่างวิมาน ท้าวมหาราชเทพจะเป็นผู้ตัดสินด้วยวิจารณญาณว่าจะให้เป็นบริวารใคร หรือรับมาเป็นบริวารของพระองค์เอง

ชีวิตความเป็นอยู่

เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกามีสรีระเป็นกายทิพย์ รูปงาม สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน ไร้กลิ่นเหม็นร้ายใด ๆ สามารถเนรมิตกายให้ใหญ่โตหรือเล็กได้ดังใจปรารถนา เทวดาจำนวน 20-80 องค์ อาจเนรมิตตนให้อยู่ในสถานที่เล็กน้อยเท่าปลายเส้นผมยังได้

เทวดาเหล่านี้บริโภคอาหารทิพย์ กินไปแล้วแห้งเหือดหายไปในร่างกายเลย ไม่มีการขับถ่ายออกมาเป็นของเสีย และไร้อุปัทวอันตรายโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เสวยสุขสำราญอยู่ตลอด

สำหรับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็เป็นทิพย์ มีรัศมีส่องสว่าง เป็นผ้าทิพย์ผืนเล็กเท่าดอกปีบ แต่สามารถคลี่ออกเพื่อนุ่งห่มเป็นผ้าผืนใหญ่ยาวพอเหมาะแก่ร่างของเทวดาที่เป็นเจ้าของ

ไม่ใช่แค่อาภรณ์ที่มีรัศมีเรืองรอง แต่วิมานที่สถิตและตัวเทวดาเองก็มี ทำให้เทวโลกไม่มีราตรีอันมืดมัวเหมือนโลกมนุษย์ ดังเป็นกลางวันอยู่ตลอดเวลา ยังไม่นับรัศมีส่องสว่างจากแก้วแหวนเงินทองอันเป็นทิพย์ที่มีอยู่ทั่วไปในสวรรค์ชั้นนี้

เทพชายขอบ

ที่กล่าวมาเป็นทวยเทพที่สถิตอยู่ในสรวงสวรรค์จาตุมหาราชิกาที่เป็นภูมิชั้นสูงเท่านั้น ยังมีเทพยดาชั้นล่างที่นับเนื่องในสวรรค์ชั้นนี้ด้วย พวกท่านอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น วิมานบนยอดเขา ตามอากาศ ต้นไม้ หรือที่เราคุ้นชื่อกันอย่าง “รุกขเทวดา” ที่จะอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เทวดาจำพวกนี้จะอยู่ใกล้ชิดมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายอย่างมาก แต่เราจะไม่สามารถมองเห็นวิมานของท่านได้ เห็นแต่ต้นไม้ใหญ่พุ่มใบดกหนาเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียด (ส่วนหนึ่ง) เกี่ยวกับชาวสวรรค์ชั้นที่ 1 ในฉกามาพจร ท่านที่สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มได้ในหนังสือ โลกทีปนี ของ ท่านเจ้าคุณพระเทพมุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ. 9) หรือหากมองเห็นอาหารสมองที่ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบขวนขวาย โอกาสต่อไปเห็นจะได้นำเสนอเรื่องราวชาวสวรรค์ชั้นอื่น ๆ ให้ได้ติดตามกัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พระเทพมุนี, ท่านเจ้าคุณ. (2529). โลกทีปนี. กรุงเทพฯ : กราฟิคอาร์ต. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิวงศ์.

บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธ์ แสงทับ (เรียบเรียง). (2542). สมุดข่อย : สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับหลวง สมัยธนบุรี. โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. สมุทรปราการ : สตาร์ปริ๊นท์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2568