“สุขาวดี” คืออะไร? ทำอย่างไรจึงจะได้เข้าสู่แดนสวรรค์อันบริสุทธิ์ของชาวพุทธ

ภาพวาด พุทธอมิตาภะ ในดินแดน สุขาวดี

หนังสือ “ปรัชญามหายาน” ของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ บอกเราผู้อาจยังไม่คุ้นเคยกับพุทธศาสนาคติมหายานมาก่อนได้รู้ว่า สุขาวดี เป็นนิกายหนึ่งในหลาย ๆ นิกายของมหายาน เช่น นิกายสัทธรรมปุณฑริกะ (เทียนไท้) และนิกายเซน (ธยานหรือเซี่ยงจง) เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้รู้ว่า นิกายสุขาวดีมีสวรรค์อันบริสุทธิ์นามว่า สุขาวดีที่น่ารื่นรมย์สำราญ มีพุทธอมิตาภะเสด็จประทับแสดงธรรมอยู่มากมาย พร้อมด้วยหมู่พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ และบรรดาสาวกอีกเหลือคณานับ

สุขาวดี มีความหมายตามตัวอักษรว่า ดินแดนแห่งความสุข สุขา คือ ความสุข วดี ในพจนานุกรม ฉบับมติชน คือ รั้วหรือกำแพง หรือเครื่องตกแต่ง

สุขาวดีเป็นที่ปรารถนาของชาวพุทธ ต้องการจะไปเกิดหรืออุบัติ ณ ภพภูมินั้นเมื่อถึงคราวสิ้นอายุขัยจากโลกมนุษย์นี้ไปแล้ว ไม่แต่เท่านั้น สำหรับผู้มีจิตแน่วแน่ในทางธรรม ก็ยังสามารถเข้าสู่แดนสุขาวดีได้แม้ขณะเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ความละเอียดเรื่องนี้จะกล่าวถึงข้างหน้า น่าสนใจมากใช่ไหมครับ ที่เราสามารถเข้าสู่แดนสุขาวดีได้ แม้ขณะยังมีชีวิตอยู่!

ในวรรณคดีเชิงพุทธศาสนาคติมหายานของ คาร์ล เจลเลอรุป (Karl Gjellerup) ผู้เป็นนักเขียนนวนิยายรางวัลโนเบลไพรซ์ ปี 2464 ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า เค.จี. ซึ่งรู้จักกันว่าชื่อเรื่อง กามนิตผู้แสวงบุณย์ (The Pilgrim Kamanita) แต่ในบ้านเรารู้จักกันดีว่า วาสิฏฐี (แปลโดยเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป) ครั้งหนึ่งเคยกำหนดให้เป็นหนังสือเรียนวรรณคดีชั้นมัธยมปลาย… สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยังแนะนําว่าเป็นหนังสือดี หนึ่งในร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่านอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ดร.พิศมัย อินทรชาต อยู่โพธิ์ เขียนเป็นภาษาอังกฤษชื่อ The Pilgrim Kamanita : The Truth Seeker มีชื่อไทยว่า กามนิตผู้แสวงหาสัจธรรม

ภาพวาดพุทธอมิตาภะ ในดินแดนสุขาวดี เขียนขึ้นในยุคโชซอน เกาหลี ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18- ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ภาพจาก metmuseum.org, Public Domain)

ส่วนท่านอมโรภิกขุ พระฝรั่งสายพระอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง… ท่านได้อ่านเรื่องวาสิฏฐีจากต้นฉบับภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน ท่านสนใจมาก ได้ทำภาคผนวกโดยพิสดาร เผยแพร่ไว้ในอินเตอร์เน็ตด้วย

จึงแดนสุขาวดี น่าจะเป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางและคงเป็นที่ปรารถนาไปอุบัติหรือเกิด ณ ดินแดนทิพยสถานแห่งนั้นเป็นแน่นอน ขอยกตัวอย่างภาพอันงดงามของแดนสุขาวดีจากปากคำของวาสิฏฐี ดังนี้

“สวรรค์อันมีความสว่างรุ่งเรืองหาเขตมิได้นั้น มีอยู่ทางทิศตะวันตก ถ้าผู้มีใจเด็ดเดี่ยวรู้สึกเบื่อหน่ายในสิ่งซึ่งเป็นวิสัยโลก แล้วตั้งจิตเป็นสมาธิมุ่งแต่สถานอันเป็นบรมสุข ก็จะได้ไปจุติอยู่ในดอกบัวบนแดนสวรรค์ ผู้ใดมุ่งแต่สวรรค์ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดดอกไม้ทิพย์ขึ้นในน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ในทะเลแก้ว ความตรึกนึกที่บริสุทธิ์ทุกครั้ง ความดีที่กระทำทุกเมื่อเป็นเหตุให้ดอกไม้ทิพย์นั้นเจริญยิ่งขึ้น ถ้าความคิด วาจา และการกระทำเป็นไปในทางชั่ว ก็จะเป็นเหมือนดังหนอนที่บ่อนไส้ ให้ดอกไม้ทิพย์นั้นเหี่ยวแห้งไปโดยเร็ว”

จากคำบอกเล่านั้น แดนสุขาวดีอยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งตรงตามคัมภีร์มหายาน ดอกไม้ทิพย์คือดอกบัว และตามเรื่องราว กามนิตไปเกิดก่อน วาสิฏฐีไปเกิดภายหลังใกล้ ๆ กันตามที่มีจิตมุ่งมั่นไว้ แต่กว่าวาสิฏฐีจะได้เกิด ดอกไม้ก็เกือบจะเป็นหนอนบ่อนไส้ เพราะเธอเคยคิดจะฆ่าสามีโดยร่วมมือกับองคุลิมาล ถือเป็นการกระทำปาณาติบาต แต่ทางชั่วก็มิได้เกิดขึ้น ดอกไม้ทิพย์จึงคืนกลับสู่ความงามดังเดิม และเธอก็ได้เกิดในดอกบัวใกล้ ๆ กับกามนิตสมปรารถนา

อย่างไรก็ดี แดนสุขาวดีของ เค.จี. มิได้เป็นนิรันดร เทพและเทวีบางองค์ย่อมหมดบุญ ตกสวรรค์ชั้นสุขาวดีได้ หากมิได้เจริญธรรมอย่างเคร่งครัดอันจะคงความเป็นทิพย์หรือเป็นพลังบุญหนุนส่ง และการขาดผู้มีพลังบุญช่วยเหลืออุปถัมภ์ กามนิตนั้นมีพลังบุญไม่มาก ริม ๆ จะตกสวรรค์เหมือนเทพองค์อื่น แต่เพราะมีวาสิฏฐีช่วยเหลือจึงมีโอกาสเลื่อนชั้นสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนบรรลุนิพพานได้ในที่สุด คือ เข้าสู่แดนพุทธภูมิ ไม่คืนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกเลย

ประเด็นแดนสุขาวดี อยู่ทางทิศตะวันตก ของ เค.จี. ตามความเห็นของท่านอมโรภิกขุ บอกว่าเป็นความเชื่อของสำนักมหายานโบราณตอนเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งแท้จริงแล้วสุขาวดีมีถึง 5 แห่ง ทั้ง เหนือ ใต้ ออก ตก และตรงกลางอีกด้วย ดังนี้

ทิศเหนือ ชื่อ Amoghasiddhi ทิศใต้ ชื่อ Ratanasambhava ทิศตะวันออก ชื่อ Akshobya ทิศตะวันตก ชื่อ Amitabha กลาง ชื่อ Vairocana

ส่วนสำนักพุทธมหายานทางใต้ ยืนตามคติพราหมณ์ คือ สวรรค์มี 3 ชั้น แต่ไม่มีที่ประทับของพระอมิตาภะอยู่ในชั้นใดเลย

คติเถรวาท สวรรค์มี 4 ชั้น โดย สรุปก็คือ ชั้นต้น ชาวสวรรค์ในชั้นนี้มีโอกาสตกลงไปเกิดในโลกมนุษย์ไม่ เกิน 7 ครั้ง แต่จะไม่ไปเกิดเป็นสัตว์หรือตกนรก ชั้นที่ 2 ชาวสวรรค์ในชั้นนี้กลับไปเกิดในโลกมนุษย์ได้เพียงครั้งเดียว ชั้นที่ 3 ไม่กลับไปเวียนว่ายตายเกิดอีกเลย

สําหรับสวรรค์ชั้นที่ 4 เป็นชั้นของพุทธอรหันต์ ซึ่งจะไม่กลับไปเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่ว่าในภพภูมิใด ๆ ดังกรณีของเจ้าชายปุกกุสาติ กล่าวคือ โดยพลันที่ถึงตาย ก็ได้เกิดทันที ในสวรรค์ชั้นที่ 4 ที่เรียกว่าชั้นอวิหา (Aviha) เป็นชั้นวิสุทธิภูมิสูงสุด

ในธาตุวิภังคสูตร กล่าวว่า ปุกกุสาติ ผู้ครองนครคันธาระ อยู่ย่านแคชเมียร์ ในอินเดียตอนเหนือ (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) สละราชสมบัติออกแสวงบุญเป็นนักบวช ได้พบกับพระพุทธองค์ในเรือนโถงของกุมภะช่างปั้นหม้อ ชานมหานครราชคฤห์ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ปุกกุสาติซาบซึ้งในธรรมนั้นมาก ขอบวช พระพุทธองค์ทรงอนุญาต แต่ให้หาบาตรและจีวรมาเอง ขณะหาบาตรและจีวรถูกแม่โคบ้าขวิดตาย เชื่อกันว่าความในพระสูตรตอนนี้ เป็นต้นแบบให้ เค.จี. เขียนเรื่องวาสิฏฐี

ถึงตรงนี้เราก็ได้ทราบว่า สุขาวดี เป็นทิพยสถาน ตั้งอยู่ในมหาสากลจักรวาล มิใช่มีแต่ทางทิศตะวันตกเท่านั้น แต่มีอยู่ทุกทิศดังได้กล่าวแล้ว ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าเราจะเข้าไปสู่แดนสุขาวดีได้อย่างไร แม้ เค.จี. จะบอกผ่านมาทางวาสิฏฐีบ้างแล้วก็ตาม

ใน ปรัชญามหายาน ของ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้แล้วโดยพิสดาร ในหมวดนิกายสุขาวดี (เจ้งโท้วจง) สรุปความว่า ผู้จะถึงแดนสุขาวดีได้ จะต้องมีคุณสมบัติทำนองนี้

1. ต้องมีกตัญญูกตเวที ปรนนิบัติบิดามารดา ครูอาจารย์ และรักษากุศลกรรมบถ 10

2. ต้องถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ สมบูรณ์ในศีลสิกขาและอภิสมาจาร

3. ต้องมีโพธิจิต เชื่อในกฎแห่งกรรม และศึกษาเล่าบ่นในคัมภีร์มหายาน

4. ต้องเจริญสมถกัมมฐาน 16 ประการ (จับลักกวงมึ้ง) สำหรับเพ่งพินิจคุณาลังการต่าง ๆ ในแดนสุขาวดี

ท่านผู้มีคุณสมบัติ 4 ประการนี้ ประตูสวรรค์สุขาวดีย่อมเปิดต้อนรับทันที

ตรงข้อ 4 ขยายความว่า การเจริญสมถกัมมฐาน 16 ประการ น่าจะหมายถึงการเจริญสติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิต ธรรม ประกอบการเจริญลมหายใจเข้า-ออก อย่างละ 4 ลักษณะ เพื่อการเกิดสมาธิ และอาจรวมถึงวิธีอื่น ๆ ซึ่งมีอีกหลายวิธี เช่น เพ่งกสิณ 10 และเพ่งอสุภ 10 เป็นต้น (ดู พุทธธรรม-ฉบับเดิม ของ พระพรหมคุณาภรณ์-ป.อ. ปยุตฺโต) เมื่อเจริญสมาธิแก่กล้าดีแล้วย่อมได้ฌาน (absorption)

ภาพวาดพุทธอมิตาภะ ในดินแดนสุขาวดี เขียนขึ้นในธิเบตตอนกลาง ราวคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 (ภาพจาก metmuseum.org, Public Domain)

ฌาน ก็คือ ธยาน (ในบาลีสันสกฤต) หรือฉาน (ในภาษาจีน) หรือเซน (ในภาษาญี่ปุ่น) คือการเพ่งอารมณ์จนกระทั่งจิตสงบ ตั้งมั่นแน่วแน่

เมื่อเจริญสมาธิจนได้ฌานแล้ว ก็จะได้สัมผัสพิเศษตามมา เรียกว่าได้อภิญญา ทางจิตวิทยาเรียกว่าได้อีเอสพี (ESP-Extra Sensory Perception) ซึ่งมี 6 อย่าง คือ

อิทธิวิธี คือการแสดงฤทธิ์ได้เป็น magical power และมโนมยิทธิ เป็น psychic power, หูทิพย์, ตาทิพย์, รู้ความคิดผู้อื่น รู้เหตุการณ์ข้างหน้า, ระลึกชาติได้, หยั่งรู้ความสิ้นอาสวะของตน

สัมผัสพิเศษเหล่านี้ได้จากการเพ่งกสิณ โดยใช้วัตถุภายนอกเข้าช่วย จิตรวมกันเป็นหนึ่ง วัตถุที่ใช้เพ่ง คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว อากาศ (ช่องว่าง) แสงสว่าง ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อให้เหมาะกับการเพ่งโดยเฉพาะ

ในคติมหายานใช้การเพ่งไปยังสรรพสิ่งที่เชื่อว่ามีอยู่ในแดนสุขาวดี เช่น ต้นไม้ทิพย์ สระโบกขรณี ปราสาท ราชมณเฑียร และพระรูปของอมิตาภะกับปวงโพธิสัตว์ เพ่งว่าตนไปเกิดในดอกบัวสีสวยต่าง ๆ การเพ่งอย่างมุ่งมั่นแน่วแน่ ภาพของแดนสุขาวดีที่สวยสดงดงามอลังการย่อมปรากฏในนิมิต (mental image) ผู้ที่ฝึกฝนอย่างแก่กล้าจะสามารถจัดการ (mastery) ภาพงามได้ตามปรารถนานั้น ๆ ขึ้นทันใด เป็นภาพเล็กภาพใหญ่ งดงามสดใสขึ้นได้เร็วหรือช้าแค่ไหนก็ได้ในกาลปัจจุบัน โดยไม่ต้องรอเอาเมื่อเวลามรณะไปแล้วนั่นเลย นี่แหละคือการไปสู่สุขาวดีได้ในปัจจุบัน ที่ไม่ต้องรอให้ตายก่อนแต่อย่างใด

ความตอนนี้ระบุไว้ในอมิตายุรธยานสูตร (กวงบ้อเหลียงสิ่วเก็ง) อันเป็นคัมภีร์หนึ่ง ในสี่คัมภีร์สำคัญของมหายาน จึงผู้ปรารถนาสุขาวดีจำต้องพร่ำบ่นคัมภีร์เหล่านี้จงมาก จะได้เข้าถึงสุขาวดีขณะยังมีชีวิตอยู่ได้ง่าย ๆ

อีกประการหนึ่ง เมื่อไปเกิดในแดนสุขาวดีแล้ว ย่อมมีโอกาสพลัดหล่นกลับสู่วัฏจักรของการเวียนว่ายตายเกิดได้อีก ถ้ายังมีมิจฉาทิฏฐิ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่า กั้นขวางมหาเมตตากรุณา ย่อหย่อนในหิริโอตตัปปะ ทำลายกุศลกรรมผู้อื่น มากด้วยโมหะและขาดกำลังผู้อื่นช่วย เฉพาะในข้อหลังนี้ตัวอย่างคือในกรณีของกามนิต ซึ่งหมดบุญและเกือบจะตกสวรรค์อยู่แล้ว แต่มีวาสิฏฐีเป็นผู้ช่วย ทำให้ได้หลุดพ้น จากวัฏจักรของการเวียนว่ายตายเกิดได้อุบัติตนในสวรรค์สูงขึ้นไปและเห็นแจ้งในพุทธธรรมได้ในที่สุด (โปรดดูวาสิฏฐีภาคสวรรค์ ซึ่งเป็นคำอธิบาย ของ เค.จี. ตามคติมหายานได้ชัดแจ้งและงดงามยิ่ง)

อย่างไรก็ดี ในมิติของปรัชญาสุขาวดีมิได้อยู่ไกลแสนไกลในมหาสากลจักรวาล และมิได้อยู่ในนิมิตใด ๆ เลย แต่อยู่ใกล้แสนใกล้ในจิตมนุษย์นี่เองหากไม่มีอวิชชามาบดบังไว้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม 2564