ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” วลีอมตะจากเรื่อง “กามนิต วาสิฏฐี” นวนิยายอิงพระพุทธศาสนา เขียนโดย Karl Adolph Gjellerup ชาวเดนมาร์ก ซึ่งแต่งเป็นภาษาเยอรมัน ก่อนจะได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเสถียรโกเศศและนาคะประทีปได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. 2473
“วาสิฏฐี” นางเอกของเรื่อง เป็นผู้หญิงเฉลียวฉลาด มีความรู้ ช่างคิด เธออ่านคัมภีร์ภัควัตคีตา รู้เรื่องความเป็นมาของมหาภารตยุทธ สามารถถอดความในกลบทได้เก่งกาจ และแต่งกาพย์กลอนได้ดี แต่เพราะความเป็นหญิง จึงถูกจำกัดการแสดงความคิดเห็นหรือความสามารถต่อหน้าคนอื่น ๆ
เช่นครั้งหนึ่ง วาสิฏฐีถูกพราหมณ์ประจำตระกูลโกรธเคือง เนื่องจากเธอแสดงความคิดเห็นให้เขาฟัง พราหมณ์บอกเธอว่า “หน้าที่คิดควรให้ไว้กับพราหมณ์ ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่เชื่อ และกราบไหว้พระกฤษณ์เท่านั้น”
มุมมองความรักของวาสิฏฐีนั้นก็คมคาย เธออธิบายถึงความรักว่า “บางทีความรักและความมอบไว้ใจกันนั้น เป็นของจริงมีจริง เว้นแต่จะเปลี่ยนชื่อเรียกเท่านั้น ความรักและความไว้ใจทั้งสองประการนี้ เปรียบได้ด้วยเสียงเพลงอันไพเราะแห่งพิณ ซึ่งเราทั้งสองเป็นผู้ดีด แม้พิณจะขาดสายก็ขึ้นสายใหม่ได้ ส่วนเสียงเพลงอันไพเราะ ก็ยังไพเราะอยู่อย่างเดิม”
หรือเมื่อครั้งที่วาสิฏฐีโต้ตอบกับโสมทัตต์ สหายของกามนิต คนรักของเธอ วาสิฏฐีแสดงมุมมองเกี่ยวกับความรักและสีของดอกไม้ว่า
“ท่านโสมทัตต์ท่านเข้าใจผิดถนัด ความรักของฉันจะเปรียบด้วยสีดอกไม้ไร ๆ ไม่ได้ เพราะฉันได้ยินกล่าวกันว่า ความรักที่แท้จริงไม่ใช่สีแดง หากมีสีดำดั่งนิลเหมือนดั่งสีพระศอพระศิวะ เมื่อทรงดื่มพิษร้าย เพื่อรักษาโลกไว้ให้พ้นภัย ความรักแท้จริงต้องสามารถต้านทานพิษแห่งชีวิต และต้องเต็มใจยอมลิ้มรสที่ขมขื่นที่สุด เพื่อเสียสละให้ผู้ที่เรารักคงชีพอยู่ และเพราะด้วยความขมขื่นที่สุดนี้ ความรักย่อมเลือกเอาสีนิล คือความขมขื่นไว้ ดีกว่าจะเลือกเอาสีอื่น คือมุ่งแต่จะหาความบันเทิงสุขอย่างเดียว”
วาสิฏฐีเปรียบนิยามความรักเหมือนกับสีดำดั่งนิล เธอมีมุมมองความรักที่แตกต่างกับกามนิต เธอพยายามเข้าใจความรักที่เกิดขึ้นกับเธอ และตระหนักถึงความเป็นมายาในโลก ความรักของวาสิฏฐีจึงมิได้มีแต่เพียงความสุขความบันเทิงอย่างเดียว เปรียบได้กับวลีที่ว่า “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์”
อ่านเพิ่มเติม :
- “อิเหนา” ผู้เป็นปฐมเหตุความวุ่นวายในดินแดนชวา “เพราะรักจึงรั้น”
- ถ้าคำว่ารัก ใน “บางรัก” ไม่เกี่ยวกับ “ความรัก” แล้วชื่อย่านบางรัก มาจากไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สร้อยแก้ว คำมาลา (มิถุนายน, 2544). “นางเอกก้าวหน้า วาสิฏฐี” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 22 ฉบับที่ 8.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2563