ถ้าคำว่ารัก ใน “บางรัก” ไม่เกี่ยวกับ “ความรัก” แล้วชื่อย่านบางรัก มาจากไหน?

ย่าน บางรัก กรุงเทพ
ภาพถ่ายย่านบางรัก ในสมัยก่อน

บางรัก คือชื่อย่านการค้าสําคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงปัจจุบัน เพราะเคยเป็นย่านที่อยู่อาศัย และสถานที่ราชการ เช่น สถานทูตของชาวตะวันตกหลายชาติหลายภาษา ที่มาของชื่อไม่มีหลักฐานเอกสารบันทึกไว้แน่นอน เป็นแต่คําบอกเล่า ซึ่งเล่าสืบกันมาเป็น 2 ประการ

ประการแรก เล่ากันว่า บริเวณนี้เคยมีคลองเล็กๆ ไหลผ่านไปสู่ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ครั้งหนึ่งมีผู้พบไม้ต้นรักขนาดใหญ่ อย่างที่เรียกว่าซุง จมอยู่ในคลองนั้น ความใหญ่โตของไม้รักที่พบครั้งนั้นเป็นที่สงสัยและ เล่าลือกันถึงที่มา แต่ก็ไม่มีผู้ใดทราบว่าซุงไม้รักนั้นมาจากไหน

ต่อมา ครั้งใดที่เอ่ยถึงสถานที่บริเวณนั้นก็จะใช้ชื่อไม้รักเป็นที่หมาย เมื่อเวลาผ่านไปคําเรียกไม้รักไม่เป็นที่รับรู้ของคนรุ่นต่อมา จึงกลายเป็น “บางรัก” ไปในที่สุด ส่วนคลองที่พบซุงไม้รักนั้นเรียกกันติดปากว่า คลองต้นซุง ภายหลังเมื่อถมคลองกลายเป็นตรอก จึงเรียกว่า ตรอกซุง

ประการที่สอง กล่าวว่าชื่อบางรักมาจากชื่อโรงพยาบาล หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “โรงหมอ” เข้าใจว่าเป็นหมอมิชชันนารีรักษาตามแบบสมัยใหม่ มีชื่อเสียงในการรักษาพยาบาล ผู้คนนิยมเดินทางมารับ การรักษา จึงเรียกสถานที่นี้ว่า บางรักษ์ และกลายเป็นบางรัก ทั้งคําว่า บางรักษ์ และบางรัก ปรากฏในหลักฐานเอกสาร ดังนี้

ในประกาศกระทรวงนครบาล เรื่องรวมอําเภอชั้นใน 4 อําเภอ ลงวันที่ 5 มิถุนายน ร.ศ. 127 ตรงกับ พ.ศ. 2450 เรียกว่า อําเภอ บางรักษ์ แต่ในประกาศเรื่องเก็บเงินค่าราชการมณฑลกรุงเทพฯ ลงวัน ที่ 25 มีนาคม ร.ศ. 129 ตรงกับ พ.ศ. 2452 เรียกว่าบางรัก และเมื่อเป็นตําบล อําเภอ ปัจจุบันเป็นเขตก็เรียกว่าบางรัก

สำนักงานเขตบางรักคึกคัก คู่รักจดทะเบียนสมรสในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2563 (ภาพจากข่าวสดออนไลน์)

ส่วนตรอกซุง ซึ่งเป็นตรอกเล็กๆ อยู่ตรงข้ามกับตลาดบางรัก ข้างหนึ่งของตรอกออกถนนศรีเวียง ส่วนอีกข้างหนึ่งออกถนนสาทรเหนือ มีที่มาคือเดิมเป็นลําคลองเล็กๆ ออกแม่น้ำเจ้าพระยา เคยเป็นที่พักไม้ซุงที่ล่องมาจากเมืองเหนือ และนําซุงขึ้นบกที่นี่ เมื่อถมคลองกลายเป็นตรอกจึงเรียกว่า “ตรอกซุง”

ตลาดบางรัก เป็นตลาดสดอยู่ในตําบลบางรัก มีมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าของตลาดเดิมคือหลวง นาวาเกณิกร (โต) ได้ปลูกสร้างเป็นโรงแถวให้เช่าขายของ เรียกกันในสมัยนั้นว่า ตลาดหลวงนาวา ต่อมากิจการไม่ดีจึงขายกิจการให้หลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดรับซื้อไว้ด้วยเงินพระคลังข้างที่ พระราชทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร (ต้นราชสกุลยุคล) และโปรดให้รื้อโรงแถวออก สร้างเป็นอาคารพาณิชย์สมัยใหม่เปิดให้เช่า เรียกตามชื่อตําบลว่า ตลาดบางรัก

ส่วนในปัจจุบัน “บางรัก” กับ “ความรัก” ดูจะเป็นความหมายดีในการเริ่มต้นความรักชีวิตคู่ที่บางรัก คู่รักมากมายพร้อมใจกันไปจดทะเบียนสมรสในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานเขตบางรัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“เขตบางรัก ตลาดบางรัก ตรอกซุง”. จากหนังสือ “ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ”. โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย.พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2562