ทำไมเรียก “อัสสัมชัญ”? เผยสาเหตุบาทหลวงตั้งโรงเรียนย่านบางรัก-ร.5 พระราชทานทุน

ภาพถ่าย ครู นักเรียน โรงเรียนอัสสัมชัญ
นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ (ภาพจาก หอสมุดแห่งชาติ)

ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษาจากพระราชหฤทัยที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้ทัดเทียมอารยประเทศ ช่วงเวลานั้นมีโรงเรียนที่เกิดจากการอุปถัมภ์หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนที่ภายหลังพัฒนากลายมาเป็น โรงเรียนอัสสัมชัญ

ในกลุ่มโรงเรียนที่ได้เริ่มมีมากขึ้นในรัชกาลที่ 5 กลุ่มหนึ่งเป็นโรงเรียนที่อุปถัมภ์โดยกลุ่มหมอสอนศาสนาชาวตะวันตก ทั้งนิกายโปรเตสแตนต์ และโรมันคาทอลิก สำหรับกลุ่มโรมันคาทอลิก ช่วงเวลานั้นมีชุมชนคาทอลิกกระจายอยู่ในสยาม 5 แห่ง หนึ่งในนั้นคือชุมชนคาทอลิกย่านบางรัก โดยมี วัดอัสสัมชัญ เป็นศูนย์กลาง

ใน พ.ศ. 2420 บาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ (Pere Emile Colombet) เจ้าอาวาส เริ่มแนวคิดให้การศึกษาเด็กผู้ชายทั่วไป จึงจัดการเรียนการสอนภายในที่ดินของวัด (ช่วงนั้นยังไม่ได้เรียกว่าวัดอัสสัมชัญ) โดยคนทั่วไปเรียกกันว่า “วัดสวนท่าน” ช่วงแรกนักเรียนจะเป็นเด็กยากจนและเด็กกำพร้าในย่านบางรัก จำนวน 12 คน มาเริ่มรับการศึกษาทั้งภาษาไทยและฝรั่งเศส (ภายหลังเพิ่มภาษาอังกฤษด้วย) พร้อมกับการเผยแผ่ศาสนา ขั้นต้นเรียกโรงเรียนแห่งนี้กันว่า “โรงเรียนไทย-ฝรั่งเศสวัดสวนท่าน”

เหตุผลเบื้องลึกของการก่อตั้งโรงเรียนนั้น พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ศิษย์เก่าท่านเล่าในหนังสือชื่อ “ฟื้นความหลัง” โดยแสดงความคิดเห็นว่า

“…ที่ท่านริเริ่มตั้งโรงเรียน ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า จะเนื่องจากลูกกำพร้าที่มีผู้นำมามอบหมายไว้ให้ ท่านมีความสงสารก็รับไว้ เมื่อมีจำนวนเด็กลูกกำพร้าเพิ่มขึ้น ความคิดเรื่องตั้งโรงเรียนก็มีมาเอง นี่แสดงว่าพ่อคอลอมเบต์ เป็นผู้มีเมตตากรุณาแก่เด็กที่ตกทุกข์ได้ยาก…”

สถานที่ซึ่งใช้สอนหนังสือในช่วงแรก ยุวดี ศิริ บรรยายในหนังสือ “ตึกเก่า-โรงเรียนเดิม” ว่า บาทหลวงกอลมเบต์ ใช้เรือนไม้ใต้ถุนสูงอันเป็นเรือนพักบาทหลวงในวัด กั้นเป็นห้องเรียน 4 ห้อง

เมื่อบาทหลวงท่านเห็นว่า การสอนนักเรียนที่นับถือคาทอลิกคงไม่เพียงพอ และปรับไปเป็นเปิดรับนักเรียนทุกเชื้อชาติและทุกศาสนา ไม่จำกัดเฉพาะเพียงผู้นับถือคาทอลิก ใน พ.ศ. 2428 บาทหลวงกอลมเบต์ จึงขึ้นทะเบียนจัดตั้งโรงเรียนกับกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ โดยใช้ชื่อว่า “อาซมซานกอเล็ศ” (Le College De L’Assomption)

ปีแรกที่จัดตั้งมีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 33 คน แต่แล้วก็กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีต่อมา คือ 130 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเหตุให้ในเวลาต่อมา บาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ ต้องสร้างอาคารเรียนหลังแรกขึ้นในบริเวณวัดเพื่อรองรับนักเรียน แต่ก็มีปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ ต้องใช้วิธีเรี่ยไรหาทุนมาสร้างอาคารเรียนใหม่

รัชกาลที่ 5 ทรงทราบเรื่อง จึงพระราชทานเงินทุนเริ่มแรก 50 ชั่ง

นอกจากนี้ ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์ร่วมออกพระราชทรัพย์อุดหนุนสร้างอาคารอีกด้วย โดยรวมแล้วใช้ทุนทรัพย์ก่อสร้างรวม 50,000 บาท เป็นอาคารสูง 3 ชั้น วางตัวแนวยาวประมาณ 60 เมตร เริ่มใช้งาน พ.ศ. 2433 ภายหลังก็ถูกเรียกกันว่า “ตึกเก่า” แต่เวลาต่อมาถูกรื้อถอนเพื่อสร้างอาคาร ฟ. ฮีแลร์ แทนที่

คำว่า “อัสสัมชัญ” มีที่มาจากช่วงกระทรวงธรรมการ มีนโยบายให้เรียกชื่ออาคารสถานที่ ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ ให้เป็นคำไทยทั้งหมด ใน พ.ศ. 2453 โรงเรียนจึงมีจดหมายแจ้งไปถึงกรมศึกษาธิการ เนื้อหาชี้แจงเรื่องชื่อโรงเรียน “Assomption” นั้น มักถูกเรียกและเขียนผิด ๆ กันตามถนัด

“ด้วยเหตุนี้ ขอเจ้าคุณได้โปรดจดชื่อโรงเรียน “Assomption” กลับเปนคำไทยว่า “อาศรมชัญ” เทอญ ; บรรดาไทยทุก ๆ ท่านผู้ชำนาญในรากภาษาแห่งตน คือภาษาบาลี คงมีความพอใจเอาอย่างทั้งนั้น แล้วจะเปนที่ตัดความรังเกียจ ที่เห็นติเตียนเปนเสียงแตกต่างกันเช่นดังกล่าวมาด้วย…”

อย่างไรก็ตาม พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ แนะนำว่า ควรเป็น “อัสสัมชัญ” เพราะออกเสียงคล้ายชื่อเดิม ความหมายก็คงรักษาไว้ได้ คำว่า “อัสสัมชัญ” ยังมีคำในภาษาบาลีว่า “อัสสโม” แผลงเป็นไทยว่า “อาศรม” หมายความว่า “กุฏิที่ถือศีลกินพรต” ส่วนคำว่า “ชัญ” แยกตามชาติศัพท์เดิม คือ ธาตุศัพท์ว่า “ช” แปลว่า “เกิด” และ “ญ” แปลว่า ญาน ความรู้ เมื่อรวมความก็ได้คำว่า “ชัญ” หมายถึง “ที่สำหรับเกิดญาณความรู้”

ดังนั้น เมื่อรวม 2 คำเข้าด้วยกันก็จะได้คำว่า “อัสสัมชัญ” หมายถึง “ที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้” คำนี้จึงกลายเป็นชื่อเรียกกัน โรงเรียนอัสสัมชัญ ตั้งแต่นั้นมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ยุวดี ศิริ. ตึกเก่า – โรงเรียนเดิม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547

“เซนต์คาเบรียล” โรงเรียนน้องของอัสสัมชัญ. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2561. เข้าถึง 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562. <https://www.silpa-mag.com/history/article_23060>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ วันที่ 19 มิถุนายน 2562