ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“สวนกุหลาบ” หรือชื่อเต็มๆ ว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร มีประวัติความเป็นมาจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เจริญพระชันษา ถึงเวลาจะเสด็จมาประทับอยู่พระราชวังชั้นนอก หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะให้เสด็จประทับอยู่ในที่ใกล้พระองค์ จึงโปรดให้จัดสร้างพระตำหนักในเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง พระราชทานเป็นที่ประทับ
พระตำหนักดังกล่าวคือว่า“พระตำหนักสวนกุหลาบ” เหตุที่มี “ชื่อ” เช่นนี้ เพราะบริเวณพระตำหนักเป็นพื้นที่ปลูกกุหลาบสำหรับในราชการงานวังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2
ต่อมามีการใช้พระตำหนักนี้เป็นโรงเรียนฝึกทหาร, ฝึกพลเรือน ฯลฯ เรียกว่าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ภายหลังมีการย้ายที่ตั้งโรงเรียนออกมาอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง ก่อนจะมีการเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนสำหรับเยาวชนทั่วไป ส่วนที่ตั้งของโรงเรียนก็มีการย้ายอีกหลายครั้งก่อนจะมาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน
หากยังคงชื่อเดิมไว้เป็นที่ระลึกกำเนิดของโรงเรียน (วันสถาปนาโรงเรียน 8 มีนาคม พ.ศ. 2425) โรงเรียนชายล้วนเช่นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจึงมี “กุหลาบ” ในตราประจำโรงเรียน
แต่เคยมีช่วงเวลาหนึ่งที่ “สวนกุหลาบ” มี“ดอกไม้” อื่นที่ไม่ใช่กุหลาบบานในโรงเรียน และเป็นการปลูกที่เรียกว่าเต็มไปหมด
ดอกไม้ที่ว่านั้นคือ “ยี่โถ” ผู้ที่นำมาปลูกคือ พระยาวินิจวิทยาการ (กร อมาตยกุล)
พระยาวินิจวิทยาการผู้นี้เป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2450-2457
ซึ่งในชีวประวัติของท่านตอนหนึ่ง (โดย สำนวน อมาตยกุล-บุตรชาย) บันทึกไว้ว่า
“พี่ชายของผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่า เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสุทธ์สุริยศักดิ์ ตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ได้มีบัญชาให้คุณพ่อปลูกต้นกุหลาบริมรั้วโรงเรียน
วันหนึ่งท่านมาที่โรงเรียนนี้และได้ถามคุณพ่อว่า ท่านให้ปลูกต้นกุหลาบเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน แต่เหตุไรจึงมีดอกยี่โถเต็มไปหมด
คุณพ่อเรียนตอบว่าได้พยายามปลูกต้นกุหลาบหลายครั้งแล้ว แต่ก็ตายหมด เพราะดินไม่ดี จึงต้องปลูกต้นยี่โถแทนไปก่อน
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ตอบว่าจะหาผู้ชำนาญมาปลูกกุหลาบให้”
ครั้งหนึ่งยี่โถจึงมีโอกาสบานสะพรั่งใน “สวนกุหลาบ”
อ่านเพิ่มเติม :
- โรงเรียนสมัยคุณทวดสอน-สอบวิชาอะไร เครื่องแบบ-เครื่องเขียนในกระเป๋านักเรียนเป็นอย่างไร
- ผ่าหนังสือ “แบบเรียน” ยุคสุโขทัยถึงคณะราษฎร การศึกษาเจริญช้า เกี่ยวกับแบบเรียนไหม?
อ้างอิง :
“พระยาวินิจวิทยการ (กร อมาตยกุล)” ประวัติครู, 16 มกราคม พ.ศ. 2505
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2561