“ชุดนักเรียน” เครื่องเขียน วิชาที่เรียน-สอบ ในโรงเรียนสมัยคุณทวด เป็นอย่างไร?

เด็กนักเรียนกำลังหัดเขียนหนังสือบนกระดานชนวน

สมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างในปี 2414  โดยโปรดให้มีประกาศชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการให้ส่งบุตรหลานมาเข้าเรียน ต่อมาในปี 2427 ก็ได้โปรดให้จัดตั้งเรียนหลวงให้แก่ราษฎร แล้วนักเรียนสมัยนั้นสวมใส่ ชุดนักเรียน อย่างไร เครื่องเขียนในกระเป๋ามีอะไรบ้าง และพวกเขาต้องเรียน-สอบวิชาอะไร?

ก่อนอื่นเรามาดูเครื่องแบบ หรือ “ชุดนักเรียน” ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ที่เข้าเรียนชั้นประถมเมื่อปี 2477 ที่โรงเรียนปฐมมหาธาตุ [โรงเรียนที่สืบทอดจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เพราะเมื่อโรงเรียนเลิกไป ก็มาสร้างโรงเรียนขึ้นที่วัดมหาธาตุ และรับนักเรียนที่ตกค้างมาเรียนต่อที่นี่] บันทึกเรื่อง เครื่องแบบนักเรียน ไว้ว่า

“สมัยข้าพเจ้าเข้าโรงเรียนปฐมมหาธาตุ นักเรียนใส่รองเท้าหนังดำผูกเชือก ถุงเท้าขาว กางเกงขาสั้น เสื้อนอกกระดุม 5 เม็ด มีขอที่คอ ใส่หมวกฟาง มีผ้าพันหมวกเป็นแถบโตราวหนึ่งนิ้วฟุตสีเลือดหมูมีขีดขาวอยู่ตรงกลางตลอดแถบ มีโบว์ข้างๆ ขีดขาวตรงกลางนี้…”

สำหรับกระเป๋านักเรียน มาดูว่า “เครื่องเขียน” ต่าง ๆ มีอะไร หน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง

เริ่มจาก กระดานดำ ที่ทำจากไม้ไสจนเรียบ ก่อนจะทาด้วยเขม่าก้นหม้อกับน้ำข้าวหรือข้าวสุก (บ้างใช้ขี้รักผสมสมุกทา) ดินสอรุ่นคุณทวดเรียกว่าดินสอหิน ทำจากดินสีขาวกับสีเหลืองจากเมืองกาญจนบุรี หรือดินสอพอง ที่เอาดินสอพองมาละลายน้ำพอหมาดปั้นเป็นแท่งขนาดเท่าหัวแม่มือ ส่วนยางลบไม่ต้องใช้ ถ้าเขียนผิดก็ใช้มือเช็ดถู หรือใช้น้ำลูบ ๆ ก็เป็นอันเรียบร้อย

ส่วนชั้นสูงหรือเด็กโตหน่อย อาจมีสมุดไทยที่ทำจากกระดาษข่อย ปากกาก็เป็นเวอร์ชั่นรักษ์โลก ตั้งแต่ปากกาไม้ไผ่ หรือขนเม่น (ปลายด้านหนึ่งผ่าให้ง่ามประกัน ทำรางให้หมึกไหล) หรือจะเลือกใช้หางแมงดาทะเล, ขนนก, ขนไก่มาผ่าทำปากกาก็ได้ ส่วนหมึก ใช้หมึกแท่งสีดำแบบเดียวกับหมึกจีน

หนังสือ ที่ใช้อ่าน-เรียน มี 5 เล่ม คือ ประถม ก.กา, สุบินทกุมาร, ประถม มาลา, ประถมจินดามณี เล่ม 1 และประถมจินดามณี เล่ม 2 และมีหนังสืออ่านเล่น สำหรับฝึกหัดอีกหลายเล่ม เช่น เสือโค, จันทโครพ, สังข์ทอง, สวัสดิรักษา ฯลฯ

โรงเรียนหลวงแห่งแรก มีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหลวงสารประเสริฐ ปลัดกรมพระอาลักษณ์ เป็นอาจารย์ใหญ่ ภายหลังสถานที่คับแคบจึงโปรดฯ พระราชทานพระตำหนักเดิมที่สวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ทำการใหม่ จัดตั้งเป็น “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ”

โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ พ.ศ. 2425 (ภาพจาก http://www.geocities.ws/pipepaul1/born3.html)

โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแรกเริ่มสอนด้วยหนังสือแบบเรียนหลวง 6 เล่ม ที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้แต่ง มีหนังสือมูลบทบรรพกิจ, วาหนิตินิกร, อักษรประโยค, สังโยคพิธาน, ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ ถ้าเรียนจบ 6 เล่มก็ถือว่าจบหลักสูตรชั้นต้น แต่ปรากฏว่านักเรียนรุ่นแรก เรียนไปได้เพียง 3 เล่ม ก็ออกจากโรงเรียนไปเป็นเสมียนตราตามกระทรวงต่างๆ เป็นส่วนมาก เพราะกำลังต้องการเสมียน

ปี 2427 โปรดฯ ให้มี  “การสอบไล่” ประโยค 1 ขึ้น มีผู้สอบผ่านเพียง 3 คน คือ หม่อมราชวงศ์สำเริง, หม่อมราชวงศ์ฉอ้อน และหม่อมราชวงศ์ เปีย มาลากุล (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี)

ถึงปี 2428 เพิ่มการสอบประโยค 2 ขึ้น (สำหรับรับนักเรียนที่สอบได้ประโยค 1 เข้ารับราชการ ) มีวิชาที่สอบอยู่ 8 รายการคือ 1. เขียนลายมือหวัดและบรรจง 2. เขียนหนังสือใช้ตัว วางวรรคถูกตามใจความ โดยไม่ต้องดูแบบ 3. ทานหนังสือที่ผิดคัดจากลายมือหวัด 4. คัดสำเนาความและย่อความ 5. แต่งจดหมาย 6. แต่งแก้กระทู้ความร้อยแก้ว 7. วิชาเลข 8. ทำบัญชี

ตั้งแต่ปี 2427 รัชกาลที่ 5 โปรดให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกสำหรับราษฎรขึ้นที่วัดมหรรณพาราม แต่ก็มีข่าวลือเข้าใจผิดว่า การที่พระองค์โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนเพื่อจะเอาเด็กไปเป็นทหาร รัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศชี้แจง ความตอนหนึ่งว่า

“…ที่พูดเล่าลืออย่างนี้เป็นการไม่จริง ห้ามอย่าให้ผู้ใดพลอยตื่นเต้น  เชื่อฟังคำเล่าลือนี้อันขาด คนที่ควรจะชักเป็นทหารก็มีอยู่พวกหนึ่งต่างหาก ไม่ต้องตั้งโรงเรียนเกลี้ยกล่อมเด็กมาเป็นทหารเลย อนึ่งเด็กทั้งปวงก็แต่ล้วนเป็นบุตรหลานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งสิ้นด้วยกัน ถ้าจะเก็บเอามาเป็นทหารเสียตรง ๆ นั้นจะไม่ได้หรือ จะต้องตั้งโรงเรียนเกลี้ยกล่อมให้ลำบาก และเปลืองพระราชทรัพย์ด้วยเหตุใด…”

ประกาศดังกล่าวทำให้ประชาชนหายตื่นตกใจ การจัดตั้งโรงเรียนขึ้นตามวัดต่างในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นตามมาอีกหลาย

โรงเรียนวัดสุทธาประมุข, ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย (ภาพจากหนังสือ สังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

อ่านเพิ่มเติม :

หมายเหตุ : ปรับปรุงเนื้อหาจาก “โรงเรียนสมัยคุณทวดสอน-สอบวิชาอะไร เครื่องแบบ-เครื่องเขียนในกระเป๋านักเรียนเป็นอย่างไร” โดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เมื่อ 8 มีนาคม 2566

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ขุนวิจิตรมาตรา. “80 ปีในชีวิตข้าพเจ้า” ใน, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนวิจรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 9 ตุลาคม 2523

เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ ในอดีต, ห้างหุ้นส่วนอักษณบัณฑิต 2518


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2563