ตามรอยนักเขียนนิยายรักใคร่อิงพุทธมหายาน สู่ “กุสินารา” เมืองที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน

(ซ้าย) แผนที่อินเดียโบราณ กับเส้นทางเจลลิรูป, (ขวา) เจลลิรูป (2400-62)

กุสินารา เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นเมืองหลวงของแคว้นมัลละ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นนั้น ส่วนปาวาเป็นเมืองหลวงอีกเมืองหนึ่งของแคว้นมัลละเช่นกัน อยู่ทางทิศใต้ ทั้งคู่เป็นเมืองเล็กเมื่อเทียบกับเวสาลีหรือพาราณสี

เจลลิรูป คือ คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป (Karl Adolph Gjellerup) เป็นกวีและนักเขียนนวนิยายชาวเดนมาร์ก เจ้าของหนังสือ The Pilgrim Kamanita ที่รู้จักกันดีคือ วาสิฏฐี จากสำนวนแปลของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป อันเป็นนวนิยายเชิงรักใคร่และทวิภพ อิงพุทธศาสนานิกายมหายาน เจลลิรูปเป็นผู้แตกฉานลึกซึ้งในคติธรรมในนิกายนั้นอย่างยิ่ง กับมีความสามารถร้อยเรียงเป็นนวนิยาย
ได้ยอดเยี่ยมจนได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2460

Advertisement

เจลลิรูปเกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2400 ณ เมืองโรโฮลท์ มณฑลซีแลนด์ ประเทศเดนมาร์ก และตายเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2462

เจลลิรูปเขียนเรื่องกามนิตครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมัน ชื่อ Pilgrimen Kamanita เมื่อปี พ.ศ. 2449 จนปี พ.ศ. 2454 จึงแปลเป็นภาษาอังกฤษ The Pilgrim Kamanita โดย John E. Logie และเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป แปลเป็นไทยชื่อใหม่ว่าวาสิฏฐี  เมื่อปี พ.ศ. 2460

(ซ้าย) วาสิฏฐีขณะปฏิบัติธรรม (ภาพในจินตนาการของ ม.วรพินิต), (ขวา) บ้านชาวอินเดียในชนบท ชานเมืองพาราณสี

ตามเส้นทางของเจลลิรูปสู่กุสินารา เมืองที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน คือเส้นทางที่วาสิฏฐีตัวเอกของเรื่องเดินทางตามพระศาสดา เริ่มต้นจากโกสัมพีไปยังพาราณสี สู่เมืองเวสาลี ก่อนถึงกุสินารา ผู้เขียนและเพื่อนเดินตามเส้นทางนี้ ระยะทางรวมโกสัมพีถึงเวสาลีเกือบ 400 กิโลเมตร เจลลิรูประบุว่าใช้เวลาเดือนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นไปได้และอาจเป็นไปไม่ได้!

เป็นไปไม่ได้ หากเป็นการเดินทางทางบก ซึ่งน่าจะชุกชุมด้วยผู้ร้าย วาสิฏฐีและเพื่อนสาวเพียงสองคนย่อมตกเป็นเหยื่ออย่างง่ายดาย ส่วนภัยจากดินฟ้าอากาศ เช่น ฝนตกหนักและน้ำท่วมคงไม่กระไรนัก เพราะเดินทางช่วงเดือนสาม อากาศเย็นเป็นช่วงฤดูหนาว เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผู้เขียนและเพื่อนเดินทางโดยทัวร์อินเดียครั้งนี้

ที่สำคัญอยู่ที่กำลังกาย เธอและเพื่อนสาวเป็นชาวเมือง ยากมากที่จะอดทนกับการเดินเท้าทางไกลเช่นนั้น แม้ใจจะเปี่ยมด้วยศรัทธาแก่กล้าจัดก็จริง

การเดินทางทางเรือ เช่น โดยสารเรือพ่อค้าที่ขึ้นล่องอยู่ในลำน้ำ เป็นไปได้ค่อนข้างมาก โกสัมพีอยู่บนฝั่งยมุนาไหลมารวมกับคงคาที่อัลลาฮาบัด แล้วไหลเลยมาพาราณสี ก่อนจะต่อไปยังเมืองปัฏลีบุตร (เมืองปัตนะ) ก่อนจะลงสู่อ่าวเบงกอลในที่สุด

ผู้เขียนและเพื่อนมีโอกาสดีได้คุยกับพระสงฆ์อินเดียรูปหนึ่งที่พาราณสี ที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน ได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นไปได้ที่ใช้เวลาเพียงเดือนเดียว โดยเดินทางไปขึ้นฝั่งใกล้ๆ เวสาลี ซึ่งเหลือเส้นทางไปกุสินาราอีกไม่มากนัก

รถม้าพาชมเมือง เมดอินอินเดีย

พาราณสีเป็นเมืองใหญ่ เจริญรุ่งเรืองมาก ตามพุทธประวัติระบุว่า พระพุทธองค์ทรงใช้ที่นี่แสดงปฐมเทศนาก่อนเดินทางไปเวสาลี ผู้เขียนและเพื่อนแวะนมัสการธัมเมกขสถูป พระเจดีย์ที่แสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ ศาลาพระยสกุลบุตรหรือยสเจดีย์สถาน กับพุทธสถานอีกบางแห่ง ผู้เขียนเดินทางอีกไม่นานนักก็เข้าเขตเวสาลี ผ่านทุ่งข้าวสาลีและทุ่งมัสตาด สีเขียวสดออกดอกเหลืองชื่นตา

เสน่ห์ของอินเดียอย่างหนึ่งก็คือเกือบทุก 16 แคว้นเป็นที่ราบ เป็นทุ่งกว้างใหญ่สุดสายตา เชื่อว่าสมัยพุทธกาลก็คงเป็นเช่นนั้น (จะยกเว้นไว้ก็แต่ราชคฤห์ หรือเบญจคีรีนครเท่านั้น) จึงไม่มีภูเขาสูงเป็นอุปสรรค ไม่มีป่าใหญ่กางกั้น การเดินทางด้วยเท้าหรือเกวียนค่อนข้างสะดวก กระนั้นก็ตามย่อมไม่เหมาะกับหญิงสาวที่มากันเพียงลำพังสองคน เพราะเป็นอันตรายมาก แม้จะเดินทางแบบสันยาสีก็ตาม

(บน) เจดีย์โบราณที่โภคนคร (วันที่หมอกลงจัด), (ล่าง) วัดไทยใหม่ที่เกสรียา เวสาลี

ก่อนเข้าเขตเวสาลี เราถึงเมืองโภคนคร (Bhoganaga) เป็นเมืองเล็กประมาณว่าอยู่กลางทุ่ง ไม่มีร่องรอยของความเป็นเมืองเก่า เช่น มีซากอิฐหรือฐานกำแพงเมือง ซ้ำเรียกชื่อใหม่ว่าเกสรียา มีวัดไทยเล็กๆ สร้างใหม่อยู่ใกล้ๆ วัดหนึ่ง กับมีพระเจดีย์โบราณองค์ใหญ่มากองค์หนึ่ง เราได้รับคำบอกเล่าว่าใหญ่ที่สุดในชมพูทวีป สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมไว้ดี ใกล้ๆ กันมีหมู่บ้านเล็กๆ หมู่หนึ่งที่สร้างด้วยโคลน ซึ่งดูจะเป็นต้นแบบบ้านส่วนใหญ่ของชาวอินเดียในปัจจุบัน เชื่อว่าในสมัยพุทธกาลก็คงเป็นเช่นนั้น

โภคนคร อีกนัยหนึ่งคือวัดป่ามหาวัน มีพระสถูปใหญ่เรียกปาวาลเจดีย์ อันเป็นเจดีย์ที่รวมพระบรมสารีริกธาตุเกือบทั้งหมดไว้ที่นี่ เบื้องหน้าพระสถูปมีเสาอโศกต้นหนึ่ง เป็นเสาที่สมบูรณ์ที่สุดในอินเดีย ที่นี่มีกุฎีที่ชาวบ้านสร้างถวายพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่งที่เสด็จมาระงับโรคร้ายให้ชาวเมือง เรียกว่ากูฏาคาร

(ซ้าย) พระธัมเมกขสถูปสารนาถ พาราณสี (สถานที่ปฐมเทศนา), (ขวา) หมู่บ้านชานเมืองพาราณสี

สำหรับปาวาลเจดีย์นั้น อยู่นอกเมือง เจลลิรูปเรียกว่า Carala Temple ที่เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป แปลว่า จปลเทวาลัย รู้กันว่าเป็นที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขารว่าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานอีก 3 เดือนข้างหน้า และนี่เป็นที่มาของ “สังเวชนียสถาน” และคล้ายๆ พระพุทธองค์ตั้งพระทัยไว้ว่าจะเสด็จไปดับขันธ์ที่กบิลพัสดุ์ (ตามข้อสังเกตของ ไดซากุ อิเคดะ ดูพุทธประวัติพิเคราะห์ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย 2538 ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ แปล) แต่ไปไม่ถึงด้วยอาพาธหนักเสียก่อน

(ซ้าย) ป่ามหาวัน เวสาลี, (ขวา) ดอกไม้เมืองหนาวประดับพุทธสถาน เวสาลี

เส้นทางสู่โภคนครนี้ เป็นเส้นทางที่เจลลิรูปให้วาสิฏฐีผ่านมา เราจึงถามหาบ้านและสวนของนางอัมพปาลี แต่ไม่พบร่องรอยอะไร เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป แปลว่าอัมพคน จากคำของเจลลิรูปที่ว่า Ambagama นางอัมพปาลีผู้นี้เป็นนางเดียวผู้ที่ในอดีตเคยได้รับการแต่งตั้งจากสภาแคว้นวัชชีให้เป็นนางคณิกา (Courtesan) แห่งเมืองเวสาลี ฐานะของนางไม่ธรรมดา ร่ำรวยมั่งคั่งเป็นอย่างยิ่ง เธอมีศรัทธาแก่กล้าถึงกับถวายสวนของนางให้เป็นพระอาราม เรียกว่าอัมพปาลีวัน หรืออัมพปาลีวันวนาราม นางเป็นผู้อุปถัมภ์วาสิฏฐีให้ทุเลาโรคเรื้อรังจากความรักและภาวะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไกล เพื่อจะตามอย่างเร่งรีบเข้าเฝ้าแทบเบื้องพระบาท

ผู้เขียนและเพื่อนยังคงไม่พบร่องรอยใดๆ ของอัมพปาลีวัน หรืออัมพปาลีวันวนารามเลย น่าจะเป็นเพราะถูกยึดครองเป็นสมบัติชาวบ้านไปนานแล้วก็เป็นได้ เพราะย่านนี้มีผู้คนหนาแน่น

กว่าที่วาสิฏฐีจะฟื้นไข้ พระพุทธองค์ก็เสด็จไปเมืองปาวา (Pava) เสียแล้ว เมื่อเร่งติดตามไปก็ผ่านบ้านนายจุนทกุมาร (จุนทกัมมารบุตร) นายช่างทองแดงผู้มีศรัทธาถวายภัตตาหารเป็นเนื้อสุกรอ่อน (ท่านอิเคดะว่าเป็นเห็ดพื้นบ้านชนิดหนึ่ง) ยังผลให้พระองค์ปวดเจ็บพระนาภีและท้องร่วงรุนแรง จนเกือบจะทรงสิ้นวิสัญญีภาพ

เรายังคงหาร่องรอยบ้านนายจุนทะอย่างเคย ได้รับคำตอบจากมัคคุเทศก์ เป็นข้อสันนิษฐานต่างๆ สรุปว่า ไม่มีหลักฐานบ้านหรือร่องรอยใดทิ้งไว้ เคยค้นหากันมานานแล้ว เพราะมีระบุในพุทธประวัติ

(บน) เสาอโศกที่วัดป่ามหาวัน เวสาลี, (ล่าง-ซ้าย) ทุ่งมัสตาดบนเส้นทางปาวา กุสินารา, (ล่าง-ขวา) นก-ไม้ ชายป่าโปร่ง ริมถนนปาวา กุสินารา

กล่าวสำหรับเมืองปาวา เป็นเมืองหลวงอีกแห่งหนึ่งของแคว้นมัลละ อยู่ทางทิศใต้ ส่วนกุสินาราเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัลละเช่นกันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทั้งคู่เป็นเมืองเล็ก ตัวเมืองและกำแพงเมืองทำด้วยไม้ที่ไม่มั่นคงพอ เราไม่พบร่องรอยใดๆ ในความเป็นเมืองปาวา รู้แต่เพียงว่าอยู่ไม่ไกลจากกุสินารา การไปมาหาสู่กันค่อนข้างสะดวก คือเป็นทุ่งที่ราบสลับกับป่าหญ้าสูง มีต้นไม้ใหญ่ระเกะระกะอยู่กลางทุ่ง กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาแก่นักเดินทางนักแสวงบุญ หรือพ่อค้าใช้เป็นที่อาศัยแรมคืนในสมัยพุทธกาล

มกุฏพันธนเจดีย์ สถูปที่ถวายพระเพลิง 
กุสินารา

พระพุทธองค์เสด็จไปปาวา แต่ก็มิได้พักแรม ตรงไปกุสินาราเลยทีเดียว เจลลิรูปให้วาสิฏฐีได้เข้าเฝ้า
พระศาสดาได้ในที่สุดแทบพระแท่นบรรทม ซึ่งปูผ้าสีเหลืองระหว่างต้นรังคู่หนึ่งที่กำลังออกดอกขาวสะพรั่งแม้จะนอกฤดูกาล เจลลิรูปเพิ่มฉากการดับขันธปรินิพพานให้ดูงดงามขึ้นอีกว่า

“…ด้านพระปฤษฎางค์ถัดไปไกลคือเขาหิมพานต์ ที่มีหิมะปกคลุมเป็นนิจนิรันดร…” ผู้เขียนและเพื่อนสรุปว่าน่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะภูเขาหิมพานต์อยู่ไกลแสนไกลสุดสายตา แต่นั่นแหละเป็นที่รู้กันว่าเป็น poetic license ของกวีเต็มๆ เลยทีเดียว และ ณ ปัจจุบันนั้นที่ผู้เขียนและเพื่อนไปถึงได้นมัสการกราบไหว้ก็คือพระพุทธปฏิมากรปางปรินิพพาน ฝีมือประติมากรสกุลช่างมถุรา อยู่ภายใต้อาคารสมัยใหม่ สร้างครอบไว้โดยรอบ ดูเหมาะเจาะงดงาม

บริเวณนั้นเรียกว่าสาลวโนทยาน มีต้นรังขนาดใหญ่ต้นหนึ่งอยู่เบื้องหน้าพระวิหาร เราได้เข้าไปในพระวิหาร จบมือบูชาพระพุทธรูปพระศาสดาดุจเดียวกับชาวพุทธคนอื่นๆ เมื่อกลับออกมาเพียงก้าวพ้นประตู ฝนฤดูหนาวก็ต้อนรับเราให้พอได้เปียกปอนกันทั่วหน้า ดุจได้น้ำมนต์จากสวรรค์ ซึ่งเป็นอันจบการเดินทางตามรอยเจลลิรูป ระยะทาง 400 กว่ากิโลเมตรโดยเราใช้เวลาแค่ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ก็เหน็ดเหนื่อยและปวดเมื่อยน่าดู จึงพอประเมินได้ว่า วาสิฏฐีคงจะเหน็ดเหนื่อยมากแค่ไหน หากไม่มีศรัทธาแก่กล้าคุ้มครอง เธออาจหมดลมหายใจไปก่อนหน้านี้ก็ได้

ต้นโพธิ์ริมพุทธสถานประดับธงฉัพพรรณรังสี เวสาลี

ก่อนจบมีข้อหมายเหตุ 2 อย่าง คือ หนึ่ง เรื่องต้นรังหรือต้นสาละหน้าพระวิหาร เป็นต้นไม้ใหญ่ยืนต้นสูง พุ่มทรงสวยและไม่มีกิ่งก้านสาขามากนัก คิดว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นต้นสาละพันธุ์ที่มีกิ่งก้านโค้งยาว ดอกสีชมพูอมแดง จอม ณ คลองลึก คอลัมน์ดงดอกไม้ ในมติชนสุดสัปดาห์ บอกว่านั่นไม่ใช่ต้นรัง แต่เป็นต้นสาละลังกา ที่มาจากประเทศบราซิล ผู้เขียนเข้าใจไขว้เขวมานาน ได้เข้าใจแจ้งแล้วครั้งนี้ และอยากจะบอกว่ารัฐบาลอินเดียปัจจุบัน สร้างสาลวโนทยานหรือสวนป่ารังไว้ริมถนนเลียบเชิงเขาหิมาลัยที่ไปยังด่านโสโนลี ถนนเนปาล-อินเดีย ไว้เป็นแสนไร่ อีกไม่นานอินเดียจะร่ำรวยมหาศาล ด้วยส่งไม้รังเป็นเอ็กซปอร์ต

สอง เรื่องจุฬาตรีคูณ หรือ The Triple Union ที่อยู่ระหว่างโกสัมพี-พาราณสี ซึ่งวาสิฏฐีต้องผ่าน ไม่ว่าจะเดินทางทางบกหรือทางน้ำ แต่เจลลิรูปคล้ายจงใจไม่กล่าวถึง จุฬาตรีคูณปรากฏอยู่ในบทที่ 6 ของเรื่องวาสิฏฐี เป็นแม่น้ำ 3 สายบรรจบกัน คือ คงคา ยมุนา และสารวดี โดยเฉพาะสารวดีเชื่อว่ามาจากทางช้างเผือก (Milky Way) เป็นแม่น้ำสายสวรรค์ทั้งสามนี้หากใครได้อาบกิน ก็จะสิ้นบาป สิ้นมลทิน สามารถหยั่งรู้อนาคตของตนได้

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2558 – กองบรรณาธิการ) จุฬาตรีคูณมีเทศกาลฉลองยิ่งใหญ่ทุกๆ 12 ปี ล่าสุดฉลองเมื่อปี ค.ศ. 2007 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นล้านๆ คน การเฉลิมฉลองครั้งต่อไป ท่านผู้สนใจโปรดรอ!


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ตามเส้นทาง เจลลิรูป สู่กุสินารา” เขียนโดย กิติกร มีทรัพย์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558

ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 18 พฤษภาคม 2561