ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | ณัฏฐพงษ์ สกุลเดี่ยว |
เผยแพร่ |
การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยตั้งแต่หลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ได้ทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้นในสังคมไทย นั่นคือ “กลุ่มคนชั้นกลางในเมือง” คนกลุ่มนี้มีค่านิยม วัฒนธรรม ที่เป็นของตนเองและแตกต่างจากคนรุ่นเดิมเนื่องจากว่าเป็นกลุ่มที่ดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพอยู่ในธุรกิจภาคบริการและการพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งเป็นอาชีพที่เพิ่งจะขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษ 2490 และคนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นกลุ่มประชากรที่สำคัญของกรุงเทพฯ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
คนชั้นกลางในเมืองไม่พอใจกับการบริหารประเทศของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเฉพาะการใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” และการทุจริตคอร์รัปชั่นของกลุ่มผู้นำทางการเมือง และต้องการให้รัฐบาลใช้นโยบายทางเศรษฐกิจที่เปิดเสรีมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและบริการขึ้นอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้คนกลุ่มนี้มีความมั่งคั่งและมั่นคงในชีวิตได้ ดังนั้น ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 จึงปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวต่อต้าน และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจอมพล ป. ขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. สูญเสียความชอบธรรมทางการเมือง และเปิดโอกาสให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 ในที่สุด…
การขยายตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจภายในของประเทศไทยอย่างมาก เพราะการขยายตัวของธุรกิจจากตะวันตกได้หยุดชะงักและต้องถอนตัวออกไปเนื่องจากภาวะสงคราม ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “สุญญากาศทางเศรษฐกิจ” ขึ้น กลุ่มทุนภายในประเทศได้อาศัยจังหวะนี้เข้าครอบครองกิจการที่นายทุนตะวันตกเคยครอบครองอยู่ เช่น กิจการธนาคารและการเดินเรือ นอกจากนั้นยังขยายกิจการไปยังธุรกิจนำเข้าและขายปลีก สร้างโรงงานใหม่ ๆ และกิจการประเภทตัวแทนการค้าต่าง ๆ อีกด้วย [2]
นายทุนเหล่านี้สะสมทุนและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ดังนั้น เมื่อกลุ่มทุนตะวันตกกลับมาอีกครั้งภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ก็พบว่ากลุ่มนายทุนจีนสามารถขยายอิทธิพลครอบครองกิจการทางด้านการอุตสาหกรรมและบริการหลัก ๆ ได้หมดแล้ว โดยเฉพาะทางด้านธุรกิจการเงินที่เคยอยู่ในการควบคุมของทุนยุโรปมาโดยตลอดในช่วงก่อนสงคราม
ภายหลังเสร็จสิ้นสงครามรัฐบาลก็พยายามฟื้นฟูสภาพทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน แม้ว่าในขั้นแรกภาวะเงินเฟ้อจะไม่ลดลง จนกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะรัฐประหาร 2490 ใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน แต่เนื่องจากการที่ประเทศไทยไม่ได้รับความเสียหายจากสงครามมากนัก และยังรอดพ้นจากสภาพการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ประกอบกับการอุบัติขึ้นของสงครามเกาหลีในปี พ.ศ. 2492 ที่มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะภาวะสงครามเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความต้องการสินค้าออกต่าง ๆ จากประเทศไทยอย่างกว้างขวาง จึงก่อให้เกิดความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศที่เรียกกันว่า “Korean Boom” [3] ดังนั้น เศรษฐกิจการค้าภายในประเทศจึงค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นลำดับ
ปี พ.ศ. 2495 สงครามเกาหลียุติลงและเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศเริ่มหดตัว รัฐบาลจึงต้องหันมาแก้ปัญหาด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศเป็นมาตรการสำคัญ โครงสร้างสินค้าของประเทศเริ่มเปลี่ยนจากเดิม กล่าวคือ ในช่วงก่อนสงครามสินค้าเข้ามักจะได้แก่สินค้าประเภทอุปโภคบริโภคเป็นส่วนใหญ่ แต่ในกลางทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนมาเป็นการนำเข้าสินค้าประเภทกึ่งทุนและประเภททุน เช่น เครื่องจักร เป็นต้น [4]
ซึ่งจากรายงานของคณะสำรวจเศรษฐกิจของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการที่ได้ทำการสำรวจไว้ในปี 2499 พบว่ากำลังผลิตทางอุตสาหกรรมของเอกชนได้เพิ่มขึ้นราว 3-4 เท่าตัวจากระดับที่เป็นอยู่ในปี 2493 ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงทุนถัวเฉลี่ยในระดับประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเท่ากับประมาณร้อยละ 15-20 ของยอดเงินลงทุนทั้งสิ้นของเอกชน เงินจำนวนนี้มิได้รวมเงินลงทุนในอุตสาหกรรมของรัฐบาลและบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ จำกัด อันเป็นบริษัทกึ่งราชการ [5]
และแม้ว่าข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่จะไม่สมบูรณ์แต่ก็ยังแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา จำนวนโรงงานและคนงานได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ถึงจะยังมีจำนวนน้อยอยู่ก็ตาม เงินลงทุนและกำลังแรงม้าที่ใช้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่านั้น เช่น ระวางขนส่งทางรถไฟได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า และจำนวนยานพาหนะที่ใช้ขนส่งผู้โดยสารและในการค้าได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว การก่อสร้างของเอกชนได้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ตั้งแต่ปี 2495 และปริมาณวัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในการลงทุนแต่ละปี ก็แสดงให้เห็นว่าเอกชนได้ลงทุนในกิจการต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง นอกเหนือจากที่รัฐลงทุนอยู่เองแล้ว [6]
จะเห็นได้ว่าในยุคที่เรามักเรียกกันว่า “ทุนนิยมโดยรัฐ” นั้น ระบบเศรษฐกิจภายในขยายตัวอยู่ในระดับสูง และการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เองได้ก่อให้เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาในสังคมไทย นั่นคือ “กลุ่มคนชั้นกลางในเมือง”
“คนชั้นกลางในเมือง” คนกลุ่มใหม่ในสังคมการเมืองไทย
คนชั้นกลางในเมืองไทยนั้นได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาและเห็นเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2470 แล้ว เอก วีสกุล ได้ให้ข้อสังเกตว่านักเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2428 และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2431 นั้น ประมาณครึ่งหนึ่งจะประกอบอาชีพอิสระ นับตั้งแต่เป็นเสมียน ทำงานหนังสือพิมพ์ เป็นนายหน้าการค้า และสำหรับผู้ที่มีโอกาสแล้วไม่มีใครรีรอในการคิดและเตรียมการเข้าประกอบอาชีพทางการค้าด้วยตนเองเลย [7]
ส่วนในบัญชีสำรวจอาชีพพลเมืองปี พ.ศ. 2472 ระบุว่าในประเทศไทยมีพ่อค้าขายข้าวอยู่ 20,159 คน ผู้ทำอาชีพตัดไม้ค้าฟื้น 12,738 คน พ่อค้าของป่า 7,053 คน ผู้ประกอบอาชีพสีข้าว 3,709 คน ผู้ประกอบอาชีพเก็บค่าเช่า 3,084 คน ทำภาษีอากรหรือเป็นเจ้าภาษีนายอากร 1,651 คน ขายเครื่องรูปพรรณ 786 คน และเป็นนายหน้าต่าง ๆ 263 คน และในบัญชีฉบับเดียวกันยังระบุว่ามีผู้ประกอบอาชีพค้าขายต่าง ๆ 457,601 คน ทั่วประเทศ คนกลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นพ่อค้าระดับกลางของประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2470 [8] และจากการศึกษาของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ [9] ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
แม้ว่าในช่วงทศวรรษ 2490 ประเทศไทยจะต้องเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สงครามครั้งนี้ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองมากนัก สภาพเศรษฐกิจและการค้าภายในประเทศจึงฟื้นตัวขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ดังปรากฏในรายงาน “สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย ตั้งแต่สิ้นสงครามจนถึง พ.ศ. 2493” โดย สำนักเลขาธิการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ภายหลังสงครามจำนวนร้านค้าได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ร้านค้าในเขตจังหวัดพระนคร ธนบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ซึ่งได้จดทะเบียนต่อสำนักงานกลางทะเบียนพาณิชย์มีจำนวนดังต่อไปนี้ [10]
พ.ศ. 2489 จำนวน 44,872 ร้าน, พ.ศ. 2490 จำนวน 50,344 ร้าน, พ.ศ. 2491 จำนวน 54,970 ร้าน, พ.ศ. 2492 จำนวน 59,172 ร้าน, พ.ศ. 2493 จำนวน 63,481 ร้าน
และภายหลังสงครามได้มีการตั้งบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น จำนวนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดได้เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ดังนี้ [11]
พ.ศ. | 2489 | 2490 | 2491 | 2492 | 2493 |
ห้างหุ้นส่วน | 806 | 1,048 | 1,285 | 1,730 | 2,084 |
บริษัทจำกัด | 715 | 952 | 1,200 | 1,469 | 1,761 |
เมื่อร้านค้าและบริษัทต่าง ๆ ขยายตัวขึ้น จำนวนคนที่เข้าไปอยู่ในภาคเศรษฐกิจนี้ย่อมจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2494 ก็ได้เพิ่มการจัดการศึกษาสายมัธยมอาชีวศึกษาขึ้นมา ซึ่งปรากฏว่าจำนวนนักศึกษาในโรงเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว ระหว่างปี พ.ศ. 2490 และปี พ.ศ. 2497 (จากจำนวน 9,625 เป็น 40,093 คน) [12]
การเน้นหนักทางด้านการศึกษาวิชาชีพสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการผู้มีความรู้ทางวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น การวางพื้นฐานการศึกษาวิชาชีพที่ผ่านมาทำให้ในทศวรรษ 2490 มีผู้ที่ศึกษาในสายวิชาชีพจำนวนไม่น้อยจบออกมาทำงานกับห้างร้าน บริษัท หรือภาคธุรกิจอื่น ๆ กลายเป็นคนกลุ่มใหม่ที่มีบทบาทในสังคม ขณะที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเข้าศึกษาในสายวิชาชีพเพื่อประกอบอาชีพที่ตนถนัดต่อไป [13]
จากการศึกษาของสกินเนอร์พบว่า ในปี พ.ศ. 2495 มีผู้คนทั้งชาวไทยและชาวจีนที่ประกอบอาชีพที่มีสถานะสูงปานกลาง (ได้แก่ ข้าราชการชั้นผู้น้อย เจ้าของกิจการค้าเล็ก ๆ และผู้จัดการ ผู้ประกอบอาชีพเล็ก ๆ ข้าราชการ ธุรการ เสมียนธุรกิจการค้า พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมตำแหน่งสูง) ในกรุงเทพฯ จำนวนถึง 175,350 คน ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพสถานะต่ำปานกลาง (ได้แก่ พวกช่างต่าง ๆ คนขับรถโดยสาร กลุ่มผู้ชำนาญงานเบ็ดเตล็ด และพนักงานตามโรงแรมและร้านอาหาร) ก็มีอยู่ถึง 75,380 คน ด้วยกัน [14]
จึงกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษ 2490 เจริญเติบโตขึ้นและได้ผลิตคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาในสังคมไทย นั่นคือกลุ่ม “คนชั้นกลางในเมือง” ซึ่งคนกลุ่มนี้มีทัศนคติและวิถีชีวิตแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากคนรุ่นเดิมอย่างชัดเจน [15] นอกจากนั้นคนกลุ่มนี้ยังได้รับความเดือดร้อนไม่น้อยจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจอมพล ป.
ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 2490 จึงน่าจะหันมาให้ความสนใจกับ “อารมณ์ความรู้สึก” และบทบาทของกลุ่มนี้มากขึ้น แทนที่จะเพ่งเล็งไปที่ความขัดแย้งของกลุ่มผู้นำทางการเมืองหรือการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมืองและของนักธุรกิจนายทุนทั้งหลายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเห็นว่าการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2500 เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
การศึกษาความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่เกิดขึ้นในยุคก่อน หน้าก็จะทำให้เราเข้าใจ “ยุคพัฒนา” ได้มากขึ้นและดีขึ้น เนื่องจากไม่เคยมีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งใดที่เกิดขึ้นบนสุญญากาศ หากแต่เกิดบนรากฐานหรือบริบททางสังคมหนึ่ง ๆ เสมอ…
อ่านเพิ่มเติม :
- จุดเปลี่ยนระบบ “กงสี” ของกิจการจีนในไทยจางลง แปรเป็น “บริษัท” และ “ชนชั้นกลาง”
- อิทธิพล “ความสว่าง” ยามค่ำ เมื่อแรกมีไฟฟ้าในสยาม เปลี่ยนกรุงเทพเป็นเมืองกลางคืน
เชิงอรรถ :
[2] ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์. เศรษฐกิ การเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 3. (เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม, 2546), น. 138-139.
[3] ธนาคารกรุงเทพ จำกัด. ก่อนจะถึงวันนี้. 2524, น. 35.
[4] นภพร เรืองสกุล. นโยบายแก้วิกฤตในธนาคารพาณิชย์ไทย. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย, 2532), น. 85-86.
[5] รายงานของคณะสำรวจเศรษฐกิจ ของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ. โครงการพัฒนาการของรัฐ สำหรับประเทศไทย. (สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ, 2503), น. 106-107.
[6] เรื่องเดียวกัน, น. 13.
[7] อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546), น. 91-92.
[8] อ้างใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. เพิ่งอ้าง. น. 92-93.
[9] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. เพิ่งอ้าง.
[10] หจช. เอกสารกระทรวงการคลัง (2) สร.0201.22.1 เรื่อง การเศรษฐกิจ สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ กล่องที่ 2 ปึกที่ 6
[11] เรื่องเดียวกัน.
[12] อ้างใน จี วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548), น. 157.
[13] ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์. วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย (กรุงเทพฯ : มติชน, 2549), น. 203-204.
[14] ดูใน จี. วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. น. 305-306.
[15] ถ้าสนใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและค่านิยมของคนชั้นกลางในทศวรรษ 2490 โปรดดูใน ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์. วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2549). ที่ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมบันเทิงในสังคมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2491-2500 โดยเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2490 ด้วย
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “การก่อตัวของ ‘คนชั้นกลาง’ กับการเสื่อมสลายของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ‘ทุนนิยมโดยรัฐ'” เขียนโดย ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2565