จุดเปลี่ยนระบบ “กงสี” ของกิจการจีนในไทยจางลง แปรเป็น “บริษัท” และ “ชนชั้นกลาง”

เยาวราชในอดีต

ย้อนรอยจุดเปลี่ยนกงสีของกิจการจีนในไทยในยุคการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อกิจการชาวจีนที่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเคยเป็นแบบครอบครัว ทำไมกลายสภาพเป็นนายจ้างกดค่าตอบแทนลูกจ้างได้

ผลิตผลของสื่อบันเทิงที่เผยแพร่หลายเรื่องทำให้สังคมไทยเริ่มสนใจระบบ “กงสี” มากขึ้น ในสังคมสมัยใหม่ยุคนี้กิจการแบบครอบครัวขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่เข้าสู่ระบบแบบ “บริษัท” กันเป็นส่วนมากแล้ว แต่เมื่อย้อนกลับไปเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน การเปลี่ยนแปลงของ “กงสี” กลายเป็น “บริษัท” ส่งผลต่อความสัมพันธ์แบบระหว่างคนในกิจการเช่นกัน

Advertisement

ความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง แบบ “ครอบครัว”

ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก่อนทศวรรษ 2500 สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ผู้เขียนหนังสือ “กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย” ระบุว่า กิจการจีนยังอยู่ในลักษณะ “กงสี” นายจ้างกับลูกจ้างกินนอนอยู่ด้วยกันเสมือนครอบครัวเดียวกัน

กิจการคนจีนรุ่นเก่าเป็นที่พึ่งพาสำหรับลูกจ้างที่เป็นกลุ่มคนจีนพลัดถิ่น บางรายมีญาติพี่น้องที่พึ่งพิงได้ไม่มากนัก นายจ้างจึงกลายเป็นที่พึ่งพิง ให้ที่พักอาศัย นายจ้างและลูกจ้างร่วมโต๊ะรับประทานอาหารด้วยกัน ส่วนลูกจ้างก็ช่วยงานในบ้านนายจ้าง ความสัมพันธ์เสมือนวิถีแบบครอบครัว

“ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ทำให้คนงานเกิดความรู้สึกเสมือนญาติพี่น้องกับนายจ้าง จิตสำนึกในการทำงานของลูกจ้างจึงเป็นจิตสำนึกของการทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวใหญ่ซึ่งเป็นของคนงานและครอบครัวเดียวกัน”

ยุคพัฒนา

ระหว่าง พ.ศ. 2500-2517 เป็นช่วงที่ไทยต้องรับมือกับความผันผวนในเศรษฐกิจ “ยุคพัฒนา” ช่วงจอมพลสฤษดิ์เข้ามาปกครอง หลากหลายกลุ่มพยายามฉกฉวยโอกาสจากนโยบายส่งเสริม “ทุนนิยมเอกชน” โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์จีน ซึ่งทำให้กลุ่มที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้เปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองกลายเป็น “เจ้าสัว” (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2548) ขณะเดียวกันนักวิจัยบางท่านวิเคราะห์ว่า การส่งเสริมธุรกิจเอกชนก็ทำให้ชนชั้นนำทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย (นิรมล สุธรรมกิจ, 2551)

ผู้คว้าโอกาสและแสวงหาผลกำไรด้วยรูปแบบต่างๆ ได้ก็สามารถประสบความสำเร็จ มีโอกาสเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจของตัวเอง อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ไม่มีโอกาสและไม่สามารถเข้าถึงโอกาสได้ยังต้องดิ้นรนหาทางเพื่อโอกาสของตัวเอง

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ผู้เขียนหนังสือ “กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย” แสดงความคิดเห็นว่า บริบทข้างต้นทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่าง “จีนรวย” กับ “จีนจน”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นอย่างการพัฒนาและเก็งกำไรที่ดิน การไล่ที่ชุมชนแออัดเพื่อนำพื้นที่มาใช้พัฒนาในเชิงพาณิชย์ส่งผลกระทบต่อผู้อาศัยเดิม การไล่ที่บางครั้งเกิดจาก “นายทุนจีน” ไล่ “สามัญชนจีน” ไปจนถึงผลกระทบจากนโยบายรัฐที่เร่งพัฒนาเมือง ส่งผลทำให้สามัญชนที่ไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจเกิดความไม่มั่นคงในชีวิต

ผลจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคอมมิวนิสต์ในจีน

หลัง พ.ศ. 2500 การพัฒนาเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่มากขึ้น กิจการต้องแข่งขันกันมากขึ้น ปัจจัยอีกประการคือจำนวนผู้อพยพจากจีนก็ลดลงเนื่องจากจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2492 เมื่อระบบกงสีไม่สอดคล้องกับยุคสมัย กิจการจำเป็นต้องปรับลักษณะการบริหารมาเป็นรูปแบบ “บริษัท” ตามฉบับตะวันตก (สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, 2555) สิทธิเทพ อธิบายว่า

“…นายจ้างกับลูกจ้างคือบุคคลสองฝ่ายที่มาทำการแลกเปลี่ยนกันระหว่างเงินค่าจ้างกับแรงงาน บุคคลทั้งสองฝ่ายจึงมักขัดแย้งและทำการต่อรองระหว่างกัน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ในรูปแบบบริษัทก็ทำให้นายจ้างลดค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกจ้างไปได้มาก”

ความเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ทำให้แม้แต่ญาติของนายจ้างซึ่งมาทำงานด้วยถูกลดฐานะลงกลายเป็น “ลูกจ้าง” ธรรมดา ถูกใช้งานเช่นเดียวกับลูกจ้างคนอื่น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ไม่ถูกบรรทัดฐานทางสังคมจำกัดอีกต่อไป การซื้อขายแรงงานยังเปิดโอกาสให้นายจ้างกดค่าแรงลูกจ้างได้

สภาพแวดล้อมหลัง 2510 ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตึงเครียดขึ้นเมื่อสภาพเศรษฐกิจผันผวน การพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินไปแบบก้าวกระโดด เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ค่าครองชีพเพิ่มสูงอย่างมาก ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างยิ่งสั่นคลอน

สิทธิเทพ อธิบายว่า  “จีนจน” ซึ่งสามารถพัฒนาตัวเองจนมีกิจการขนาดย่อมเป็นของตัวเองได้ กลุ่มนี้กลายเป็น “ชนชั้้นกลางจีน” พร้อมขยายตัวในทางธุรกิจ ซึ่งกิจการลักษณะนี้ก็ไม่ได้บริหารลักษณะ “กงสี” แต่ใช้ระบบบริหารงานสมัยใหม่แบบตะวันตก ยังมีเพียงบางกลุ่มที่ยังบริหารแบบกึ่งกงสีกึ่งบริษัทอยู่บ้าง

ชนชั้นกลางจีนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องบังคับบุตรหลานให้ละเว้นระบบการศึกษาเพื่อมาช่วยงาน บุตรของกลุ่มนี้ที่มีการศึกษาระดับกลางถึงสูงย่อมสนับสนุนแนวการบริหารแบบสมัยใหม่ หากพ่อแม่ให้ช่วยกิจการ บุตรหลานกลุ่มนี้อยากมีเงินเดือนเก็บส่วนตัว ไม่ใช่เข้ากงสีของครอบครัว (พลศักดิ์ จิรไกรศิริ, 2531)

 


อ้างอิง: 

พลศักดิ์ จิรไกรศิริ. บูรณาการของเยาวชนจีนในประเทศไทย : การเมือง การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนา. กรุงเทพฯ : ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2531. หน้า 128

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และคณะ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548

นิรมล สุธรรมกิจ. สังคมกับเศรษฐกิจ : กรณีศึกษาประเทศไทย (พ.ศ. 2500-2545). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551. หน้า 114-115

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. กบฏจีนจน “บนถนนพลับพลาไชย”.กรุงเทพฯ : มติชน, 2555. หน้า 100


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ตุลาคม 2561