ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | วรชาติ มีชูบท |
เผยแพร่ |
วิกฤต “ข้าวแพง” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในประเทศติดต่อกัน เริ่มจากเกิดน้ำท่วมจังหวัดภาคกลางทั้งหมดใน พ.ศ. 2460 ที่เรียกกันว่า “น้ำท่วมปีมะเส็ง” ต่อด้วยฝนแล้งใน พ.ศ. 2461 ทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกัน “ประเทศใกล้เคียงไม่มีข้าวขาย แต่ประเทศสยามมีขาย และขายได้เป็นราคาถึง 56.9 ล้านบาทเศษภายใน 4 เดือน ข้าวภายในเมืองจึงแพงขึ้น” [1]
เรื่องวิกฤตข้าวแพงนี้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลพฤฒิยากร ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าไว้ใน “อัตตชีวประวัติ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร” ว่า “ครั้งหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปซ้อมรบเสือป่า ระหว่างบ้านโป่งกับโพธาราม ได้ทรงรับลายพระหัตถ์กรม หลวงราชบุรี [2] อีกแหละว่าในปีนั้นฝนแล้งมาก การทํานาไม่ได้ผลพอเพียง สมควรจะออกกฎหมายกักกันข้าวที่เคยส่งออกไว้ให้ราษฎรบริโภคในบ้านเมือง รับสั่งให้พ่อ [3] รีบ นำลายพระหัตถ์นี้ไปกรุงเทพฯ ถวายทูลกระหม่อมเล็ก [4] ให้ทรงเรียกประชุมเสนาบดีและประทับเป็นประธานแทนพระองค์ ตกลงอย่างไรให้นํามากราบบังคมทูลโดยเร็ว
เวลานั้นไม่มีถนนรถยนต์ได้รีบเดินทางรถไฟจากสถานีคลองตาคตจังหวัดราชบุรีมากรุงเทพฯ ไปเฝ้าทูลกระหม่อม ๆ ทรงพระสรวลปราศรัยว่า ‘แหม แต่งตัวสวยจริงนะ’ (มาเฝ้าในเครื่องสนามเสือป่าที่แต่งอยู่) แล้วทรงสั่งให้รีบนัดประชุมในวันรุ่งขึ้น ท่านเสนาบดีเข้ามาประชุมพร้อมเพรียง แต่เสนาบดีเกษตรฯ ทูลขอให้เลื่อนประชุมออกไปอีกวันหนึ่งเพื่อให้เวลาให้เสนาบดี ‘ที่ไม่รู้ภาษา’ ได้หาหมอความมาพูดแทนตัว ผู้เป็นประธานตรัสไม่ยอมให้ทําดังนั้น ว่าที่นี่เป็นที่ประชุมเสนาบดีจะให้คนอื่นเข้ามายุ่งนั้นยอมไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าเสนาบดีผู้ใดไม่รู้เรื่องพอจะปรึกษาหารือกันได้ขอให้ชี้ให้ทราบ ถ้าทรงเห็นด้วยจะทรงกราบบังคมทูลขอให้ถอดได้ ความก็สงบไป ได้ทราบว่าวาระถัดไป ท่านเสนาบดีสองคนพกหนังสือกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเข้ามาด้วย แต่ก็มิได้มีเหตุที่จะต้องยื่น” [5]
ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครแล้ว ทรงนําเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม เสนาบดีสภาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 “ที่ประชุมเสนาบดีตกลงให้ยกเลิกภาษีอากรบางอย่าง ให้รัฐบาลซื้อข้าวมาขายในราคาถูก และจ่ายเงินแถมพกผู้มีรายได้น้อย” [6] และต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 เสด็จออกขุนนาง และประชุมเสนาบดีเรื่อง “ข้าวแพง” ต่อจากสัปดาห์ก่อน
“มีพระราชดํารัสว่าการแก้โดยวิธีต่าง ๆ นั้น อาจไม่ได้ผล น่าจะลองแก้โดยวิธีเก็บภาษีเงินได้จากบุคคลที่ร่ำรวย ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติลองร่างพระราชบัญญัติมาทูลเกล้าฯ ถวาย และให้ขอยืมผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมไปช่วย ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงนครบาลสืบดูว่าบุคคลชนิดใด ร่ำรวยมากที่สุด เช่น ได้กําไรจากการค้าขาย นอกจากนั้น ที่ประชุมตกลงให้เพิ่มเงินเดือนเสมียนพนักงานจาก 50 บาท เป็น 60 บาท” [7]
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2462 ยังคงโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีสภาที่มีการประชุมทุกวันจันทร์คงพิจารณาแก้ปัญหาเรื่อง ข้าวแพง และค่าครองชีพต่อเนื่องกันมาทุกสัปดาห์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดดังนี้
“1. ปิดอ่าว ออกกฎหมายห้ามส่งข้าวออกนอก พระราชอาณาเขต
2. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าพนักงานกํากับ ตรวจตรา 6 ท่าน คือ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, เจ้าพระยายมราช [8] เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ [9], นายวิลเลียมสัน [10], พระยาอินทรมนตรี [11], และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา [12]
3. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเงินอากรค่านาสําหรับตําบลต่าง ๆ ในจังหวัดนนทบุรี 45 ตําบล ตําบลต่าง ๆ ในอําเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
4. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้ข้าราชการสถานกงสุลที่ปีนัง, กลักตา [13], สิงคโปร์ และข้าราชการสถานทูตที่โตเกียว
5. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมจดทะเบียนล้อเลื่อนบางชนิด” [14]
ต่อจากนั้นในวันที่ 9 มีนาคม 2462 ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติกำกับตรวจตราข้าว พระพุทธศักราช 2462” โดยทรงพระราชปรารภถึงการทำนา พ.ศ. 2462 ว่า “ฝนฟ้าอากาศไม่ปรกติ เปนเหตุให้ได้ผลน้อย น่าวิตก จึงได้มีพระราชดำรัสสั่งกรรมการกำกับตรวจตราข้าวให้ใส่ใจระมัดระวังดูความยากแค้นของราษฎรอันจะมีมาก่อนฤดูเก็บเกี่ยวในปีน่า ถ้าเห็นจำเปนจะต้องจัดระเบียบราคาข้าว ก็ให้เตรียมการจัดการให้ทันท่วงที
บัดนี้กรรมการกราบบังคมทูลว่า เมื่อได้ห้ามมิให้ข้าวออกไปนอกพระราชอาณาเขตรแล้ว ปริมาณแห่งข้าว คาดคเณว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในปีนี้นั้น จักมีพอใช้ตลอดถึงฤดูทํานาปีน่า แต่ว่าผลเมล็ดข้าวที่มีอยู่ตามท้องที่นั้นมิได้สม่ำเสมอกัน บางท้องที่ก็มีมาก บางท้องที่ก็มีแต่พอเลี้ยงตัว บางท้องที่ก็ขาดแคลนทีเดียว เมื่อเปนเช่นนี้ การจําหน่ายธัญญาหารแก่ประชาชนให้ได้มีข้าวทั่วถึงกัน จึงเกิดเปนการสําคัญ เพราะในสมัยที่มีเหตุดังนี้ ย่อมเปนธรรมดาที่บุคคลบางจําพวกจะฉวยโอกาศซื้อข้าวกักไว้ขายให้ได้กําไรเกินประมาณ จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดระเบียบราคาข้าว เพื่อได้ทําการช่วยเหลือราษฎร ดังได้มีพระบรมราชโองการสั่งไว้
ทรงพระราชดําริห์เห็นชอบด้วยความคิดที่กราบบังคมทูลพระกรุณา แลระเบียบราคาข้าวที่จะจัดนั้น จักให้เปนประโยชน์ทั้งในทางที่จะช่วยราษฎรที่ขาดแคลนให้ได้ซื้อข้าวสําหรับบริโภคและทําพรรณได้โดยราคาพอสมควร แลในทางที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาวนาที่ทํานาได้ผลให้ขายข้าวได้ราคาเปนกําไรพอคุ้มกับความเหน็จเหนื่อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติกํากับการตรวจตราข้าวขึ้นไว้ใช้ชั่วคราว” [15]
พระราชบัญญัติกํากับตรวจตราข้าวนี้ได้ใช้บังคับมาจนสิ้นสุดฤดูทํานา พ.ศ. 2463 ซึ่งปัญหาขาดแคลนได้สิ้นสุดลง พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงเป็นอันพ้นสมัยบังคับใช้ไปพร้อมกับมาตรการเพิ่มเงินเดือนเสมียนพนักงาน จาก 50 บาท เป็น 60 บาท ดังมีความปรากฏใน “พระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม พระพุทธศักราช 2463 ความว่า
“ด้วยเหตุว่าในตอนต้นปี พ.ศ. 2462 ข้าวมีราคาแพงขึ้นกว่าปรกติเปนอันมาก ทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่เสมียนพนักงานซึ่งได้รับพระราชทานเงินเดือน ตั้งแต่เดือนหนึ่งต่ำกว่า 60 บาทลงมา ตลอดจนสิ้นยุคข้าวแพงประการหนึ่ง แลกระทรวงพระคลังฯ ได้ผ่อนผันจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิมเนื่องจากข้าวแพง เช่น ทหาร ตํารวจ แล นักโทษเปนต้น กับทั้งได้จ่ายเงินเพิ่มให้กระทรวงทบวงการต่าง ๆ เป็นค่าสิ่งของเครื่องใช้แพงผิดจากธรรมดาอีกเปนจํานวนมากอีกประการหนึ่ง
เมื่องบบาญชีเงินรายจ่ายจริงของแผ่นดินประจํา พ.ศ. 2462 คงปรากฏว่าเงินที่ได้จ่ายไปทั้งสิ้น 12,554953 บาท 95 สตางค์ สูงกว่างบประมาณเปนเงิน 6,504,115 บาท 95 สตางค์ ส่วนเงินจ่ายพิเศษจากเงินคงพระคลังได้จ่ายไปจริงเพียง 9,819,357 บาท 84 สตางค์ ต่ำกว่างบประมาณเปนเงิน 982,476 บาท 16 สตางค์ เงินจ่ายพิเศษที่จ่ายต่ำ กว่า 982,476 บาท 16 สตางค์นี้ เมื่อคิดหักกับเงินรายจ่ายธรรมดาที่จ่ายสูงกว่างบประมาณ เปนเงิน 6,503,115 บาท 95 สตางค์แล้ว คงเปนเงินที่จ่ายเกินงบประมาณประจําปี พ.ศ. 2462 เงิน 5,520,639 บาท 79 สตางค์” [16]
ส่วนการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติไปศึกษาและยกร่างกฎหมายเก็บภาษีเงินได้จากบุคคลที่ร่ำรวยนั้น กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ใช้เวลากว่าสิบปีจนล่วงเข้าสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติภาษีเงินเดือน พุทธศักราช 2475 ขึ้น และเริ่มมีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 ต่อมาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ และพระราชบัญญัติภาษีการค้า แทนการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินเดือนที่ได้บังคับใช้มาก่อนหน้า
อนึ่ง เมื่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดทํางบบัญชีในส่วนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เบิกจ่ายเพิ่มพิเศษแก่เสมียนพนักงาน รวมทั้งจ่ายเบี้ยเลี้ยงเพิ่มให้แก่ทหาร ตํารวจ และนักโทษ กับจ่ายเงินเพิ่มให้กระทรวงทบวงการต่าง ๆ เป็นค่าสิ่งของเครื่องใช้ที่ราคาสูงขึ้นผิดธรรมดาแล้ว ชาวต่างประเทศซึ่งเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาการคลังอยู่ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งได้รู้ได้เห็นการจัดทํางบบัญชีดังกล่าวคงจะเห็นเป็นช่องทางที่จะเรียกร้องค่าตอบแทนให้แก่ตนเองและพวกพ้อง จึงได้อาศัยเหตุที่ทรงพระมหากรุณาเพิ่มเงินเดือนเปนพิเศษแก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยนี้ ยื่นฎีกาขอพระราชทานเงินค่าตอบแทนเพิ่ม ขึ้น ดังมีความตอนหนึ่งในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ประจําวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2463 ว่า
“ด้วยเมื่อวันที่ 20 กันยายน ศกนี้ มีข้าราชการชาวต่างประเทศที่ได้รับราชการอยู่ในกรุงสยามช้านานรวม 25 นาย คือ ไอรา ไอเยร์, อาร์. เบลโฮมม์, เอม. เอฟ. บัสซาร์ด, ยี. คาโนวา, เอม. คาร์ทิว, อาร์. ดี. เคร็ก, เอฟ. ดิดิเอร์, เอช. เครเยร์, เอ. กุ๊ก, ซี.ดี.ยี., เอช. กิตตินส์, อี. ยี. โกล์โล, ดับละยู. เอ. เกรแฮม, อาร์. กิยอง, ดับละยู. ยี. ยอนสัน, ปี. อาร์. เกมป์, อี. ลอว์สัน, ดับละยู เอฟ. ลลอยด์, อี. ยี. ลี, เอ. มาร์คัน, อาร์. ดับละยู. เมนเดลสัน, เย มิเชลล์, ดับละยู. นันน์, เอฟ. ทอมเสน, อี. ดับละยู ตร็อตเตอร์ เหล่านี้พร้อมใจกันทําฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทางราชเลขาธิการเป็นภาษาอังกฤษ ลงวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1920 ใจความว่า
ทุกวันนี้การอยู่กินแพงขึ้นกว่าเก่าเท่าตัว และราคาตกต่ำ ขอเพิ่มอัตราเงินเดือน เบี้ยบํานาญ และเงินพิเศษ (allowances) และยกตัวอย่างว่ารัฐบาลอังกฤษได้เพิ่มเงินอุดหนุนข้าราชการของเขามาแล้ว โปรด เกล้าฯ ให้ราชเลขาธิการส่งฎีกาไปถวายกรมพระจันทร์ [17] เสนาบดีกระทรวงพระคลังทรงพิจารณาและนําความเห็นมาทูลเกล้าฯ ถวาย และต่อมานายเกรแฮมรับฉันทมีหนังสือ ลงวันที่ 20 ธันวาคม เตือนฎีกาฉบับก่อนมาอีก ได้ส่งไปสอบกระทรวงคลัง ต่อมาหม่อมเจ้าเณร [18] รองเสนาบดีคลัง ชี้แจงตอบมาเป็นใจความว่า
(1) อาหารการกินที่แพงขึ้น ก็เนื่องด้วยการทํานาไม่ได้ผลเมื่อปีกลายนี้ แต่เห็นว่าเมื่อการทํานาดีก็ลดลงได้บ้าง (2) แต่การที่พร้อมใจกันถวายฎีกานี้ก็โดยเหตุที่ในเมืองต่างประเทศรัฐบาลเหล่านั้นอนุญาต ให้เพิ่มเงินเดือนพิเศษชั่วคราวทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ แต่ในเมืองของเขานั้นไม่ได้เพิ่มเฉพาะเหตุที่อาหารการกินอยู่และสิ่งของอื่น ๆ แพงอย่างเดียว แต่ income tax ก็ได้ขึ้นไปมากหลายเท่า อย่างประเทศอังกฤษขึ้นถึง 6 เท่า และสเตรตส์ [19] แต่ก่อนไม่ได้เก็บภาษีนี้เลย เดี๋ยวนี้เก็บร้อยละ 6 ส่วน เมืองเราไม่ได้เก็บภาษีเช่นนี้เลย (3)
ผู้ที่รับความลำบากเนื่องจากของแพงนั้น ใช่ว่าข้าราชการชาวต่างประเทศพวกเดียวหามิได้ ถึงข้าราชการไทยและราษฎรก็เหมือนกัน ถ้าจะให้ข้าราชการชาวต่างประเทศก็ต้องให้ข้าราชการไทยด้วย ซึ่งถ้าจะลองคิดดูเพิ่มข้าราชการชั้นต่ำตามอัตราที่ให้อยู่แล้วประมาณร้อยละ 20 ลดอัตราเพิ่มตามขั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับจนถึงชั้นสูงสุดได้เพียงร้อยละ 2 คงเปนเงินเดือนที่จะต้องเพิ่มจ่ายอีกปีหนึ่งสองล้านสามแสนเศษ.
เวลานี้ถ้าจะเพิ่มก็ชักเงินคงพระคลัง ซึ่งเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว มิฉนั้นก็ขึ้นภาษีอากรรายใดรายหนึ่งซึ่งเห็นว่าไม่เปนทางที่ควร เพราะในเวลาคับขันเช่นนี้ราษฎรก็ลําบากเหมือนกับข้าราชการ และยังซ้ำร้ายที่ขาดประโยชน์ในการเพาะปลูกไม่ได้ผลอีก ถ้าแม้นว่าจะให้เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ส่วนประชาราษฎร์จะต้องเสียผลเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นจะทําให้เกิดความโทมนัสขึ้นได้ ก็จะมีเสียงติเตียนรัฐบาลด้วยประการต่าง ๆ จึงเห็นว่าตามคําร้องขอของพวกข้าราชการชาวต่างประเทศนี้ เปนการเหลือความสามารถของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือได้ โปรดให้ราชเลขาธิการส่งเรื่องนี้ทั้งเรื่องไปถวายสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ [20] เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ เพื่อทรงพระดําริทางที่จะได้โต้ตอบผู้ถวายฎีกาไป สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ทรงร่างตอบเป็นภาษาอังกฤษถวายทรงแก้ไขเล็กน้อยแล้ว โปรดให้ราชเลขาธิการมีตอบไปในวันนี้ มีใจความว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรู้สึกในพระราชหฤทัยดียิ่ง ถึงความทุกข์ยากต่าง ๆ ภารอันหนักแห่งความทุกข์ยากนี้ได้แผ่กระทบกระเทือนตลอดไปทั่วโลกตั้งแต่เกิดมหาสงครามเปนต้นมา อย่างไรก็ดีนับว่าเป็นลาภแห่งกรุงสยามอยู่ ที่ความทุกข์ยากเช่นนี้กระทบกรุงสยามเบาบางกว่าที่เปนมาแล้วแก่ชาติอื่น ดังจะเห็นได้จากประการเช่นนี้ว่า ตั้งแต่มหาสงครามสิ้นลงแล้ว มีชาวยุโรปพากันยื่นใบสมัค ขอเข้ารับราชการเปนจํานวนมากมาย ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า เปนการยากเข็ญปานใดที่จะหางานทําในประเทศเหล่านั้น และการอยู่กินลําบากปานใดในที่นั้น
เปนการแน่อยู่แล้วว่า ข้าราชการมีอาวุโสอย่างท่าน ซึ่งได้รับราชการมาช้านาน และได้สําแดงให้เห็นปรากฏในความสามารถและความจงรักภักดีมานั้น รัฐบาลย่อมเห็นอกเห็นใจมากขึ้น แท้จริงในสมัยกาลอันเปนที่เดือดร้อนเช่นนี้ ทรงสงสารพวกท่านเป็นอย่างยิ่ง และเข้าพระราชหฤทัยดีในข้อความแห่งฎีกาของท่าน หากทุกสิ่งทุกอย่างเปนที่ปลอดโปร่งแล้ว ก็ทรงยินดีที่จะให้ตามที่ท่านร้องขอมา แต่ความยุติธรรมมีอยู่ว่า ถ้าให้พวกท่านได้เงินเพิ่มแล้วก็จะต้องให้พวกที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าท่านได้รับเงินเพิ่มขึ้นเหมือนกัน แต่เมื่อได้ทำงบประมาณขึ้นแล้ว, ปรากฏว่า การเพิ่มอัตราเงินเดือนทั่วไปเช่นนี้ จะต้องบวกจำนวนเงินในงบประมาณประจำปีขึ้นอีกก้อนหนึ่งประมาณสามล้านบาท ซึ่งท่านคงจะรับรองว่าไม่ใช่ของง่ายที่จะจัดหามาได้ในกาลที่เปนไปอยู่ ณ บัดนี้
หากว่ารัฐบาลบางรัฐบาล สามารถขึ้นเงินเดือนข้าราชการของตนได้ชั่วคราวแล้วนั้น ก็เปนเพราะรัฐบาลนั้นมีเงินที่จะใช้จ่ายสดวกกว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาศเช่นนี้รัฐบาลนั้น ๆ ก็ได้ตั้งภาษีขึ้นใหม่และขึ้นจำนวนเงินค่าภาษีต่าง ๆ สูงขึ้นอีกมาก ส่วนรัฐบาลสยามไซร้หาได้ขึ้นเงินเดือนเหมือนกับเช่นนั้นไม่หลายปีมาแล้ว
อนึ่งที่ประชุมนานาประเทศปฤกษาเรื่องการเงินคลังเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้วางบทเป็นข้อแนะนําไว้ด้วยความมุ่งหมายที่จะล้างความยุ่งเหยิงแห่งการเงินคลังของโลกในปัจจุบันสมัยให้เป็นที่เรียบร้อยว่าประเทศทุกประเทศจะต้องพยายามเต็มความสามารถที่จะลดจํานวนเงินรายจ่ายประจําปีลงให้ถึงจํานวนใดจํานวนหนึ่ง ซึ่งไม่เกินรายได้ ประจําปี อาศัยข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ ข้าพเจ้าจึงมีความเสียใจที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ไม่ทรงเห็นลู่ทางปลอดโปร่งประการใดในขณะนี้ ที่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เพิ่มอัตราเงินเดือนของท่านตามที่ท่านได้กราบบังคมทูลร้องขอพระราชทานมาในฎีกานั้น” [21]
ต่อจากนั้นก็ไม่พบว่า ข้าราชการชาวต่างประเทศ ได้พร้อมกันทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานเงินค่าตอบแทนอีกเลยจนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้านครเชียงใหม่ ประเทศราชล้านนา ได้เงินเดือนตอบแทนจากรัฐบาลสยามกี่บาท?
- ทำไม รัชกาลที่ 5 งดเงินเดือนเสนาบดี-ปลัดทูลฉลองที่ขาดเฝ้าในพระราชพิธีโสกันต์?
- ชีวิตคู่ “พูนศุข-ปรีดี” สามีที่มอบเงินเดือนให้ภรรยาทุกบาททุกสตางค์
- “ฮิตเลอร์” ผู้นำเยอรมนี ประกาศไม่ขอรับ “เงินเดือน” แล้วมีรายได้จากไหนอีก?
เชิงอรรถ :
[1] ประติสมิต (ม.ล. ปิ่น มาลากุล), มีอะไรในอดีต (เมื่อ 60 ปีก่อน), น. 40.
[2] พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
[3] หมายถึงผู้ทรงนิพนธ์เรื่องนี้ คือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
[4] จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
[5] พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร. อัตตชีวประวัติ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 15 ธันวาคม 2517). (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ตีรณสาร, 2517). น. 66-67).
[6] เรื่องเดียวกัน
[7] เรื่องเดียวกัน, น. 41.
[8] เสนาบดีกระทรวงนครบาล นามเดิม ปัน สุขุม
[9] เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย นามเดิม เชย กัลยาณมิตร
[10] ที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
[11] พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร อธิบดีกรมสรรพากร นามเดิม ฟรานซิส เฮนรี จิลลานนท์
[12] ปลัดกระทรวงเกษตราธิการ นามเดิม ก้อน หุตะสิงห์
[13] กัลกัตตา
[14] ประติสมิต (ม.ล.ปิ่น มาลากุล), มีอะไรในอดีต (เมื่อ 60 ปีก่อน). น. 42.
[15] “พระราชบัญญัติกํากับตรวจตราข้าว พระพุทธศักราช 2462”, ราชกิจจานุเบกษา 36 (11 มีนาคม 2462), น. 245-256.
[16] “พระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม พระพุทธศักราช 2463”, ราชกิจจานุเบกษา 37 (12 ธันวาคม 2463), น. 308-310.
[17] พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
[18] ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม
[19] State Settlement หรือรัฐบาลอังกฤษที่สิงคโปร์และมลายู
[20] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
[21] หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2463-64. น. 26.
บรรณานุกรม :
เอกสารชั้นต้น
หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2463-64. (สําเนาเอกสารฉบับตัวเขียน)
ราชกิจจานุเบกษา
“พระราชบัญญัติกํากับตรวจตราข้าว พระพุทธศักราช 2462”, ราชกิจจานุเบกษา 36 (11 มีนาคม 2462), น. 245-256.
“พระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม พระพุทธศักราช 2463”, ราชกิจจานุเบกษา 37 (12 ธันวาคม 2363), น. 308-310.
หนังสือ
ประติสมิต (ม.ล.ปิ่น มาลากุล). มีอะไรในอดีต (เมื่อ 60 ปีก่อน). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2523.
พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. อัตตชีวประวัติ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 15 ธันวาคม 2517). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ตีรณสาร, 2517
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “วิกฤต ‘ข้าวแพง'” เขียนโดย วรชาติ มีชูบท ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2562