ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2560 |
---|---|
ผู้เขียน | วรชาติ มีชูบท |
เผยแพร่ |
เจ้านครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ครองเมือง “เชียงใหม่” และเจ้านายต่างๆ แห่ง “ประเทศราชล้านนา” ได้ “เงินบรรดาศักดิ์” ตอบแทนจากรัฐบาลสยามกี่บาท?
ประเพณีการปกครองบ้านเมืองในหัวเมือง “ประเทศราชล้านนา” เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ฯลฯ แต่เดิมมานั้น บรรดาเจ้านคร เจ้านาย และขุนนางในพื้นเมืองนั้น หาได้มีรายได้เป็นเงินเดือนหรือเบี้ยหวัดเงินปีเช่นเจ้านายกรุงสยาม หากแต่บรรดาเจ้าประเทศราช เจ้านาย และขุนนางในพื้นที่
“มีการกะเกณฑ์ให้ราษฎรมาทำการต่างๆ ตามประเพณีเมือง มีการหาบหามสิ่งของเดินทาง แลมาเข้าเวรประจำทำการ ณ ที่ต่างๆ ปีหนึ่งมีกำหนดคนหนึ่งต้องทำการตั้งแต่เดือนหนึ่งถึงสี่เดือน อีกประการหนึ่งมีราษฎรบางจำพวก ซึ่งต้องเสียสร่วยต่างๆ เปนสิ่งของแลเงิน มีมากบ้างน้อยบ้างไม่เสมอน่ากัน”
เนื่องจากการเกณฑ์แรงงานและส่วยได้สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร จนไม่มีเวลาทำมาหาเลี้ยงชีพ ฉะนั้นในคราวที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยขึ้นไปจัดระเบียบปกครองในหัวเมืองประเทศราชล้านนาใน พ.ศ. 2442 จึงมีราษฎรที่ต้องเกณฑ์นั้นมาร้องทุกข์ต่อพระยาศรีสหเทพเป็นจำนวนมาก บางรายถึงแก่ยอมจะเสียเงินถึงปีละ 20 บาท เป็นค่าแรงแทนเกณฑ์
พระยาศรีสหเทพจึงได้หารือและตกลงกันกับบรรดาเจ้าประเทศราชล้านนา ให้เลิกการเกณฑ์แรงงานและส่วยจากราษฎร และให้เปลี่ยนมาเรียกเก็บเงินจากชายฉกรรจ์ในพื้นที่เป็นค่าแรงแทนเกณฑ์ โดยกำหนดให้เจ้านคร เจ้านาย และขุนนางประเทศราชล้านนา ได้รับส่วนแบ่งเงินค่าแรงแทนการเกณฑ์แรงงานเป็นเงินจำนวนมากน้อยตามฐานะของบุคคลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2442
ต่อมาในยุคที่มีชาวตะวันตกและคนในบังคับเข้ามาขอรับสัมปทานตัดฟันไม้สักในเขตแขวงนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน และเมืองแพร่ บรรดาเจ้านครและเจ้านายซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของป่าไม้ในเขตแขวงเมืองเหล่านั้น ต่างก็ได้รับผลประโยชน์จากค่าสัมปทานป่าไม้ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามจำนวนไม้สักที่ถูกตัดทอนออกจากป่า เงินประเภทนี้เรียกกันว่า “เงินค่าตอไม้”
แต่เนื่องจากการเรียกเก็บเงินค่าตอไม้ที่บรรดาเจ้านครและเจ้านายเรียกเก็บมาแต่เดิม ล้วนมีปัญหารั่วไหลทั้งในการที่ผู้รับสัมปทานแจ้งจำนวนไม้ที่ตัดฟันต่ำกว่าความเป็นจริง ซ้ำร้ายยังถูกผู้แทนเจ้าของป่าไม้ที่ออกไปตรวจเก็บเบียดบังเงินค่าตอไม้ไปเป็นของตนอีกไม่น้อย จนเมื่อมีการจัดตั้ง “กรมป่าไม้” ขึ้นแล้ว เจ้าของป่าไม้จึงได้รับเงินส่วนแบ่งค่าตอไม้เพิ่มขึ้นตามจำนวนที่รัฐบาลสยามสามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงจากผู้รับสัมปทานป่าไม้
เงินเดือน เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่
ภายหลังจาก เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้านครลำปาง ได้รับพระราชทานเงินบรรดาศักดิ์สำหรับตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองเป็นคนแรกในหัวเมือง “ประเทศราชล้านนา” แล้ว ต่อมาในตอนปลาย ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่ ก็ได้มีศุภอักษรลงไปกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ความตอนหนึ่งว่า
“ตามที่ได้รับพระราชทานผลประโยชน์อยู่ คือ 1 ส่วนแบ่งค่าตอไม้ 2 ส่วนแบ่งค่าแรงแทนเกณฑ์ แล 3 เงินเดือน อยู่แล้วนั้น ไม่ใคร่จะพอจับจ่ายใช้สรอย แลส่วนแบ่งค่าตอไม้นั้นบางปีก็ได้มากบ้างน้อยบ้างไม่เป็นยุติไม่สดวกกับการใช้สรอย เจ้านครเชียงใหม่ ขอพระราชทานรับเป็นเงินเดือนให้เป็นอัตราประจำเดือนละ 25,960 บาท หรือ ปีละ 311,100 บาท ไม่รับพระราชทานส่วนแบ่งค่าตอไม้ แลค่าแรงแทนเกณฑ์ต่อไป”
การที่ เจ้านครเชียงใหม่ ขอพระราชทานพระมหากรุณาคราวนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีพระดำริว่า “ควรจะให้เป็นไปได้เช่นได้เคยกำหนดให้แก่เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตเจ้านครลำปางมาแล้ว” จึงมีลายพระหัตถ์กราบทูลให้ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงพิจารณาดำเนินการต่อไป
เมื่อเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติทรงสอบสวนเรื่องราวแล้วได้ความว่า “ผลประโยชน์ที่รัฐบาลได้เคยให้แก่เจ้านครเชียงใหม่อยู่แล้ว คือ 1 ส่วนแบ่งค่าตอไม้เทียบดูใน 6 ปี คงได้ถัวอยู่ในปีละ 138,861 บาทเศษ 2 ส่วนแบ่งค่าแรงแทนเกณฑ์เทียบดูใน 6 ปีคงได้ถัวอยู่ในปีละ 41,461 บาทเศษ แล 3 เงินเดือนปีละ 60,000 บาท รวมเป็นเงินอยู่ในปีละ 240,277 บาทเศษ” จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
“ตามที่เจ้านครเชียงใหม่ขอนั้นสูงกว่าจำนวนที่ได้เทียบมาแล้วมากนัก แลทั้งส่วนแบ่งค่าตอไม้ที่เคยได้ตามรายปีสังเกตดูมีจำนวนข้างลดลงมากกว่าขึ้น ถ้าจะผ่อนให้เพียงเดือนละ 20,000 บาท หรือ ปีละ 240,000 บาทจะพอควร เพราะเจ้านครลำปางก็ได้เคยพระราชทานมาแล้ว เดือนละ 15,000 บาท หรือปีละ 180,000 บาท เจ้านครเชียงใหม่จึ่งควรจะได้สูงกว่าเจ้านครลำปางสักหน่อย ด้วยผลประโยชน์ของเจ้านครเชียงใหม่ที่เคยได้รับพระราชทานนั้นสูงกว่าเจ้านครลำปางอยู่แล้ว”
ภายหลังจากที่เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ “ว่ากล่าวกับเจ้านครเชียงใหม่เป็นอันเห็นชอบว่า คงขอรับพระราชทานเพียงเดือนละ 20,000 บาท หรือ ปีละ 240,000 บาทนั้น แต่เมื่อมีโอกาสจะขอรับพระราชทานขึ้นบ้างในภายหลัง” แล้ว เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ได้ตกลงยกเงินผลประโยชน์ที่เคยได้รับอยู่ทั้งสิ้นให้เป็นของหลวง และได้รับพระราชทานเงินบรรดาศักดิ์เจ้าผู้ครองเมืองเดือนละ 20,000 บาท มาตั้งแต่เดือนเมษายน ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452)
แต่คงได้รับพระราชทานมาเพียงเดือนมกราคม ร.ศ. 128 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ก็ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 5 มกราคม ร.ศ. 128 จึงได้รับพระราชทานเงินบรรดาศักดิ์หรือเงินเดือนสำหรับตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เพียง 10 เดือนเต็มเท่านั้น
เงินเดือนเจ้าแก้วนวรัฐฯ เจ้านครเชียงใหม่องค์ต่อมา
อนึ่ง ก่อนที่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์จะถึงแก่พิราลัย เจ้าอุปราชแก้ว เมืองนครเชียงใหม่ ก็ได้ยื่นเรื่องราวต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า “ผลประโยชน์ที่ได้รับพระราชทานจากค่าตอ จะขอถวายเป็นหลวง ขอรับพระราชทานเป็นเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากอัตราที่ได้รับพระราชทานอยู่เดือนละ 600 บาท” ในคราวนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ “คิดเทียบดูผลประโยชน์ที่ได้ แลได้ถามเจ้าอุปราชจะเพิ่มให้อีกเดือนละ 600 บาท เจ้าอุปราชก็พอใจ”
แต่ยังไม่ทันที่กระทรวงมหาดไทยจะได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็พอดีเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ถึงแก่พิราลัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปราชแก้วเป็นผู้รั้งหรือรักษาการ เจ้านครเชียงใหม่ เรื่องดังกล่าวจึงเป็นอันระงับไป เพราะต่อไปเจ้าอุปราชแก้วจะต้องได้รับพระราชทานผลประโยชน์ในตำแหน่งเจ้านครเชียงใหม่อยู่แล้ว
การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปราชแก้วเป็นผู้รั้งเจ้านครเชียงใหม่ในคราวนั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมา “เพราะผลประโยชน์ที่เจ้าอุปราชจะได้รับพระราชทานในตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ไม่ได้เป็นการแลกเปลี่ยนประโยชน์ที่เคยได้อย่างเจ้านครเชียงใหม่แลเจ้านครลำปาง แลอัตราที่จะกำหนดลงไว้ในครั้งนี้ น่าจะเป็นแบบยืนไปสำหรับเจ้านครเชียงใหม่ในภายภาคหน้าด้วย”
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงได้ทรงหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นปรึกษากับข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพ และเห็นพ้องร่วมกันว่า “เจ้าอุปราชในเวลารับราชการในตำแหน่งเป็นผู้รั้งเจ้านครเชียงใหม่ควรจะได้รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ 5,000 บาท ต่อเมื่อได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าผู้ครองนครแล้วจึงเพิ่มให้อีกเท่าหนึ่งเป็นเดือนละ 10,000 บาท”
ครั้นกระทรวงมหาดไทยนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชกระแสตอบกลับลงมาว่า “เมืองเชียงใหม่ใหญ่กว่าเมืองอื่นจะเทียบผลประโยชน์กันไม่ได้ แต่ไม่ควรจะต้องให้เตมตามเดิม ในเวลาว่าการแทนจะให้เดือนละ 5,000 ก่อนได้ ส่วนอัตราไว้คิดต่อไป”
เจ้าอุปราชแก้วจึงได้รับพระราชทานเงินเดือนในระหว่างที่เป็นผู้รั้งเจ้านครเชียงใหม่เดือนละ 5,000 บาท มาตั้งแต่เดือนมกราคม ร.ศ. 128 จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าแก้วนวรัฐฯ เจ้านครเชียงใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2454 แล้ว จึงได้รับพระราชทานเงินเดือนเพิ่มเป็นเดือนละ 10,000 บาท สืบมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2454
ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เจ้าแก้วนวรัฐฯ ได้มีศุภอักษรกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าแก้วนวรัฐฯ
“รับตำแหน่งเป็นเจ้าผู้ครองนครสืบมาจนบัดนี้ นอกจากเงินเดือนที่ได้รับพระราชทานอยู่เดือนละ 10,000 บาทแล้ว ก็ไม่มีรายได้ทางอื่นมาเจือจานเลย ความขัดข้องในการใช้จ่ายได้มีอยู่เนืองๆ เช่นต้องเกื้อกูลเจ้านายบุตร์หลาน ซึ่งโดยมากยังไม่มีกำลังตั้งตัวได้ ในฐานที่เป็นผู้ปกครองตระกูล
และยังต้องใช้จ่ายอุดหนุนในการบำรุงทางพระศาสนา การกุศล สาธารณะประโยชน์และการพิธีตามประเพณีเมืองตลอดจนการรับรองเลี้ยงดูทั้งการจรการพิเศษ เพื่อรักษาเกียรติยศให้สมฐานะแห่งเจ้าผู้ครองนคร เงินเดือนเท่าที่ได้รับพระราชทานอยู่ไม่พอใช้จ่าย จึ่งขอพระมหากรุณารับพระราชทานเงินผลประโยชน์เพิ่มเติม สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาพระราชทาน”
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ส่งศุภอักษรของเจ้าแก้วนวรัฐฯ นั้นไปให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พิจารณาถวายความคิดเห็น
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้กราบบังคมทูลถวายความเห็นว่า “ถ้าจะถือตามเกณฑ์ที่เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมา เฉภาะเงินส่วนแบ่งแล้ว เจ้าแก้วนวรัฐควรได้รับพระราชทานเดือนละ 11,887 บาท” ในขณะที่เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติก็ได้กราบบังคมทูลในเรื่องเดียวกันนี้ว่า
“เรื่องเงินเดือนเจ้าผู้ครองนครในมณฑลภาคพายัพ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลี่ยเงินค่าตอไม้ค่าแรงแทนเกณฑ์ แบ่งพระราชทานเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่ ร.ศ. 127 ซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐขอพระราชทานเพิ่มเติมนี้ ก็เป็นด้วยได้รับพระราชทานเงินเดือนยังต่ำกว่าเงินผลประโยชน์ส่วนแบ่งอยู่ เพราะเงินส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ค่าตอไม้ค่าแรงแทนเกณฑ์ในนครเชียงใหม่ได้ปีละ 142,657 บาท
แบ่งเป็นเดือนละ 11,887 บาท เจ้าแก้วนวรัฐได้รับพระราชทานเงินเดือนอยู่เวลานี้เดือนละ 10,000 บาท คงต่ำกว่าเงินผลประโยชน์ที่ควรจะได้ 1,887 บาท ทั้งนี้ถ้าจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพิ่มเงินเดือนให้อีกเดือนละ 2,000 บาท รวมเป็น 12,000 บาท ก็พอควรแก่เกณฑ์ที่ใช้สำหรับคำนวณเงินเดือนพระราชทานแก่เจ้าประเทศราชที่ถือใช้เป็นหลักมาแต่เดิม”
ในเมื่อเสนาบดีเจ้ากระทรวงทั้งสองมีความเห็นสอดคล้องกันเช่นนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชวินิจฉัยให้เจ้าแก้วนวรัฐฯ แห่ง “เชียงใหม่” ได้รับพระราชทานเงินเดือนเพิ่มเป็นเดือนละ 12,000 บาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2464 เป็นต้นมา
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม รัชกาลที่ 5 งดเงินเดือนเสนาบดี-ปลัดทูลฉลองที่ขาดเฝ้าในพระราชพิธีโสกันต์?
- ชีวิตคู่ “พูนศุข-ปรีดี” สามีที่มอบเงินเดือนให้ภรรยาทุกบาททุกสตางค์
- “ฮิตเลอร์” ผู้นำเยอรมนี ประกาศไม่ขอรับ “เงินเดือน” แล้วมีรายได้จากไหนอีก?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เงินบรรดาศักดิ์ (เงินเดือน) เจ้าผู้ครองเมืองประเทศราชล้านนา” โดยวรชาติ มีชูบท ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2563