ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2562 |
---|---|
ผู้เขียน | วิภัส เลิศรัตนรังษี |
เผยแพร่ |
เปิดเหตุผล รัชกาลที่ 5 งดเงินเดือนเสนาบดี ปลัดทูลฉลอง ที่ขาดเฝ้าในพระราชพิธีโสกันต์?
แม้ว่าพระราชพิธีจะเป็นกิจของพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินจะทรงเป็นประธานในการพระราชพิธีต่าง ๆ นั้นเสมอไป เพราะมีอย่างน้อย 2 พระราชพิธีที่จะต้องให้เสนาบดีสวมบทบาท “เป็นผู้ได้รับสมมต” (สะกดตามต้นฉบับ – กองบรรณาธิการ) ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือพระผู้เป็นเจ้า คือ เดือน 6 จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และ เดือน 2 ตรียัมพวาย ตรีปวาย
สำหรับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นี้ ทรงกล่าวถึงความสำคัญว่า “ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณ…ในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนาก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาเว้นว่าง” เพราะการทำนานั้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของทุกคนในแผ่นดิน
“เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง” (1 : 273)
ดังนั้นในพระราชพิธีจึงต้องมีการเสี่ยงทายต่าง ๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับการเพาะปลูกประจำปี เพราะเกี่ยวข้องกับอาหารการกินของทุกคนในพระราชอาณาจักร
เมื่อพระราชพิธีนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางจิตใจของผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่มาประกอบพระราชพิธีย่อมจะต้องมีความสำคัญมากตามไปด้วย แม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามจะไม่ทรงไถนาเองแบบประเทศจีนก็ตาม แต่จะทรง “สมมติ” ให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปทำการแทนพระองค์ โดยมอบศักดิ์และสิทธิ์บางประการให้แก่ผู้นั้น เช่น ทรงลดพระราชอำนาจ ไม่ตรัสถ้อยคดีความ ไม่เบิกลูกขุน และไม่เสด็จออกในช่วงเวลาที่มีพระราชพิธี เพราะ
“ประสงค่าเป็นผู้ที่ได้รับสมมติสามวัน เหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินไปแรกนาเอง ดูขลังมากขึ้น ไม่เป็นแต่การแทนกันเล่น ๆ” (1 : 275)
แต่ถ้าพงศาวดารฉบับ วันวลิต พอจะเชื่อถือได้ก็จะพบว่า แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ทรงไถนาเอง แต่ในปีหนึ่งพระโหราธิบดีได้ทูลว่าถ้าทรงไถนาเอง จะเกิดผลร้ายมากกว่าดี พระองค์จึงมอบหมายให้สมุหนายกเป็นพระยาแรกนา แต่ปรากฏว่าสมุหนายกก็ถึงแก่กรรมอย่างลึกลับในเวลาเดียวกัน
พระโหราธิบดีจึงทูลว่าให้มอบหมายหน้าที่นี้แก่เสนาบดีที่มีเกียรติยศต่ำลงมาอีก พระเจ้าแผ่นดินจึงมอบหมายให้ออกญาพลเทพ เสนาบดีกรมนา เป็นพระยาแรกนานับแต่นั้นเป็นต้นมา (15 : 26-29)
ขุนนางผู้ไม่สนใจบทบาทของตนเอง
แม้ว่าบรรดาเสนาบดีและขุนนางผู้ใหญ่จะไม่มีบทบาทเคลื่อนไหวอยู่ “หลังม่าน” อย่างเช่นท่านผู้หลักผู้ใหญ่ก็ตาม แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญคือสมมติเป็นพระเจ้าแผ่นดินและพระผู้เป็นเจ้าในพระราชพิธี แตกต่างไปจากบรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายที่เหลือ
พวกเขานั้นแม้จะไม่ได้ถูกสมมติหรือเคลื่อนไหวอยู่หลังม่านก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังต้องสวมบทบาทที่ไม่มี “บท” กำกับอย่างชัดเจนตลอดเวลาที่ร่วมในพระราชพิธี เพราะอากัปกิริยาของขุนนางล้วนแล้วแต่อยู่ในสายพระเนตรของผู้ประพันธ์ตลอดเวลา ดังที่ทรงสังเกตว่ามีขุนนางหลายคนที่ไม่ยอมสวมมงคลพิสมรและถือกระบองเพชร ในระหว่างร่วมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ว่า
“ข้างฝ่ายผู้ที่อวดกล้า อวดเก่ง อวดปัญญา ไม่ยอมสวมมงคลพิสมรถือกระบองเพชรนั้น หมายว่าตัวพ้นกลัวผี พ้นเชื่อผี หรือที่แท้ไม่พ้นกลัวผี เชื่อผีจริง ยังอวดเก่ง อวดฉลาด ในการที่คนทั้งปวงกลัว ตัวทำไม่ได้ ถึงจะพ้นกลัวก็ยังอยู่ในไม่พ้นเชื่อ โดยว่าจะไม่เชื่อได้จริง ๆ ก็ยังไม่ได้เป็นคนมีปัญญาตามที่อยากจะอวดทั้งสามประการ คือ อวดกล้า อวดเก่งรู้ไม่เชื่อ อวดปัญญา” (1 : 99)
แต่สิ่งที่ทำให้พระองค์ยอมรับไม่ได้คือ การแสดงออกของขุนนางในพระราชพิธี ทรงกล่าวว่า
“ก็ไม่ควรเลยที่จะทำรังเกียจอวดดีหรืออับอายขายหน้าเอามงคลไปขยี้ขยำหัวเราะเยาะเย้ยเป็นการอวดดีต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระเจ้าแผ่นดินและคนทั้งปวง ว่าเซอะซะงุ่มง่ามไปหมด ฉลาดแต่ตัวคนเดียว การที่เพ้อเจ้อมาด้วยเรื่องมงคลนี้ ใช่ว่าจะตื่นเต้นโปรดปรานมงคลอย่างหนึ่งอย่างใด เว้นแต่เมื่อยังไม่เลิกเสียก็ยังไม่อยากให้ผู้ใดหมิ่นประมาท แต่ถ้าจะเลิกเมื่อใดก็จะยอมเลิกโดยง่าย ไม่เป็นข้อขัดขวางอันใด” (1 : 100)
การแสดงออกของขุนนางแบบนี้ดูจะเป็นเรื่องที่พระองค์ต้องพบเจออยู่บ่อยครั้ง ในจดหมายเหตุรายวันของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงบันทึกว่า เมื่อกระบวนเสด็จกลับหลังจากร่วมในพระราชพิธีโสกันต์ พ.ศ. 2433 เวลาค่ำ
“ทูลหม่อม [รัชกาลที่ 5] กริ้วขุนนางไทยมากว่าไม่มีหัวหน้า ราชทูตฝรั่งก้มหัวอยู่จนยานุมาศเราเดินมา ขุนนางไทยนั่งลงเสียก่อนแล้ว” (18 : 239)
แต่ครั้งที่น่าจะรุนแรงที่สุดคือพระราชพิธีโสกันต์ พ.ศ. 2442 มีแต่เสนาบดีและปลัดกระทรวงโยธาธิการมาร่วมงานเท่านั้น ไม่มีข้าราชการในกระทรวงมาร่วมงานเลย ทำให้ รัชกาลที่ 5 ต้องมีพระราชหัตถเลขาถึงเสนาบดีเจ้ากระทรวง เพื่อลงโทษตัดเงินเดือน และยังให้สำเนาคำสั่งนี้เวียนกันไปทุกกระทรวงเป็นการใหญ่ (ดู 19)
กรณีสุดท้ายคือ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
“เป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดินมีสืบมาแต่โบราณ ไม่มีเวลาเว้นว่าง มีคำอ้างอิงถึงว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง กำหนดปีละสองครั้ง คือในเดือน 5 ขึ้น 3 ค่ำครั้งหนึ่ง เดือน 10 แรม 13 ค่ำครั้งหนึ่ง”
พระราชพิธีนี้ยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบการเมืองสมัยจารีต เพราะเป็นการชุมนุมผู้มีอำนาจทางการเมืองพร้อมกันทั้งประเทศ กระจายไปตามพื้นที่สำคัญต่าง ๆ มีวันเวลาที่แน่นอน มีกฎระเบียบที่เคร่งครัด ห้ามผู้ใดขาด (ถ้าป่วยมาไม่ได้ ก็จะเชิญน้ำสาบานไปส่งถึงบ้าน)
พระราชพิธีนี้ยังเป็นตัวชี้วัดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ ถ้าหากพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชอำนาจและบารมีเข้มแข็ง พระราชพิธีนี้ก็จะ “ระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง” แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว พระราชพิธีนี้ก็จะเผยให้เห็นอาการกระด้างกระเดื่องของผู้ที่ไม่ยอมรับในพระราชอำนาจ จนอาจจะทำให้เกิด “ยุคเข็ญของบ้านเมือง” ขึ้นมาได้ทันที (20 : 208-212)
ด้วยความเคร่งครัด มีแบบปฏิบัติที่แน่นอน และจัดขึ้นอย่างคงเส้นคงวาเช่นนี้ ในพระราชนิพนธ์จึงไม่ค่อยปรากฏให้เห็นปัญหาหรือความหละหลวมของเสนาบดีและขุนนางอย่างในพระราชพิธีอื่น ๆ จนกระทั่งเกิดคดีความสำคัญใน พ.ศ. 2422 เมื่อการขาดถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาได้กลายเป็นหนึ่งใน “ข้อหา” สำคัญในคดีพระปรีชากลการ (บุตรชายของ พระยากระสาปนกิจโกศล พระยายืนชิงช้าประจำปี พ.ศ. 2418 – กองบรรณาธิการ)
ข้อหานี้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ – กองบรรณาธิการ) เป็นผู้ผลักดันให้มีการไต่สวนและแสดงความเห็นว่าการขาดถือน้ำฯ ถึง 3 ปี เป็นความตั้งใจจะละเลยจนหาเหตุผลมาฟังไม่ขึ้น อีกทั้งพระปรีชากลการก็เป็นขุนนางผู้ใหญ่ รับใช้ใกล้ชิดราชสำนัก มีฐานะและอำนาจมาก เมื่อกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างร้ายแรงเช่นนี้ โทษความผิดจึงไม่ควรน้อยไปกว่าข้อหาทุจริตบ่อทอง ฆ่าคนตาย และแต่งงานกับลูกสาวกงสุลอังกฤษโดยไม่ขอพระบรมราชานุญาต
เมื่อจัดวางข้อหานี้ลงในบริบทการเมืองภายในและระหว่างประเทศในเวลานั้น ศาลจึงตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการตัดหัว พระปรีชากลการ ต่อหน้าธารกำนัลที่เมืองปราจีนบุรี (ดู 21) …
อ่านเพิ่มเติม :
- บันทึกการเมืองระหว่างบรรทัดใน “พระราชพิธีสิบสองเดือน”
- องค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เรียงความหมาย-ขั้นตอน-องค์ประกอบสำคัญ
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “โลกการเมืองในพระราชพิธีสิบสองเดือน” เขียนโดย วิภัส เลิศรัตนรังษี* ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2562 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ
*นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สถานะเมื่อ 2562 – กองบรรณาธิการ) ผู้เขียนขอขอบคุณ รศ. ดร. สมเกียรติ วันทะนะ และ ผศ. ดร. เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ สำหรับกรอบแนวคิดรวมทั้งความเห็นต่อการปรับปรุงบทความ
ขอขอบคุณ ผศ. พิชญา สุ่มจินดา ที่ชักชวนให้ไปนำเสนอบทความนี้ในกิจกรรมห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนความผิดพลาดประการใดๆ ย่อมตกเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
อ้างอิง :
การอ้างอิงทั้งหมดอยู่ในวงเล็บข้างหลังข้อความที่ต้องการอ้างอิง ตัวเน้นทั้งหมดทำโดยผู้เขียน (เนื้อหาฉบับออนไลน์จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ) สำหรับเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติและเอกสารที่ตีพิมพ์แล้ว จะระบุด้วยลำดับเลขที่ตามบัญชีบรรณานุกรมที่ใช้อ้างอิง และเลขหน้าที่ตามมาข้างหลัง
บัญชีบรรณานุกรมที่ใช้อ้างอิง
1 จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2454.
15 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต (ฉบับสมบูรณ์), พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสงัด จันทราภัย ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 26 พฤศจิกายน 2507.
18 มหาวชิรุณหิศ, สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้า. จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2552.
19 หจช. กส 1/24 โปรดเกล้าฯ ให้งดเงินเดือนเสนาบดีและปลัดทูลฉลองซึ่งขาดเฝ้าในการพระราชพิธีโสกันต์ (ร.ศ. 118).
20 สมเกียรติ วันทะนะ. รายงานวิจัยเรื่องความคิดทางการเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893-2310. กรุงเทพฯ : ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560.
21 ปราณี ชวางกูร. “คดีพระปรีชากลการ (พ.ศ. 2421-2422) กับการเมืองภายในของไทย,” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2528.
เผยแพในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564