บันทึกการเมืองระหว่างบรรทัดใน “พระราชพิธีสิบสองเดือน”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษร (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อต้องการข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของผู้คนและบ้านเมือง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือหนึ่งในที่พึ่งหลักที่ใครต่อใครใช้กัน

แต่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน ยังมีบันทึกข้อมูลอื่นอีกด้วย

วิภัส เลิศรัตนรังสี ผู้เขียนบทความ “โลกการเมืองในพระราชพิธีสิบสองเดือน” (ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2562) ชักชวนให้เราอ่านพระราชพิธีสิบสองเดือนในเหลี่ยมมุมอื่นว่า

“สิ่งที่บทความนี้ต้องการนำเสนอคือบทบาทของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ เสนาบดีคนสำคัญ ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย หรือแม้แต่ราษฎร ที่ต่างก็มีปากมีเสียงและเคลื่อนไหวอยู่ทั้งในเบื้องหน้าและเบื้องหลังพระราชพิธีต่างๆ และในหลายๆ ครั้ง

ขุนนางคนสำคัญ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่มีปัญหา “ช่องว่างระหว่างวัย” ที่ห่างกันถึง 45 ปี ในที่นี้ขอยกบางส่วนมาเป็นตัวอย่าง

เดือน 12 พระราชพิธีฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงว่า ไม่มีผู้ใดทราบความหมายว่าเป็นงานอะไร แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ เสนาบดีและขุนนางรู้เพียงแค่เป็นการทำบุญในเดือน 6 สมโภชเครื่องราชูปโภคและพระมหาเศวตฉัตรเท่านั้น

แต่ไม่ทราบว่าเหตุผลที่เลือกจัดในเดือน 6 เพราะเป็นเดือนที่รัชกาลที่ 4 เสด็จเสวยราชสมบัติ เมื่อถึงรัชกาลที่ 5 ก็ยังจัดในเดือน 6 เช่นเดิมต่อไป แม้ว่าพระองค์จะเสวยราชสมบัติในเดือน 12 ก็ตาม

เมื่อทรงทักท้วงให้ย้ายพระราชพิธีไปจัดเดือน 12 ที่พระองค์เสวยราชสมบัติ สมเด็จเจ้าพระยาฯ และกรมหลวงวงศาธิราชสนิทก็คัดค้าน  จนเมื่อมีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2416 ทำให้สามารถอ้างเหตุผลว่าปฏิบัติตาม พระราชบัญญติประชุมตราจุลจอมเกล้าฯ ทุกฝ่ายจึงยินยอมให้เปลี่ยนการจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลย้ายมาจัดในเดือน 12 ได้ โดยไม่มีการทักท้วง

หรือการหล่อพระพุทธรูปตามจำนวนพระชนมพรรษา ตามอย่างธรรมเนียมซึ่งเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยจะหล่อเพิ่มปีละ 1 องค์ และจะนำพระพุทธรูปนั้นไปตั้งในพระราชพิธีถือน้ำเดือน 5 และเดือน 10 ประจำปี

สมเด็จเจ้าพระยาฯ แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับพระราชประสงค์อย่างเปิดเผยว่า “จะมานั่งไล่คะแนนอายุด้วยพระพุทธรูปเปลืองเงินเปลืองทองเปล่าๆ แต่ก่อนท่านทรงพระชราท่านจึงทำต่อพระชนมพรรษา นี่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่จะต้องทำทำไม”

ต้องอธิบายความอ้างอิงถึงเรื่องธรรมเนียมที่มีมาแต่รัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงยอมให้มีการหล่อพระตามพระราชดำรินั้นต่อไป

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ พระราชพิธีเดือน 6 จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และเดือน 2 ตรียัมพวาย ตรีปวาย ที่จะต้องให้เสนาบดีสวมบทบาท “เป็นผู้ได้รับสมมต” ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือพระผู้เป็นเจ้า

รัชกาลที่ 5 ทรงสังเกตว่ามีขุนนางผู้รับสมมตินั้นไม่สนใจบทบาทของตนเอง เช่น การไม่ยอมสวมมงคลพิสมรและถือกระบองเพชร ในระหว่างร่วมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แต่สิ่งที่ถือว่าหนักหนาที่ทำให้พระองค์ยอมรับไม่ได้คือ “การแสดงออกของขุนนาง” ในพระราชพิธี รัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวว่า

“ก็ไม่ควรเลยที่จะทำรังเกียจอวดดีหรืออับอายขายหน้าเอามงคลไปขยี้ขยำหัวเราะเยาะเย้ยเป็นการอวดดีต่างๆ ซึ่งน่าจะเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระเจ้าแผ่นดินและคนทั้งปวง ว่าเซอะซะงุ่มง่ามไปหมด ฉลาดแต่ตัวคนเดียว การที่เพ้อเจ้อมาด้วยเรื่องมงคลนี้ ใช่ว่าจะตื่นเต้นโปรดปรานมงคลอย่างหนึ่งอย่างใด เว้นแต่เมื่อยังไม่เลิกเสียก็ยังไม่อยากให้ผู้ใดหมิ่นประมาท แต่ถ้าจะเลิกเมื่อใดก็จะยอมเลิกโดยง่าย ไม่เป็นข้อขัดขวางอันใด”

การแสดงออกในลักษณะนี้ คงเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงพบอยู่บ่อยครั้ง ในจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงบันทึกว่า เมื่อกระบวนเสด็จกลับหลังจากร่วมในพระราชพิธีโสกันต์ พ.ศ. 2433 เวลาค่ำ “ทูลหม่อม [รัชกาลที่ 5] กริ้วขุนนางไทยมากว่าไม่มีหัวหน้า ราชทูตฝรั่งก้มหัวอยู่จนยานุมาศเราเดินมา ขุนนางไทยนั่งลงเสียก่อนแล้ว”

พระราชพิธีที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการเมืองในราชสำนัก ดังที่ผู้เขียน (วิภัส เลิศรัตนรังสี) สรุปไว้ว่า “การต่อสู้ช่วงชิงและรักษาสถานะของอำนาจของบุคคลหรือสถาบันต่างๆ ไม่ได้อยู่แค่ในท้องพระโรงเท่านั้น แต่ยังอยู่ในพื้นที่จัดพระราชพิธีต่างๆ ด้วย ทว่าการต่อสู้ช่วงชิงนี้ก็หาได้เกิดขึ้นอย่างไร้ระเบียบเสียทีเดียว แต่ยังแสดงให้เราได้เห็นวิถีชีวิต วิถีความคิด หรือค่านิยม ของการเมืองไทยสมัยนั้นว่าพวกเขาเข้าใจว่าอำนาจนั้นๆ ต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างไร”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2563