ชีวิตคู่ “พูนศุข-ปรีดี” สามีที่มอบเงินเดือนให้ภรรยาทุกบาททุกสตางค์

ท่านผู้หญิงพูนศุข ปรีดี พนมยงค์
ท่านผู้หญิงพูนศุข และปรีดี พนมยงค์

ความรักของ ท่านผู้หญิงพูนศุข กับ ปรีดี พนมยงค์ อาจจะไม่ “โรแมนติก” เหมือนคู่รักอื่น แต่ความรักที่ทั้งสองท่านมีต่อกัน ก็พิสูจน์ให้เห็นได้จากตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตเผชิญความทุกข์ และความยากลำบากร่วมกัน คอยสนับสนุน และเกื้อกูลกันเรื่อยมา

ชีวิต “ท่านผู้หญิงพูนศุข”

“พูนศุข ณ ป้อมเพชร์” (2 มกราคม 2455 – 12 พฤษภาคม 2550) เป็นบุตรของ พระยาชัยวิชิตฯ กับคุณหญิงเพ็ง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2455 พื้นเพเป็นคนอยุธยา ก่อนที่ พ.ศ. 2461 จะย้ายครอบครัวเข้ามาอาศัยในกรุงเทพฯ เมื่อท่านผู้หญิงพูนศุขอายุย่าง 17 ปี ได้แต่งงานกับ “ปรีดี พนมยงค์” (11 พฤษภาคม 2443 – 2 พฤษภาคม 2526) ซึ่งมีอายุมากกว่าท่านผู้หญิงพูนศุข 11 ปี และเป็นญาติห่าง ๆ กัน คือมีเชียดคนเดียวกัน

ในสมัยนั้นหญิงสาวอายุ 17 ปี ไม่ถือว่าน้อยเกินไปกว่าที่จะแต่งงานแต่อย่างใด สำหรับตัวท่านผู้หญิงพูนศุขเอง ท่านรู้สึกว่าค่อนข้างเด็กไป เพราะกำลังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ

ด้วยเพราะเป็นเครือญาติ ครอบครัวของท่านผู้หญิงพูนศุขและปรีดี จึงรู้จักสนิทสนมกันดี ย้อนไปเมื่อตอนที่ปรีดีเข้ามาเรียนวิชากฎหมายในกรุงเทพฯ ก็รู้จักมักคุ้นกับ “บ้านป้อมเพชร์” เป็นอย่างดี ขณะนั้นท่านผู้หญิงพูนศุขอายุเพียง 9 ขวบ ปรีดีมาอาศัยอยู่ที่บ้านป้อมเพชร์ จนสำเร็จการศึกษาได้เป็นเนติบัณฑิต ก่อนจะไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส (อีก 7 ปี)

ปรีดีมักเรียกพระยาชัยวิชิตฯ บิดาของท่านผู้หญิงพูนศุข ว่า “เจ้าคุณ” และเรียกลูก ๆ ของท่านว่า “คุณ” รวมถึงท่านผู้หญิงพูนศุขด้วย ภายหลังแต่งงานกันแล้ว ปรีดีเรียกท่านผู้หญิงพูนศุขว่า “พูนศุข” เฉย ๆ ใช้สรรพนามแทนตัวเวลาพูดคุยกันว่า “ฉัน” กับ “เธอ” นอกจากนี้ ปรีดียังเขียนจดหมายถึง ท่านผู้หญิงพูนศุข ใช้สรรพนามเรียกท่านว่า “น้อง”

ในวันที่ปรีดีพาบิดาจากอยุธยามาขอหมั้นท่านผู้หญิงพูนศุข วันนั้นท่านผู้หญิงพูนศุขไม่ทราบเรื่องมาก่อน และขณะนั้นก็กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียน เดิมที พระยาชัยวิชิตฯ ผู้เป็นบิดา มีทีท่าไม่ยินยอม เพราะลูกสาวที่โตกว่าอีกคนหนึ่งยังไม่ได้แต่งงาน แต่ที่สุดก็ยอมยกท่านผู้หญิงพูนศุขให้ สินสอดทองหมั้นมีเพียงแหวนเพชรหนึ่งวง ขณะที่ความรู้สึกของท่านผู้หญิงพูนศุขเองนั้น “ก็ไม่ได้นึกรังเกียจแต่อย่างใด เพราะรู้สึกพึงพอใจในความรู้ ซื่อสัตย์ และความเป็นสุภาพบุรุษของนายปรีดีอยู่เดิม”

หมั้นกันอยู่นานราว 6 เดือน ระหว่างที่รอเรือนหอกำลังก่อสร้าง ช่วงนั้นทั้งสองท่านออกไปเที่ยวด้วยกัน ไปชมละคร ชมภาพยนตร์ สังสรรค์ตามสมาคมต่าง ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้นิสัยใจคอกันมากขึ้น ทำให้ท่านผู้หญิงพูนศุขรู้สึกมั่นใจในตัวสามีว่า

“ผู้ชายคนนี้ละจะสามารถเป็นผู้นำในชีวิตของดิฉันและครอบครัวให้มีความสุขมั่นคงต่อไปในภายภาคหน้า และดิฉันตั้งใจว่า หากมีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้นในชีวิตคู่ของเรา ดิฉันก็พร้อมจะต่อสู้ฝ่าไปด้วยกัน”

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 วันแต่งงานของท่านผู้หญิงพูนศุขและปรีดี แขกเหรื่อมาร่วมงานคับคั่ง ท่านผู้หญิงพูนศุขสวมเสื้อสีชานอ้อย นุ่งซิ่นป้ายสีเดียวกัน เคียงคู่กับปรีดีในชุดราชปะแตน นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมถุงเท้าขาว รองเท้าดำ ร่วมกันทำบุญเลี้ยงพระ และถือโอกาสทำบุญขึ้นบ้านใหม่ที่ใช้เป็นเรือนหอนั้นด้วย ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม

ตั้งแต่แต่งงานมา เงินเดือนให้ฉันหมด

ท่านผู้หญิงพูนศุขเล่าชีวิตแต่งงานในช่วงแรกว่า “ฉันกับนายปรีดีใช้ชีวิตกันอย่างเรียบ ๆ นายปรีดีไปทำงานก็กลับบ้านตามเวลา กลับมาทำงาน ไม่มีเวลาที่จะไปเที่ยวสนุก ตั้งแต่แต่งงานมา เงินเดือนให้ฉันหมด ใช้จ่ายอะไรไม่ฟุ่มเฟือย เก็บหอมรอมริบไว้…”

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคนยังเปรียบเหมือน “ครูกับนักเรียน” อีกด้วย เนื่องจากการที่ปรีดีให้ท่านผู้หญิงพูนศุขช่วยจดคำบรรยายวิชากฎหมายที่สอนอยู่ ทำให้ท่านผู้หญิงพูนศุขพลอยได้ความรู้ไปด้วย แต่งานส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ก็เป็นเรื่องเลี้ยงลูก และดูแลคนในครอบครัว

ชีวิตการแต่งงานระยะแรก ท่านผู้หญิงพูนศุข คิดเพียงว่า จะต้องมาทำหน้าที่แม่บ้านของข้าราชการธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ที่มีความก้าวหน้าในตำแหน่งตามจังหวะและโอกาส มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสงบไปตามประสา แต่เมื่อทางเดินของชีวิตเปลี่ยน ปรีดีได้ก้าวขึ้นเป็นบุคคลสำคัญทางการเมือง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นั่นทำให้ท่านผู้หญิงพูนศุขจำต้องยอมรับ และเตรียมพร้อมกับอุปสรรคที่จะเข้ามาในชีวิตคู่

ปรีดีไม่เคยมีความลับต่อท่านผู้หญิงพูนศุขเลย มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ที่ต้องปิดบังความลับไว้ไม่ให้รู้ คือ เมื่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยโกหกท่านผู้หญิงพูนศุขว่าจะไปบวชที่อยุธยา

ท่านผู้หญิงพูนศุข ยังเล่าถึงเรื่องเงินเดือนของสามีที่มอบให้ท่านอีกว่า “ตั้งแต่แต่งงานมา นายปรีดีมอบเงินเดือนให้ฉันหมดเลย เมื่อต้องการอะไรก็ให้ฉันหาให้ คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรายได้จากโรงพิมพ์ นายปรีดีตั้งโรงพิมพ์นิติสาส์น…และรายได้อีกทางจากค่าสอนที่โรงเรียนกฎหมาย เวลานั้นได้ชั่วโมงละ 10 บาท พอเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เลิกโรงพิมพ์ ยกให้เป็นโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง…

พอเป็นรัฐมนตรีมีรายได้เดือนละ 1,500 บาทก็ให้ฉันอีก บางทีก็ลืมเงินเดือนไว้ที่โต๊ะทำงาน สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ต้องเอาไปให้ถึงบ้าน แล้วตอนหลังนายปรีดีก็ไม่รับเงินเดือนเอง ให้เลขาฯ นำเงินมาส่งให้ฉันเลย…”

นอกจากหน้าที่ที่ต้องอบรมสั่งสอนเลี้ยงบุตร และดูแลครอบครัวแล้ว ท่านผู้หญิงพูนศุขมีส่วนช่วยเหลือ และสนับสนุนปรีดีผู้เป็นสามีแทบทุกเรื่อง และอยู่เคียงข้างมาโดยตลอดในทุก ๆ เหตุการณ์สำคัญ นับตั้งแต่ กรณีเค้าโครงเศรษฐกิจ, สงครามโลกครั้งที่ 2, กรณีสวรรคต, รัฐประหาร พ.ศ. 2490 และกบฏวังหลวง พ.ศ. 2492

แม้ต้องเผชิญมรสุมชีวิตนานัปการ แต่ท่านผู้หญิงพูนศุขกับปรีดี ก็เผชิญชะตาชีวิตร่วมกันอย่างยาวนาน อยู่เคียงคู่กันมาในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าดีหรือร้าย สมดั่งที่หลวงวิจิตรวาทการ ได้แต่งโคลงบทหนึ่งเพื่อมอบให้กับท่านผู้หญิงพูนศุขและปรีดี เป็นของขวัญในวันแต่งงานของทั้งสองท่านว่า

พูน เพิ่มเฉลิมเกียรติล้ำ ลือนาม

ศุข สบายภัยขาม คลาดพ้น

ปรี ดาอย่ารู้ทราม จิตต์เสน่ห์

ดี จักมียิ่งล้น หากรู้จักกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พูนศุข พนมยงค์. (2551). ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน. สำนักพิมพ์สายส่งสุขภาพใจ.

นรุตม์. (2551). หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 6. แพรวสำนักพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 2563