บทบาทและท่าที “หลังบ้านคณะราษฎร” ก่อนและหลังปฏิวัติ 2475

นายทหารคณะราษฎร

การปฏิวัติ 2475 นอกจากสมาชิก “คณะราษฎร” แล้ว บรรดาภรรยาคู่ชีวิตของสมาชิกคณะราษฎร หรือ “หลังบ้านคณะราษฎร” ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนี้ แล้วสมาชิกคณะราษฎรเองก็ดี หลังบ้านเองก็ดีมีการบอกกล่าว, ปรึกษาหารือ ฯลฯ กันอย่างไร

รายละเอียดของเหตุการณ์สำคัญนี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ เขียนอธิบายไว้ใน “หลังบ้านคณะราษฎร” (สนพ.มติชน, 2564) ซึ่งขอสรุปบางส่วนพอสังเขปมานำเสนอ

ก่อนการปฏิวัติ สมาชิกส่วนใหญ่ เช่น วัน ชูถิ่น, ควง อภัยวงศ์, แนบ พหลโยธิน, จรูญ สิงหเสนี, ประยูร ภมรมนตรี, ปรีดี พนมยงค์, แปลก พิบูลสงคราม ฯลฯ เลือกที่จะ “ปิดบัง” ภรรยา โดยอ้างเหตุความจำเป็นแตกต่างกันไป

วัน ชูถิ่น ให้เหตุผลการปิดบังครอบครัวว่า “ตามวิสัยของทหาร เราไม่แสดงกริยาอาการให้บุตรภรรยาทราบเลยแม้แต่น้อย เพราะสตรีย่อมมีความกลัววิตกวิจารณ์มาก ทหารมีวินัยห้ามเด็ดขาด ไม่ให้บอกกิจการอะไรแก่สตรี”

แต่ก็มีสมาชิกบางคน เลือกที่จะ “เผยความลับ” กับภรรยา เช่น พจน์ พหลโยธิน, สังวร สุวรรณชีพ ฯลฯ

พจน์ พหลโยธิน ให้เหตุผลว่า ภรรยาคือคู่ชีวิตและเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายเช่นกัน และกังวลเป็นครอบครัวว่า หากเขาปฏิวัติไม่สําเร็จจะถูกสั่งประหารหรือจําคุกตลอดชีวิต แล้วครอบครัวจะอยู่กันอย่างไร  เมื่อปรึกษาสั่งเสียกับ บุญหลง ผู้เป็นภรรยา เธอเห็นด้วยและสนับสนุนการปฏิวัติอย่างยิ่ง ตกปากรับคําสั่งเสียอย่างดีและเป็นกําลังใจจนหมดห่วง

สังวร สุวรรณชีพ ปรึกษาหารือกับ เฉลิม สุวรรณชีพ ผู้เป็นภรรยามาตลอด ตั้งแต่ปัญหาระหว่างวางแผนปฏิวัติ ไปจนถึงความขัดแย้งภายในคณะราษฎร ในช่วงที่วางแผนจะลงมือปฏิวัติจนเกิดการโต้เถียงใหญ่กันระหว่างสมาชิก เฉลิมสังเกตเห็นว่า สังวรมีอาการกังวลนอนไม่หลับ จึงแนะว่าให้เลิกเสียดีกว่าเพราะจะพากันล้มตายหมด แต่สังวรก็ยังคงดําเนินการต่อ และได้นัดกับบรรดาทหาร 21 นายที่บ้านของเขาเพื่อเตรียมตัวในเย็นวันที่ 23 มิถุนายน ซึ่งเฉลิมก็ได้เลี้ยงอาหารต้อนรับอย่างดี ก่อนเขาจะสั่งเสียภรรยาและจูบลูก

เมื่อปฏิวัติแล้ว บรรดาภรรยาคณะราษฎร พวกเธอมีท่าที, เป็นอยู่ ฯลฯ อย่างไร

พูนศุข พนมยงค์ เป็น “หลังบ้าน” ที่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวงานราชการหรือการเมือง เธอกล่าวว่า “สามี-ภรรยาไม่ควรจะก้าวก่ายงานซึ่งกันและกัน แบ่งภาระหน้าที่ปฏิบัติทั้งในและนอกบ้านให้ชัดเจน” หรือเมื่อสภามีมติให้ ปรีดี พนมยงค์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2489 แม้พูนศุขจะไม่เห็นด้วย หากเหตุผลที่เธอให้คือ “แต่เป็นเรื่องของนายปรีดีที่ต้องตัดสินใจเอาเอง ดิฉันถือว่าในฐานะภรรยาไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง”

แต่ชีวิตคนเราไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ชีวิตสมาชิก “คณะราษฎร” ก็เช่นกัน

เมื่อเกิดกบฏแมนฮัตตัน (พ.ศ. 2494) ทำให้ สวัสดิ์ จันทนี ต้องออกจากตำแหน่งหัวหน้ากองประวัติศาสตร์ทหารเรือ, ถูกกักขัง ภรรยาของเขา เกสร จันทนี จึงต้องเป็นผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัวแทน ไม่ว่าจะออกขายลอตเตอรี่, ทำไร่ เลี้ยงไก่ไข่

ชื่น จิตตะคุณ ภรรยาของ ค้วน จิตตะคุณ นําเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายในครอบครัว ไปซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์หลายแปลงไว้เก็งกําไร

เฉลิม สุวรรณชีพ เป็นนักธุรกิจประกอบอุตสาหกรรมในครัวเรือน ผลิตยาเส้นสําเร็จรูปจําหน่าย และตั้งร้านค้าสิ่งทอ ซึ่งทำกำไรสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขยายกิจการใหญ่โตขึ้นจนเป็นโรงงาน จนสังวรอยากออกจากราชการ เพราะงานราชการไม่มั่นคงเท่าค้าขาย

พูนศุข พนมยงค์ เข้ามาช่วยบริหารโรงพิมพ์นิติสาส์นของสามี  ทำทุกอย่างตั้งแต่ตรวจคําผิด ดูแลขั้นตอนการพิมพ์และบัญชี จัดห่อและส่งให้สมาชิก

นิ่มนวล ชลภูมิ ภรรยาของ ทองเปลว ชลภูมิ เรียนวิชากฎหมายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนสามารถช่วยสํานักทนายความ “ทองเปลวและเพื่อน” ของทองเปลวได้ เมื่อทองเปลวเสียชีวิตใน พ.ศ. 2492 เธอก็เป็นเสาหลักดำเนินกิจการแทน

จิ้มลิ้ม ศรีจรูญ ภรรยาคนที่ 2 ของประเสริฐ (อับดุลการีม) ศรีจรูญ ไม่เพียงเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจค้าอาวุธปืนของครอบครัวสามี เธอยังสนับสนุนและเริ่มก่อตั้งห้างหุ้นส่วนคณะบุคคลศรีจรูญ และร้าน ส. ศรีจรูญ

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 22 เมษายน 2564