ภาพตำนาน “พูนศุข พนมยงค์” เชิดหน้าก้าวเดินไปศาล หาญกล้าไม่กลัวคุก!

พูนศุข พนมยงค์

หลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง พ.ศ. 2492 ทำให้ ปรีดี พนมยงค์ (11 พฤษภาคม 2443 – 2 พฤษภาคม 2526) ต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศ แต่ ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ (2 มกราคม 2455 – 12 พฤษภาคม 2550) ที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย ตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาล ถูกตำรวจติดตามแทบทุกฝีก้าว

ต่อมา ใน พ.ศ. 2495 ท่ามกลางสงครามเกาหลีที่ร้อนระอุ มีเสียงเรียกร้อง “สันติภาพ” และมีกระแสต่อต้านการใช้ระเบิดปรมาณู นำมาสู่การจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย” มีทั้งประชาชนทั่วไป นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา ฯลฯ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

Advertisement

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความหวาดระแวงว่า คณะกรรมสันติภาพฯ มีเป้าหมายล้มล้างการปกครอง ไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ดังนั้น ในเช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ตำรวจได้ออกจับกุมกลุ่มบุคคลขนานใหญ่ จับประชาชนที่ออกมาชักชวนให้คัดค้านสงคราม และเรียกร้องสันติภาพอย่างเปิดเผย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักหนังสือพิมพ์ จับกุมกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มคนอื่น ๆ ที่เรียกร้องสันติภาพ

โดยตำรวจแจ้งข้อหาว่า “…รวมตัวกันยุยงก่อให้เกิดความแตกแยกไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง…อันเป็นความผิดฐานกบฏภายในราชอาณาจักร” เรียกเหตุการณ์นี้โดยทั่วไปว่า “กบฏสันติภาพ”

หลังจากนั้น 3 วัน ตำรวจมาจับกุม ปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข อีก 2 วันต่อมา ขณะที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเดินทางไปเป็นเถ้าแก่งานหมั้นของ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) กับ เครือพันธุ์ ปทุมรส ที่บ้านของ เฉลียว ปทุมรส ตำรวจหลายนายกรูกันเข้ามาในบ้านจับกุมเฉลียว นายตำรวจคนหนึ่งเหลือบเห็นท่านผู้หญิงพูนศุขจึงจับตัวไปด้วย

ตำรวจพาท่านผู้หญิงพูนศุขไปที่สันติบาล ตำรวจนายหนึ่งเข้าไปรายงานผู้บังคับการแล้ว มีเสียงตะเพิดไล่ดังออกมาว่า “จับเอามาทำไม” จากนั้น ตำรวจพาท่านผู้หญิงพูนศุขกลับมาที่บ้าน เพื่อเตรียมตัวเข้าห้องขัง เวลานั้น ดุษฎี และวาณี บุตรสาวเลิกเรียนกลับบ้านมาพอดี แต่เมื่อที่บ้านไม่มีใครดูแล ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงจำเป็นต้องพาบุตรทั้งสองไปนอนที่สันติบาลด้วย

ในระหว่างการสอบสวนนั้น มีการข่มขู่ให้เกิดความเครียดอยู่ตลอดเวลา เพื่อบังคับให้ท่านผู้หญิงพูนศุขเผยข้อมูลว่า ปรีดี พนมยงค์ หลบหนีไปอยู่ที่ไหน ทั้งนี้ เหตุที่ท่านผู้หญิงพูนศุขถูกจับกุม เนื่องมาจากจดหมายที่ท่านเคยเขียนติดต่อกับ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ที่ได้ช่วยเหลือครอบครัวพนมยงค์ มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งหลังจากนั้น พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ หลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า

ท่านผู้หญิงพูนศุขเล่าว่า “ทีนี้มีคนมาติดต่อ บอกว่าคุณทหารเข้าป่า ฉันก็ฝากข้าวของไปให้ เขียนโน้ตใส่เศษกระดาษฝากคนไป บอกว่าถ้ามีหนทางอะไรก็ยินดีที่จะช่วยเหลือ พอคุณทหารถูกจับได้ ก็พบเศษกระดาษที่มีลายมือของฉัน ดังนั้นเมื่อตำรวจถาม ฉันก็ไม่ปฏิเสธ เขาถามว่านี่ใช่ลายมือของฉันไหม ฉันก็รับว่าใช่ ฉันเขียนจริง ๆ ข้อหาฉันมีข้อนี้เท่านั้นเท่าที่ดูในสำนวนฟ้อง

นอกนั้นถามว่านายปรีดีอยู่ที่ไหน ฉันก็ไม่ทราบทั้งนั้น ตอบไม่ได้ ฉันไม่ได้คิดกบฏกับใคร ลูกไม่เกี่ยว ไม่พัวพันกันเลย แต่เขาก็จับฉันไปทำลายจิตใจทำลายทุกอย่างหมด อิสรภาพเรื่องเล็ก จิตใจนี่เรื่องใหญ่ ถูกขังติดลูกกรงเหล็กอยู่ ถ้าเผื่อไฟไหม้เราก็ตายในนั้น…”

ท่านผู้หญิงพูนศุขและปรีดี พนมยงค์

หลังจากนั้น ตำรวจนำตัวท่านผู้หญิงพูนศุขตัวไปศาลอาญา ท่านเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “ผู้ต้องหาหญิงคนเดียวไม่รู้ใช้กำลังเท่าไหร่ ไปศาลแล้วพวกหนังสือพิมพ์ก็จะมาถ่ายรูป ตำรวจพยายามจะเอาฉันหลบกล้อง พอถึงศาลแล้วก็เห็นพวกผู้ต้องหาคนอื่น ๆ นั่งเป็นแถว แต่ของฉันไปนั่งเฉพาะ มีตำรวจคุม แหม ทุเรศจริง ๆ เชียว ทำกับฉันขนาดนี้”

ตำรวจส่งสำนวนไปยังอัยการ ฟ้องข้อหากบฏ แต่ผลการพิจารณาไม่มีหลักฐานที่จะฟ้องได้ ท่านผู้หญิงพูนศุขถูกคุมขังเป็นเวลานานกว่า 84 วัน และถูกปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496

อย่างไรก็ตาม ปาล พนมยงค์ ถูกฟ้อง พอศาลตัดสินแล้วจะนำตัวขึ้นรถไปเรือนจำลหุโทษ ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงขอติดตามไปด้วย ท่านเล่าว่า “ฉันกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก ฉันก็ขึ้นรถไปด้วย นายตำรวจคนหนึ่งก็พูดขู่ว่า นี่จะเอาไปคุกแล้วนะวันนี้ ฉันก็บอกว่าคุณไม่รู้ประวัติของฉันดี คุณนึกว่าฉันกลัวคุกหรอ คุณปู่ของฉัน คือพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตราเป็นแม่กองสร้างคุกแห่งนี้ และคุณพ่อของฉัน พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา เป็นอธิบดีราชทัณฑ์คนแรกและคนสุดท้ายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วฉันจะกลัวคุกได้อย่างไร”

ภาพท่านผู้หญิงพูนศุขภาพนี้ แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของสตรีคนหนึ่งที่ถูกใส่ร้ายมาตลอด แต่ก็ยังเชิดหน้าก้าวเดิน เผชิญหน้ากับชะตากรรมอย่างเด็ดเดี่ยว ท่านเขียนอธิบายใต้ภาพด้วยลายมือท่านเองว่า

“ถ่ายโดย น.ส.พ. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ขณะที่ตำรวจนำไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขัง อายุ 40 ปี 10 เดือน 19 วัน ข้อหา ขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร”

ท่านผู้หญิงพูนศุขสั่งเสียลูกหลานว่า หากมีการจัดงานรำลึกถึงท่าน ขอให้ใช้ภาพถ่ายนี้

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พูนศุข พนมยงค์. (2551). ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน. สำนักพิมพ์สายส่งสุขภาพใจ.

นรุตม์. (2551). หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 6. แพรวสำนักพิมพ์.

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (2550). พูนศุข พนมยงค์ สตรีผู้ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น. สารคดี ฉบับที่ 269.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2563