ตำข้าวกล้อง ได้ข้าวซ้อมมือ เหตุใดจึงเรียก “ข้าวซ้อมมือ” ?

ข้าว ข้าวซ้อมมือ

ข้าวซ้อมมือ หรือข้าวซ้อม ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถาน ว่า “ข้าวกล้องที่นำมาตำ เยื่อรำจะหลุดไป เหลือแต่เมล็ดข้าว”

ก่อนที่จะมาเป็นข้าวซ้อมมือ เป็นข้าวกล้องมาก่อน

ข้าวกล้อง ก็คือข้าวที่ตำหรือสีเอาเปลือกออกครั้งแรก ยังมีจมูกข้าวและเยื่อสีแดง ๆ หุ้มเมล็ดข้าวอยู่ โดยในอดีตเมื่อยังไม่มีโรงสี ชาวบ้านต้องเปลี่ยนข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารด้วยการตำในครกตำข้าว ซึ่งมีทั้งชนิดตำด้วยสากมือถือ กับสากติดคานกระเดื่อง หรือที่เราเรียกกันว่า ครกกระเดื่อง

การตำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารนั้น พอใส่ข้าวเปลือกลงไปตำ จะทำให้เปลือกเมล็ดข้าวถูกกะเทาะ ต่อจากนั้นจึงตักข้าวใส่กระด้งไปฝัด เปลือกของข้าวที่กะเทาะออกแล้วลอยหลุดตกจากกระด้ง เรียกว่า แกลบ ส่วนเมล็ดข้าวที่หนักกว่าซึ่งตกลงยังกระด้งดังเดิม เรียกว่า ข้าวกล้อง

แต่ข้าวกล้องนี้ยังมีส่วนของเปลือกข้าวปนอยู่ จึงต้องนำมาตำอีกครั้ง และการตำซ้ำรอบที่สามก็เป็นที่มาของคำว่า ข้าวซ้อมมือ

เรื่องนี้ วีระพงศ์ มีสถาน อธิบายไว้ในบทความ “ข้าวกล้อง” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2554) ว่า “ข้าวกล้องตามความหมายแต่เดิมมา จะนำมานึ่งหรือหุงกินไม่ได้ (เว้นเสียแต่จะโปรยให้นกให้ไก่กิน) จึงต้องมีการตำรอบสองและรอบสาม ในวัฒนธรรมลาวสอนกันไว้เลยว่า ตำรอบสองเรียกว่า ต่าว (ในภาษาไทยภาคกลางเรียกว่า ทวน ซึ่งมีความหมายว่า หวนคืน กระทำอีกครั้ง) ส่วนตำรอบสามเรียกว่า ซ้อม ในภาษาไทยก็เรียกเช่นนี้เหมือนกัน ดังที่จะคุ้นหูจากการเรียกว่า ข้าวซ้อมมือ…

คําผญาลาวมีบทที่กล่าวถึงการตำครั้งที่สามหรือซ้อมว่า ‘มีครกบ่มีสากซ้อม ตำได้ข้าวบ่ขาว’ (ครก และข้าว เขียนอย่างภาษาไทยภาคกลาง) การตำทวนหรือตำต่าวนี้ เพื่อให้ข้าวเปลือกที่ประสมเป็นข้าวกล้องนั้นลดจำนวนลง ให้เป็นเมล็ดข้าวสารมากขึ้น เปลือกข้าวถูกตำ ถูกกระแทกประสมอยู่กับเมล็ดข้าวและเมื่อฝัดแล้วจะได้รำแก่เก็บไว้ใช้เลี้ยงหมู ส่วนการตำซ้อม เพื่อทำให้ข้าวขาวขึ้น เมื่อฝัดแล้ว นอกจากจะได้เนื้อเมล็ดข้าวสารที่ขาวกว่าเดิมแล้ว ยังได้รำอ่อนและปลายข้าวอีกด้วย

การตำข้าวหรือสีข้าวจำนวนครั้งมาขึ้นจะทำให้เส้นใยและจมูกข้าวบางส่วนหลุดไป หากตำหรือขัดสีข้าวซ้อมมืออีกหลายครั้ง ก็จะกลายเป็น “ข้าวขาว” ซึ่งปัจจุบันมีความนิยมรับประทานข้าวกล้องมากกว่า เพราะอุดมด้วยคุณประโยชน์มากกว่าข้าวขาว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2565